การนินทาใส่ร้ายเป็นบาปที่น่ารังเกียจ
  จำนวนคนเข้าชม  18887

การนินทาใส่ร้ายเป็นบาปที่น่ารังเกียจ

 

 อับดุลสลาม เพชรทองคำ 

 

          เหตุการณ์ที่เจ็ดของการมิอ์รอจญ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นเหตุการณ์ที่มีรายงานอยู่ในอัลหะดีษ บันทึกของอิมามอบูดาวูด อิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เล่าความว่า

 

     “เมื่อฉันขึ้นสู่ฟากฟ้า (ก็คือมิอ์รอจญ์) ฉันได้ผ่านชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีเล็บเป็นทองแดง กำลังใช้เล็บมือทองแดงดังกล่าว ขีดข่วนใบหน้าและหน้าอกของตนเอง

     ฉันจึงกล่าวถามว่าโอ้ท่านญิบรีล ชนกลุ่มนี้คือใครกันหรือ ?”

     ท่านญิบรีลตอบว่าชนกลุ่มนี้ คือผู้ที่ชอบกินเนื้อของเพื่อนมนุษย์ ชอบใส่ร้ายเพื่อนมนุษย์ และชอบทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์

 

          นี่ก็คือ การลงโทษอย่างหนึ่งของคนที่ชอบกินเนื้อของเพื่อนมนุษย์ ...ใครกันที่ชอบกินเนื้อของเพื่อนมนุษย์.. ซึ่งมีคำอธิบายว่า คนที่ชอบกินเนื้อของเพื่อนมนุษย์ ก็คือ คนที่ชอบนินทา ..นอกจากนี้ การลงโทษนี้ยังรวมไปถึง คนที่ชอบใส่ร้ายเพื่อนมนุษย์ และชอบทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ด้วย

 

          เรามาดูอัลหะดีษอีกบทหนึ่ง ในบันทึกของอิมามอัลบัยฮะกีย์ และท่านอื่น ๆ ซึ่งท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เล่าความว่า

 

     แล้วฉันได้เดินทางผ่านไปอีก ได้พบชนกลุ่มหนึ่งที่เนื้อสีข้างของพวกเขาถูกตัดออกไป แล้วพวกเขาก็เอาเนื้อ(ที่ถูกตัดออกไป)นั้นป้อนใส่เข้าไปในปากของตนเอง ...และได้มีเสียงกล่าวแก่พวกเขาว่า จงกินเช่นเดียวกับที่พวกเจ้าเคยกินส่วนหนึ่งจากเนื้อของพี่น้องของพวกเจ้า

     ฉันจึงได้กล่าวถามว่าโอ้ท่านญิบรีล ชนกลุ่มนี้ คือใครกันหรือ ?"

     ท่านญิบรีลกล่าวว่าชนกลุ่มนี้ ก็คือ ส่วนหนึ่งจากประชาชาติของท่านที่ชอบนินทาใส่ร้ายผู้อื่น

 

          นี่ก็คือ การลงโทษอีกอย่างหนึ่งของคนที่ชอบนินทาใส่ร้ายผู้อื่น ...ดังนั้น เราจะเห็นว่า การพูดจานินทาใส่ร้ายผู้อื่นนั้น มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ คำพูดที่เราคิดว่ามันเล็กน้อยที่เราไปพูดจานินทาใส่ร้ายผู้คนนั้น มันกลับทำให้เราต้องได้รับการลงโทษที่น่ารังเกียจและเป็นการลงโทษที่เจ็บปวดทรมาน

 

          การนินทาใส่ร้ายเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ เพราะเป็นบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงห้ามไว้อย่างชัดเจน และยังเป็นบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลหุญุรอต ส่วนหนึ่งของอายะฮฺที่ 12 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَلَا يَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا ۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتًا فَكَرِهْتُمُوهُ ۚ وَٱتَّقُوا۟ ٱللَّهَ ۚ إِنَّ ٱللَّهَ تَوَّابٌ رَّحِيمٌ

 

      “...และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน ...คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ ? (แน่นอน)พวกเจ้าย่อมรังเกียจมัน และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 

          อายะฮฺตรงนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งห้ามเราจากการนินทาซึ่งกันและกัน และพระองค์ทรงเปรียบคนที่นินทาผู้อื่นว่า เปรียบเสมือนคนที่ชอบกินเนื้อของพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้ว แน่นอนที่เราย่อมรังเกียจ ใครจะอยากไปกินเนื้อมนุษย์ที่ตายไปแล้ว เนื้อมนุษย์สด ๆเราก็ยังไม่อยากจะกิน แต่นี่จะต้องมากินเนื้อมนุษย์ที่ตายไปแล้วอีก ต้องไปกินเนื้อที่เน่าเหม็น และเนื้อมนุษย์นั้นก็ยังเป็นของพี่น้องของเราอีกด้วย ...

 

          นี่ก็คือการเปรียบให้เราเห็นถึงความน่ารังเกียจของการพูดจานินทาใส่ร้ายผู้อื่นว่าน่ารังเกียจมากเพียงใด ..แต่ในโลกอาคิเราะฮฺ คนที่ชอบนินทาใส่ร้ายผู้อื่นนั้น เขาก็จะต้องถูกลงโทษ โดยการที่เขาถูกตัดเนื้อที่สีข้างของเขา แล้วเขาก็ต้องกินเนื้อของตัวเขาเอง..

 

          เรามาดูอัลหะดีษอีกบทหนึ่งในบันทึกของอิมามอบูดาวูด อิมามอัตติรมีซีย์ อิมามอัลบัยฮะกีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งท่านได้เล่าว่า 

       ตัวของท่านหญิงเองได้กล่าวกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่าท่านเห็นว่าเศาะฟียะฮฺเป็นอย่างนั้นไหม ?”

           คำถามตรงนี้ ตามสายรายงานอัลหะดีษอธิบายว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺพูดถึงท่านหญิงเศาะฟียะฮฺซึ่งเป็นภรรยาอีกท่านหนึ่งของท่านนบีว่ามีรูปร่างไม่สูง ท่านนบีจึงตอบว่า

 

لَقَدْ قُلْتِ كَلِمَةً لَوْ مُزِجَتْ بِمَاءِ البَحْرِ لَمَزَجَتْهُ

 

เธอได้พูดถ้อยคำที่ถ้าหากว่า มันได้ถูกนำไปผสมกับน้ำในมหาสมุทรแล้ว มันจะทำให้น้ำในมหาสมุทรดำหรือเสียไป

 

          เราจะเห็นว่า ถ้าเราใส่อะไรลงไปในมหาสมุทร เช่น เอาสีดำใส่ลงไปในมหาสมุทร มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดเปลี่ยนสีเป็นสีดำได้ และท่านนบีได้กล่าวถึงคำพูดของท่านหญิงอาอิชะฮฺที่ไม่ได้พูดอะไรมากเลย พูดแค่เพียงว่า ท่านหญิงเศาะฟียะฮฺมีรูปร่างไม่สูง ..

          ซึ่งคำพูดเพียงเท่านี้ ท่านนบีบอกว่า มันสามารถที่จะเปลี่ยนน้ำในมหาสมุทรให้กลายเป็นสีดำ หรือทำให้น้ำในมหาสมุทรมันเสียได้ ซึ่งคำพูดของท่านนบีอย่างนี้เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เราได้ตระหนักถึงความเลวร้าย หรือความน่ารังเกียจของการนินทาใส่ร้ายผู้อื่นว่ามันร้ายแรงมากแค่ไหน  ดังนั้น ในโลกดุนยานี้ ขอให้เราได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และพยายามหลีกห่างจากการนินทาใส่ร้ายผู้อื่นให้มากที่สุด

 

เรามาดูว่า การนินทาใส่ร้ายในทัศนะของอัลอิสลามมีลักษณะอย่างไร ? 

     ขอให้เรามาดูอัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

أَتَدْرُونَ مَا الغِيْبَةُ ؟ قالوا : اللهُ وَرَسُوْلُهُ أَعْلَمُ. قَالَ : (( ذِكْرُكَ أَخَاكَ بِمَا يَكْرَهُ )) ؛ قِيْلَ : أَفَرَأَيْتَ إنْ كَانَ فِي أَخِي مَا أقُولُ ؟ قال : إنْ كانَ فِيهِ ما تَقُولُ فَقَدِ اغْتَبْتَهُ، وإنْ لَمْ يَكُنْ فيهِ، فَقَدْ بَهَتَّه

 

     “พวกท่านทราบไหมว่า الغِيْبَةُ อัลฆีบะฮฺ การนินทาคืออะไร ?

     บรรดาเศาะฮาบะฮฺก็กล่าวว่าอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ทราบดีที่สุด

     ท่านนบีจึงกล่าวต่อว่าการนินทา ก็คือ การที่ท่านกล่าวถึงผู้อื่นในเรื่องที่เจ้าตัวเขาไม่ชอบ

      บางคนจึงได้ถามต่อไปว่าแล้วถ้าหากเรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องจริงเล่าครับ

     ท่านนบีจึงตอบว่าหากว่าเรื่องที่ท่านพูดเป็นเรื่องจริง นั่นเท่ากับว่า ท่านได้นินทาเขาแล้ว แต่ถ้าหากเรื่องที่ท่านพูดไม่ใช่เรื่องจริง นั่นเท่ากับว่าท่านได้ بَهَتَّه บะฮัตตะฮฺคือใส่ร้ายเขา

 

          จากอัลหะดีษบทนี้ ทำให้เราทราบว่า الغِيْبَةُ หรือการนินทา ก็หมายถึง การที่เราพูดถึงคนอื่นในเวลาที่เราอยู่ลับหลังเขา ในเรื่องที่เขาไม่ชอบ หรือไม่อยากให้ผู้อื่นเอาไปพูดถึง หรือเอาไปบอกต่อ เอาไปเผยแพร่ต่อ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม ..แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องจริง เราเรียกว่า البهتان อัลบุฮฺตาน ( มาจากคำว่า بَهَتَّه ) ก็คือ การใส่ร้าย การพูดถึงเรื่องของผู้อื่นในยามลับหลังเขาในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เราเรียกว่า การใส่ร้าย

         เราจะทราบได้อย่างไรว่า คำพูดอย่างไรที่คนอื่นไม่ชอบ คำพูดอย่างไรที่เขาไม่อยากให้คนอื่นพูดถึง ไม่อยากให้คนเอาไปพูดต่อ ปากต่อปาก... เราก็เทียบจากตัวเรา เรื่องอะไรที่เราไม่ชอบ เรื่องอะไรที่เราไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้ฟัง ไม่อยากให้คนพูดถึง นั่นแหละ มันก็เป็นเรื่องที่คนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน และยิ่งถ้าหากเรื่องที่เราพูดเป็นเรื่องที่ไม่จริง นั่นเท่ากับเราไปใส่ร้ายเขา ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก เพราะมันเป็นการทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้อื่นโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่อัลอิสลามห้าม อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเตือนมุอ์มิน เตือนบรรดาผู้ศรัทธาให้ปลีกตัว ให้ออกห่างจากเรื่องของการนินทาและโดยเฉพาะเรื่องของการใส่ร้ายผู้อื่น

 

          ดังนั้น ใครที่ปรารถนาจะเป็นมุอ์มิน ใครที่ปรารถนาที่จะออกห่างจากการถูกลงโทษ ใครที่ปรารถนาที่จะได้รับรางวัลจาก อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาก็ต้องปลีกตัวให้ออกห่างจากเรื่องของการนินทาใส่ร้าย ซึ่งในยุคปัจจุบัน เรายิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นไปอีก เพราะในสมัยก่อน เราอาจจะอยู่คนเดียว ไม่ได้พบปะผู้คนมากมาย โอกาสที่จะพูดจานินทาใส่ร้ายผู้คนอาจจะน้อย 

 

          แต่ในปัจจุบัน ถึงแม้เราจะอยู่คนเดียว แต่เราก็สามารถกลายเป็นผู้ที่นินทาใส่ร้ายผู้อื่นได้ เพราะเราอยู่กับมือถือ อยู่กับไอแพ็ด ไอโฟน อยู่กับเฟสบุ๊ค อยู่กับไลน์ อยู่กับเทคโนโลยีที่มีการโพสต์ มีการแชร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา บางคนไม่ชอบใจใครก็จินตนาการสร้างเรื่องว่าคนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น เขียนโพสต์ไปในเรื่องที่มันไม่จริง ถูกชัยฏอนล่อลวง ขาดสติ ลืมตัวไปว่า อัลลอฮฺทรงรู้ ทรงเห็น ทรงมองดูสิ่งที่เขาทำอยู่ ...

 

          การโพสต์ การแชร์เรื่องราวต่าง ๆ จึงอาจเข้าข่ายของการนินทาใส่ร้ายผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัวหรือโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นการแพร่กระจายเรื่องราวจากคน ๆหนึ่งแล้วโพสต์ต่อ ๆไป ซึ่งมันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกแยก สร้างความแตกร้าวในหมู่ผู้คน หรือทำให้ผู้คนบาดหมางใจกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกัน ก่อให้เกิดความเสียหาย ก่อความเสื่อมเสียขึ้นในสังคมได้ นั่นก็คือ เรื่องราวของการนินทาใส่ร้ายผู้คนทั่ว ๆไป 

 

          แต่สำหรับเรื่องของการนินทาใส่ร้ายอุละมาอ์ ใส่ร้ายผู้รู้ถือเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นไปอีก อันเนื่องมาจากว่า อัลอิสลามมีบทบัญญัติให้เราให้ความสำคัญและให้เกียรติกับอุละมาอ์ หรือผู้รู้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ มีความเข้าใจในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะเมื่อเราให้เกียรติอุละมาอ์ ให้เกียรติผู้รู้ก็เท่ากับเราให้เกียรติต่อความรู้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราลดทอนเกียรติของอุละมาอ์ ลดทอนเกียรติของผู้รู้โดยการนินทาใส่ร้ายท่านเหล่านั้น ก็เท่ากับเราดูถูดดูแคลนความรู้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเช่นกัน ดังนั้น การให้เกียรติอุละมาอ์ การให้เกียรติผู้รู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และนี่ก็คือ หลักอะกีดะฮฺของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ

 

          นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เนื้อของอุละมาอ์ เนื้อของผู้รู้ถูกอาบด้วยยาพิษ ซึ่งเขาก็ได้ให้ความหมายว่า ในเมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปรียบคนที่ชอบนินทาใส่ร้ายว่าเหมือนคนที่กินเนื้อของเพื่อนมนุษย์ที่ตายไปแล้ว ดังนั้น ใครที่นินทาใส่ร้ายอุละมาอ์ ก็คือคนที่กินเนื้อของอุละมาอ์ที่ได้ฉาบยาพิษไว้ เพราะเนื้อที่อาบยาพิษย่อมเป็นอันตรายยิ่งกว่า มีความร้ายแรงมากกว่า...

 

          แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อุละมาอ์เป็นบุคคลที่ไม่มีความผิดเลย หรือไม่ใช่เป็นบุคคลที่เราไม่สามารถจะไปแตะต้องได้ แต่อุละมาอ์ก็คือปุถุชนคนธรรมดาที่มีผิดมีถูก สามารถทำพลาดได้ แต่เมื่อพลาดแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องนำมาขยายผล ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปเฝ้าค้นหาข้อผิดพลาด แล้วเอาข้อพลาดนั้นมาประจาน มาใส่ร้าย เราอย่าได้ประจาน อย่าได้นินทาใส่ร้ายอุละทาอ์ แต่เรากลับต้องยกย่องให้เกียรติ เพราะแท้จริง สถานะของอุละมาอ์ ณ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น ก็คือ ทายาทของบรรดานบี จึงเป็นเรื่องที่เราต้องยกย่องให้เกียรติอุละมาอ์ ให้เกียรติผู้รู้ ครั้นเมื่อเราพลาด เราหลงไปนินทาใส่ร้ายผู้อื่น แล้วเราสำนึกผิด เรากลัวการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราต้องทำอย่างไร ?

 

          อันเนื่องมาจากว่า การนินทาใส่ร้ายเป็นหนึ่งในบาปใหญ่...เพราะเป็นบาปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การเตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

     ซึ่งเรื่องของการเตาบะฮฺตัวนั้นต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 5 ประการก็คือ

 

     1. ตั้งใจเตาบะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้น

 

     2. มีความเสียใจที่ได้หลงไปนินทาใส่ร้ายผู้คน มีความเสียใจทั้งในคำพูด ทั้งในหัวใจ และทั้งการกระทำ และเราจะต้องละทิ้งพฤติกรรมนี้โดยทันที

 

     3. ต้องตั้งใจอย่างจริงใจที่จะไม่กลับไปทำบาปนี้อีก ต้องไม่ฝ่าฝืน ไม่ดื้อดึงที่จะทำมันต่อไป

 

     4. เตาบะฮฺในเวลาที่อนุญาต เช่น เตาบะฮฺก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายของเราจะออกจากร่าง

 

     5. การนินทาใส่ร้ายเป็นบาปที่มักจะเป็นการไปล่วงเกินสิทธิของผู้อื่น ดังนั้น จำเป็นแก่ผู้ที่เตาบะฮฺตัวจะต้องคืนสิทธิอันชอบธรรมนี้ให้แก่ผู้ที่เราได้หลงไปนินทาใส่ร้ายเขาไว้ โดยเราต้องไปขอให้ผู้ที่ถูกเรานินทาใส่ร้ายนั้น ได้ให้อภัยแก่เราด้วย กรณีนี้สำหรับผู้ที่ถูกเรานินทาใส่ร้ายนั้นได้ทราบเรื่องราวดีอยู่แล้ว ...

     แต่สำหรับในกรณีที่ผู้ที่ถูกเรานินทาใส่ร้ายไม่ทราบเรื่องราวมาก่อน กรณีอย่างนี้ อุละมาอ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เราไม่ต้องแจ้งให้เขาทราบก็ได้ เพราะอาจจะเกิดการบาดหมางใจขึ้นได้ หรืออาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันได้ ดังนั้น ก็ให้เราขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พร้อมทั้งขอดุอาอ์แก่ผู้ที่เราได้ไปล่วงเกินเขาไว้ และให้เราได้กล่าวชมเชยเขา เฉกเช่นที่เราได้เคยไปนินทาใส่ร้ายเขาไว้ เป็นการทดแทน ..นี่ก็คือคำแนะนำจากอุละมาอ์

 

 

     การพูดถึงผู้อื่นในที่ลับหลังแต่ไม่ถือเป็นการนินทาใส่ร้าย ได้แก่อะไรบ้าง ?

 

     1. ในกรณีที่มีการฟ้องร้องคดี หรือมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องกล่าวพาดพิงการกระทำของผู้ถูกร้อง กรณีอย่างนี้ไม่ถือเป็นการนินทา

 

     2. ในกรณีที่มีภัยสังคมเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้คน แล้วมีการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังภัยจากการกระทำของบุคคลผู้นั้น กรณีอย่างนี้ก็ไม่ถือเป็นการนินทา

 

     3. ในกรณีที่ต้องมีการตัดสินชี้ขาดในปัญหาต่าง ๆ แล้วจำเป็นที่จะต้องมีการกล่าวพาดพิงไปถึงบุคคลอื่น ๆ

 

     4. ในกรณีที่มีผู้กระทำไม่ดี หรือทำสิ่งที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนาเกิดขึ้นในสังคม แล้วต้องมีการร้องเรียนให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบ หรือผู้ที่มีความสามารถที่จะจัดการปัญหาได้ ก็จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงการกระทำที่ไม่ดี ที่เป็นความผิดของบุคคลนั้น ๆ

 

     5. ในกรณีที่มีการกล่าวถึงรูปร่างลักษณะท่าทางเฉพาะของบุคคลหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นได้ทราบว่าเป็นคน ๆนี้ เช่น กล่าวถึงคนชื่อ ก ที่มีสีผิวคล้ำ ไม่ใช่คนชื่อ ก ที่มีผิวขาว การกล่าวทำนองนี้ นักวิชาการไม่จัดอยู่ในเรื่องของการนินทาใส่ร้าย

 

          ดังกล่าวข้างต้นก็คือ เรื่องราวเพียงบางส่วนของการนินทาใส่ร้าย ที่เป็นหนึ่งในบาปใหญ่ที่น่ารังเกียจที่เราพึงหลีกเลี่ยงและออกห่าง เพราะมีบทลงโทษที่หลากหลายแบบในโลกอาคิเราะฮฺ ที่ล้วนแต่รุนแรงและเจ็บปวดทรมาน

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดคุ้มครองเรา ช่วยเหลือเราให้ดำเนินชีวิตอยู่ในแนวทางของพระองค์ และขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่เราทุกคน 

          ขอให้เราได้กลับไปสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในสภาพที่มีความผิดน้อยที่สุด และกลับไปพบพระองค์ในสภาพที่นอบน้อมยอมจำนนต่อพระองค์โดยสิ้นเชิง

 

 

 

( นะศีหะฮฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )