อำลา เราะมะฎอน !!
  จำนวนคนเข้าชม  1273

อำลา เราะมะฎอน !!

 

อนัส ลีบำรุง : บรรยาย เรียบเรียง

 

: الخطبة الأولى 

إن الحمد لله، نحمده، ونستعينه، ونستغفره، ونعوذ بالله من شرور أنفسنا ومن سيئات أعمالنا،

من يهده الله فلا مضل له، ومن يضلل فلا هادي له، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمداً عبده ورسوله.

ﵟ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِۦ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسۡلِمُونَ ١٠٢ ﵞ

ﵟ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱتَّقُواْ رَبَّكُمُ ٱلَّذِي خَلَقَكُم مِّن نَّفۡسٖ وَٰحِدَةٖ وَخَلَقَ مِنۡهَا زَوۡجَهَا وَبَثَّ مِنۡهُمَا رِجَالٗا كَثِيرٗا وَنِسَآءٗۚ 

وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَ ٱلَّذِي تَسَآءَلُونَ بِهِۦ وَٱلۡأَرۡحَامَۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ عَلَيۡكُمۡ رَقِيبٗا ١ ﵞ 

ﵟ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَقُولُواْ قَوۡلٗا سَدِيدٗا ٧٠ يُصۡلِحۡ لَكُمۡ أَعۡمَٰلَكُمۡ وَيَغۡفِرۡ لَكُمۡ ذُنُوبَكُمۡۗ وَمَن يُطِعِ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ فَقَدۡ فَازَ فَوۡزًا عَظِيمًا ٧١ ﵞ 

 

          ขอเราและท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ จงตรวจสอบตัวของพวกเราเองในทุกย่างก้าวของชีวิต ให้ทุกย่างก้าวนั้นเป็นไปเพื่อพระองค์ด้วยความตักวา เพื่อที่เรานั้นจะประสบความสำเร็จทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ

 

          พี่น้องผู้ศรัทธา เดือนเราะมะฎอน เทศกาลแห่งคุณงามความดี ได้ผ่านพ้นเราไปแล้ว เป็นเดือนที่บรรดาผู้ศรัทธานั้นมุ่งมั่นเข้าหาต่ออัลลอฮฺ ทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์ทั้งในช่วงเช้าและช่วงค่ำจากบรรดาอิบาดะฮฺต่างๆที่มี เอาใจใส่กับกุรอ่าน ช่วยเหลือผู้ยากไร้ กิยามในยามค่ำคืน มุ่งหาแต่ประตูของคุณงามความดีแข่งขันกันเพื่ออัลลอฮฺ นั่นคือขุมทรัพย์ นั่นคือกำไรของผู้ศรัทธาคนนั้นที่เขาได้บากบั่นมาตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพระองค์ทรงทำให้เรื่องราวต่างๆนั้นง่ายดาย อัลฮัมดุลิลลาฮฺ 

 

          แท้จริงฤดูแห่งการถือศีลอด เป็นโอกาสทองแห่งการมุ่งหน้าสู่อัลลอฮฺ และกลับเนื้อกลับตัวจากความผิดบาปทั้งหลายที่เราเคยทำมา ใครก็ตามที่พิจารณาสภาพของเขาที่เป็นอยู่ในเดือนเราะมะฎอน เราก็จะพบว่าเรานั้นมีความบกพร่องอันใหญ่หลวงเสียเหลือเกิน และจะพบกับการละเลยต่อสิทธิของพระเจ้าของเรา ดังที่ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวว่า

 

" كل بني آدم خطاء وخير الخطائين التوابون"

 

"ลูกหลานอาดัมทุกคนล้วนแล้วแต่มีความผิด แต่คนผิดที่ดีที่สุดคือ คนที่รู้จักสำนึกผิด"

 

        ฉะนั้นความผิดที่มากมายที่เราได้ก่อเอาไว้และความบกพร่องที่เกิดขึ้นนั้นควรจะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ พร้อมกับฤดูกาลแห่งการกลับเนื้อกลับตัวสู่อัลลอฮฺ เมื่อเราะมะฎอนผ่านมาควรจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จากไม่เคยละหมาดกลับมาละหมาด จากไม่เคยถือศีลอด ขี้เกียจละทิ้งอยู่ตลอดลก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถือศีลอดจนครบ ละหมาดจนครบ แต่ถ้าเมื่อจิตใจและหัวใจทั้งหลายไม่ได้เกิดความหวั่นไหวที่จะกลับเนื้อกลับตัวและเสียใจในความผิดต่างๆในเดือนเราะมะฎอนที่ผ่านมาแล้วนั้น 

 

((رَغِمَ أَنْفُ رَجُلٍ دَخَلَ عَلَيْهِ رَمَضَانُ ثُمَّ انْسَلَخَ قَبْلَ أَنْ يُغْفَرَ لَهُ)) رواه الترمذي وأحمد

 

"ช่างน่าอัปยศสิ้นดีต่อคนหนึ่งที่รอมฏอนมายังเขา แต่เขากลับไม่ได้รับการอภัยโทษ"

 

       เพราะเดือนที่ผ่านมานั้น คือฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่แห่งการกลับเนื้อกลับตัว หัวใจที่หวั่นไหวนั้นต้องกลับเนื้อกลับตัวสู่อัลลอฮฺ  ด้วยกับการเชื่อฟังต่อพระองค์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

 

          หากผู้ศรัทธาทุกคนอำลาเดือนเราะมะฎอน ฤดูแห่งการให้อภัยและการปลดปล่อยจากไฟนรกและฤดูกาลแห่งการแข่งขันให้เป็นไปเพื่อการเชื่อฟังพระผู้ทรงกรุณาปรานีแล้วเขาจะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้อำลาเดือนนั้นด้วยดี เราก็จำเป็นจะต้องรีบเร่งใช้ชีวิตของเราให้หมดไปเพื่อคุณงามความดีทั้งหลายที่เหลืออยู่เพื่อหวังความเมตตาความพึงพอใจจากอัลลอฮฺ

 

         พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จากเครื่องหมายของการตอบรับการงานที่เราได้ปฏิบัติไปแล้วก็คือการปฏิบัติคุณงามความดีอย่างต่อเนื่อง ตออัตต่อพระองค์อย่างไม่ลดหลั่นต่อไป โดยไม่ละทิ้งเมื่อเราะมะฎอนได้จากเราไป บรรดาอุลามาอฺ ได้บอกว่าหนึ่งในสัญญาณของการตอบรับการงานการเชื่อฟังและการละหมาดการถือศีลอดในช่วงเดือนเราะมะฎอนนั้น คือ สภาพของคนๆนั้นหลังเดือนเราะมะฎอน คือ เขาจะมีความสงบสุข ความนิ่ง ความมีเกียรติ และมีการขอบคุณต่อพระองค์ มีการปฏิบัติคุณงามความดีนั้นอย่างดีอย่างเลิศ

 

          ถ้าหากว่าผู้ศรัทธาเป็นแบบที่อุลามาอฺได้บอกเอาไว้ แสดงว่าจิตใจของเราถูกครอบงำไปด้วยคุณงามความดีประตูสู่การตอบรับการงาน แต่ทว่า หากสภาพบ่าวคนหนึ่งหลังจากเราะมะฎอนก็ปล่อยปละละเลยการตออัต ปล่อยเวลาให้ผ่านไป และยังคงหมกมุ่นอยู่กับบาปต่างๆ ที่ยังเคยกระทำอยู่ แสดงว่าจิตใจของนั้นไม่ได้ถูกครอบงำด้วยคุณงามความดี

 

          สลัฟท่านหนึ่งได้เคยถูกถามถึงสภาพของมนุษย์ที่ขมักเขม้นในเดือนเราะมะฎอน และเมื่อเราะมะฎอนผ่านไปก็ได้ได้ผันแปรสภาพ ท่านกล่าวไว้ว่า :

 

بئس القوم لا يعرفون لله حقا إلا في شهر رمضان

 

ช่างเป็นกลุ่มชนที่แย่ที่สุด พวกเขาไม่รู้จักอัลลอฮฺเลย นอกจากในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น

 

          แท้จริงพระเจ้าของเดือนต่างๆ ก็องค์เดียวกัน พระเจ้าของเราะมะฎอน กับ พระเจ้าของเดือนเชาวาล และเดือนอื่นๆทุกเดือนนั้นองค์เดียวกัน ดังที่บรรดาชาวสลัฟได้เคยกล่าวไว้ว่า :

 

 كن ربانياً ولا تكن رمضانياً

 

อย่าได้เป็นคนหนึ่งที่ตออัต อิบาดะฮฺต่ออัลลออฺแค่เพียงเฉพาะเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น

 

          แต่ทว่าชีวิตของเราทั้งหมดทุกฤดูกาลนั้นต้องเป็นไปเพื่อการตออัต การอิบาดะฮฺต่อต่อพระองค์

 

 ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า :

{وَاعْبُدْ رَبَّكَ حَتَّى يَأْتِيَكَ الْيَقِينُ }

 

และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้า จนกว่าความแน่นอน (ความตาย) จะมาหาเจ้า

 

{إِنَّ الَّذِينَ قَالُوا رَبُّنَا اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا فَلَا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلَا هُمْ يَحْزَنُونَ}

 

แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวว่า อัลลอฮฺคือพระเจ้าของพวกเรา แล้วพวกเขาก็ยืนหยัด (ปฏิบัติ) ตามคำกล่าวนั้น 

จะไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ แก่พวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เศร้าสลดใจ

 

{إِنَّ الَّذِينَ قَالُوا رَبُّنَا اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا تَتَنَزَّلُ عَلَيْهِمُ الْمَلَائِكَةُ أَلَّا تَخَافُوا وَلَا تَحْزَنُوا وَأَبْشِرُوا بِالْجَنَّةِ الَّتِي كُنْتُمْ تُوعَدُونَ}

 

แท้จริงบรรดาผู้กล่าวว่าอัลลอฮฺคือพระเจ้าของพวกเราแล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มะลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา

(โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้

 

         ตัวอย่างที่จะชี้แนะ และเตือนพวกเราว่า... มีผู้หญิงปั่นด้ายเก่งและเชี่ยวชาญอย่างมาก เธอใช้เวลาทั้งเดือนในการปั่นให้เสร็จและทำให้มันสมบูรณ์แบบอย่างมาก จากนั้นเมื่อครบหนึ่งเดือนแห่งความเหน็ดเหนื่อย ความเมื่อยล้า และความขยันหมั่นเพียร ก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิมๆที่เคยเป็น ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงเตือนปวงบ่าวของพระองค์ไว้ว่า :

 

{وَلَا تَكُونُوا كَالَّتِي نَقَضَتْ غَزْلَهَا مِنْ بَعْدِ قُوَّةٍ أَنْكَاثًا}

 

และพวกเจ้าอย่าเป็นเช่นนางที่คลายเกลียวด้ายของนาง หลังจากที่ได้ปั่นให้มันแน่นแล้ว

 

          และเช่นเดียวกัน ใครก็ตามที่ฝ่าฝืนในสิ่งที่เขาสัญญาไว้ ได้ทำคุณงามความดีอย่างมากมายแล้วก็ปล่อยทิ้งไปเฉยๆนั้นก็เท่ากับว่าเขาอธรรมต่อตัวเอง มันอาจะทำให้ศาสนาในตัวของเขานั้นบกพร่องลงก็เป็นได้

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ช่วงเวลาหลังจากเราะมะฎอนได้ผ่านเราไปแล้วสิ่งที่เราควรจะปฏิบัติคือการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

 

{وَلِتُكْمِلُوا الْعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُوا اللَّهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ}

 

เพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมฏอน)

และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮฺ ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ

 

          เมื่อเราพิจารณาอายะฮฺข้างต้นนี้ เราควรขอบคุณ และแน่นอนครับการไม่เชื่อฟัง การกลับไปทำความผิด นั้นไม่ใช่การขอบคุณในการตออัตที่ผ่านมาอย่างแน่นอน แต่การขอบคุณที่สัจจริง คือ บ่าวจะต้องตออัตต่ออัลลอฮฺเพื่อบรรลุการตออัตนั้นด้วยการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า :

 

{اعْمَلُوا آلَ دَاوُودَ شُكْرًا}

 

พวกเจ้าจงทำงานเถิด วงศ์วานของดาวู๊ดเอ๋ย ! ด้วยการขอบคุณ

 

          ฉะนั้นแล้วพี่น้องผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านต่ออัลลอฮฺทุกท่าน เรามาตรวจสอบตัวของพวกเราเอง ชั่งน้ำหนักการงานของเรา และคิดถึงสภาพที่เรากำลังใช้หมดไป เมื่อวันหนึ่งผ่านไป เดือนหนึ่งผ่านไป เราะมะฎอนปีหนึ่งผ่านไป ก็เท่ากับว่าชีวิตของเราสั้นลงไปในแต่ละวัน ชีวิตของเรามีเวลาจำกัดที่ตายตัวไม่มีขอต่อเวลาแต่อย่างใด แท้จริงวันนี้เรายังทำอาม้าลได้ ยังไม่มีการสอบสวนใดๆ ไม่มีการคิดบัญชีใดๆ แต่พรุ่งนี้อาจจะไม่มีการงานใดๆให้ปฏิบัติ มีแต่การสอบสวนมีแต่การคิดบัญชีก็เป็นได้ 

 

ท่านอิบนุ มัสอู๊ด รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้เคยกล่าวไว้ว่า :

 

ما ندمتُ على شيءٍ ندَمِي على يومٍ غربَتْ شمسُه اقتَرَب فيه أجلي ولم يزدَدْ فيه عمل

 

     “ไม่มีสิ่งใดที่ฉันจะเศร้าเสียใจมากไปกว่าการที่วันหนึ่ง เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า แล้วฉันก็บกพร่องในหน้าที่ (อมานะฮฺต่างๆ) และขณะเดียวกัน ในวันนั้น ฉันก็ไม่ได้ประกอบคุณความดีใดๆ เพิ่มเติมเอาไว้เลย

 

          จึงจำเป็นสำหรับเราและท่านทั้งหลายจะต้องตรวจสอบการกระทำของท่านทั้งหลายเองเสียก่อนที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ดังที่ท่านอุมัร รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวไว้ว่า :

 

حَاسِبُوا أَنْفُسَكُمْ قَبْلَ أَنْ تُحَاسَبُوا ، وَزِنُوا أَنْفُسَكُمْ قَبْلَ أَنْ تُوزَنُوا

 

"ท่านทั้งหลายจงสำรวจตัวของท่านทั้งหลายเอง ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะถูกสอบสวน

และท่านทั้งหลาย จงชั่งตัวของท่านทั้งหลาย ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะถูกชั่ง"

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ณ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเดือนเชาวาล ก็เป็นช่วงแห่งกำไรที่มาพร้อมกับการถือศีลอดซุนนะฮฺอีกเช่นกัน ดังที่ท่านนบี มุหัมมัดได้กล่าวว่า :

 

مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ

 

ใครได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

หลังจากนั้นเขาได้ติดตาม(หมายถึงถือศีลอด)ด้วยหกวันของเดือนเชาวาล เสมือนว่าเขาได้ถือศีลอดทั้งปี

 

          ฉะนั้นแล้วการถือศีลอดเพิ่มอีกเพียงแค่ หกวัน มีภาคผลเท่ากับการถือศีลอดในหนึ่งปี สำหรับผู้ศรัทธาแล้วไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง การเพิ่มการงานการอิบาดะฮฺของเราให้มากขึ้นในเดือนเราะมะฎอนว่ายากแล้ว แต่การดำรงค์ไว้ซึ่งอิบาดะฮฺในเดือนอื่นๆ จะยากกว่า อย่าลืมว่าเดือนเราะมะฎอนมิใช่เพียงแค่เทศกาลที่หมุนเวียนมาเฉยๆแล้วก็ผ่านไปเหมือนเดือนอื่นๆ แต่จงให้เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ทำให้วิถีชีวิตของเราหลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งดีๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเรายังยืนหยัดอยู่บนความดีงามทั้งหลาย ถึงแม้เดือนเราะมะฎอนจะจากเราไปแล้วก็ตาม

 

          สุดท้ายนี้ ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺทรงตอบรับการงานของพวกเราในเดือนเราะมะฎอนที่ผ่านมา ขอพระองค์ทรงทำให้เราเป็นบุคคลที่ดำรงค์ไว้ซึ่งการตออัตต่อพระองค์อย่างดีเยี่ยมในเดือนอื่นๆ เฉกเช่นเดือนเราะมะฎอนอันประเสริฐ