มฤตยูดำ..ไข้กาฬหลังแอ่น
  จำนวนคนเข้าชม  6908

มฤตยูดำ..ไข้กาฬหลังแอ่น

          โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่เราไม่ค่อยคุ้นกันเท่าไหร่ แม้แต่แพทย์เองน้อยรายที่จะมีประสบการณ์กับโรคนี้ เพราะในปัจจุบันมีรายงานการพบผู้ป่วยด้วยโรคลดลงมาก (โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องควบคุมเพราะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก)

          เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่มาของคำว่า "หลังแอ่น"

         ผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองอย่างรุนแรง ซึ่งอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง(Meningitis)นี้ ในทางการแพทย์จะทราบกันดีว่า ทำให้มีอาการที่สำคัญที่เรียกว่า"คอแข็ง" (Stiff neck)และในรายที่มีอาการรุนแรง คืออาการอักเสบลุกลามลงมาตามไขสันหลังก็จะมีอาการ ตัวเกร็งหลังแอ่น คล้ายกับบางโรค เช่น บาดทะยัก จึงเป็นที่มาของคำว่า"หลังแอ่น"

         การแพร่กระจายของโรค

          โรคนี้จัดเป็นโรคิดต่อผ่านทางการหายใจ จาม ไอ หรือกอดจูบกัน โดยมีเชื้อเป็นตัวการ คือ เชื้อแบคที่เรีย Neisseria menigitidis ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกลม ตามธรรมชาติแล้วคนเราจะมีเชื้อนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น คือลำคอ โดยไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรค หรือเรียกว่า เป็นพาหะของโรค เหตุที่มีเชื้อแต่ไม่ป่วยเพราะสามารถสร้างความภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ ซึ่งจะติดตัวมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะฟักตัวไม่เกินสัปดาห์ หรือเร็วกว่า โดยมีอาการเริ่มแรกเหมือนคนเป็นหวัด คือเมื่อยตัว มีไข้ ปวดหัว เจ็บลำคอ เป็นต้น จากนั้นก็จะลุกลามไปยังกระแสโลหิตและจะแสดงอาการจำเพาะที่แท้จริงออกมา ซึ่งเมื่อแสดงอาการที่แท้จริงแล้วก็จะมีอาการหนักทุกราย

          "ไข้กาฬ-มฤตยูดำ"ร้ายกาจแค่ไหน

         สมญานามว่า "ไข้กาฬ" ไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อลุกลามเข้าสู่กระแสโลหิต จะทำให้มีความผิดปกติและการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เริ่มจากการที่มีเลือดออกตามผิวหนัง อันเนื่องมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งผื่นเลือดออกมักพบตามแขนขา ปลายมือ ปลายเท้า เห็นเป็นปื้นๆ สีแดงดำคล้ายรูปดาวกระจาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดเลือดออกในสมอง ลำไส้ ต่อมหมวกไต หรือแม้แต่ปอดได้ ภาวะที่มีความผิดปกติของเลือดนี้เรียกทางการแพทย์ว่า Disseminated intravascular coagulopathy หรือ DIC ซึ่งผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดอย่างรุนแรงจนเลือดไหลไม่หยุด ในเด็กวัยรุ่นอาการจะรวดเร็วรุนแรงมากจนกิดภาวะที่เรียกว่า Waterhouse - Friderichsen syndrome ซึ่งอาการสุดท้ายของโรคคือภาวะช็อคและอวัยวะล้มเหลว จนนำไปสู่ความตายถึง 70-80%ของผู้ป่วย

         การติดเชื้ออย่างรุนแรงจะส่งผลหลักๆกับอวัยวะสำคัญๆ คือสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ซึ่งมีอัตราการตายอยู่ที่ 3-5% การติดเชื้อในกระแสโลหิต (Meningococcemia) ซึ่งมีอัตราการตายสูงมากเกิน 50% หรืออาจถึง 70-80% และภาวะเลือดออกไม่หยุด ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ถึงตายได้ง่ายๆทั้งสิ้น

         การวินิจฉัยโรคนี้

          ในระยะแรกแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ เพราะอาการเหมือนคนเป็นหวัดธรรมดาทั่วๆไป ต่อเมื่อมีอาการโรคออกตามร่างกาย ผิวหนัง แพทย์จึงจะเริ่มทราบว่าไม่ใช่และเริ่มมองหาโรคอื่น ซึ่งการวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยการจับเชื้อ โดยแพทย์จะใช้ไม้พันสำลีที่เตรียมไว้พิเศษเพื่อป้ายจมูก(Nasopharyngeal swab) และนำไปเพาะเชื้อ หรืออาจทำการเจาะเลือด หรือเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจหาเชื้อ

          รักษาอย่างไร

         การรักษาที่ดีที่สุดคือในระยะแรกที่มีอาการคล้ายเป็นหวัด แต่เป็นระยะที่วินิจฉัยได้ยากที่สุด แพทย์มักจะรักษาตามอาการยกเว้นในรายที่มีอาการเป็นหวัดและติดเชื้อแบคที่เรียร่วมด้วย แพย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกว่ายาฆ่าเชื้อ ซึ่งจะสามารถใช้รักษาได้เพราะเป็นยาในกลุ่มเพนนิซิลินที่เหมาะกับโรค และระยะที่เหมาะกับการรักษาที่ดีคือ ก่อนมีผื่นแดงออกให้เห็น ในรายที่ได้รับยาเกิน 24 ชั่วโมงไปแล้วจะพ้นระยะการติดต่อ คือไม่สามารถกระจายแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้อีก แต่หากน้อยกว่านี้ก็ยังเป็นคนแพร่เชื้อต่อไปได้

         ป้องกันได้ไหม

         โรคนี้มักมีการระบาดเป็นพื้นที่ พบมากในตะวันออกกลางหรือแอฟริกา ในประเทศไทยมีรายงานประปรายและมักไม่พบว่าถึงกับเสียชีวิต หากจะเดินทางไปในเขตที่มีการระบาดต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อนการเดินทาง การระบาดจะพบในวงจำกัดและจะพบมากในเด็ก  และอัตราการตายในเด็กจะสูงมากและรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่

          "มฤตยูดำ-ไข้กาฬหลังแอ่น" เป็นโรคติดต่อร้ายแรงต้องรายงาน          

          ด้วยเหตุที่ใครเป็นโรคนี้แล้ว อัตราการตายจะสูงมาก ดังนั้นเมื่อพบโรคนี้ปรากฏที่ใดจึงจำเป็นต้องรายงานต่อกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทางการดำเนินการป้องกันและจำกัดบริเวณที่มีการแพร่กระจายนั่นเอง

         อย่างไรก็ตามการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงมีภูมิต้าทานที่ดีจะเป็นปราการที่ปลอดภัยที่สุด และใครที่เป็นหวัดควรรีบรักษา และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการน่าสงสัยคงชะล่าใจไม่ได้กับโรคกาฬหลังแอ่นนี้ .

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ(พ.บ.,ประสาทศัลยศาสตร์,น.บ.)