เป็น(ผู้หญิง)ภรรยา ...จริงแท้ไหม ?
  จำนวนคนเข้าชม  873

เป็น(ผู้หญิง)ภรรยา ...จริงแท้ไหม ?

 

วันละหนึ่งความคิด....แปลเรียบเรียง

 

- เชค มุฮัมมัด อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

     คำถาม : คำเตือนของพวกท่านที่มีต่อภรรยาที่ชอบนินทาสามี หรือพูดถึงสามีในเรื่องที่ไม่เหมาะสม คืออะไร?

 

     คำตอบ : คำตักเตือนของฉันแด่พวกเธอเหล่านั้น และผู้หญิงคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน ก็คือ

 

          ขอให้พวกเธอ จงยำเกรงอัลลอฮฺ عز و جل และจงออกห่างจากการนินทาว่าร้ายลับหลัง เพราะ การนินทา นับเป็นบาปใหญ่ ที่ใครละเมิดฝ่าฝืน ด้วยการนินทาว่าร้าย ผู้ที่ถูกนินทาก็จะริบเอาผลบุญความดีของเขาไป

ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า :

 

وَلَا يَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا ۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتًا فَكَرِهْتُمُوهُ

 

      " และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน  คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้านั้น ชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน " 

( อัลหุญุรอต 12)

          แต่หากผู้หญิงร้องทุกข์กับมารดาของเธอ (เป็นต้น) ในเรื่องสามีของเธอ เพื่อให้นางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น  และเพื่อหาทางออกให้แก่เธอและสามี ก็ถือว่าไม่เป็นโทษแต่อย่างใด เพราะเป็นการกระทำที่หวังให้เกิดประโยชน์  เจตนาให้เกิดผลดีที่อยากจะให้เป็น 

 

         แต่หากจุดประสงค์ของผู้หญิงเป็นไปเพื่อประจานสามี และกระจายข่าวบอกกล่าวสิ่งที่ไม่ดีของสามีให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ร่วมรู้เห็น การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นบาปใหญ่ และไม่อนุญาตให้กระทำ

 

         สิ่งที่พวกผู้หญิงมักทำกันอยู่ ในเรื่องของการบอกเล่าเรื่องราวภายในบ้านเรื่องราวชีวิตคู่ ไปสู่ญาติพี่น้องและมิตรสหายนั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ให้กระทำ ( หะรอม) เพราะไม่อนุญาตให้เธอเปิดเผยความลับในบ้าน หรือสภาพความเป็นไปของเธอกับสามี แก่ผู้ใดทั้งสิ้น

 

 

 

- อิมาม อัซซะฮะบียฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ 

 

          อยากให้เธอเป็น...ภรรยาที่รักษาความละอายต่อสามีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  ลดสายตาเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา (ไม่จ้องมองด้วยสายตาที่ก้าวร้าว ไม่เคารพ) 

เชื่อฟังคำสั่งของเขา  นิ่งเงียบฟังคำพูดของเขา  

ลุกขึ้นต้อนรับ เวลาที่เขากลับมา  

หลีกเลี่ยงทุกเรื่อง ที่ทำให้เขาไม่พอใจ 

อยู่ส่งเขา เวลาที่เขาออกไป  

อยู่เคียงข้างเขา เวลาที่เขาเข้านอน  

ซื่อสัตย์ ไม่เสแสร้งหลอกลวงในยามที่เขาไม่อยู่ 

รักนวลสงวนตัว  

รักษาทรัพย์สินและบ้านช่องของเขา  

มีกลิ่นกายหอมหวนรัญจวนใจ

กลิ่นปากหอมสดชื่น 

กลิ่นน้ำหอมไม่ห่างหาย 

งดงามน่ามองเสมอ เวลาที่เขาอยู่ 

ไม่อวดโฉม ต่อหน้าชายอื่น 

ให้เกียรติครอบครัว และเครือญาติของเขา 

 และให้มองว่า สิ่งน้อยนิดที่ได้รับมาจากเขา ถือว่ามากมายเพียงพอแล้ว 

 

 

 

- อบู ฏ็อลฮะฮฺ มุฮัมมัด ยูนุส บิน อับดุสสัตตาร  -

 

         ในเมื่อการที่ผู้ชายละหมาดในแถวแรก ถือว่าประเสริฐสุด และการที่ผู้หญิงละหมาดในแถวหลังสุด เป็นสิ่งประเสริฐยิ่ง

          การละหมาดที่แท้จริงแล้ว ย่อมจะหักห้ามเราจากการประพฤติผิด และการจ้องมองในสิ่งต้องห้าม ฯลฯ

          การแยกกันระหว่างชายหญิงเช่นในการละหมาดนี้ ชวนให้คิดว่า จะไม่ประเสริฐ ไม่สมควรกว่าหรือ หากชายหญิงแบ่งแยก และไม่ปะปนกันนอกละหมาด?!

          เหตุใด เราจึงไม่มองว่าการปะปนกันระหว่างชายหญิงเป็นเรื่องน่าตำหนิ เรื่องน่ารังเกียจ ?! ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว มันคือการหาความเท่าเทียมจอมปลอม ที่มีแต่จะฉุดเกียรติและศักดิ์ศรี ของผู้หญิงให้ต่ำลง !!

 

 

 

 

- เชค ซอลิห์ เฟาซาน อัลเฟาซาน ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ -

 

          งานในบ้านของผู้หญิง แม้บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่หนักหนา แต่ความจริงแล้ว มันคืองานใหญ่ ที่หนักหนาสาหัส มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เป็นงานที่ต้องอาศัยองค์ประกอบปัจจัยต่างๆ 

          เช่นที่การบริหารบ้านเมืองต้องอาศัย ต้องอาศัยองค์ความรู้ การคิดใตร่ตรอง ความละเอียดรอบคอบ

         การวางแผนจัดการ งบประมาณ  ตลอดจนความอ่อนโยน ละมุนละม่อม การมีจิตวิทยา และมีอุดมการณ์อันแรงกล้า

          จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้หญิงจะต้องทำความเข้าใจในหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ ภายใต้ร่มเงาแห่งหลักเชื่อมั่น ( อกีดะฮฺ ) ที่ว่า

{ قل إن صلاتي و نسكي و محياي و مماتي لله ربّ العالمين }

" (มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า แท้จริง การละหมาดของฉัน การทำอิบาดะฮฺของฉัน

การมีชีวิตอยู่ของฉัน และการตายของฉันนั้น เพื่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าแห่งโลกทั้งผอง"

 (อัลอันอาม / 162)

เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งนี้คืออิบาดะฮฺ ไม่ใช่งานที่ต้องบังคับเขี่ยวขันให้ทำ

ไม่ใช่งานประจำ (ที่มีเวลาเข้าออกงาน) แต่..คืองานที่ภายในแฝงด้วยจิตวิญญาณ

สำหรับคนที่รู้เป้าหมายของชีวิต และรู้ความลับของการบังเกิดมาของมนุษย์เท่านั้น !

 

 

 

- เชค ซอลิห์ เฟาซาน ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ -

 

          ปัญหาการหย่าร้างเกิดขึ้นมากมาย(ส่วนหนึ่ง) อันเนื่องมาจากฝ่ายหญิง เพราะมารยาทที่ไม่ดี การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่ไม่ดี หยิ่งทะนง ถือดีเหนือสามี ราวกับเธอคือ ผู้ชายอีกคน

          ด้วยเหตุนี้ สามีจึงไม่มีน้ำอดน้ำทนกับเธอ เพราะสามีต้องการผู้หญิงที่อยู่ในโอวาท อยู่ในบ้าน อยู่ในการควบคุมและคอยปรนนิบัติเอาใจใส่ แต่ผู้หญิงทุกวันนี้กลับทำตัวคล้ายคลึงผู้ชายเข้าไปทุกที !

 

 

 

- อิมาม อิบนิ้ล ก็อยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

          บางครั้งการหย่าร้าง อาจนับเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผู้ประสงค์จะแยกทาง สามารถปลดโซ่ที่อยู่ที่คอและคลายตรวนที่อยู่ที่ขาออกไปได้ 

          ดังนั้น ไม่ใช่ทุกการหย่าร้างจะเป็นเรื่องร้ายที่น่าหน่ายหนี หากแต่คือความโปรดปรานอันสมบูรณ์ของพระองค์ ที่มีต่อบ่าวของพระองค์  ซึ่งพระองค์ทรงทำให้เขาสามารถเป็นอิสระจากกันด้วยวิธีการหย่าร้าง เมื่อเขาปรารถนาที่จะเปลี่ยนคนครองคู่แทนที่คู่ครองเดิม และต้องการจะเป็นอิสระจากคนที่เขาไม่ได้รัก และไม่ลงรอยกัน  

          เพราะฉะนั้น... จะไม่เห็นคนสองคนที่รักกัน จะรักกันหวานชื่นเหมือนกับคนที่แต่งงานกันเลย และ จะไม่เห็นคนสองคนที่โกรธเคืองกัน จะขุ่นข้องหมองใจ เท่ากับคนที่หย่าร้างกันเลย 

(ซาดุ้ลมะอ๊าด 5/219) 

 

 

 

- ท่าน อิบนุ กุดามะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

          คนที่ไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูที่จำเป็น(นะฟะเกาะฮฺ)ให้เแก่ภรรยา ช่วงเวลาหนึ่ง ภาระนั้นหาได้ตกไปไม่

          หากแต่มันคือ " หนี้สิน " ที่ยังอยู่ในความรับผิดชอบของเขา ไม่ว่าเขาจะละทิ้งมัน ( ไม่จ่าย ) เพราะมีอุปสรรคหรือไม่มีก็ตาม

 

( وهذا قول الحسن ومالك , والشافعي , وإسحاق , وابن المنذر ".)

 

          หลักฐานคือ ครั้งหนึ่ง ท่านอุมัร อิบนิ้ล ค็อฏฏอบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยเขียนสาส์นถึงเหล่าเสนาบดี ในเรื่องของทหารที่ห่างหายจากบรรดาภรรยาของพวกเขา (อันเนื่องจากออกรบ)  โดยมีคำสั่งให้พวกเขาจ่ายค่าเลี้ยงดูหรือไม่ก็หย่าขาดจากพวกนางเสีย และหากว่าพวกเขาหย่า ก็ให้จ่ายค่าเลี้ยงดูชดเชยในช่วงเวลาที่มา

 "المغني" (8/ 165)

          มัศฮับ ชาฟิอีย์ มีความเห็นว่า ค่าเลี้ยงดูที่ต้องจ่ายให้กับภรรยาจะยังไม่ตกไป แม้เวลาจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม

          ดังนั้น เมื่อภรรยาถูกเหนี่ยวรั้งไว้ในช่วงเวลาหนึ่งโดยที่เธอไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู ค่าเลี้ยงดู ณ ช่วงเวลานั้นยังถือเป็นสิทธิจำเป็นที่เธอพึงได้รับ ไม่ว่าผู้ตัดสินจะกำหนดให้จ่ายหรือไม่ก็ตาม

 

 

 

- ท่านอิบนุ กุดามะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

แท้จริง การให้นมแก่ (ทารก) นั้น ส่งผลให้นิสัยใจคอ (ทารก) เปลี่ยนไป

 

 

 

- ท่านอิบนิ กอซิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

ใครที่ได้น้ำนมจากหญิงที่โฉดเขลา เด็กก็จะออกมาเขลาเช่นเดียวกัน

(หมายถึง หากต้องอาศัยแม่นมให้เลือกหาแม่นมที่ดี เพราะนิสัยและพฤติกรรมสามารถสืบทอดทางสายน้ำนม)

 

 

 

- ท่าน อัลมัสอู๊ด ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -

 

ธรรมเนียมปฏิบัติหนึ่งของหญิงชาวอาหรับก็คือ เธอจะไม่เอาลูกนอนทั้งๆ ที่ลูกกำลังร้องไห้ 

เพราะเกรงว่าความรู้สึกวิตกกังวลจะแทรกซึมสู่ร่างกายของเด็ก ไหลเวียนในเส้นเลือดของเขา

แต่เธอจะพยายามทำให้เด็กหยุดร้อง จะหยอกล้อเล่นกับเด็กจนกว่าจะหลับไป ในสภาพที่เขายินดี สุขใจ สบายใจ

เมื่อนั้น ร่างกายของเด็กจะเติบโต ผิวพรรณและเลือดเนื้อจะบริสุทธิ์ผ่องใส และสมองจะปลอดโปร่ง

 

 

 

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&