..เราได้รับคำเตือนแล้ว..
  จำนวนคนเข้าชม  3293

..เราได้รับคำเตือนแล้ว..

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยต้องพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขอให้เรายังคงชุกูร ขอบคุณในความโปรดปราน ขอบคุณในความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเรา ที่ได้ทรงให้เราได้มีชีวิตอยู่จนเข้าสู่ช่วงปลายของเดือนเราะมะฎอนในปีนี้แล้ว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ...

 

          การขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ การที่เรารำลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ รำลึกถึงในความเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวของพระองค์ รำลึกถึงในความยิ่งใหญ่ของพระองค์ รำลึกถึงความโปรดปราน ความเมตตาที่พระองค์ทรงมอบแก่เรา ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเชื่อฟังและปฎิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างเคร่งครัด ดำเนินชีวิตของเราให้อยู่ในบทบัญญัติของพระองค์ ปฏิบัติอิบาดะฮฺตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม..

 

         แต่หากเราทำผิดพลาด พลาดพลั้งสิ่งใดก็ต้องรู้จักสำนึกผิด และขออภัยโทษต่อพระองค์ กลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์ ..เราจะต้องไม่ตั้งใจที่จะดื้อดึง ต้องไม่ตั้งใจที่จะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ ..นี่ก็คือ ส่วนหนึ่งของการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เราแต่ละคนผ่านการถือศีลอดและการใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนกันมาคนละกี่ปีแล้ว ..ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี นั่นคือเครื่องหมายแสดงให้เราทราบว่า เวลาที่เราจะต้องกลับไปพบอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว ..เวลาในโลกดุนยาของเราเหลือน้อยลงเรื่อย ๆแล้ว ..ความตายเข้าใกล้เรามาทุกขณะแล้ว ..และนี่คือโอกาสให้เราได้ตระหนัก ได้เตรียมตัวที่จะกลับไปพบอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในสภาพที่เป็นบ่าวที่รู้คุณต่อพระองค์อย่างที่สุด ..

 

         เพราะหากเรายังไม่ได้เตรียมตัว เมื่อเวลาแห่งความตายมาหาเรา ซึ่งมันจะมาหาเราอย่างกะทันหัน ไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว เราก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ไม่มีโอกาสอีกแล้วที่จะกลับมาแก้ตัว กลับมาทำอามัลอิบาดะฮฺใด ๆได้ทั้งสิ้น และเมื่อถึงวันกิยามะฮฺ หากเรามีความผิด เราก็จะต้องได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

         ในอัลกุรอานซูเราะฮฺฟาฏิร อายะฮฺที่ 36 - 37 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงเล่าถึงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา บรรดาผู้ที่ไม่เชื่อต่อบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ พระองค์ตรัสในอายะฮฺที่ 36 ว่า

 

 وَٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَهُمۡ نَارُ جَهَنَّمَ

พวกเขาถูกตัดสินให้ได้รับการลงโทษในไฟนรกที่ลุกโชติช่วง เป็นการลงโทษที่ทั้งหนักหน่วง รุนแรง สาหัสสากรรจ์

 

لَا يُقۡضَىٰ عَلَيۡهِمۡ فَيَمُوتُواْ

เป็นการลงโทษที่ไม่ทำให้ตาย

 

           ..เจ็บปวดทุกข์ทรมานแค่ไหนก็ไม่ทำให้ตาย สาหัสสากรรจ์แค่ไหนก็ไม่มีการขาดใจตาย เพราะมันไม่มีการตายอีกแล้ว ต้องโดนลงโทษอย่างนั้นตลอดกาล...นอกจากจะต้องโดนลงโทษอย่างนั้นอยู่อย่างตลอดกาลแล้ว

 

وَلَا يُخَفَّفُ عَنۡهُم مِّنۡ عَذَابِهَاۚ

การลงโทษนั้นก็ยังไม่ถูกลดหย่อนให้แก่พวกเขาอีกด้วย

 

    ก็คือรับการลงโทษไปเต็ม ๆ ไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษใด ๆทั้งสิ้น ..

 

كَذَٰلِكَ نَجۡزِي كُلَّ كَفُورٖ

ดังกล่าวนี้แหละ ที่เราจะตอบแทนแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทุกคน

 

     ในอายะฮฺที่ 37 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَهُمۡ يَصۡطَرِخُونَ فِيهَا

เมื่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต้องโดนลงโทษอย่างหนักหน่วงเช่นนั้น พวกเขาก็จะตะโกนร้องโหยหวนอยู่ในนรกนั้น พวกเขาจะกล่าวว่า

 رَبَّنَآ โอ้พระเจ้าของเรา أَخۡرِجۡنَا ขอพระองค์โปรดนำเราออกไป(จากนรกด้วยเถิด ...ไม่ไหวแล้ว ทรมานเหลือเกิน )

نَعۡمَلۡ صَٰلِحًا غَيۡرَ ٱلَّذِي كُنَّا نَعۡمَلُۚ (ขอพระองค์โปรดเอาเราออกไปจากนรกทีเถิด) 

 

         แล้วเราจะได้กลับไปศรัทธาต่อพระองค์ เราจะได้กลับไปเชื่อฟังพระองค์ จะได้กลับไปทำความดี ไปทำอามัลอิบาดะฮฺที่เรายังไม่ได้ทำ อิบาดะฮฺที่เราทอดทิ้ง ที่เราไม่ได้สนใจ เราจะกลับไปทำ ขอพระองค์ให้โอกาสเราได้กลับไปทำความดีด้วยเถิด

 

... เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ตรัสกับพวกเขาว่า

 

أَوَلَمۡ نُعَمِّرۡكُم مَّا يَتَذَكَّرُ فِيهِ مَن تَذَكَّرَ

เราไม่ได้ให้พวกเจ้ามีอายุยืนยาวจนถึงเวลาที่พวกเจ้ามีสติปัญญาคิดไตร่ตรองเรื่องราวต่าง ๆ หรอกหรือ ?”

 

         อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกพวกเขาว่า พระองค์ทรงให้โอกาสพวกเขาแล้วไม่ใช่หรือ ? ให้พวกเขามีชีวิตยืนยาว เพราะคนที่มีอายุยืนยาว มีอายุเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะต้องมีสติปัญญา รู้จักคิดได้แล้วว่า สิ่งไหนถูกต้อง สิ่งไหนผิด สิ่งไหนเป็นความจริง สิ่งไหนเป็นความเท็จ ..ให้อายุยืนยาวมาอย่างนี้แล้วก็ต้องรู้จักผิดชอบชั่วดีได้แล้ว ...

 

         ตรงนี้ อุละมาอ์บางท่านอธิบายว่า อายุยืนยาวนี่ก็คือตั้งแต่เด็กจนมีอายุมาถึง 18 ปี หรือถึงวัยที่บรรลุศาสนาภาวะแล้ว ..อุละมาอ์บางท่านก็อธิบายว่า มีอายุยืนยาวมาถึง 40 ปี เพราะมีหลักฐานว่า ชาวมะดีนะฮฺนั้น เมื่อพวกเขามีอายุ 40 ปี พวกเขาจะทำอิบาดะฮฺกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ..ส่วนสำหรับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกว่าอายุยืนยาวมาถึง 60 ปี...

 

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

أَعْذَرَ اللَّهُ إلى امْرِئٍ أخَّرَ أجَلَهُ، حتَّى بَلَّغَهُ سِتِّينَ سَنَةً.

อัลลอฮฺ ทรงให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้แก้ตัว โดยให้กำหนดอะญัลของเขาล่าช้าออกไป จนกระทั่งเขามีอายุ 60 ปี

 

         นั่นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงรับคำแก้ตัวใด ๆของคนที่มีอายุยืนยาวมาถึง 60 ปี แล้วเขายังไม่ได้สำนึกผิด ยังไม่ได้กลับเนื้อกลับตัว ยังไม่ได้สนใจในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา เมื่อไปถึงวันกิยามะฮฺ เขาก็จะต้องถูกลงโทษในความผิดเหล่านั้น..ซึ่งไม่ว่าจะอายุ 18 ปี หรือ 40 ปี หรือ 60 ปี ก็คืออายุที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว ควรจะต้องรู้จักดีรู้จักชั่วแล้ว ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งต้องมีสติปัญญาคิดไตร่ตรองมากขึ้น มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น 

 

         ดังนั้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น นั่นก็เท่ากับว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้โอกาสแก่เขา ให้เขาได้แก้ตัวในกรณีที่เขายังทำผิด ยังฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระองค์ ให้โอกาสแก่เขาในการที่เขาจะได้กลับเนื้อกลับตัว ให้โอกาสแก่เขาที่ให้เขาได้มีโอกาสทำอามัลอิบาดะฮฺเพิ่มมากยิ่งขึ้น เป็นการเตรียมพร้อมในการกลับไปพบอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในสภาพที่ดีงามยิ่ง และไม่ต้องถูกลงโทษในไฟนรกอันร้อนแรง ...นอกจากจะมีสติปัญญารู้คิดเพิ่มมากขึ้นแล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลายังทรงบอกต่อไปอีกว่า

 

“وَجَآءَكُمُ ٱلنَّذِيرُۖ  และได้มีผู้ตักเตือนมายังเจ้าแล้ว(ด้วยเช่นกัน) 

 

         ก็คือ รู้จักคิดแล้ว แล้วก็ยังมีผู้ตักเตือนมาบอกกล่าวแล้ว ยิ่งสมควรอย่างยิ่งที่เขาควรจะปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่มาขอลดหย่อนผ่อนโทษ มาพูดโน้นพูดนี่เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องได้รับการลงโทษ

 

         ...คำว่า  ٱلنَّذِيرُۖ  ผู้ตักเตือนตรงนี้ ส่วนใหญ่มีคำอธิบายว่า หมายถึงท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้นำคำสั่งสอนมาบอก มาตักเตือนพวกเขาแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ฟัง ไม่เตรียมตัวอะไรเลย ไม่ทำความดีอะไรเลย ไม่เชื่อฟังท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา .. 

 

          บางส่วนก็ให้คำอธิบายคำว่า  ٱلنَّذِيرُۖ  ผู้ตักเตือนว่าหมายถึง ความร่วงโรยของวัย มีผมหงอกปรากฏออกมา มีเคราขาวปรากฏออกมา มีอาการปวดข้อปวดกระดูก มีความโรยราปรากฎอยู่บนร่างกาย มาตอกย้ำ มาย้ำเตือนว่า อายุมากแล้วนะ แก่ชรามากแล้วนะ ใกล้วันที่จะกลับไปพบกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้วนะ..

 

          ซึ่งคำอธิบายทั้งสองกรณีก็ไม่ได้ขัดกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่มาย้ำเตือนว่า เมื่อเขามีอายุเพิ่มมากขึ้น หากเขายังใช้ชีวิตโดยไม่สนใจบทบัญญัติศาสนาที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำมาตักเตือน นำมาบอกกล่าว พอไปถึงวันกิยามะฮฺ เขาก็จะได้รับการลงโทษดังกล่าวนั่นแหละอย่างแน่นอน

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ดังนั้น ในช่วงชีวิตของคนเรา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในช่วงอายุเท่าใด เขาจะต้องทำความดีอยู่ตลอดเวลา ดำเนินชีวิตไปตามบทบัญญัติศาสนา และยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น เขาก็ยิ่งต้องทำความดีเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะเมื่อเขาอายุมากขึ้น ความรับผิดชอบของเขา สติปัญญาคิดไตร่ตรองย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ...

 

        ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะไม่ทรงให้โอกาสเขาได้แก้ตัวอีกแล้ว หากเขายังทำความผิดอยู่ ยังทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา เขาย่อมได้รับการลงโทษ เมื่อเขาเสียชีวิตลง เขาจะต้องได้รับการลงโทษอย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ หากเด็กเสียชีวิตลงโดยที่เขาได้ทำความผิด เขาจะยังไม่ได้รับการลงโทษ เพราะเขาจะมีข้อแก้ตัวให้กับตัวเองว่า เขายังเด็กอยู่

 

        อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ) ในบันทึกของอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

قَالَ: رُفِعَ الْقَلَمُ عَنْ ثَلَاثَةٍ: عَنِ النَّائِمِ حَتَّى يَسْتَيْقِظَ، وَعَنِ الصَّبِيِّ حَتَّى يَحْتَلِمَ، وَعَنِ الْمَجْنُونِ حَتَّى يَعْقِلَ

 

ปากกาจะถูกยกออกจากบุคคลสามกลุ่ม (หมายถึงยังไม่ได้รับการจดบันทึกความผิด) อันได้แก่

(กลุ่มที่หนึ่ง) ผู้ที่นอนหลับจนกว่าเขาจะตื่น ...(กลุ่มที่สอง)เด็กจนกว่าเขาจะบรรลุศาสนภาวะ..

(กลุ่มที่สาม) ผู้ที่เสียสติจนกว่าเขาจะมีสติสัมปชัญญะ

 

         นั่นก็หมายความว่า เด็ก ๆ เขายังไม่ต้องรับผิดชอบอะไร หากเขาทำความผิด ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา เขายังละหมาดไม่ครบ เขายังถือศีลอดไม่ครบ กรณีอย่างนี้ เขาก็ยังไม่ต้องได้รับการลงโทษอะไร และในวันกิยามะฮฺ เขาก็จะมีข้อแก้ตัวให้กับตัวของเขาเองว่า เขายังเด็กอยู่ ...

 

         แต่ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลอบรมสั่งสอนให้เขารู้จักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา รู้จักบทบัญญัติศาสนา และฝึกฝนเขาให้เป็นคนที่ปฏิบัติในเรื่องราวของศาสนา เพื่อที่ว่า เมื่อเขาเติบโตขึ้นมา เขาจะได้ดำรงตนเป็นมุสลิมที่มีอีมาน และเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งจะทำให้เขาปลอดภัยและรอดพ้นจากการถูกลงโทษ ...

 

        ส่วนสำหรับใครก็ตามที่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ยอมปรับปรุงตัว .. อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปิดโอกาสให้เขาแล้ว ยืดเวลาให้กับเขาไปแล้ว แต่เขาไม่ทำเอง มันก็จะเป็นหลักฐานมัดตัวเขา และเขาก็จะไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆอีก เมื่อไปถึงวันกิยามะฮฺ เขาจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน โดยไม่มีใครที่จะช่วยเหลือเขาได้ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสไว้แล้วว่า

 

فَذُوقُواْ فَمَا لِلظَّٰلِمِينَ مِن نَّصِيرٍ

 

     ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรส(การลงโทษ)เถิด เพราะสำหรับบรรดาผู้อธรรม (บรรดาผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)นั้น ไม่มีใครที่จะมาช่วยเหลือใครได้เลย

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในช่วงปลายชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น ท่านนบีจะให้เวลากับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างมากมาย มอบความเป็นพระเจ้าองค์เดียวแด่พระองค์ ..อีกทั้งท่านนบียังขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างมากมาย...

 

         ซึ่งการขออภัยโทษของท่านนบีนั้น ไม่ใช่เพราะท่านนบีทำความผิดอะไร เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงคุ้มครองท่านนบีให้พ้นจากความผิดบาปทั้งปวงอยู่แล้ว แต่การขออภัยโทษของท่านนบีนั้นเพื่อเป็นการเทิดเกียรติแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเป็นการน้อมรับความบกพร่องของตัวท่านเอง ซึ่งความจริงท่านนบีไม่มีความบกพร่องใด ๆ ...

 

         ด้วยเหตุนี้ เมื่อคนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่ามะศูม เป็นคนไม่มีความผิด เป็นคนไม่มีบาป ยังขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างมากมาย แล้วอย่างเราที่เป็นคนเอาวาม คนธรรมดา ๆ ย่อมต้องเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้มากยิ่ง ๆขึ้นไปอีก

 

         ดังนั้น เมื่อคนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีอายุผ่านมาถึง 60 ปีแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องตระหนักในเรื่องนี้ และหันกลับมาสำรวจตัวเอง เวลาที่ผ่านมาของเขาใช้ไปสำหรับเรื่องอะไรบ้าง ได้ทำอะไรมาบ้าง ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มาอย่างมากมาย ศึกษาเรียนรู้ ทำงานทำการ ช่วยเหลือสังคม หรือใช้ชีวิตอย่างไร้สาระ ไม่ดำเนินชีวิตไปตามบทบัญญัติศาสนาหรือเปล่า ..นี่ก็คือสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เราได้คิด ได้หันกลับมาปรับปรุงตัวเอง อะไรที่เป็นความผิดพลาดก็ต้องรู้สำนึกตัวเอง และพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น อีกทั้งต้องอภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขอให้มาก ๆตามที่ท่านนบีได้ทำแบบอย่างไว้ ..

 

         ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตาย ทำความดีเพิ่มขึ้นทุกขณะ เรื่องราวของทางโลกดุนยาก็ให้ลดลง ปล่อยวางบ้าง ให้เป็นเรื่องของคนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นเวลาช่วงวัยของเขา เพื่อที่เราจะได้มีเวลามาเตรียมตัว สำหรับการกลับสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อให้บั้นปลายชีวิตของเราเป็นบั้นปลายที่ดี และให้การจบชีวิตของเราเป็นการจบชีวิตที่ดี

 

اللهمّ أحْسِنْ عَاقِبَتَنَا فِي الأُمُورِ كُلِّهَا، وَأجِرْنَا مِنْ خِزْيِ الدُّنْيَا وَعَذَابِ الآخِرَةِ

 

ข้าแด่อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดให้กิจการงานทั้งหลายในบั้นปลายชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ดีงามด้วยเถิด

ขอพระองค์โปรดให้เรารอดพ้นจากความต่ำต้อยของดุนยา และรอดพ้นจากการลงโทษในอาคิเราะฮฺด้วยเถิด

 

         สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดเมตตาเราให้เราได้มีชีวิตและใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนอย่างคุ้มค่า ขอพระองค์โปรดช่วยเหลือเราให้มีความเข้มแข็งในการทำอิบาดะฮฺ และโปรดรับการทำอิบาดะฮฺทั้งหมดของเรา 

 

          โปรดอภัยโทษ ลบล้างความผิดต่าง ๆให้แก่เรา โปรดให้เรา เป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการรักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โปรดให้เราได้รับความดีงามจากเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ และได้พบกับค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺกันทุกคน ...อามีน

 

 

( คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )