การให้เกียรติเพื่อนบ้าน และอย่ารังแกเพื่อนบ้าน
  จำนวนคนเข้าชม  1948

การให้เกียรติเพื่อนบ้าน และอย่ารังแกเพื่อนบ้าน

 

อุมมุ อั๊ฟว์ แปลและเรียบเรียง

 

โดย เชค ศ่อลาฮฺ บิน มุฮัมมัด อัลบะดี้ร ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ 

(อิมามและคอฏีบประจำมัสยิด อันนะบะวีย์ นครมะดีนะฮฺ)

 

ดุอาอฺเริ่มคุตบะฮฺ

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดจงเตรียมเสบียงเพื่ออาคิเราะฮฺและอย่าได้หลงระเริงกับดุนยาดังดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลาที่ว่า : 

 

يَٰٓأَيُّهَا  ٱلَّذِينَ  ءَامَنُواْ  ٱتَّقُواْ  ٱللَّهَ  وَلۡتَنظُرۡ  نَفۡسٞ  مَّا  قَدَّمَتۡ  لِغَدٖۖ  

وَٱتَّقُواْ  ٱللَّهَۚ  إِنَّ  ٱللَّهَ  خَبِيرُۢ  بِمَا  تَعۡمَلُونَ

 

     โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และทุกชีวิตจงพิจารณาดูเถิดว่า อะไรที่ตนได้เตรียมไว้บ้างสำหรับวันพรุ่งนี้ (วันกิยามะฮฺและจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ 

(อัลฮัชร์ / 18)

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลายหนึ่งในคุณงามความดี ที่จะยกระดับการมีศีลธรรมให้สูงส่ง และทำให้ความกรุณาโปรดปรานแผ่กระจายอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ก็คือการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีทำดีต่อเพื่อนบ้าน คำว่าเพื่อนบ้านนั้นครอบคลุมทั้งบ้านที่อยู่ชิดติดชายคาเดียวกัน และบ้านที่อยู่เรียงถัดกันไปครอบคลุมบ้านใกล้เรือนเคียงทั้งหมด ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ชิดติดกันก็ตาม 

          อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงมีรับสั่งให้ปฏิบัติดีต่อเพื่อนบ้าน ดังที่พระองค์ตรัสว่า 

 

وَٱعۡبُدُواْ  ٱللَّهَ  وَلَا  تُشۡرِكُواْ  بِهِۦ  شَيۡـٔٗاۖ  وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ  إِحۡسَٰنٗا  وَبِذِي  ٱلۡقُرۡبَىٰ  وَٱلۡيَتَٰمَىٰ  وَٱلۡمَسَٰكِينِ  وَٱلۡجَارِ  ذِي  ٱلۡقُرۡبَىٰ  وَٱلۡجَارِ  ٱلۡجُنُبِ  وَٱلصَّاحِبِ  بِٱلۡجَنۢبِ  وَٱبۡنِ  ٱلسَّبِيلِ  وَمَا  مَلَكَتۡ  أَيۡمَٰنُكُمۡۗ
 إِنَّ  ٱللَّهَ  لَا  يُحِبُّ  مَن  كَانَ  مُخۡتَالٗا  فَخُورًا   

 

และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์

และจงทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด และเด็กกำพร้าและผู้ขัดสน

และเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเพื่อนบ้านที่ห่างไกล และเพื่อนเคียงข้าง และผู้เดินทาง

และผู้ที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครอง แท้จริง อัลลอฮฺ ไม่ทรงโปรดผู้ที่ยโสโอหัง ผู้ที่โอ้อวด

(อันนิซาอฺ /36)

 

          มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

"مَا زَالَ جِبْرِيلُ يُوصِينِي بِالْجَارِ ‌حَتَّى ‌ظَنَنْتُ ‌أَنَّهُ ‌سَيُوَرِّثُهُ"

ท่านญิบรี้ลยังคงกำชับสั่งเสียฉันให้ทำดีต่อเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันคิดว่า จะให้เขา (เพื่อนบ้าน)มีสิทธิ์รับมรดกได้เสียด้วย"

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

 

          มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อัมร์ อิบนิ้ล อ๊าศ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

"خَيْرُ ‌الْأَصْحَابِ ‌عِنْدَ ‌اللَّهِ -عَزَّ وَجَلَّ- خَيْرُهُمْ لِصَاحِبِهِ،
وَخَيْرُ الْجِيرَانِ عِنْدَ اللَّهِ -عَزَّ وَجَلَّ- خَيْرُهُمْ لِجَارِهِ"

 

มิตรสหายที่ประเสริฐที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺ عزوجل  คือ  ผู้ที่ปฏิบัติดีที่สุดต่อมิตรสหายของเขา

และเพื่อนบ้านที่ประเสริฐที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺ عزوجل  คือ  ผู้ที่ปฏิบัติดีที่สุดต่อเพื่อนบ้านของเขา

(บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด อิมาม อัตติรมีซีย์ และอิมาม อิบนิ ฮิบบาน)

 

         และมีรายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า    : 

 

"مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ ‌فَلْيُكْرِمْ ‌جَارَهُ"

 

 ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาก็จงให้เกียรติเพื่อนบ้านของเขา 

 

     ในอีกสำนวนหนึ่งระบุว่า  "‌فَلْيُحْسِنْ ‌إِلَى ‌جَارِهِ" “เขาก็จงทำดีต่อเพื่อนบ้านของเขา

 

          ใครที่ทำดีต่อเพื่อนบ้านบ้านของเขาจะได้รับความจำเริญ และส่วนหนึ่งจากการทำดีต่อเพื่อนบ้านก็คือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยดี รักษาอมานะฮฺของเขาปกปิดความลับของเขา ตอบแทนการทำดีของเขาให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ สนับสนุนส่งเสริมช่วยเป็นหูเป็นตาให้ และไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และไม่บิดพลิ้วหลอกลวงเขา

         มีรายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : 

 

"لَا يُؤْمِنُ وَاللهِ، لَا يُؤْمِنُ وَاللهِ، لَا يُؤْمِنُ وَاللهِ؛ ‌مَنْ ‌لَا ‌يَأْمَنُ ‌جَارُهُ ‌بَوَائِقَهُ"

 

จะยังไม่ถือว่าศรัทธา ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ , จะยังไม่ถือว่าศรัทธา ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ , จะยังไม่ถือว่าศรัทธา

ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ได้รับความปลอดภัยจากความชั่วร้ายของเขา 

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

 

          เพื่อนบ้านนั้นคือคนใกล้ชิดพวกท่าน จงให้ความรักใคร่สนิทสนมกับเพื่อนบ้าน ทำดีกับเพื่อนบ้านที่ยากจน เพื่อนบ้านที่เป็นเด็กกำพร้าเป็นหญิงหม้าย และเป็นผู้ขัดสน 

 

          รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺอิบนิอับบ๊าสร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺว่า :  ท่านได้ยิน ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า  : 

"لَيْسَ الْمُؤْمِنُ الَّذِي ‌يَشْبَعُ، ‌وَجَارُهُ جَائِعٌ"

หาใช่มุอฺมินไม่ ผู้ที่ตัวเขาอิ่มท้อง แต่เพื่อนบ้านของเขากลับหิวโหย

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

          และมีรายงานจากท่านอบีซัรร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า  : 

 "يَا أَبَا ذَرٍّ إِذَا ‌طَبَخْتَ ‌مَرَقَةً فَأَكْثِرْ مَاءَ الْمَرَقَةِ وَتَعَاهَدْ جِيرَانَكَ"

โอ้ อบาซัรเอ๋ย เมื่อท่านทำแกง ก็จงเพิ่มน้ำแกงให้มากเข้าไว้ และจงมอบให้แก่เพื่อนบ้านของท่านเถิด 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

          และให้เริ่มแจกจ่ายจากบ้านที่ประตูอยู่ใกล้ชิดที่สุด จากนั้นก็บ้านถัดไปและบ้านถัดไป ดังฮะดีสของท่านหญิง อาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า :

 

"يَا رَسُولَ اللهِ، ‌إِنَّ ‌لِي ‌جَارَيْنِ، ‌فَإِلَى أَيِّهِمَا أُهْدِي، قَالَ: إِلَى أَقْرَبِهِمَا مِنْكِ بَابًا"

โอ้ ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ แท้จริง ฉันมีเพื่อนบ้านสองคน คนไหนที่ฉันควรจะมอบของให้

ท่านตอบว่า :  คนที่ประตูอยู่ชิดกับเธอมากที่สุด

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย สำหรับเพื่อนนั้นมีอิทธิพลในการส่งผลต่อพฤติกรรมและจิตใจของผู้คน เพราะอุปนิสัยคนเรานั้นเป็นเรื่องที่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ เพื่อนบ้านบางคนจึงอาจได้รับแบบอย่างความประพฤติจากอีกบางคน อันเนื่องมาจากความใกล้ชิด การไปมาหาสู่กัน ความสนิทสนมคลุกคลีกัน บางทีเพื่อนบ้านกันอาจมีลักษณะนิสัยที่คล้ายคลึงกัน ยึดเอาพฤติกรรมมารยาทจากกันและกัน และอาจเป็นไปได้ว่า การที่คนๆ หนึ่งดี เป็นเพราะมีเพื่อนบ้านที่ดี หรือไม่ดี เพราะเลียนแบบสิ่งที่ไม่ดีจากเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้เอง เหล่านักปราชญ์จึงเน้นให้เลือกเฟ้นหาเพื่อนบ้านที่ดี ก่อนที่จะสร้างบ้าน

ดังสุภาษิตอาหรับที่ว่า 

"الجار قبل الدار، والرفيق قبل الطريق"

เพื่อนบ้านต้องมาก่อนบ้าน เพื่อนร่วมทางต้องมาก่อนถนนหนทาง

 

 "اعرف جاركَ قبل أن تشتري داركَ"

จงทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านก่อนที่ท่านจะซื้อบ้าน

 

"مَنْ ساء جارُه ساء قرارُه"

ใครที่มีเพื่อนบ้านไม่ดี การพำนักอยู่ของเขาก็ย่อมไม่ดีไปด้วย

 

          ดังนั้น ความสุขของบ้านประการหนึ่งก็คือ การมีเพื่อนบ้านที่ดี ดังที่มีรายงานจากท่านนาฟิอฺ บิน อัลฮาริษ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า  :  

 

"مِنْ سَعَادَةِ الْمَرْءِ الْمُسْلِمِ ‌الْمَسْكَنُ ‌الْوَاسِعُ وَالْجَارُ الصَّالِحُ وَالْمَرْكَبُ الْهَنِيءُ"

 

ความสุขประการหนึ่งของผู้เป็นมุสลิม ก็คือ การมีที่อยู่อาศัยที่กว้างขวาง มีเพื่อนบ้านที่ดี และมีพาหนะที่สะดวกสบาย

( บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด)

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย เพื่อนบ้านที่ไม่ดีนั้น นับเป็นภัยพิบัติ คือความทุกข์ยากแสนสาหัส คือความเลวร้ายที่คงอยู่ตลอดไป คือภัยอันตรายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เพื่อนบ้านที่ไม่ดี จะทำแต่เรื่องไม่ดี ติดตามทุกข้อบกพร่อง สอดรู้สอดเห็นความลับในบ้าน เปิดโปงความลับ ทลายการปกปิด สร้างความอับอาย สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สร้างความอึดอัดลำบากใจ  

 

     ท่านอัศศ็อกอับ อิบนิ อัมรฺ อันนะฮฺดีย์ ตอบคำถามท่านอันนุอฺมานที่ถามท่านว่าอะไรคือโรคภัยที่ไม่ไม่มีวันหาย?” 

     ท่านตอบว่า : “เพื่อนบ้านที่ไม่ดี ที่หากท่านเอ่ยปากพูด เขาก็จะกล่าวหาใส่ความท่าน หากท่านไม่อยู่ เขาก็นินทาท่าน และหากท่านนิ่ง เขาก็ข่มเหงเอาเปรียบท่าน 

 

      กวีอาหรับกล่าวไว้ว่าใครที่อยู่ใกล้ราชสีห์ เขาย่อมไม่ปลอดภัยจากการถูกทำร้าย เพราะราชสีห์ย่อมไม่ปล่อยให้มีใครใกล้ชิดอยู่ข้างกาย

 

          กล่าวกันว่า เพื่อนบ้านที่ไม่ดีนั้น คือ คนที่สายตา คอยจ้องมองท่าน หัวใจ คอยตรวจตราท่าน หากเห็นความดีใดๆ เขาก็จะปกปิด และหากได้ยินเรื่องไม่ดีใดๆ เขาก็จะรีบแพร่งพรายโพนทนาบอกต่อ และเพื่อนบ้านที่ไม่ดีนั้น ผู้ที่เป็นเพื่อนบ้านของเขาย่อมไม่ได้รับความปลอดภัย ถึงแม้ว่าเขาจะระแวดระวังสักเพียงใดก็ตาม 

 

           ดังนั้น จงทุ่มเทแสดงความสุภาพอ่อนโยนเพื่อเป็นกำแพงปกป้องให้พ้นจากความชั่วร้ายของเขา ย้ายหนีหลีกห่างเพื่อตัดตอนแผนการณ์ของเขา หรืออยู่เป็นเพื่อนบ้านกับเขาด้วยความอดทนอดกลั้น แต่หากหาความอดทนไม่พบอีกต่อไป การโยกย้ายให้ห่างไกลย่อมหวานชื่นรื่นรมย์ เพราะการที่ท่านหนีให้พ้นจากเพื่อนบ้านที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่สมควรยิ่งกว่า ความเสื่อมเสียกี่มากน้อยมาแล้ว ที่เล็ดลอดเข้ามาสู่ครอบครัวและลูกหลาน อันมีสาเหตุมาจากเพื่อนบ้านที่ไม่ดี 

 

     ครั้งหนึ่ง ท่านอบี อัลอัสวัด เคยมีบ้านอยู่ที่เมืองบัศเราะฮฺ ท่านมีเพื่อนบ้านที่คอยกลั่นแกล้งรังแก สร้างความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงขายบ้านหลังนั้นทิ้งไป 

     มีคนถามท่านว่า  ท่านขายบ้านของท่านเชียวหรือ ? ”

     ท่านตอบว่าฉันขายบ้านของเพื่อนบ้านของฉันต่างหาก!”

     ท่านเษาบาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า :  ไม่มีเพื่อนบ้านคนใดที่อธรรมต่อเพื่อนบ้านของตนเอง และบังคับขู่เข็ญเขา กระทั่งทำให้เขาต้องออกไปจากบ้านของตัวเอง นอกจากคนผู้นั้นต้องพบกับหายนะ 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

          จึงสมควรอย่างยิ่งสำหรับมุสลิม ในการทำให้บ้านเรือนของตัวเองห่างไกลจากบ้านเรือนของคนที่ชั่วช้า หยาบคาย และขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากคนเหล่านี้ ดังมีรายงานจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า : ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : 

 

تعوذوا بالله من جار السوء، في دار المقام، فإن الجار البادي محول عنك

 

     “ ท่านทั้งหลายจงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจากเพื่อนบ้านที่ไม่ดี ที่อยู่ในบ้านที่พำนัก (ในดุนยา) เพราะแท้จริง เพื่อนบ้านขาจรนั้น ไม่นานเขาก็จะผ่านพ้นไปจากท่าน (อยู่ด้วยไม่นาน)” 

(บันทึกโดย อิมามอันนะซาอีย์)

 

          อิมาม อัซซะฮะบีย์ กล่าวว่า : “หากว่าเพื่อนบ้านเป็นคนที่ทำบาปใหญ่ เขาจะไม่พ้นจากลักษณะของผู้ที่ปกปิดความผิด และปิดกั้นตัวเอง (จากคนอื่น) เมื่อนั้น ก็จงผินหลังให้เขาและทำเป็นไม่รู้เรื่องราวเสีย แต่หากมีความสามารถที่จะตักเตือนเขาได้ ก็จงตักเตือนและให้ข้อคิดแก่เขาอย่างลับๆ แต่หากเขาอยู่ในสภาพที่ทำผิดอย่างเปิดเผย ก็จงหนีห่างจากเขาด้วยดี 

          ทำนองเดียวกันหากเขาทิ้งละหมาดหลายเวลา ก็ให้กำชับตักเตือนเขาด้วยดี และห้ามปรามเขาในสิ่งผิด (หากเขาไม่รับฟัง) ก็ให้ปลีกตัวออกห่างจากเขา เพื่อหวังว่าการปลีกตัวนี้จะเกิดประโยชน์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตัดขาดการสนทนา งดให้สลามหรืองดให้ของขวัญ แต่หากท่านเห็นว่าเขายังคงดื้อดึง ยังคงห่างไกลจากความดีงาม ก็ให้ผินหลังให้เขาและปรับเปลี่ยนโยกย้ายจากการอยู่เป็นเพื่อนบ้านกับเขา

         และหากว่าเพื่อนบ้านเป็นคนที่ไม่ห่วงภรรยา หรือหึงหวงน้อยเกินไป หรือภรรยาของเขาไม่ได้อยู่บนหนทางที่ถูกต้อง ก็จงหันห่างจากเขา หรือพยายามอย่าให้ภรรยาของท่านรักใคร่สนิทสนมกับภรรยาของเขา เพราะจะเกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย และอย่าเข้าไปในบ้านของเขา 

 

          พี่น้องมุสลิมที่รัก คนที่รู้จักสภาพของคนๆ หนึ่งได้ดีที่สุด ก็คือ ครอบครัวและเพื่อนบ้านของเขา คนที่มีความสุข จึงหมายถึงคนที่มีเพื่อนบ้านที่เชื่อถือไว้วางใจได้ กล่าวสรรเสริญชื่นชมและพูดถึงแต่สิ่งที่ดี เพราะคำพูดของเพื่อนบ้านนั้นคือมาตรวัดและประจักษ์พยานถึงความดีและความชั่วของคนๆ นั้น

 

     รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า :" ฉันจะทราบได้อย่างไร ว่าได้ทำดีหรือทำผิดไป ?"

     ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : 


"إِذَا سَمِعْتَ جِيرَانَكَ يَقُولُونَ: قَدْ أَحْسَنْتَ، فَقَدْ أَحْسَنْتَ، وَإِذَا سَمِعْتَهُمْ يَقُولُونَ: قَدْ أَسَأْتَ، فَقَدْ أَسَأْتَ"

 

"หากท่านได้ยินเพื่อนบ้านของท่านพูดว่าท่านได้ทำดี แน่นอน (นั่นหมายความว่า) ท่านได้ทำดีแล้ว

และหากท่านได้ยินพวกเขาพูดว่า ท่านทำไม่ดี แน่นอน (นั่นหมายความว่า) ท่านได้ทำไม่ดีแล้ว"

(บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด และอิมาม อิบนิ มาญะฮฺ)

 

ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า :

"إذا كان في المرءِ ثلاثُ خصالٍ فلا تَشُكُّوا في صَلَاحِه، إِذا ‌حَمِده ‌ذُو ‌قَرَابَتِه، وجارُه، ورفيقُه". "

 

     “เมื่อบุคคลหนึ่งมี 3 คุณสมบัติอยู่ในตัว พวกท่านก็จงอย่าได้สงสัยในความดีงามของเขาเลย คือ เมื่อญาติใกล้ชิด เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมเดินทางต่างชื่นชมสรรเสริญบุคคลผู้นั้น

 

(ดุอาอฺเริ่มคุตบะฮฺที่สอง)

 

          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย การกลั่นแกล้งรังแกพี่น้องมุสลิม ทั้งๆ ที่ไม่มีสิทธิ์กระทำเช่นนั้น ถือเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับทุกๆ คน และนับว่าเป็นเรื่องต้องห้ามที่หนักหนารุนแรงยิ่งกว่า หากเป็นเรื่องสิทธิของเพื่อนบ้าน เพราะเพื่อนบ้านนั้นมีสิทธิที่พึงได้รับ ดังนั้น จงระวังให้ดีในการสร้างความเดือนร้อนแก่เพื่อนบ้าน 

          ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

"من كان يؤمن بالله واليوم الآخر فلا يؤذ جاره"

ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ ก็จงอย่าสร้างความเดือนร้อนแก่เพื่อนบ้านของเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)

 

มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า : 

 

يَا رَسُولَ اللهِ، ‌إِنَّ ‌فُلَانَةَ ‌يُذْكَرُ ‌مِنْ ‌كَثْرَةِ صَلَاتِهَا، وَصِيَامِهَا، وَصَدَقَتِهَا، غَيْرَ أَنَّهَا تُؤْذِي جِيرَانَهَا بِلِسَانِهَا، قَالَ: " هِيَ فِي النَّارِ "، قَالَ: يَا رَسُولَ اللهِ، فَإِنَّ فُلَانَةَ يُذْكَرُ مِنْ قِلَّةِ صِيَامِهَا، وَصَدَقَتِهَا، وَصَلَاتِهَا، وَإِنَّهَا تَصَدَّقُ بِالْأَثْوَارِ مِنَ الْأَقِطِ، وَلَا تُؤْذِي جِيرَانَهَا بِلِسَانِهَا، قَالَ: "هِيَ فِي الْجَنَّةِ
 

     ชายคนหนึ่งกล่าวว่า:  โอ้ ท่านร่อซูลุ้ลลอฮครับ มีหญิงคนหนึ่งที่มีผู้กล่าวขานถึงนางว่า ละหมาด ถือศีลอด และบริจาคทานอย่างมากมาย เพียงแต่นางชอบสร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านด้วยลิ้น (คำพูด) ของนาง 

     ท่านกล่าวว่า : นางอยู่ในนรก 

     ชายผู้นั้นกล่าวต่ออีกว่า : โอ้ ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺครับ มีหญิงคนหนึ่ง มีผู้กล่าวขานถึงนางว่า ถือศีลอด บริจาคทานและละหมาดเพียงเล็กน้อย และแท้จริง นางบริจาคเพียงแค่นมแห้งๆ แต่นางไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านด้วยคำพูดของนาง 

     ท่านกล่าวว่า : นางอยู่ในสวรรค์ 

(บันทึกโดย อิมามอะฮฺมัด)

 

          ไม่อนุญาตให้เลี้ยงนกพิราบบนหลังคาที่พักอาศัย เพราะเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้าน หรือยกดาดฟ้าขึ้นสูงเพื่อคอยสอดส่องดูความลับของเพื่อนบ้าน หรือสร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากรังนก เศษกิ้งไม้ เศษหญ้าหรือเศษปฏิกูลของมัน ทั้งหมดนี้เป็นการรบกวนสร้างความเป็นศัตรูกับเพื่อนบ้าน แต่หากเขาเลี้ยงนกเพื่อเอาไข่ หรือเลี้ยงไว้เพื่อคลายเหงาหรือส่งสาส์น ฯลฯ โดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ใคร อยู่ในกรงไม่บินไปไหน ก็ไม่มีปัญหาอะไร

 

          ไม่อนุญาตให้โปรยเมล็ดพืช เศษอาหาร ให้น้ำนก ตรงพื้นที่ส่วนกลางระหว่างบ้านเรือน และบนถนนหนทาง เพราะเป็นการแพร่กระจายเศษขยะและสิ่งปฏิกูลและสร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้าน และหากต้องปีนขึ้นต้นไม้หรือดาดฟ้าเพื่อทำธุระ และมีโอกาสเห็นภายในบ้านของเพื่อนบ้าน จำเป็นที่เขาจะต้องขอนุญาตเพื่อนบ้านของเขาก่อน อย่าขึ้นไปโดยพลการ เพื่อที่เพื่อนบ้านจะได้เตรียมพร้อม ปกปิดสิ่งที่ไม่ต้องการให้คนเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ทรัพย์สินและสภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ

 

          หนึ่งในสิทธิของเพื่อนบ้านที่พึงได้รับจากเพื่อนบ้านด้วยกันก็คือ อย่าได้หลอกลวงคนในครอบครอบของเขา และต้องระงับสายตาจากภรรยาของเขา เพราะซินาที่นับว่าหนักหนาและรุนแรงที่สุด คือการทำซินากับภรรยาของเพื่อนบ้านของเขาเอง

 

     มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า :ฉันถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่า :  ความผิดใดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺ?” 

ท่านตอบว่า : คือการที่ท่านทำให้มีหุ้นส่วนกับอัลลอฮฺ ทั้งๆ ที่พระองค์บังเกิดท่าน  

ฉันถามต่อว่า : “ต่อจากนั้นล่ะครับ?”

ท่านกล่าวว่า : คือการที่ท่านฆ่าลูกเพราะกลัวว่าลูกจะร่วมแย่งทานอาหารกับท่าน (กลัวอดตายเพราะมีลูก) 

ฉันถามต่ออีกว่า :  แล้วต่อจากนั้นล่ะครับ?”

คือการผิดประเวณีกับภรรยาของเพื่อนบ้านของท่านเอง 

(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

         เรื่องการผิดประเวณีกับเพื่อนบ้านถูกกำหนดให้อยู่ถัดมาจากการคร่าชีวิตเพื่อนมนุษย์  อันเนื่องมาจากผลเสียอันมากมายที่จะเกิดขึ้นจากการผิดประเวณี อันได้แก่ การผสมผเสปนเปของเชื้อสาย เกิดความอับอายขายหน้า และเป็นการทำร้ายรังแกเพื่อนบ้าน และที่เน้นให้ตระหนักในเรื่องของภรรยาของเพื่อนบ้านก็เพราะ เรื่องสิทธิของเพื่อนบ้านนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวง และจำเป็นที่จะต้องหวงแหนภรรยาของเพื่อนบ้าน ปกป้องให้พ้นจากเรื่องบัดสี เหมือนที่เขาหวงแหนภรรยาของตัวเอง

 

มีรายงานจากท่านมิกด๊าด อัลอัสวัด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า :  ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามบรรดาศ่อฮาบะฮฺเกี่ยวกับเรื่องการผิดประเวณี 

     บรรดาศ่อฮาบะฮฺตอบว่า : “ เป็นสิ่งต้องห้าม ที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ได้ห้ามปรามเอาไว้ 

     ท่านกล่าวว่า : เพราะการที่ชายคนหนึ่งทำซินากับผู้หญิง 10  คน ยังนับว่าเบากว่าการที่เขาทำซินากับภรรยาของเพื่อนบ้านของเขาเองเพียงคนเดียวเสียอีก 

     แล้วท่านก็ถามพวกเขาถึงการลักขโมย บรรดาศ่อฮาบะฮฺตอบว่า : "เป็นสิ่งต้องห้าม ที่อัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ได้ห้ามปรามเอาไว้ 

     ท่านกล่าวว่า :  เพราะการลักขโมยจากบ้านเรือนต่างๆ  10  หลัง ยังนับว่าเบากว่าการลักขโมยจากบ้านของเพื่อนบ้านของเขาเพียงหลังเดียว

(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์)

 

          มีบางคนที่ปล่อยปละละเลยในการอบรมมารยาทกับเด็กและเยาวชน จนทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงอึดอัดลำบากใจ ไม่ว่าจะจากเสียงตะโกนโหวกเหวก เอะอะโวยวาย เสียงดังเซ็งแซ่ เสียงปรบมือ เสียงเป่าปาก อีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้สัญจรไปมา ด้วยการกระทำที่ก่อความวุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ละอายสายตาใคร ได้ยินเสียงอะซาน ไม่ตอบรับ เห็นคนเตรียมตัวไปละหมาด แต่ก็ยังทำเป็นม่รู้ไม่ชี้ เห็นผู้อาวุโสก็ไม่รู้สึกกระดากอาย แต่กลับทำเป็นเล่น ไม่เคารพ และยังเย้ยหยันล้อเลียน เป็นต้น 

 

          เพราะฉะนั้น จงห้ามปรามบุตรหลานอย่าให้สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้าน อบรมสั่งสอนจรรยามารยาทให้แก่พวกเขา ให้พวกเขาเคยชินกับคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม  เพื่อให้พวกเขายินดียอมรับทางนำที่ดีงาม แนวทางที่เที่ยงตรง และความประพฤติที่เป็นที่พึงพอใจ

 

وصلُّوا وسلِّموا على أحمد الهادي شفيع الورى طُرًّا، 

فمَنْ صلى عليه صلاةً واحدةً صلَّى الله عليه بها عشرًا

 

(ดุอาอฺ จบคุตบะฮฺ)