การโอ้อวด แสดงให้คนอื่นได้เห็น
  จำนวนคนเข้าชม  4680

การโอ้อวด แสดงให้คนอื่นได้เห็น

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา ... แปลเรียบเรียง

 

 ความหมาย 

 

การโอ้อวด คือ การละทิ้งความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติคุณงามความดีทำเพื่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ 

 

     การโอ้อวด คือ ความต้องการที่จะแสดงให้คนอื่นได้เห็นและต้องการให้คนอื่นยกย่อง เช่น ละหมาดเพื่อให้คนอื่นยกย่องว่าคนนี้ คือคนที่เคร่งครัดการทำอิบาดะฮฺ บริจาคมากเพื่อต้องการคนอื่นชื่นชมว่าเป็นคนใจบุญ

 

     การโอ้อวด ทำลายความจริงใจ และความจริงจังในการที่จะมุ่งไปถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเรา เมื่อใครคิดที่จะโอ้อวด เขาก็จะกลายเป็นคนทำอะไรแต่เพียงผิวเผินและอาจกลายเป็นคนหน้าไว้หลังหลอกได้

 

 

 หลักการ 

 

     การโอ้อวด (ริยาอ์) เป็นพฤติกรรมที่ต้องห้าม (ฮะรอม) เป็นสาเหตุที่จะทำให้อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) เป็นโมฆะ และเป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคี (ชิรก์) ซึ่งการโอ้อวด (ริยาอ์) นี้คือการที่มนุษย์กระทำอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อแสดงให้เพื่อนมนุษย์เห็น

 

อัลลอฮฺ ตรัสว่า :

 

فَمَن كَانَ يَرْجُو  لِقَاء رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلاً صَالِحاً وَلا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَداً

 ดังนั้นผู้ใดมุ่งหวังที่จะพบองค์พระผู้อภิบาลของเขา เขาก็จงประกอบการงานที่ดีเถิด

และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อองค์ พระผู้อภิบาลของเขาเลย

(อัลกะฮ์ฟี่ : 110)

 

รายงานจากท่านมะหฺมูด บิน ละบีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

إِنَّ أَخْوَفَ مَا أَخَافُ عَلَيْكُمْ الشِّرْكُ الْأَصْغَرُ،

 

      แท้จริง สิ่งที่ฉันกลัวว่ามันจะประสบกับพวกท่านมากที่สุด คือเรื่องของชิริกเล็กนั่นก็คือ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีความเป็นห่วงพวกเราเป็นอย่างมาก ว่าจะทำชิริกเล็กนี้

     บรรดาเศาะฮาบะฮฺ ถามว่า โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ชิริกเล็กคืออะไร ? 

     ท่านนบี ตอบว่า มันคือการริยาอ์-การโอ้อวด

 

         ท่านนบี จึงได้เตือนเราเอาไว้ ให้เราได้ระมัดระวังเรื่องของการริยาอ์-การโอ้อวด อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

 

أَيُّهـَا النَّاسُ اتَّقُوا الشِّرْكَ، فَإِنَّهُ أَخْفَى مِنْ دَبِيبِ النَّمْلِ،

 พวกท่านจงกลัวการชิริกเล็กเถิด เพราะแท้จริง มันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำเสียอีก

(มุสนัดของท่านอิมามอะหฺมัด)

          ท่านนบีได้เปรียบเทียบการริยาอ์-การโอ้อวดว่า มันเหมือนกับมดดำที่คลานอยู่บนหินดำ คือมันแทบจะมองไม่เห็นเลย เวลาที่มดดำมันเดินไปบนพื้นที่ที่มีสีดำ ถ้าไม่สังเกตให้ดี เราก็แทบจะมองไม่เห็นมัน

 

     ท่านอบู สะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

أَلَا أُخْبِرُكُمْ بِمَا هُوَ أَخْوَفُ عَلَيْكُمْ مِنْ الْمَسِيحِ الدَّجَّالِ؟؛ الشِّرْكُ الْخَفِيُّ، أَنْ يَقُومَ الرَّجُلُ فَيُصَلِّي فَيُزَيِّنُ صَلَاتَهُ لِمَا يَرَى مِنْ نَظَرِ رَجُلٍ» 

 

     “จะให้ฉันบอกพวกท่านไหม ในสิ่งที่ฉันกลัวสำหรับพวกท่านมากกว่าดัจญาล? มันคือชิริกเล็ก

     โดยการที่ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาละหมาดแล้วทำละหมาดของเขาให้สวยงาม(สมบูรณ์แบบ) เนื่องจากเห็นชายคนหนึ่งกำลังดูเขาละหมาดอยู่

(มุสนัด อะหฺมัด)

 

        การเปรียบเทียบนี้ก็เพื่อให้เราได้ตระหนักว่า การริยาอ์หรือการโอ้อวดนั้น มันมักจะแอบแฝงเข้ามาอยู่ในหัวใจของเรา อยู่ในเนียตของเราโดยที่เราไม่ทันได้ระวังตัว ไม่ทันรู้ตัว แทบจะไม่รู้ตัวเลย แล้วหากมันแอบแฝงเข้ามาในเนียต ในการกระทำของเรา มันมีผลให้ความดีต่างๆ อะมัลศอและหฺต่างๆที่เราทุ่มเททำไปตั้งมากมายก่ายกอง กลายเป็นโมฆะ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงตอบรับสิ่งดีๆที่เราทำ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดี

 

 

 ลักษณะของคนชอบโอ้อวด 

♦ ชอบแสดงออกในสังคม

♦ รักและหลงใหลในชื่อเสียง

♦ อยากเหนือกว่าคนรอบข้าง

♦ ชอบทะเลาะวิวาทกับคนอื่นและชอบพูดมาก

 

 

 ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องห้าม 

♣ สวมใส่ชุดของอุละมาอ์ผู้รู้ โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้คนได้มองว่าเขาเป็นผู้มีความรู้คนหนึ่ง

♣ อ่านกรุอานด้วยเสียงไพเราะเพื่อให้คนอื่นชมเชยว่าเขานักกอรีอฺ

♣ ชอบบริจาคเพื่อให้คนอื่นมองว่าเขานั้นเป็นคนใจบุญ

 

          การริยาอ์-การโอ้อวดอาจอยู่ในรูปของการคบหากับผู้คนก็ได้ ตัวอย่างเช่น คนๆหนึ่งทำตัวสนิทสนมกับผู้รู้ คอยติดตามผู้รู้ โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้คนได้เห็นว่า เขาเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของผู้รู้ท่านนั้น ลักษณะนี้ก็อยู่ในเรื่องการริยาอ์ การโอ้อวด เราต้องมีเจตนาในการหาความรู้ เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          การริยาอ์ การโอ้อวดอาจอยู่ในรูปของลูกหลานของเรา เมื่อเราเลี้ยงลูกหลานให้มีความสามารถในเรื่องต่างๆ ท่องจำอัลกุรอานได้ ท่องดุอาอ์ได้ ชนะการแข่งขันในด้านต่างๆ ก็ต้องระมัดระวังที่จะคุยอวดต่อหน้าคนอื่น หรือรู้สึกลำพองใจในความสำเร็จนั้น หากเราจะเล่าเรื่องให้คนอื่นๆฟังก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นเรื่องของการคุยโม้โอ้อวด ขอให้เรามีเจตนาที่บริสุทธิ์ในการเล่า เพื่อกระตุ้นพ่อแม่คนอื่นๆให้ปฏิบัติต่อลูกเช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติ

 

 

 ประเภทของความผิด 

 

     การโอ้อวด อย่างนี้ถือเป็นบาป และเป็นชิริกเล็ก ซึ่งชิริกเล็กนี้อาจนำไปสู่ชิริกใหญ่ได้ด้วย นักปราชญ์ของอัลอิสลามจะแบ่งเป็น 3 กรณี

 

         กรณีแรกคือ เจตนาตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องการทำเพื่อให้คนเห็น คนชื่นชม หรือทำเพื่อต้องการอำนาจ ต้องการเกียรติยศชื่อเสียง เกิดริยาอ์ขึ้นในหัวใจตั้งแต่แรก สภาพอย่างนี้เรียกว่า การริยาอ์ หรือการโอ้อวด ถือเป็นชิริกเล็กประเภทหนึ่ง เรียกว่า เคาะฟีย์ คือชิริกที่ซ่อนเร้น มองไม่เห็น มีชิริกในการเนียตหรือการตั้งเจตนา เป็นการทำชิริกทางใจ ในสภาพอย่างนี้จะทำให้การทำอิบาดะฮฺต่างๆของเรานั้น เสียหาย ไม่ได้รับผลบุญ ไม่ได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

 

          กรณีที่สองคือ เจตนาตั้งแต่แรกว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ในระหว่างที่ทำการงานนั้น ทำๆไปก็เริ่มมีริยาอ์มีการโอ้อวดเกิดขึ้น กรณีนี้จะมี 2 อย่าง

 

     อย่างแรก หากว่าการงานหรืออิบาดะฮฺเป็นการงานที่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน เช่น การทำเศาะดะเกาะฮฺ ตอนเริ่มทำมีเนียตที่ดี ก็ถือว่าเศาะดะเกาะฮฺตอนนั้นใช้ได้ แต่พอทำๆไปตอนหลัง เนียตเริ่มเปลี่ยนไป มีการริยาอ์เกิดขึ้น อย่างนี้การเศาะดะเกาะฮฺในช่วงนี้ ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ

 

      อย่างที่สองหากว่าเป็นการงานที่เชื่อมโยงกัน เช่น การละหมาด เมื่อตอนเริ่มต้นละหมาดมีเนียตดี แต่พอละหมาดไป มีคนเข้ามาเห็นมากขึ้นๆ ก็เริ่มมีการริยาอ์เกิดขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ หากเราพยายามที่จะลบความรู้สึกริยาอ์ออกไป อย่างนี้การริยาอ์จะไม่ส่งผลใดๆต่อการละหมาดหรือการงานของเรา แต่ถ้าเราไปยินยอมให้การริยาอ์ดำเนินต่อไป ไม่ยอมขจัดมันออกไป อย่างนี้การละหมาดของเรา หรือการงานอิบาดะฮฺของเราใช้ไม่ได้เลย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงรับ

 

 

          กรณีที่สาม หากเราทำอิบาดะฮฺ หรือปฏิบัติการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเกิดริยาอ์ขึ้น อย่างนี้ถือเป็นวัสวาส-ความลังเล จะไม่มีผลกระทบกับการงานที่ได้ปฏิบัติเสร็จสิ้นไปแล้ว และไม่มีผลต่อคนที่ทำด้วย

 

  

       ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าคนริยาอ์จะได้รับความดีของเขาในโลกดุนยา นั่นคือเขาจะไม่ถูกอธรรมด้วยการริดรอนใดๆ เลย 

 

      ท่านชัยคฺบิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ จึงได้ให้คำตอบว่า...

          นี่คือหนึ่งในกับดักของชัยฏอน ที่มันใช้วิธีการยับยั้งมุสลิมไม่ให้เรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยับยั้งมุสลิมไม่ให้กำชับผู้คนมาสู่การทำความดี ห้ามปรามผู้คนจากการทำความชั่ว

 

 

 ดุอาอฺ 

 

          ดังนั้น เราจะมีวิธีป้องกันตัวเองในเรื่องนี้อย่างไร ? ก็ขอให้มาพิจารณาอัลหะดีษในเรื่องนี้ต่อ เมื่อบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้ถามท่านนบีว่า

     โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ แล้วเราจะป้องกันมัน(การริยาอ์ การโอ้อวด)ได้อย่างไร ? ในเมื่อมันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำอย่างนี้ 

 

     ท่านนบี ตอบว่า ท่านทั้งหลายจงกล่าวว่า

 

اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ أَنْ أُشْرِكَ بِكَ ، وَأَنَا أَعْلَمُ ، وَأَسْتَغْفِرُكَ لِمَا لا أَعْلَمُ

 [อัลลอฮุมะ อินนี อะอูซุบิกะ อัน อุชริกะ บิกะ, วะอะนะ อะอฺละมุ, วะอัศตัฆฟิรุกะ ลิมา ลา อะอฺละมุ]

 

    โอ้อัลลอฮฺ แท้จริง ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากการที่ฉันได้ตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์โดยที่ฉันรู้ตัว (นั่นก็หมายถึงว่า ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงคุ้มครองฉันปกป้องฉันให้พ้นจากการทำชิริกที่ฉันรู้อยู่ว่ามันเป็นชิริก ขอให้ฉันได้ออกห่างจากมัน ไม่ไปทำมัน)

 

     และขออภัยโทษต่อพระองค์ในสิ่งที่ฉันได้ตั้งภาคีโดยที่เราไม่รู้ (ก็คือเราได้ทำสิ่งที่เป็นชิริกเข้าโดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามันเป็นชิริก ก็ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษให้แก่เราด้วย)