ความกลัวกับความหวังต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา
  จำนวนคนเข้าชม  3518

ความกลัวกับความหวังต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

          เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า คนเราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เพราะการงานอะมัลศอลิหฺที่เราทำ แต่การงานอะมัลศอลิหฺที่เราทำทั้งหมดด้วยความอิคลาศนั้น คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา และทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์.. 

 

          ส่วนสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงให้เขาเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การลงโทษในไฟนรก

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ سورة الأعراف อายะฮฺที่ 23 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงสั่งสอนดุอาอ์บทหนึ่งแก่ท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม กับพระนางเฮาวาอ์ พระองค์ตรัสว่า

 

قَالَا رَبَّنَا ظَلَمْنَا أَنفُسَنَا وَإِن لَّمْ تَغْفِرْ لَنَا وَتَرْحَمْنَا لَنَكُونَنَّ مِنَ الْخَاسِرِينَ

 

     (อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงสอนเขาทั้งสอง คือ ท่านนบีอาดัมกับพระนางเฮาวาอ์)ให้กล่าวว่า...

     โอ้พระเจ้าของเราทั้งสอง เราได้อธรรมต่อตัวของเราเองไปแล้ว แต่หากพระองค์ไม่ทรงอภัยโทษให้แก่เรา และไม่ทรงเมตตาเรา ดังนั้น เราต้องกลายเป็นผู้ที่ขาดทุนอย่างแน่นอน

 

          อายะฮฺนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อครั้งที่ท่านนบีอาดัมกับพระนางเฮาวาอ์ได้พำนักอยู่ในสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และท่านทั้งสองได้พลาดพลั้งไป เพราะถูกอิบลีสซึ่งเป็นหัวหน้าชัยฏอนล่อลวงให้รับประทานผลไม้หนึ่ง ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงห้ามท่านทั้งสองเข้าใกล้ผลไม้จากต้นไม้นี้ ...

 

          เราจะเห็นว่า นอกจากพระองค์จะไม่ให้รับประทานผลไม้จากต้นไม้นี้แล้ว พระองค์ยังทรงห้ามเข้าใกล้มันด้วย นั่นเป็นเพราะว่า พระองค์ทรงทราบเป็นอย่างดีถึงจิตใจของมนุษย์ที่มีอารมณ์อยาก มีชะฮฺวะฮฺ แล้วก็ยังมีการล่อลวง หลอกล่อของอิบลีสชัยฏอน ที่มันคอยจะหาวิธีการที่จะทำให้มนุษย์ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในทุก ๆทาง พระองค์จึงทรงห้ามมนุษย์เราเข้าใกล้ทุก ๆเรื่อง ที่จะนำมนุษย์ไปสู่เรื่องที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของพระองค์ หรือเรื่องที่เป็นความผิดความบาป ซึ่งก็คือการตัดไฟแต่ต้นลมนั่นเอง

 

          ทันทีที่ท่านนบีอาดัมกับพระนางเฮาวาอ์ได้หลงเชื่อการล่อลวงของอิบลีส โดยการไปรับประทานผลไม้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งห้าม ..นั่นก็เท่ากับท่านทั้งสองได้กระทำการอธรรมต่อตนเอง ....การกระทำการอธรรมต่อตนเองก็หมายถึง การที่เราไปฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้วมีผลทำให้เราต้องได้รับการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เราได้รับความขาดทุนทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ 

 

          เมื่อท่านนบีอาดัมกับพระนางเฮาวาอ์ฝ่าฝืนคำสั่ง ด้วยกับความผิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ทันทีที่ท่านนบีอาดัมกับพระนางเฮาวาอ์ทำความผิดนี้ ก็รู้สำนึกตัวในทันทีว่าได้ทำความผิดไปเสียแล้ว รู้สึกเสียใจต่อความผิดเพียงครั้งเดียวที่ได้ทำลงไป มีความกลัวในการทำความผิด มีความกลัวที่ไปฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงต้องการจะกลับตัวในทันที มีความหวังให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงอภัยโทษให้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงประทานอายะฮฺนี้ลงมาแก่ท่านทั้งสองเพื่อให้ขอดุอาอ์ต่อพระองค์ให้ทรงอภัยโทษให้ และให้ทรงมีเมตตาต่อท่านทั้งสอง ซึ่งพระองค์ก็ทรงอภัยโทษให้และทรงเมตตาต่อท่านทั้งสองเช่นเดิม

 

          สำหรับในส่วนของอิบลีส ซึ่งเป็นหัวหน้าสมุนชัยฏอน ก็ได้ทำความผิดเช่นกัน เพราะมันฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่พระองค์ทรงใช้ให้มันสุญูดต่อท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม แต่มันไม่ยอมทำ ไม่ยอมก้มให้หัว ไม่ยอมสุญูดแก่ท่านนบีอาดัม เพราะมันเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี มันถือว่ามันถูกสร้างมาจากไฟ จึงคิดเอาเองว่า มันมีศักดิ์ศรีดีกว่าท่านนบีอาดัมที่ถูกสร้างมาจากดินโคลนตม มันจึงฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์จึงทรงโกรธกริ้ว ทรงสาปแช่ง และทรงให้มันตกนรกตลอดกาล

 

          แต่อิบลีสและสมุนของมัน ไม่ยอมตกนรกแต่เพียงฝ่ายเดียว มันจึงขอผ่อนผันต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ประวิงการลงโทษไว้ก่อน และจะขอการล่อลวงลูกหลานท่านนบีอาดัม ก็คือล่อลวงพวกเรา ๆนี่แหละให้ไปอยู่เป็นเพื่อนกับมันในนรกญะฮันนัม อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ทรงยินยอมประวิงเวลาการลงโทษให้แก่มัน

 

          ดังนั้น เราจะเห็นว่าทั้งท่านนบีอาดัม และอิบลีสต่างทำความผิดด้วยการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ผลที่ได้รับกลับแตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะ ท่านนบีอาดัมเมื่อได้พลาดพลั้ง ไม่ได้ตั้งใจที่จะฝ่าฝืนคำสั่ง แต่เมื่อหลงไปกับการล่อลวงของชัยฏอนก็รู้สำนึกผิดในทันที เกิดความกลัวว่าได้ทำความผิดไปแล้ว จึงได้ขออภัยโทษต่อพระองค์ ในขณะที่ อิบลีสฝ่าฝืนคำสั่งเพราะมันตั้งใจ มันอวดดี ไม่ยอมทำตามคำสั่ง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงทรงโกรธกริ้ว และทรงสาปแช่งมันตลอดไป

 

           จากเรื่องราวข้างต้นเราจะเห็นการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน 2 แบบ 

 

          แบบแรกก็คือการดำเนินชีวิตในแบบของท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม ที่เมื่อทำความผิด ก็รู้สึกสำนึกตัว เกิดความกลัวที่ได้ทำความผิด จึงได้ขออภัยโทษ กลับเนื้อกลับตัว และขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาล ทรงเมตตาต่อท่าน อภัยโทษให้แก่ท่าน ...

 

           ในขณะที่การดำเนินชีวิตของอิบลีส ก็คือ ยังฝ่าฝืนคำสั่ง ยังดึงดันที่จะทำความผิดต่อไป ไม่ได้มีความรู้สึกสำนึกตัวเองว่าตัวเองทำความผิด แม้ว่าจะถูกเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม แถมยังจะคอยล่อลวงคนที่เชื่อฟังอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ปฏิบัติตามทางของมันอีกด้วย คนที่ปฏิเสธศรัทธา คนที่ทำความชั่วความผิดอยู่เป็นเนืองนิจ ชัยฏอนมักจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะพวกนี้หลงไปกับมันอยู่แล้ว มันจะยุ่งแต่กับคนที่มีอีมาน มีศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น 

 

          ดังนั้น วิธีการที่ดี ที่ถูกต้องก็คือการที่เราจะต้องต่อสู้กับการล่อลวงของอิบลีสและบรรดาชัยฏอน ลูกสมุนของมัน เราต้องพยายามศึกษาหาความรู้เพื่อจะได้รู้เท่าทันแผนการ และปกป้องตัวเราให้พ้นจากกลอุบายของมัน แต่เมื่อเราได้พยายามเต็มที่แล้ว ก็เป็นไปได้ที่เราอาจจะต้องพลาดพลั้งให้กับมัน หากเป็นเช่นนี้ เราต้องรู้สึกตัวในทันที ต้องสำนึกในความผิด ต้องละอายใจที่ทำความผิด เสียใจในสิ่งที่ทำลงไป เกิดความกลัวที่หลงไปทำความผิด และต้องมุ่งหวังสู่ความเมตตาของพระองค์ ด้วยการขอดุอาอ์ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสอนแก่ท่านนบีอาดัมข้างตัน และพยายามปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ อันเป็นแนวทางที่ท่านนบีอาดัมได้ทำไว้เป็นแบบอย่างแก่เรานั่นเอง

 

          ในการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคนในทุก ๆวันนั้น บางครั้งเราก็พลาดพลั้งทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งเราอาจจะพลั้งเผลอ หลงลืมไปบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา เพราะมนุษย์เรานอกจากจะมีชะฮฺวะฮฺ หรือมีอารมณ์ใฝ่ไปในทางไม่ดี แล้วเรายังมีชัยฏอนมารร้าย ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเราคอยตั้งหน้าตั้งตาหลอกลวงเราอยู่ 

 

          หรือบางทีเราก็อาจตั้งใจแต่เรารู้สึกตัวได้ สำนึกผิดได้ เราก็จะมีความรู้สึกว่าเราไม่สบายใจ เราทุกข์ใจ รู้สึกหมองหม่น รู้สึกเศร้าใจในการกระทำความผิดของเรา หรือบางครั้งเราอาจจะไปทำเรื่องที่มันร้ายแรงมาก ๆหรืออาจจะไม่ร้ายแรงก็ตาม แล้วมันมีผลให้เรารู้สึกหมดหวัง สิ้นหวัง ท้อแท้ ห่อเหี่ยว อาจจะหมกมุ่นอยู่กับความผิด แล้วก็อาจจะถูกชัยฏอนกระซิบกระซาบว่า ไหน ๆ ก็ทำความผิดแล้วก็ทำมันต่อไปเรื่อย ๆก็แล้วกัน หากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เขากลับยิ่งจมอยู่ในความผิดนั้นจนถอนตัวไม่ขึ้น แล้วเขาก็จะกลายเป็นผู้ที่ขาดทุนทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราพลาดไป หลงลืมไป เราจำเป็นต้องคิดได้ในทันที และรีบหันกลับสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้ได้อย่างรวดเร็ว สำนึกตัวให้ได้ ขออภัยโทษต่อพระองค์ ขอเตาบะฮฺตัวต่อพระองค์ พระองค์จะทรงให้อภัยเรา ทรงเมตตาเรา

 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัซซุมัร سورة الزمر อายะฮฺที่ 53 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَىٰ أَنفُسِهِمْ لَا تَقْنَطُوا مِن رَّحْمَةِ اللَّهِ ۚ إِنَّ اللَّهَ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعًا ۚ إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกกับบรรดาบ่าวของพระองค์ที่ได้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง (คือได้ไปทำความชั่วต่าง ๆไว้ ได้ไปทำเรื่องที่อธรรมไว้ ไปก่ออาชญากรรมต่าง ๆไว้ ไปทำเรื่องที่มันฝ่าฝืนต่อคำสั่งของพระองค์ไว้ เช่น ไปทำชิริกไว้ โกหกเขาไว้ ทำความผิดต่าง ๆนานา)

     ว่าพวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ (คือให้ระลึกอยู่เสมอว่าพระองค์เป็นผู้ทรงเมตตา หากไปทำความผิดอะไรมาแล้วรู้สึกตัวได้ ก็ให้ขออภัยโทษต่อพระองค์ แล้วก็อย่าเบื่อหน่ายที่จะขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺในบาปต่าง ๆของพวกท่าน และอย่าเบื่อหน่ายที่พวกท่านจะขอดุอาอ์ให้ตัวเองได้เข้าสวรรค์)

     แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวลให้แก่พวกท่าน ( พระองค์จะทรงอภัยโทษความผิดทั้งหมด ถึงแม้ว่าความผิดนั้นจะมากมายเท่าฟองน้ำที่ลอยอยู่ในแม่น้ำก็ตาม ไม่ว่ามันจะมากมายแค่ไหน จะเป็นความผิดร้ายแรงมากแค่ไหนหรือจะไม่ร้ายแรงก็ตาม ทุก ๆ ความผิดนั้นพระองค์จะทรงอภัยโทษให้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ )

     เพราะแท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 

          จากอายะฮฺนี้ ไม่ได้หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงอภัยโทษบาปทั้งหมดให้แก่เรา โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร นอกจากมีความคิดว่า เราขออภัยโทษแล้ว แล้วก็จบกัน อย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่เราต้องมีความรู้สึกสำนึกผิด มีการเตาบะฮฺตัว กลับเนื้อกลับตัว มีการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างอิคลาศจริงจัง จริงใจด้วย

    เรามาพิจารณาอายะฮฺต่อมา อายะฮฺที่ 54 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตอาลาตรัสว่า

 

وَأَنِيبُوا إِلَىٰ رَبِّكُمْ وَأَسْلِمُوا لَهُ مِن قَبْلِ أَن يَأْتِيَكُمُ الْعَذَابُ ثُمَّ لَا تُنصَرُونَ

 

     เมื่อเราสำนึกตัวแล้ว เราขออภัยโทษ ทำการเตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวแล้ว เรายังต้องหันหน้าของเราไปยังพระเจ้าของพวกเรา (หมายความว่า ให้เราทำตัวให้ใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยความนอบน้อมยอมจำนน)

     และยอมมอบตัวของเราต่อพระองค์ (หมายถึงว่าให้เรายอมจำนนต่อหลักการของพระองค์ทั้งคำสั่งที่เป็นข้อสั่งใช้ และคำสั่งที่เป็นข้องสั่งห้ามอย่าง ปฏิบัติมันอย่างเคร่งครัด)

     ก่อนที่การลงโทษจะมายังพวกเรา (นั่นก็คือ ให้ทำสิ่งที่เป็นเรื่องดี ๆเหล่านี้เสียก่อน ก่อนที่เราจะตาย เพราะหลังจากนั้นแล้ว การขออภัยโทษ การขอเตาบะฮฺตัวจะไม่ถูกตอบรับแล้ว ซึ่งในที่สุดเราก็จะไม่มีผู้ช่วยเหลือใด ๆทั้งสิ้น ที่จะทำให้เรารอดพ้นจากการถูกลงโทษ)”

 

     ต่อมาในอายะฮฺที่ 55 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَاتَّبِعُوا أَحْسَنَ مَا أُنزِلَ إِلَيْكُم مِّن رَّبِّكُم مِّن قَبْلِ أَن يَأْتِيَكُمُ الْعَذَابُ بَغْتَةً وَأَنتُمْ لَا تَشْعُرُونَ

 

    “และจงปฏิบัติตามอย่างดีเยี่ยมต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมายังพวกเรา จากพระเจ้าของเรา (หมายความว่า ให้เราปฏิบัติตามสิ่งที่อัลกุรอานแนะนะ สั่งสอน ตักเตือนเรา) ก่อนที่การลงโทษจะมายังพวกเราอย่างเฉียบพลันทันที โดยที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ทันได้ตั้งตัว

 

          เพราะเมื่อความตายมาถึงเรา โดยที่เราอยู่ในสภาพของผู้ที่อธรรม ไม่ได้กลับเนื้อกลับตัว ไม่ได้ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ปฏิบัติการงานอย่างขาดตกบกพร่อง ไม่ครบถ้วน ไม่ทำตัวให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ ไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษของพระองค์ แน่นอน ในวันกิยามะฮฺ ชีวิตของเขาก็จะพบกับความวิบัติอย่างแน่นอน และจะอยู่ในบรรดาผู้ที่ถูกเยาะเย้ยถากถางอีกด้วย

     ในอายะฮฺต่อมาอายะฮฺที่ 56 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

أَن تَقُولَ نَفْسٌ يَا حَسْرَتَا عَلَىٰ مَا فَرَّطتُ فِي جَنبِ اللَّهِ وَإِن كُنتُ لَمِنَ السَّاخِرِينَ

 

     (ในวันกิยามะฮ) ชีวิต(ของผู้ที่อธรรม)จะพูดขึ้นว่า โอ้ความวิบัติของฉัน ที่ฉันได้ปฏิบัติอย่างบกพร่อง ไม่ครบถ้วน ทอดทิ้งหน้าที่ต่ออัลลอฮฺ ฉันจึงเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกเยาะเย้ยถากถาง

 

          เรื่องราวข้างต้นแสดงให้เราเห็นว่า เมื่อเราหลงไปทำความผิด ความบาปใด ๆก็แล้วแต่ เราอย่าสิ้นหวัง หรือเราอย่าหมดหวังในความเมตตาของอัลลออฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อเราหลงไปทำบาปที่มันยิ่งใหญ่ บาปที่มันร้ายแรง เช่น ทำชิริก แต่ถ้าเราสำนึกตัวได้ เตาบะฮฺตัวได้ หันกลับมาเชื่อฟังพระองค์ตามเงื่อนไขที่พระองค์ทรงบอกไว้อย่างจริงใจ แน่นอน พระองค์ทรงบอกว่าพระองค์จะทรงอภัยโทษในความผิดความบาปต่าง ๆของเราจนหมดสิ้นตามที่พระองค์ทรงประสงค์

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งเราให้เรามีความหวังในความเมตตาของพระองค์ ให้เราหวังในความโปรดปรานของพระองค์ หวังว่าพระองค์จะทรงอภัยโทษให้ในความผิดความบาปต่าง ๆของเรา หวังให้พระองค์ทรงทำให้นรกญะฮันนัมได้หันห่างไปจากเรา หวังให้เราได้รับสวรรค์ชั้นฟิรดาวส์เป็นรางวัลตอบแทน เมื่อเรามีความหวัง เราก็จะขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราก็จะกลับเนื้อกลับตัวมาสู่ความดีงาม มาสู่การยำเกรงต่อพระองค์

 

          นอกจากนี้ เรายังต้องมีความกลัวต่อการลงโทษต่าง ๆของพระองค์ด้วย เพราะหากเราไม่นำพา หรือไม่สนใจต่อการลงโทษต่าง ๆของพระองค์ มันจะนำความหายนะอย่างใหญ่หลวงมาสู่ตัวเรา ดังนั้น การที่เรามีความกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กลัวที่จะตกลงไปในนรกญะฮันนัม กลัวที่ถูกลงโทษด้วยการลงโทษที่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน กลัวไฟนรกที่มันร้อนแรง และกลัวไฟนรกที่มันเย็นยะเยือก กลัววันแห่งการสอบสวน กลัวต่อการถูกสอบสวนเพื่อรับฟังคำพิพากาษา ซึ่งผลตอบแทนของมันก็มีเพียงสวรรค์หรือไม่ก็นรกเท่านั้น ความกลัวนี้มันจะทำให้เราปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลอย่างเคร่งครัด

 

          ซึ่งทั้งความกลัวกับความหวังต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานี้จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประพฤติปฏิบัติตัวของเราบนโลกดุนยานี้ และทั้งความกลัวกับความหวังนี้จะต้องมีควบคู่กันไปเสมอ และสิ่งนี้ก็คือลักษณะของมุสลิมมุมินอ์ผู้ศรัทธา ซึ่งทุกลมหายใจเข้าออกของเขาอยู่ด้วยความกลัวกับความหวัง ..มีความกลัวแต่ก็มีความหวัง และมีความหวังแต่ก็มีความกลัว

     ก่อนจบ ขอยกอัลหะดีษ (เศาะหิหฺ )ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ 

 

     รายงานจากท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ไปเยี่ยมชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งใกล้จะเสียชีวิต 

     ท่านนบีได้ถามเขาว่าท่านเป็นอย่างไรบ้าง?”

     เขาตอบว่าโอ้ท่านเราะซูลุลลอฮฺ แท้จริงผมมีความหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เกรงกลัวพระองค์เพราะความผิดความบาปที่ผมเคยทำมา

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า

 

« لَا يَجْتَمِعَانِ فِي قَلْبِ عَبْدٍ فِي مِثْلِ هَذَا المَوْطِنِ، إِلَّا أَعْطَاهُ اللَّهُ مَا يَرْجُو، وَآمَنَهُ »مِمَّا يَخَافُ ]

 

     หากหัวใจของบ่าวคนใดมีสองสิ่งนี้(คือมีความกลัวต่ออัลลอฮฺและการลงโทษของพระองค์ กับมีความหวังในความเมตตาของพระองค์) เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์(เช่นเดียวกับชายคน)นี้แล้วละก็ แน่นอน อัลลอฮฺจะทรงให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาหวัง และจะทรงให้เขาปลอดภัยจากสิ่งที่เขากลัว(ในวันกิยามะฮฺ)

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้หัวใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยความกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมีความหวังในความเมตตาของพระองค์ ขอให้เราเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ศรัทธาที่รอดพ้นจากการลงโทษในกุบูรและในนรกญะฮันนัม และได้รับสวรรค์ชั้นฟิรดาวส์เป็นที่พำนักในโลกอาคิเราะฮฺตลอดกาล

 

 

( นะศีหะฮฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )