มารยาทต่อผู้ใหญ่และผู้อาวุโสกว่า
เรียบเรียงโดย... อาจารย์ญะม้าล ไกรชิต
การปฏิบัติตนต่อผู้ใหญ่ หมายถึง การแสดงออกทางพฤติกรรมที่มีต่อผู้ใหญ่และผู้อาวุโสกว่า ด้วยความเคารพนับถือที่บ่งบอกถึงความสุภาพ การมีมารยาทที่ดีและมีสัมมาคารวะอันเป็นแนวทางที่อิสลามได้กำหนดเอาไว้สำหรับผู้ที่เป็นมุสลิมที่จะต้องให้เกียรติผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่และมีอาวุโสกว่า และสมาชิกแต่ละคนในสังคมจะต้องรู้จักกาลเทศะและขอบเขตของตัวเอง ไม่ล่วงเกินและละเมิดสิทธิของผู้อื่น
เป็นที่ทราบดีว่า จุดประสงค์ของอิสลามในเรื่องนี้คือการปกปักรักษาระเบียบเรียบร้อยของสังคม มิให้เกิดความวุ่นวายได้ หากเด็ก เยาวชนและผู้คนในสังคมต่างเพิกเฉย ละเลยต่อสิทธิของผู้ใหญ่และผู้อาวุโสกว่า
อิสลามห้ามมิให้เราดูถูกเหยียดหยามผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า ต้องมีสัมมาคารวะต่อผู้ที่อาวุโสกว่า มีวัยวุฒิ มีคุณวุฒิสูงกว่า รวมถึงต่อพ่อแม่ ครอบครัวและญาติใกล้ชิดของพวกเขาด้วย และอิสลามยังได้เตือนให้เราเชื่อฟัง ปฏิบัติตามหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา ไม่ทำตัวกระด้างกระเดื่อง ไม่ลงรอย ยุยง ปลุกปั่นหรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นเกิดความเกลียดชัง ต่อต้านหรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า หัวหน้า ผู้ดูแลและผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ไม่เรียบร้อย ไม่มีระบบ ระเบียบและเกิดความเสียหายในหน้าที่การงานได้
ผู้มีอาวุโสมากกว่าในที่นี้มิได้วัดจากฐานะการเงินและมีทรัพย์สินมากกว่า หรือจากสายสกุลและวงศ์ตระกูล แต่หมายถึงผู้ที่มีความศรัทธา มีสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ มีมารยาทเคร่งครัดและประพฤติตนอยู่ในครรลองครองธรรมตามบทบัญญัติของศาสนา ซึ่งบุคคลเหล่านี้คือผู้มีฐานะสูงสุด ณ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และในหมู่มวลมนุษย์
อิสลามมิได้ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำกันในศักดิ์ศรีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แม้กระทั่งในบรรดานบีและ ร่อซูล
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“และแน่นอน เราได้เลือกนบีบางท่านให้เด่นกว่าบางท่าน”
(อัลอิสรออ์ 17 : 55)
“บรรดาร่อซูลเหล่านั้น เราได้ให้บางคนในหมู่พวกเขาดีเด่นกว่าอีกบางคน ในหมู่พวกเขามีผู้ที่อัลลอฮฺตรัสด้วย และได้ทรงยกบางคนในหมู่พวกเขาขึ้นหลายชั้น”
(อัลบะเกาะเราะฮ์ 2 : 253)
หลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวถึงการให้เกียรติผู้ใหญ่และผู้อาวุโสกว่า
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า :
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ จงเชื่อฟังร่อซูลและผู้ปกครองของพวกเจ้าเถิด”
(อันนิซาอ์ 4 : 59)
รายงานของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“มิใช่พวกเรา ผู้ที่ไม่เมตตาแก่เด็กและไม่รู้จักเกียรติของผู้ใหญ่ของพวกเรา”
(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)
ท่านอนัส อิบนิ มาลิก ร่อฎิยัลลลอฮุอันฮุ รายงานว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“พวกท่านจงเชื่อฟังและปฏิบัติตาม แม้กับบ่าวชาวเอธิโอเปียที่มีผมหยิกติดหนังหัวที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำพวกท่าน”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)
ท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
“ผู้ใดเชื่อฟังฉัน แน่นอน เขาได้เชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว และผู้ใดฝ่าฝืนฉัน แน่นอน เขาก็ได้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺแล้ว และผู้ใดที่เชื่อฟังผู้นำ แน่นอน เขาก็ได้เชื่อฟังฉันแล้ว และผู้ใดที่ฝ่าฝืนผู้นำ แน่นอน เขาก็ได้ฝ่าฝืนฉันแล้ว”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
“ผู้ใดที่ให้เกียรติผู้นำในแนวทางของอัลลอฮฺในดุนยา อัลลอฮฺจะทรงให้เกียรติเขาในวันกิยามะฮฺ และผู้ใดที่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้นำในทางของอัลลอฮฺในดุนยา อัลลอฮฺจะทรงดูหมิ่นเหยียดหยามเขาในวันกิยามะฮฺ”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และอัลบัยฮะกีย์)
“หลังจากที่ฉันจากไปแล้ว จะมีความเห็นแก่ตัวและเรื่องต่าง ๆ (ที่เกี่ยวกับศาสนา) โดยพวกท่านไม่เห็นด้วยกับมัน”
ซอฮาบะฮ์จึงถามขึ้นว่า : “ท่านจะสั่งใช้อย่างไรกับพวกเราที่อยู่ทันเรื่องราวเหล่านั้น?”
ท่านตอบว่า :“พวกท่านจงปฏิบัติตามหน้าที่ต่าง ๆ ของพวกท่าน และจงวิงวอนขอจากอัลลอฮฺในสิ่งที่เป็นสิทธิ์ของพวกท่านเถิด”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
บางส่วนจากคำพูดของบรรดาคอลีฟะฮ์ นักปราชญ์ และบุคคลสำคัญ ๆ ในอิสลาม
ท่านอบูบักร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กำชับบรรดาผู้ที่ออกไปทำสงครามถึงสิ่งที่พวกเขาจะต้องทำตามในเรื่องการปฏิบัติต่อข้าศึกที่ยอมสงบศึก พักรบหรือยุติสงครามว่า :
“พวกท่านอย่าได้หักหลัง คดโกงและผิดสัญญา อย่าได้ทำลายศพ สังหารเด็ก คนชราและสตรี อย่าทำลายหรือตัดต้นอินทผลัมหรือต้นไม้ที่ให้ผล อย่าเชือดแพะ แกะ วัวและอูฐนอกจากเพื่อนำมาเป็นอาหาร และพวกท่านจะผ่านไปพบกับบรรดากลุ่มคนที่ปลีกตัวอยู่ตามโบสถ์และวิหาร พวกท่านจงปล่อยพวกเขาไปตามทางที่พวกเขาดำเนินเถิด”
ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ใส่ใจกับเรื่องระดับชั้นมาก โดยที่ท่านจะยืนบนบันไดมิมบัรต่ำลงมาชั้นหนึ่ง ถัดจากท่านอบูบักร เพราะคอลีฟะฮ์ท่านแรกเหมาะสมที่จะอยู่เหนือกว่า
ท่านอาลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เรียงลำดับสถานบุคคลตามความอาวุโสของแต่ละคน
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า : “ทั้งท่านอุมัรและท่านอุสมาน หากพวกท่านเจอกับท่าน อัลอับบ๊าส ผู้เป็นลุงของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พวกเขาจะลงจากพาหนะเพื่อให้เกียรติแก่ท่านอัลอับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ”
ท่านอบู ฮะนีฟะฮ์ ได้สั่งเสียศิษย์ของท่าน ยูซุฟ อิบนุ คอลิด อัซซัมดีย์ ขณะเดินทางไปยังนคร อัลบัศเราะฮ์ (ในอิรัก) ว่า :
“เมื่อท่านเข้าไปยังนครอัลบัศเราะฮ์ ผู้คนจะออกมาต้อนรับและเยี่ยมเยียนท่าน พวกเขาจะให้เกียรติท่าน ดังนั้น ท่านจงปฏิบัติกับพวกเขาตามลำดับสถานะของแต่ละคน จงยกย่องผู้มีเกียรติผู้มีความรู้ เคารพผู้อาวุโส จงสุภาพเรียบร้อยอยู่เสมอ และจงเอ็นดู ผู้เยาว์ จงใกล้ชิดกับประชาชน คบหาคนดี ไม่ละเลยผู้นำ ไม่หยามเกียรติใคร และอย่าลดศักดิ์ศรีของตัวท่านเอง”
ท่านซัลม์ อิบนุ กุตัยบะฮ์ กล่าวว่า : “ศักดิ์ของคน ๆ หนึ่งจะยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าเขาจะมีความอดทนกับการสนทนาและคลุกคลีกับคนชราที่ฟันหลอ มีกลิ่นปาก” (คือต้องให้เกียรติผู้ใหญ่และผู้อาวุโสกว่า ไม่แสดงอาการรำคาญหรือรังเกียจเขา)
มีผู้กล่าวถามท่านอัลฆ็อฎบาน อิบนุ้ลกอบ๊ะอ์ซะรีย์ ว่า “ใครกันคือผู้ที่โง่เขลา?”
ท่านตอบว่า : “คือคนพูดมาก ผู้ที่ทวงบุญคุณจากอาหารที่ตนเคยให้ ขี้เหนียวในการให้สลาม และผู้ที่ล่วงเกินผู้นำของตน”
จากเรื่องเล่าต่าง ๆ
มีผู้ถามนักปราชญ์ท่านหนึ่งที่มีพี่ชายว่า “นั่นคือพี่ชายของท่านใช่ไหม?”
ท่านตอบว่า : “ไม่ใช่ฉันเป็นน้องเขาต่างหาก” (เพื่อบ่งบอกถึงสถานะที่ต่ำกว่าของเขา เพื่อให้เกียรติพี่ชายตน)
เล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งถูกถามว่าเหตุใดอัลอะห์นัฟ อิบนุ ก็อยส์ (เป็นผู้นำเผ่าตะมีม เข้ารับอิสลามในสมัยท่านนบี ไม่ได้พบท่าน แต่ได้พบเจอบรรดาซอฮาบะฮ์ จึงนับเป็นตาบิอีอาวุโส) จึงเป็นผู้นำที่เป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่พวกท่าน?
ชายผู้นั้นตอบว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เขาไม่ได้มีอายุหรือทรัพย์สินมากไปกว่าพวกเรา แต่ทว่า อำนาจอันแข็งแกร่งของเขานั้นอยู่ที่อิทธิพลคำพูดของเขา”
เล่ากันว่า มีผู้กล่าวแก่ตระกูลอับส์ว่า “ความถูกต้องที่สุดของพวกท่านคืออะไร?”
มีผู้ตอบว่า : “พวกเรามีกันอยู่เป็นพันคน และเรามีคนฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบอยู่ 1 คน แล้วเราก็เชื่อฟังและปฏิบัติตามเขา ก็เหมือนกับว่าพวกเรามีคนฉลาดหลักแหลมถึงพันคน”
มีผู้กล่าวว่า : “หากท่านอธรรมต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลหรือบังคับบัญชาของท่าน ท่านก็จะไม่รอดพ้นจากการลงโทษของผู้ที่อยู่เหนือท่านอย่างแน่นอน”
การให้เกียรติกัน การรู้จักหน้าที่และบทบาทของแต่ละคนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เราควรเริ่มฝึกฝนตั้งแต่ในสังคมเล็ก ๆ เริ่มจากในบ้าน ในครอบครัว ในโรงเรียน ในองค์กรการทำงานและสู่สังคมภายนอกที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าคุณจะมีฐานะหรือสถานะแบบไหน เมื่อเรียกตัวเองว่า “คน” การให้เกียรติกันเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา หนังสืองานประจำปี รร.มุสลิมวิทยาคาร คลอง 19