จง ขอ ดุอาอ์
  จำนวนคนเข้าชม  19950

จง ขอ ดุอาอ์ اَلدُّعَاءُ

 

อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ขอให้เราพึงทราบไว้เถิดว่า บรรดาสะละฟุศศอลิหฺ หรือบรรดาคนดี ๆ คนศอลิหฺในยุคสามร้อยปีแรกของอัลอิสลามนั้น หลังจากที่พวกเขาถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนแล้ว พวกเขาจะใช้เวลาหกเดือนในการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขอให้พระองค์ทรงรับการถือศีลอดตลอดจนการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆของพวกเขา ต่อจากนั้น พวกเขาก็จะขอดุอาอ์ต่ออีก ขอให้พระองค์ทรงให้พวกเขาได้มีชีวิตมาพบกับเดือนเราะมะฎอนในปีต่อไป ดังนั้น เรื่องของการขอดุอาอ์จึงถือเป็นอิบาดะฮฺที่มีความสำคัญยิ่งเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีรูปแบบอะไรมากมายก็ตาม

 

          การขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็คือการที่เราวิงวอน ร้องขอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในเรื่องต่าง ๆ ที่เรามีความต้องการ มีความปรารถนาอยากจะได้ มีความปรารถนาให้พระองค์ทรงรับการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆของเรา หรือมีความประสงค์อยากจะขอความช่วยเหลือในยามที่เรามีปัญหา ประสบกับความยากลำบากจากการถูกทดสอบในเรื่องต่าง ๆ ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าต้องการการพึ่งพิง หรือต้องการความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือการที่เรารู้สึกตัวว่าทำความผิด ได้ฝ่าฝืนในบทบัญญัติต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อาจจะตั้งใจ อาจจะไม่รู้ตัว แล้วเรารู้สึกว่า เราปรารถนาจะให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษให้กับเรา เราก็จะยกมือขอดุอาอ์ให้พระองค์ทรงอภัยโทษให้กับเรา

 

           การที่เรายกมือขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงถือเป็นการประกาศตัวเองว่า เราเป็นเพียงบ่าวผู้ต่ำต้อยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เรายอมจำนนต่อความเป็นผู้ทรงอภิบาลของพระองค์ ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงมั่งมีอย่างไม่มีขีดจำกัด พระองค์จะประทานสิ่งใด ๆก็ได้ให้แก่บ่าวของพระองค์ ถือเป็นการยอมรับในเตาฮีด ในความเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวของพระองค์ และถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺฆอฟิร อายะฮฺที่ 60 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ إِنَّ الَّذِينَ يَسْتَكْبِرُونَ عَنْ عِبَادَتِي سَيَدْخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ

 

พระเจ้าของพวกเจ้าได้สั่งว่า จงวิงวอนขอต่อข้า ข้าจะตอบรับพวกเจ้า ส่วนบรรดาผู้ยโสโอหังในการอิบาดะฮฺต่อข้า

(ก็คือไม่ยอมวิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) พวกเขาจะต้องเข้านรกญะฮันนัมในสภาพที่ต่ำต้อย

 

          ดังนั้น การที่เราไม่ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และพวกเขาจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของพวกที่ยโสโอหัง และจุดจบของผู้ที่ไม่ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ สภาพที่ต่ำต้อยในนรกญะฮันนัม

 

 

แท้จริง การขอดุอาอ์เป็นอิบาดะฮฺประเภทหนึ่ง

 

          อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ )ในบันทึกของอิมามอบูดาวูด อิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านนุอ์มาน บินบะชีร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา عن النُّعمان بن بَشِير رضي الله عنهما เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 

إِنَّ الدُّعَاءَ هُوَ الْعِبَادَةُ     แท้จริง การขอดุอาอ์คืออิบาดะฮฺ

 

          การขอดุอาอ์เป็นอิบาดะฮฺประเภทหนึ่ง และเป็นอิบาดะฮฺที่ถือว่าทำง่ายที่สุด และมีความสะดวก เพราะสามารถทำได้ทุกเวลา แทบจะทุกสถานที่ ไม่จำกัดภาษาอีกด้วย จะขอเป็นภาษาอะไรก็ได้ ขอเป็นภาษาไทยก็ได้ แต่ในความง่ายและความสะดวกต่าง ๆนั้น การขอดุอาอ์กลับมีสถานะที่สูงส่ง เนื่องจากผู้ที่ขอดุอาอ์ถือเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะพระองค์จะไม่ทรงปฏิเสธการขอของเขา

 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่186 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ فَلْيَسْتَجِيبُواْ لِي وَلْيُؤْمِنُواْ بِي لَعَلَّهُمْ يَرْشُدُونَ

 

     และเมื่อใดที่บ่าวของข้าสอบถามเจ้า (คือมีผู้คนมาถามท่านนบี)เกี่ยวกับข้า ก็

     (จงตอบว่า) แท้จริงข้านั้นอยู่ใกล้เขา คอยรับดุอาอ์ คอยรับการวิงวอนขอเมื่อเขาขอจากข้า ดังนั้นให้พวกเขาตอบรับข้า (โดยการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งห้ามและคำสั่งใช้ของพระองค์) และให้พวกเขาศรัทธาต่อข้า เพื่อพวกเขาจะได้รับการชี้นำ

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงละอายที่จะให้ผู้ที่ขอดุอาอ์ต่อพระองค์กลับไปแบบมือเปล่า ก็คือ ทรงประสงค์จะให้บ่าวของพระองค์ได้รับในสิ่งที่พวกเขาต้องการ เพราะพระองค์ทรงมีความเมตตาต่อพวกเขาซึ่งเป็นบ่าวของพระองค์

 

 

นอกจากนี้ การขอดุอาอ์ยังเป็นเหตุระงับตักดีรที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วย

 

          อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ)ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

لَا يَرُدُّ الْقَضَاءَ إِلَّا الدُّعَاءُ

 

ไม่มีสิ่งใดที่สามารถจะระงับตักดีร(เกาะฎอ เกาะฎัรหรือกำหนดของอัลลอฮฺ)ได้ นอกจากการขอดุอาอ์

 

          ท่านอัช-เชากานีย์ อุละมาอ์ท่านหนึ่งได้อธิบายว่า หะดีษนี้เป็นหลักฐานว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงยกเลิกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยการขอดุอาอ์ของเขา

 

          นั่นก็หมายความว่า การขอดุอาอ์จะเป็นตัวที่คอยระงับสิ่งเลวร้ายต่าง ๆที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดให้เกิดกับมนุษย์เพื่อเป็นบททดสอบพวกเขา แต่สิ่งเลวร้ายที่เป็นบททดสอบอันนั้นอาจถูกระงับไปหรืออาจถูกยกเลิกไปได้ ด้วยการที่เราขอดุอาอ์อย่างจริงจังและจริงใจให้พระองค์ทรงปัดเป่าความเลวร้ายเหล่านั้นให้พ้นไป

 

          การขอดุอาอ์จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาชีวิตต่าง ๆให้กับเราได้ ...บางคนบอกว่ารู้สึกเกรงใจ ไม่อยากขอ หรือกลัวว่าจะขอมากเกินไป แต่การที่เขาไม่ยอมขอดุอาอ์ มันกลับกลายเป็นว่าเขาได้แสดงความหยิ่งยโสโอหังต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็เป็นสาเหตุทำให้พระองค์ทรงโกรธเขา

 

          อัลหะดีษ (เศาะหิหฺ ) ในบันทึกของอิมามอัตติรมีซีย์ รายงานจากท่านอะบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مَن لم يَسأَلِ اللهَ يَغْضَبْ علَيهِ

 

ใครก็ตามที่ไม่ร้องขอ (ไม่ขอดุอาอ์)ต่ออัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงโกรธเขา

 

          ในเรื่องของการขอดุอาอ์ที่เราพูดถึงข้างต้น อุละมาอ์เรียกดุอาอ์แบบนี้ว่า ดุอาอ์มัสอะละฮฺ เป็นดุอาอ์ที่เราขอโดยการยกมือขอ โดยเฉพาะในช่วงหลังละหมาดฟัรฎู 5 เวลาที่มีสุนัตให้ทำเป็นประจำ แต่ยังมีดุอาอ์อีกประเภทหนึ่งที่อุละมาอ์ เรียกว่า ดุอาอ์อิบาดะฮฺ เป็นดุอาอ์ที่เกิดจาการที่เราทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ทั้งที่เป็นฟัรฎูและสุนัตต่าง ๆ ที่ต้องทำอย่างอิคลาศ อย่างบริสุทธ์ใจ ...

 

          ดุอาอ์อิบาดะฮฺที่ว่าก็คืออิบาดะฮฺที่เราทำกันอยู่เป็นประจำนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวกะลิมะฮฺชะฮาดะฮฺ การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต การบริจาค การทำฮัจญ์ การทำกุรบาน อิบาดะฮฺต่าง ๆเหล่านี้ อุละมาอ์ถือว่าการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆเหล่านี้เป็นการขอดุอาอ์ด้วยเช่นกัน

          เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ยกมือขอโดยการเปล่งออกมาเป็นคำพูด แต่การทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ เหล่านี้มันมีรากฐานมาจากการที่ผู้ทำต้องการผลตอบแทนจากการลงมือทำ ต้องการผลบุญ ต้องการรางวัลการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาอาลาทั้งในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ ซึ่งนั่นก็คือการร้องขอ การวิงวอนขอจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเช่นกัน ดังนั้นทุกเวลาแม้แต่ตอนที่เรากำลังทำอิบาดะฮฺอยู่นั้น เราก็อยู่ในสภาพของผู้ที่กำลังขอดุอาอ์นั่นเอง

 

 

การขอดุอาอ์ นอกจากจะเป็นอิบาดะฮฺแล้ว ยังถือเป็นอาวุธของผู้ศรัทธาด้วย

 

          อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ )ในบันทึกของอิมามอัลฮากิม รายงานจากท่านอะบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

الدُّعَاءُ سِلَاحُ الْمُؤْمِنِ ، وَعِمَادُ الدِّينِ ، وَنُورُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ"

 

ดุอาอ์เป็นอาวุธของมุอ์มินผู้ศรัทธา เป็นเสาของศาสนา เป็นรัศมีแห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน

 

          ดุอาอ์เป็นอาวุธของผู้ศรัทธา เป็นอาวุธที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลาในทุก ๆสภาพการณ์ ทั้งในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือ หรือมีปัญหา ประสบกับความยากลำบากต่าง ๆ อันเป็นบททดสอบตัวเรา แต่อาวุธจะถูกใช้ใด้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดประโยชน์ได้นั้น นักวิชาการบอกว่าจะต้องมีความเกี่ยวพันกับผู้ที่ใช้มันด้วย มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวอาวุธเพียงอย่างเดียว เช่น เรามีดาบอยู่ในมือที่จะต่อสู้กับศัตรู ดาบของเรามีความสมบูรณ์พร้อม มีความคมกริบ ไม่หัก ไม่บิ่น แต่ปรากฏว่ามือของเราผู้ถือดาบเล่มนั้นไม่มีแรง ดาบนั้นก็ไม่สามารถที่จะใช้ฆ่าฟันศัตรูได้ แต่หากมือของผู้ถือดาบเล่มนั้นก็เต็มไปด้วยพลัง แต่เกิดมีสิ่งมากีดขวางการใช้ดาบเล่มนั้น ดาบเล่มนั้นก็ไม่สามารถใช้ฟาดฟันศัตรูได้เช่นกัน

 

          ดังนั้น เมื่อเรามีดาบเป็นอาวุธแล้ว นอกจากดาบจะต้องเป็นดาบที่อยู่ในสภาพดีเยี่ยมแล้ว ผู้ใช้ดาบก็ต้องเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง แข็งแรง อีกทั้งยังต้องปราศจากสิ่งกีดขวางจากการใช้ดาบนั้นด้วย เมื่อมีความพร้อมทั้งสามประการดังกล่าว เราก็สามารถใช้ดาบให้บรรลุถึงเป้าหมายได้ ดุอาอ์ก็เช่นกันจะเป็นอาวุธที่ทรงคุณค่าได้ คือจะเป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาในสามเรื่อง

 

     เรื่องที่หนึ่ง ตัวดุอาอ์ต้องไม่เป็นดุอาอ์ที่ขอในสิ่งที่เป็นความผิดบาป และไม่เป็นเรื่องของการตัดญาติขาดมิตร

 

     เรื่องที่สอง ตัวผู้ขอก็ต้องเป็นผู้ที่มีอีมาน ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างเข้มแข็งและจริงใจ มีอิคลาศ ดำรงตนอยู่ในการเชื่อฟังและยืนหยัดปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาอย่างเคร่งครัด

 

     เรื่องที่สาม ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง อาทิเช่น การวิงวอนขอต่อสิ่งอื่นควบคู่ไปกับการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็คือ ต้องไม่ทำชิริก หรือมีการแจกแจงรายละเอียดในการขอมากเกินไป เช่น ขอให้รอดพ้นจากไฟนรก ซึ่งขอเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปขอเพิ่มหรือไปแจกแจงรายละเอียด เช่นว่า ขอให้รอดพ้นจากความคับแคบของไฟนรก หรือขอให้พ้นจากความมืดมิดของไฟนรก หรืออะไร ๆในทำนองอย่างนี้ หรือมีการตะอฺลีกในการขอ คือขอแบบตั้งเงื่อนไขกับอัลลอฮฺ เช่น ขอให้อัลลอฮฺทรงอภัยให้ หากพระองค์ประสงค์ อย่างนี้ไม่ได้ แต่ให้เราแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจในสิ่งที่ขอ ขอด้วยหัวใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หมดอาลัยตายอยาก ไม่รีบเร่งในการให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับดุอาอ์ อย่างนี้เป็นต้น

 

     เมื่อเงื่อนไขต่างๆของการขอดุอาอ์ครบถ้วน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะทรงกำหนดให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

 

     1. อาจจะทรงตอบรับดุอาอ์โดยทันที หรือ

 

     2. พระองค์อาจจะไม่ทรงตอบรับทันที แต่จะทรงให้ล่าช้าออกไป เพื่อให้บ่าวของพระองค์ได้วิงวอนขอต่อไปให้มากยิ่งขึ้น หรือ

 

     3. อาจจะทรงประทานสิ่งอื่นที่มีประโยชน์ต่อเขามากกว่าสิ่งที่เขาขอ หรืออาจจะทรงขจัดภัยอันตรายอย่างอื่นให้เขาทดแทนสิ่งที่เขาขอ หรืออาจจะทรงเก็บไว้เพื่อประทานให้แก่เขาในวันกิยามะฮฺ เพราะพระองค์เท่านั้นทรงทราบดีว่าสิ่งใดที่เหมาะกับผู้ขอ บางทีการให้ในสิ่งที่เขาขออาจเป็นสาเหตุให้เขาทำบาปมากขึ้น หรือบางทีการที่พระองค์ไม่ให้ตามที่เขาขอ ก็เพื่อไม่ให้เขาลืมพระองค์ แล้วหยุดการขอดุอาอ์ไปเลยก็ได้

 

           นั่นก็คือ ส่วนหนึ่งของเรื่องราวของการขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นอิบาดะฮฺประเภทหนึ่ง และเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่ได้มีรูปแบบอะไรมากมาย แต่ก็ถือเป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญ เพราะมันแสดงถึงการอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงถึงการยอมจำนนของผู้ขอดุอาอ์ที่มีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรักทรงชอบที่ให้เราได้ปฏิบัติอยู่เสมอ

 

           สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่มีอีมานที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่ยืนหยัด ยึดมั่นและปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา เพื่อที่ดุอาอ์ของเราจะได้เป็นดุอาอ์ที่มุสตะญาบ ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

 

 

( ถอดความจากนะศีหะห์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )