พัฒนาทักษะ EF ให้ลูกได้..ด้วยการใส่ใจกับการละหมาดของลูก
  จำนวนคนเข้าชม  2452

พัฒนาทักษะ EF ให้ลูกได้..ด้วยการใส่ใจกับการละหมาดของลูก

 

อุมมุอัฟว์ แปลเรียบเรียง

 

         ท่ามกลางกระเเส EF (Executive Function) หรือ ความสามารถในการควบคุมการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่หลายบ้านให้ความสำคัญและพยายามฝึกฝน พัฒนาทักษะด้านนี้ให้แก่ลูก ไม่ว่าจะด้วยการอ่านนิทานก่อนนอน  ฝึกทำงานบ้าน ฝึกช่วยเหลืองานพ่อแม่ ปล่อยลูกให้มีเวลาเล่นตามวัยอย่างเสรี เฟ้นหาเวลาคุณภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ "ดีทั้งนั้น" เพื่อผลลัพธ์ในการพัฒนาความคิด อารมณ์ความรู้สึก  พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในแต่ละช่วงวัยของการเจริญเติบโต

 

         ขณะที่เราชื่นชอบ ให้ความสำคัญและเพียรพยายามกับวิธีการฝึกฝนเหล่านั้น เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายแม้จะยากเย็น ยังมีอีก "หนทางหนึ่ง" ที่สามารถฝึกฝนทักษะการควบคุมตนเองให้กับลูกได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นวิธีที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญกว่าวิธีการใดๆ นั่นคือการละหมาดอย่างดี

 

          เหตุที่ย้ำว่า "อย่างดี" "อย่างพิถีพิถัน" เพราะไม่ใช่แค่การเรียกลูกให้มาละหมาดได้เมื่อถึงเวลาจะถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้น แต่ยังคงมีอีกหลายขั้นตอน และหลากลายรายละเอียดเชิงลึก ที่จำต้องอาศัยเวลาและการหมั่นฝึกฝนที่มากกว่าทักษะใดๆ 

 

         การจับเด็กปฐมวัยให้เข้าแถวละหมาด และควบคุมตัวเองให้อยู่ในอิริยาบถของการละหมาดตั้งแต่ต้นจนจบได้ นับเป็นก้าวแรกของการฝึกฝน แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต้องสอดแทรก ย้ำเตือน คาดโทษ และสั่งสอนกันไปตามลำดับ เพราะนอกเหนือจากคำตอบว่า "ละหมาดแล้วครับ ละหมาดแล้วค่ะ" เด็กๆ ควรต้องได้รับการอบรม ฝึกฝน พัฒนาการละหมาดของตัวเองให้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

     ทักษะที่พ่อแม่จำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาลูกต่อไปก็คือ

   ♥- การรักษาเวลาละหมาด

   ♥-  การปฏิบัติตัวเมื่อได้ยินเสียงอาซาน เตรียมพร้อมสู่การละหมาดด้วยการอาบน้ำละหมาดอย่างดี แต่งกายมิดชิดเรียบร้อย

   ♥- การรีบไปมัสญิดสำหรับผู้ชาย รักษาการละหมาดเป็นญะมาอะฮฺที่มัสญิด 

   ♥- คำอ่านต่างๆ ในการละหมาด

   ♥- ท่าทางที่ถูกต้อง อิริยาบถต่างๆ ตลอดจนกฏเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ ของการละหมาด

   ♥- ความสำรวมตนในการละหมาด  ฯลฯ

 

          สำหรับข้อนี้ ยิ่งโตขึ้นยิ่งต้องเคี่ยวเข็ญและจำเป็นต้องรีบปรับปรุงดัดนิสัย อย่าปล่อยให้การละหมาดของลูกเหมือนไก่จิกข้าว ตาลอย วอกแวก มือไม้อยู่ไม่สุก ตัวอยู่ไม่นิ่ง หัวเราะ พูดคุย แหย่แกล้งหยอกล้อกันขณะละหมาด แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ "ไม่เป็นไร" ในเด็กที่ศาสนายังไม่บังคับเขา แต่หากเราปล่อยปละความไม่เป็นอะไรเหล่านี้ต่อไปจนล่วงถึงวัยที่ต้องลงไม้เมื่อขาดละหมาด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากขึ้น เพราะความไม่เข้มงวดเพียงพอของเราเอง

 

         การที่เด็กควบคุมตัวเองในการยืนละหมาดได้นานๆ เช่นในละหมาดที่มีการอ่านนาน หรือในละหมาดตะรอเวียฮฺ คือสิ่งที่ต้องชื่นชมและให้กำลังใจ ขณะเดียวกัน ประเด็นต่างๆ ข้างต้น ก็นับเป็นเรื่องที่แต่ละบ้านจำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ของตัวเองในการสอดแทรกและย้ำเตือนให้เหมาะกับ แต่ละช่วงวัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

         สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ อย่าเข้มงวดดุดันจนลูกเตลิดหนี ไม่ชอบการละหมาด หรือ ละหมาดเฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้า และอย่าปล่อยปละจนหย่อนยาน กระทั่งลูกเบาความกับการละหมาด และละหมาดแบบขอไปที เพราะสำหรับชีวิตมุสลิม อิบาดะฮฺที่สำคัญที่สุด คือการละหมาด 

 

        หากเราเคี่ยวเข็ญให้ละหมาดของลูก "ดี" ตั้งแต่วันนี้ ทุกเรื่องในวันข้างหน้าของเขาจะดีทั้งสิ้น 

 

أول ما يسأل عنه العبد يوم القيامة صلاته، فإن صلحت صلح سائر عمله، وإن فسدت فسد سائر عمله

 

     "สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือ การละหมาดของเขา หากการละหมาดของเขาดี การงานอื่นๆ ของเขาก็จะพลอยดีไปด้วย และหากการละหมาดของเขาไม่ดี การงานอื่นๆ ของเขาก็จะพลอยเสียหาย ไม่ดีไปด้วยเช่นกัน"

 ( อัลฮะดีส  )

 

          เราต่างยอบรับและทำตามหลากหลายวิธีในการฝึกลูกให้รู้จักควบคุมตัวเองให้เป็นเช่นกัน อย่าได้มองข้าม และไม่ให้ความสำคัญ กับวิธีที่สำคัญที่สุดนี้เป็นอันขาด เพราะเป็นวิธีที่อัลกุรอานยืนยันไว้ว่า

 

وأقم الصلاة إن الصلاة تنهى عن الفحشاء والمنكر

 

" และจงดำรงละหมาด แท้จริงการละหมาดนั้น จะหักห้ามจากประพฤติกรรมที่ชั่วช้าและไม่ดีไม่งาม"

(อัลอังกะบูต 45)

 

เพราะลูก คือ ความรับผิดชอบโดยตรงของพ่อแม่

 

          การละหมาดของลูกวันนี้ สะท้อนถึงการอบรมและความจริงจังของพ่อแม่ การละหมาดเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน และยิ่งโตขึ้นยิ่งยากขึ้น เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝนให้สำรวมตน พากเพียรต่อสู้กับอารมณ์เพื่อให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการละหมาด ไม่ใช่ละหมาดแต่เพียงท่าทาง โดยไม่มีหัวใจแห่งความนอบน้อมสำรวมตน !

 

رَبِّ ٱجْعَلْنِى مُقِيمَ ٱلصَّلَوٰةِ وَمِن ذُرِّيَّتِى ۚ رَبَّنَا وَتَقَبَّلْ دُعَآءِ 

 

     "โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ โปรดทรงทำให้ข้าพระองค์เป็นผู้ดำรงละหมาด และทำให้ลูกหลานเชื้อสายของข้าพระองค์ ( เป็นผู้ดำรงรักษาการละหมาด)

     โอ้พระผู้เป็นเจ้าของเรา ขอพระองค์โปรดทรงตอบรับคำวิงวอนด้วยเถิด"