การผลาญทรัพย์
  จำนวนคนเข้าชม  915

การผลาญทรัพย์

 

เรียบเรียงโดย.... อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

ความหมาย

 

     อัล-ฆ็อสบ (الغصَبُ)  คือ การยึดเอาหรือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นในลักษณะ การขโมย คดโกงหรือ ฉ้อโกง ในการใช้อำนาจกำลังข่มขู่หรือบีบบังคับ 

 

 

หลักการ

 

          การแสวงหาปัจจัยยังชีพคือ สิ่งที่สำคัญสำหรับมุสลิม และการคำนึงถึงปัจจัยยังชีพที่ได้มานั้น เราได้มาด้วยวิธีการใด มีความชอบธรรมในการครอบครองทรัพย์นั้นหรือไม่  อิสลามส่งเสริมในเรื่องของการทำงานประกอบอาชีพที่ถูกต้องและสุจริต อาชีพที่ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนผู้อื่น หรือการอ้างสิทธ์ไปเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น

 

 

การกินทรัพย์สินของบุคคลโดยมิชอบธรรม 

 

อัลลอฮฺได้เตือนในเรื่องไว้หลายที่ด้วยกัน เช่นอายะห์ที่ว่า 

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ

 

ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้า ในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ

(อัน-นิสาอฺ 29)

 

وَلَا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ وَتُدْلُوا بِهَا إِلَى الْحُكَّامِ لِتَأْكُلُوا فَرِيقًا مِّنْ أَمْوَالِ النَّاسِ بِالْإِثْمِ وَأَنتُمْ تَعْلَمُونَ 

     

     “และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์ สมบัติของพวกเจ้า ระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ

     และจงอย่าจ่ายมัน ให้แก่ผู้พิพากษา เพื่อที่พวกเจ้าจะได้กินส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินสมบัติของผู้อื่น ด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นบาป ทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 188)

 

มีรายงานจากอบีฮุรอยเราะฮ์ รอฎิยัลลอฮูอันฮู แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

 

كُلُّ الْمُسْلِمِ عَلَى الْمُسْلِمِ حَرَامٌ دَمُهُ وَعِرْضُهُ وَمَالُهُ

     

มุสลิมทุกคนเป็นที่ต้องห้ามแก่มุสลิมด้วยกัน เลือดเนื้อของเขา ทรัพย์สมบัติของพวกเขา เกียรติยศของพวกเขา

(บันทึกโดย มุสลิม )

 

รายงานจากท่านซะอีด บิน ซัยด์ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าท่านได้ยินท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

 

مَنْ أَخَذَ شِبْراً مِنَ الأَرْضِ ظُلْـماً فَإنَّـهُ يُطَوَّقُـهُ يَوْمَ القِيَامَةِ مِنْ سَبْعِ أَرَضِينَ.

 

ใครก็ตามที่เอาพื้นดินเพียงคืบเดียวด้วยความอธรรม (มิชอบ) เขาจะถูกม้วนด้วยผืนดินเจ็ดชั้นในวันกิยามะฮฺ

(บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ มุสลิม)

 

 

หุกมของอัล-ฆ็อสบฺ

 

          การยึดทรัพย์ผู้อื่นถือว่าต้องห้าม ไม่อนุญาตให้ใครก็ตามเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดของผู้อื่น ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ยกเว้นเขาพอใจจะให้ จำเป็นสำหรับผู้ที่ไปอธรรมผู้อื่นด้วยการยึดทรัพย์คืนให้กับเจ้าของและจะต้องทำการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺที่ได้กระทำไปในสิ่งนั้น

 

 

ลักษณะพฤติกรรมที่ต้องห้าม

 

♦ การโกงตาชั่ง

♦ การโกงที่ดินโดยใช้อำนาจบีบบังคับคนอื่น

♦ การย้ายหลักที่ดิน

♦ การปกปิดสิ้นค้าที่มีตำหนิ

♦ สร้างเอกสารเท็จ

 

 

ประเภทของความผิด

 

     ♦ อัลลอฮฺห้ามเราละเมิดเลือดเนื้อของมุสลิม เกียรติยศชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้อื่น ในการกินทรัพย์สินหลาหลายรูปแบบ เช่น 

     ♦ กลโกงในการค้าขาย 

     ♦ การฉ้อโกงตราชั่ง การวัดตวง

     ♦ การขายสินค้าที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกาย เช่นการขายยาเสพติด บุหรี่ เหล้า สิ่งมึนเมา

     ♦ การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้รับมาซึ่งผลประโยชน์แก่ตัวเอง  เช่น เขาอาจจะให้ทุนการศึกษาแก่บุคคลที่ยากจน แต่เราไปอ้างสิทธิ์ที่จะรับทุนนั้นโดยที่เราไม่ได้อยู่ในเงือนไขที่ถูกกำหนด

     ♦ การฉ้อโกงในโครงการของรัฐที่ต้องการช่วยเหลือผู้ยากจน หรือการแจ้งความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ ทรัพย์สิน พืชผล โดยทางการให้เราแจ้งรายการที่ประสบความเสียหาย แต่เราไม่ได้เสียหายอะไร หรือเสียหายไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับความช่วยเหลือ เราได้สร้างเอกสารเท็จ เพื่อให้เราได้รับสิทธิ์หรือความช่วยเหลือดังกล่าว 

     ♦ การรับสินบน รับมาซึ่งผลประโยชน์แก่ตัวเอง  

 

 

อันตรายของการยึดทรัพย์สินผู้อื่นมา

 

รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

 

مَنْ كَانَتْ لَـهُ مَظْلَـمَةٌ لأَخِيهِ مِنْ عِرْضِهِ أَوْ شَيْءٍ فَلْيَتَـحَلَّلْـهُ مِنْـهُ اليَوْمَ قَبْلَ أَنْ لا يَكُونَ دِيْنَارٌ وَلا دِرْهَـمٌ، إنْ كَانَ لَـهُ عَمَلٌ صَالِـحٌ أُخِذَ مِنْـهُ بِقَدْرِ مَظْلَـمَتِـهِ، وَإنْ لَـمْ يَكُنْ لَـهُ حَسَنَاتٌ أُخِذَ مِنْ سَيِّئَاتِ صَاحِبِـهِ فَحُـمِلَ عَلَيْـهِ

 

     “ใครที่มีสิ่งอธรรมที่ได้มาจากพี่น้องของเขาไม่ว่าจะเป็นเกียรติหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จงขออภัยจากเจ้าของของมันเถิดในวันนี้  ก่อนที่จะไม่มีเงินดีนารฺและดิรฮัมอีกต่อไป

     ในตอนนั้นหากเขามีการงานที่เป็นความดี(ผลบุญ) มันจะต้องถูกเอาไปเท่าๆ กับจำนวนความอธรรมของเขา(ที่ก่อไว้) 

     และหากเขาไปมีความดีใดเหลืออีกเลย เขาก็จะต้องรับบาปกรรมของคู่ปรับของเขา โดยเขาจะแบกรับภาระบาปนั้นแทน

 (บันทึกโดยบุคคอรีย์)

 

 

สาเหตุที่แสวงหาทรัพย์สินโดยอธรรมต่อผู้อื่น

 

     ♣ ไม่เกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ

     ♣ อยากได้ทรัพย์สินมาครอบครองแบบรวดเร็วจึงยอมกระทำสิ่งที่หะรอม 

     ♣ ไม่รู้จักพอเพียง มีความโลภ จนเป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ต้องห้ามและแสวงหารายได้ที่มาจากสิ่งที่ต้องห้าม 

     ♣ ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ และไม่รู้ถึงบทลงโทษที่เลวร้ายจากการแสวงหาทรัพย์สินที่หะรอม 

 

 

ดุอาอฺ

 

ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่งมุอาซไปที่เยเมน และได้กล่าวว่า

 

وَاتَّقِ دَعْوَةَ المَظْلُومِ، فَإِنَّهُ لَيْسَ بَيْنَهُ وَبَيْنَ اللَّهِ حِجَابٌ 

 

ท่านจงระวังดุอาอ์ของผู้ถูกอธรรมเถิด เพราะระหว่างมันกับระหว่างอัลลอฮฺไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้

( บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ)

 

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยละ(กล่าว)ประโยค(ต่อไป)นี้ ในยามค่ำหรือรุ่งเช้า

 

الَّلهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ العَافِيَةَ في الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ ، الَّلهُمَّ إِنِّيْ أَسْأَلُكَ العَفْوَ وَالعَافِيَةَ في دِيْنِيْ وَدُنْيَايَ وَأَهْلِي وَمَالي ، الَّلهُمَّ اسْتُرْ عَوْرَاتِيْ وَآَمِنْ رَوْعَاتِيْ وَاحْفَظْنِيْ مِنْ بَيْنِ يَدَيَّ وَمِنْ خَلْفِيْ وَعَنْ يَمِيْنِي وَعَنْ شِمَالِي وَأَعوْذُ بِكَ أَنْ أُغْتَالَ مِنْ تَحْتِي . 

 

     คำอ่าน  

          อัลลอฮุมมะอินนี อัสอะลุกะ  อัลอาฟิยะตะ ฟิดดุนยาวัลอาคิเราะฮฺ  อัลลอฮุมมะอินนี อัสอะลุกะ อัลอัฟวะ วัลอาฟิยะตะ ฟีดีนี วะดุนยายะ วะอะหฺลี วะมาลี อัลลอฮุมมัสตุรเอารอตี  วะอามินเราอาตี วะหฺฟัซนี มินบัยนิยะดัยยะ วะมินค็อลฟี วะอันยะมีนี วะอันชิมาลี วะอะอูซุบิกะ อันอุฆตาละ มินตะหฺตียฺ

 

ความหมาย 

     “โอ้อัลลอฮฺ ข้าพเจ้าขอให้พระองค์ท่านทรงประทานความปลอดภัยในโลกนี้ และในโลกหน้าโอ้อัลลอฮฺ 

     ข้าพเจ้าขอจากพระองค์ซึ่งความอภัยโทษ และความปลอดภัยใน(เรื่อง)ศาสนา โลก ครอบครัว และทรัพย์สินของข้าพเจ้า

     โอ้อัลลอฮฺ ขอให้พระองค์ทรงปกปิดสิ่งที่น่าละอายของข้าพเจ้า และขอพระองค์ท่านทรงให้ข้าพเจ้าปลอดภัยจากสิ่งที่น่าวิตกกังวล 

     และขอพระองค์ท่านทรงคุ้มครองข้าพเจ้าในเบื้องหน้า เบื้องหลัง ข้างขวา และข้างซ้ายของข้าพเจ้า และขอความคุ้มครองต่อพระองค์ท่านจากอันตรายอันกระทันหันที่จะมาจากเบื้องล่าง