เป็นหน้าที่ ของ ครูบาอาจารย์
  จำนวนคนเข้าชม  620

เป็นหน้าที่ ของ ครูบาอาจารย์

 

อาบีดีณ โยธาสมุทร...แปลเรียบเรียง

 

ชัยคุ้ลอิสลาม อะฮฺหมัด บุตร อับดุลฮะลีมอิบุตัยมียะฮฺ” -ร่อฮิมะฮุ้ลลออฮฺ-

 

          “เป็นหน้าที่ของพวกครูๆที่จะต้องทำตัวให้เป็นพวกที่สนับสนุนกันในเรื่องที่เป็นคุณธรรมและเป็นความยำเกรง(ต่ออัลลอฮฺ) เหมือนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้สั่งเอา...

 

          และไม่อนุญาตให้พวกครูแม้แต่ท่านเดียวออกมากระทำการละเมิดต่อครูท่านอื่น หรือออกมาทำร้ายท่านด้วยคำพูดหรือการกระทำอย่างไร้ความถูกต้องหรือโดยไม่มีสิทธิ์...

 

          และไม่ใช่เรื่องที่ครูท่านใดแม้แต่ท่านเดียวที่จะมาทำโทษใครคนหนึ่งในเรื่องที่ไม่ได้เป็นการอธรรม, ไม่ได้เป็นการละเมิดขอบเขตและไม่ได้เป็นการทำให้สิทธิใดๆต้องสูญหายไปแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ที่ทำโทษไปเพราะว่าอารมณ์เพียงเท่านั้น เนื่องจากการทำโทษในลักษณะนี้มันคือ ส่วนหนึ่งของการอธรรมที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงสั่งห้ามเอาไว้...

 

          แม้เมื่อไรที่มีผู้ใดเข้ามากระทำการระราน แม้แต่ในกรณีนี้เองก็ยังไม่อนุญาตให้ทำการลงโทษด้วยบทลงโทษที่นอกเหนือไปจากที่บทบัญญัติได้กำหนดไว้เท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ครูหรืออาจารย์ท่านใดทำการลงโทษเขาผู้นั้นตามอำเภอใจ และไม่อนุญาตให้ใครคนใดสักคนเดียวให้การช่วยเหลือและเห็นด้วยกับครูท่านนั้นๆในเรื่องๆนี้ด้วย

 

           เช่น การที่ครูท่านนั้นสั่งให้ทำการตัดสัมพันธ์และออกห่างจากบุคคลๆหนึ่ง แล้วเขาก็ยอมปลีกตัวออกห่างจากบุคคลผู้นั้นตามที่มีการสั่งมา ทั้งๆที่ไม่ได้มีเรื่องของความผิดบาปตามบทบัญญัติเกิดขึ้นแต่อย่างใด... พฤติกรรมนี้เป็นหนึ่งในชนิดของการกระทำที่พวกพระคริสต์ทำกับชาวคริสต์, และที่พวกพระยิวทำกับชาวยิว และเป็นหนึ่งในชนิดของการกระทำที่พวกหัวโจกของแนวทางที่หลงผิดกระทำกับสมุนของพวกเขา...

 

          ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ครูหรืออาจารย์ท่านนั้นๆสั่งให้ทำการออกห่างจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือทำการถอดถอนคุณค่าออกจากบุคคลผู้นั้น หรือทำการเทบุคคลๆนั้นทิ้ง หรือทำการผลักให้บุคคลผู้นั้นไปอยู่ห่างๆ หรืออะไรในทำนองนี้ เมื่อนั้นก็ให้พิจารณาสภาพของบุคคลดังกล่าวดูว่า ถ้าเขาเป็นบุคคลที่กระทำเรื่องที่เป็นบาปตามบทบัญญัติศาสนา ก็ให้กระทำการลงโทษเขาตามขนาดของบาปของเขาและอย่าได้เกินเลยไปกว่านี้ แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องบาปตามบทบัญญัติศาสนา ก็ไม่อนุญาตให้เข้าไปทำการลงโทษเขา ไม่ว่าจะด้วยอะไรทั้งสิ้น ด้วยมีเหตุเพราะต้องการจะสนองตอบต่อความประสงค์ของครูท่านนั้นๆหรือท่านอื่นๆ เพียงเท่านั้น

 

          และไม่ใช่วิสัยของบรรดาครูๆ ที่จะมากระทำการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย หรือมาทำเรื่องที่ก่อให้เกิดความบาดหมางและการเป็นศัตรูกันขึ้นระหว่างพวกเขา แต่ที่ต้องเป็นคือ ต้องเป็นเหล่าบุคคลที่เป็นพี่น้องกัน ให้การช่วยเหลือสนับสนุนกันในเรื่องที่เป็นคุณธรรมและเป็นความยำเกรงต่อพระเจ้าต่างหาก...”

 

(مجموع فتاوى شيخ الإسلام أحمد بن تيمية، ج28، ص13-16)

 

ครูบาอาจารย์ต้องไม่สร้างค่านิยมยึดติดอย่างคลั่งไคล้ในตัวบุคคลให้แก่ศิษย์

 

          “...และไม่มีสิทธ์ที่ครูท่านใดสักท่านจะมาทำพันธสัญญาผูกมัดกับผู้ใดสักคนไว้ว่า จะต้องให้เขาผู้นั้นเห็นด้วยกับตนในทุกๆอย่างที่ตนต้องการ และจะต้องนับพวกกับคนที่ตนนับเป็นพวก ต่อต้านและตั้งตนเป็นอริกับคนที่ตนตั้งตนเป็นอริด้วย เพราะใครที่มาทำแบบนี้เขาก็เป็นประเภทเดียวกันกับเจนกิสคานและพวกคนที่อยู่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ที่จะพากันจัดให้บุคคลที่เห็นด้วยกับพวกตนมาอยู่ในสถานะมิตรสหายและพวกพ้อง ส่วนบุคคลใดที่ค้านกับพวกตนก็จะถูกจัดให้เป็นศัตรูผู้ระรานไปโดยปริยาย

 

          แต่ที่ต้องเป็นสำหรับตัวของพวกท่านและบรรดาบุคคลผู้ติดตามพวกท่านคือ การทำพันธสัญญาต่ออัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ ว่าจะภักดีต่ออัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ และจะกระทำตามที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงสั่ง และกำหนดให้เรื่องที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงห้ามไว้เป็นเรื่องต้องห้าม และดูแลสิทธิของบรรดาครูๆทั้งหลายตามที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงสั่งไว้ ถ้ามีครูท่านใดสักท่านโดนอธรรม เขาก็จะเขาไปช่วยเหลือสนับสนุน ส่วนถ้ามีครูท่านไหนเป็นคนอธรรม เขาก็จะไม่ให้การสนับสนุนครูท่านนั้นในการอธรรม แต่จะเข้าไปหักห้ามท่านจากการอธรรมเสียแทน...

 

          เมื่อไหร่ที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างครูท่านหนึ่งกับครูอีกท่านหนึ่ง หรือระหว่างนักเรียนคนหนึ่งกับนักเรียนอีกคนหนึ่ง หรือระหว่างระหว่างครูท่านหนึ่งกับนักเรียนคนหนึ่ง ในกรณีนี้ก็ไม่อนุญาตให้ใครสักคนเข้าไปสนับสนุนผู้ใดสักคนจากทั้งสองฝ่ายจนกว่าเขาจะรู้ความจริงและความถูกต้องเสียก่อน เพื่อที่เขาจะได้ไม่เข้าไปให้การสบับสนุนด้วยกับความเขลาและด้วยกับอารมณ์

 

           แต่ให้พิจารณาประเด็นที่เกิดขึ้นดู ว่า เมื่อไหร่ที่ชัดเจนแล้วว่า เขาผู้นั้นเป็นเจ้าของความถูกต้องจริงๆ ก็ค่อยเข้าไปสนับสนุนผู้ที่เป็นเจ้าของความถูกต้องจากทั้งสองฝ่ายให้มีชัยเหนือคนผิด ไม่ว่าเจ้าของความถูกต้องผู้นี้จะเป็นพรรคพวกของเขาหรือเป็นพรรคพวกของบุคคลอื่น และไม่ว่าคนผิดผู้นี้จะเป็นพรรคพวกของเขาหรือเป็นพรรคพวกของบุคคลอื่นๆก็ตามที 

 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเท่ากับว่า เป้าประสงค์ที่ต้องการก็คือ การสักการะและภักดีอย่างไร้เงื่อนไขต่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียวเท่านั้น, การเชื่อฟังท่านร่อซู้ลของพระองค์, การดำเนินตามความถูกต้องและการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั่นเอง...

 

 

          ส่วนใครที่ยอมคล้อยตามไปกับพวกพ้องของตน ไม่ว่าความถูกต้องจะอยู่ที่เขาคนนั้นหรืออยู่ที่คนอื่นก็ตามที ก็เท่ากับว่าเขาผู้นี้ได้เข้ามาทำการตัดสินด้วยกับการตัดสินของพวกญาฮิลียะฮฺเข้าเสียแล้ว และเท่ากับว่าเขาได้หลุดออกไปจากคำตัดสินของอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ไปเสียแล้วอีกด้วย 

 

          ซึ่งหน้าที่ของพวกท่านเหล่านี้ทุกๆคนคือ จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสนับสนุนฝ่ายที่เป็นเจ้าของความถูกต้องให้มีชัยเหนือฝ่ายผิด เพื่อที่จะให้บุคคลที่มีเกียรติในมุมของพวกเขา เป็นบุคคลที่ได้แก่ คนที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงให้เกียรติ...ด้วยกับการว่าตามความพอพระทัยของอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ ไม่ใช่ด้วยกับการว่าตามอารมณ์...และบุคคลที่ไร้เกียรติในมุมของพวกเขา คือ บุคคลที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงทำให้เขาไร้เกียรติ 

           

          และเมื่อใดที่บรรดาท่านทั้งหลายสามัคคีกันบนการเชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์และให้การสนับสนุนกันในคุณธรรมและความยำเกรง เมื่อนั้นแต่ละคนก็จะไม่มีทางอยู่เคียงข้างใครคนใดแม้สักคนเดียวในทุกๆเรื่อง แต่พวกเขาจะอยู่เคียงข้างกับคนทุกคนในการเชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ และจะไม่อยู่ร่วมกับใครสักคนในการฝ่าฝืนอัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ แต่จะให้การสนับสนุนต่อกันบนความสัจจริง, บนความยุติธรรม, บนการทำดี, บนการใช้กันในเรื่องดีห้ามกันจากเรื่องผิด, บนการช่วยเหลือผู้ที่โดนอธรรมและบนทุกๆเรื่องที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงรัก 

 

          ในขณะเดียวกันก็จะไม่สนับสนุนกันบนการอธรรม, บนความเป็นพวกเป็นพ้องกันอย่างพวกญาฮิลียะฮฺ, บนการตามอารมณ์อย่างไร้ทางนำจากอัลลอฮฺ, บนการแตกแยกและขัดแย้ง และบนการยึดติดในตัวบุคคลๆใดบุคคลหนึ่งโดยว่าตามที่เขาว่าเสียหมดทุกอย่าง... แต่อย่างใด...

 

 

          ทั้งนี้ เพราะเรื่องฮะล้าลคือ เรื่องที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ว่ามันฮะล้าล ส่วนเรื่องที่ฮะรอมก็คือ เรื่องที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ว่ามันฮะรอม และศาสนาก็คือ สิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครสักคนแม้จะเป็นเชค, เป็นราชาหรือเป็นนักวิชาการ...ที่จะขยับออกจากกรอบนี้ไปได้เลย...

 

           ดังนั้น ก็ในเมื่อขนาดบรรดาบุคคลที่เป็นเชคและเป็นนักวิชาการ สภาพการณ์และคำพูดคำจาของพวกท่าน ยังมีทั้งที่เป็นเรื่องที่ดีและที่เป็นเรื่องที่ไม่ดี, มีทั้งเรื่องที่ถูกทางและเรื่องที่หลงทาง, มีทั้งเรื่องที่เที่ยงธรรมและเรื่องที่ละเมิด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ๆพวกท่านจะต้องนำสภาพการณ์และคำพูดเหล่านี้กลับเข้าหาอัลลอฮฺและร่อซู้ล โดยให้รับเฉพาะสิ่งที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ทรงรับและไม่รับสิ่งที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ไม่ทรงรับเลย 

          แล้วประสาอะไรกันกับบรรดาบุคคลที่เป็นครูๆเหล่านี้และบรรดาบุคคลที่อยู่ในทำนองเดียวกันกับพวกท่านเล่าครับ?!...”

 

(مجموع فتاوى شيخ الإسلام أحمد بن تيمية، ج28، ص16-25)