กำเนิดและบั้นปลายชีวิตของเรา
  จำนวนคนเข้าชม  1094

กำเนิดและบั้นปลายชีวิตของเรา

 

( อับดุลสลาม เพชรทองคำ )

 

          ครั้งนี้ เรามาเรียนรู้เรื่องราวจากอัลหะดีษเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของตัวเรา แล้วก็สิ่งที่เราได้รับไปจนถึงบั้นปลายชีวิตของเรา ซึ่งบั้นปลายชีวิตของเรานั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่เราควรตระหนักอย่างยิ่ง

          เรามาดูอัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม

 

 عَنْ أَبِي عَبْدِ الرَّحْمَنِ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ مَسْعُودٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ: حَدَّثَنَا رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه و سلم -وَهُوَ الصَّادِقُ الْمَصْدُوقُ-:

 

         อัลหะดีษรายงานจากท่านอบี อับดิรเราะหฺมาน ซึ่งก็คือท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้ซึ่ง

-وَهُوَ الصَّادِقُ الْمَصْدُوقُ-: ก็คือ เป็นผู้สัจจริงและเป็นผู้ที่ได้รับการเชื่อถือ 

 

          ตรงนี้ ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอู๊ด ผู้รายงานหะดีษนี้ได้เน้นย้ำว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่สัจจริงในทุก ๆ คำพูด เป็นคนที่พูดแต่ความจริงในทุก ๆ เรื่องราว และเป็นผู้ที่ได้รับการเชื่อถือ นั่นก็หมายถึงว่า คำพูดทั้งหมดของท่านร่อซูลุลลอฮฺนั้น ล้วนเชื่อถือได้ว่าเป็นความจริง และเป็นวะฮีย์จากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง 

 

          ซึ่งการที่ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอู๊ด ระบุเช่นนี้ คือระบุว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ เป็นผู้สัจจริงและเป็นผู้ที่ได้รับการเชื่อถือนั้น เพราะเรื่องราวที่ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอู๊ดกำลังจะรายงานนั้น มันเป็น อิลมุลฆ็อยบฺ เป็นเรื่องเร้นลับ เป็นเรื่องที่พ้นญานวิสัยของเรา เป็นเรื่องราวของการกำเนิดตัวเราในครรภ์มารดาของเรา ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า..ซึ่งการระบุเช่นนี้จึงเป็นการให้น้ำหนักแก่เรื่องราวที่ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอู๊ด กำลังจะรายงานว่า มันเป็นเรื่องจริงและเชื่อถือได้อย่างแน่นอน ตรงนี้ นับเป็นความชาญฉลาดของท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอู๊ด เศาะฮาบะฮฺคนสำคัญอีกท่านหนึ่งแห่งอัลอิสลาม

 

          ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอู๊ด ได้รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้สัจจริงและผู้ได้รับการเชื่อถือได้กล่าวว่า

 

إنَّ أَحَدَكُمْ يُجْمَعُ خَلْقُهُ فِي بَطْنِ أُمِّهِ أَرْبَعِينَ يَوْمًا نُطْفَةً،

 

แท้จริง ทุก ๆคนในบรรดาพวกท่านนั้น ได้ถูกก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์มารดาของเขาเป็นระยะเวลาสี่สิบวันในสภาพของนุฏฟะฮฺ نُطْفَةً ”

 

         ท่านนบีได้พูดถึงการก่อกำเนิดของเราในครรภ์มารดาของเราว่า ..ในขั้นตอนแรก จะอยู่ในสภาพของนุฏฟะฮฺ ....นุฏฟะฮฺ ก็คือ น้ำสีขาวข้น ๆที่เกิดจากสเปิร์ม หรือที่เรียกว่าตัวอสุจิที่หลั่งออกมาพร้อมกับน้ำอสุจิของเพศชาย ได้มาเจอกับไข่ของเพศหญิง จากการมีเพศสัมพันธ์กัน แล้วเกิดการผสมพันธุ์กัน เกิดการปฏิสนธิขึ้น ....

 

         ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็จะมีรายละเอียดมากมาย ที่ท่านนบีได้กล่าวไว้ในอัลหะดีษบทอื่น ๆ เช่น ท่านนบีได้กล่าวว่า ตัวอ่อนนั้น ไม่ได้เกิดจากน้ำอสุจิทั้งหมด แต่เกิดจากสเปิร์มหรือตัวอสุจิของเพศชายเพียงหนึ่งตัวในจำนวนล้านตัวเท่านั้นซึ่งไปผสมกับไข่ของเพศหญิงจนเกิดเป็นตัวอ่อนขึ้น .....นี่คือคำพูดของท่านนบีของเราเมื่อหนึ่งพันสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันแล้วว่า มันเป็นเช่นนั้นจริง... 

 

         หรือท่านนบีได้กล่าวว่า เมื่อชายหญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกัน แล้วเกิดมีการปฏิสนธิขึ้นระหว่างตัวอสุจิกับไข่...ถ้าส่วนประกอบของเพศชาย มีกำลังมากกว่าส่วนประกอบของเพศหญิง ลูกเพศชายก็จะเกิดขึ้นด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ... แต่ถ้าส่วนประกอบของเพศหญิงมีกำลังมากกว่าส่วนประกอบของเพศชาย ลูกเพศหญิงก็จะเกิดขึ้นด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

           ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราได้ทราบกันแล้วว่า ส่วนประกอบนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าโครโมโซม ...ก็คือโครโมโซม X กับ โครโมโซม Y .... การปฏิสนธิจะทำให้ نُّطْفَةٍ أَمْشَاجٍ ทำให้จำนวนโครโมโซมของทั้งสองมารวมกันเป็น 23 คู่ ซึ่งโครโมโซมคู่ปกติจะเป็น XX แต่ถ้าคู่สุดท้ายเป็น XY เด็กที่คลอดออกมาก็จะเป็นชาย และถ้าเป็น XX เด็กที่คลอดออกมาก็จะเป็นหญิง ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันแล้วในยุคปัจจุบันว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง... 

 

          สำหรับเรื่องของเพศของทารกในครรภ์ ที่ท่านนบีได้บอกว่า ไม่มีใครทราบถึงเพศของทารกในครรภ์ได้ พอมาถึงยุคปัจจุบัน บางคนก็บอกว่า การอุลตร้าซาวด์ทำให้ทราบเพศได้แล้ว แต่เราอย่าลืมว่า การอุลตร้าซาวด์นั้น ต้องทำหลังจากครรภ์มีอายุเลยสี่เดือนขึ้นไปแล้วจึงจะทราบว่าเป็นชายหรือหญิง และบางครั้งก็มีการผิดพลาดเหมือนกัน แต่ความจริงในขณะที่เริ่มการปฏิสนธินั้น เพศได้ถูกกำหนดขึ้นแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถทราบได้ในขณะนั้นว่าตัวอ่อนที่จะกลายเป็นทารกนั้นเป็นเพศอะไร ดังนั้น อัลหะดีษในเรื่องนี้จึงยังคงความจริงเสมอ

 

          นั่นก็คือ เรื่องของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้เน้นย้ำให้เห็นถึงข้อจริงของอัลกุรอานและอัลหะดีษ และที่เล่ามาก็เป็นเพียงบางส่วน เป็นเพียงส่วนเล็กส่วนน้อยเท่านั้นของเรื่องราวที่เกี่ยวกับการกำเนิดของคนเราที่ท่านนบีนำมากล่าวไว้ ซึ่งท่านนบีก็บอกว่า ท่านไม่ได้มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เลย แต่ที่ท่านได้รู้ และนำมาบอกได้ ก็เพราะ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานความรู้ให้แก่ท่าน ... ซุบฮานัลลอฮฺ

 

         ที่กล่าวมาก็คือ ระยะ นุฏฟะฮฺ หรือ Zygote เรียกว่าระยะก่อนเป็นตัวอ่อน pre embryonic stage ช่วงเริ่มต้นนี้ ใช้ระยะเวลาสี่สิบวัน

     ท่านนบีกล่าวต่อไปอีกว่า

 

ثُمَّ يَكُونُ عَلَقَةً مِثْلَ ذَلِكَ،

หลังจากนั้น ก็กลายเป็นก้อนเลือดภายในระยะเวลาเดียวกัน

 

          นั่นก็คือ หลังจากสี่สิบวันแรก นุฏฟะฮฺที่เป็นของเหลวข้นขาวนั้นก็จะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่พรวดพราด แต่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมันจะค่อย ๆกลายเป็นสีแดง จนกลายเป็น อะละเกาะฮฺ عَلَقَةً หรือ clot of blood คือเป็นก้อนเลือดที่มีความหนา

          ซึ่งปัจจุบัน เราพบว่า ก้อนเลือดนี้มีลักษณะคล้ายกับปลิงหรือทากที่ถูกแขวนอยู่ในมดลูก ..ซึ่งในภาษาอาหรับนั้น คำว่า อะละเกาะฮฺ นั้นจะมีความหมายสามอย่างด้วยกัน นั่นก็คือ หมายถึง ก้อนเลือด หมายถึงปลิงหรือทาก และหมายถึงสิ่งที่ถูกแขวนไว้ นี่ก็คือ ฮิกมะฮฺของคำว่า อะละเกาะฮฺ ที่เป็นก้อนเลือดที่มีลักษณะคล้าย ๆกับปลิงหรือทากที่ถูกแขวนอยู่ในมดลูก ซุบฮานัลลอฮฺ.....ระยะนี้เป็นระยะที่เรียกว่า ระยะที่เป็นตัวอ่อน embryonic stage ระยะนี้ใช้เวลาประมาณสี่สิบวันเช่นเดียวกัน

 

     ท่านนบีกล่าวต่อไปอีกว่า

 

ثُمَّ يَكُونُ مُضْغَةً مِثْلَ ذَلِكَ،

หลังจากนั้น ก็กลายเป็นก้อนเนื้อภายในระยะเวลาเดียวกัน

 

          นั่นก็คือ หลังจากสี่สิบวันช่วงที่สอง หรือก็คือ หลังจากแปดสิบวันที่ตัวอสุจิกับไข่ผสมพันธุ์กัน อะละเกาะฮฺ หรือก้อนเลือดนั้น ก็จะมีพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปกลายเป็น มุฏเฆาะฮฺ مُضْغَةً morsel of flesh กลายเป็นก้อนเนื้อ ที่มีขนาดประมาณก้อนเนื้อที่เราสามารถเคี้ยวได้ ก็คือ ไม่ใช่ก้อนเนื้อก้อนที่ชิ้นใหญ่อะไรมากมาย แต่เป็นก้อนเนื้อขนาดพอคำ 

 

          ซึ่งความหมายของคำว่า มุฎเฆาะฮฺนั้นก็คือ สิ่งที่เหมือนกับสิ่งที่ถูกเคี้ยว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านการพัฒนาการของมนุษย์ได้กล่าวไว้ว่า ลักษณะของตัวอ่อนในระยะนี้ จะเหมือนกับหมากฝรั่งขนาดพอคำชิ้นหนึ่งที่เรานำมาเคี้ยวในปาก ซึ่งมันก็จะมีรอยฟันของเราปรากฎอยู่ ซึ่งมุฎเฆาะฮฺก็จะมีลักษณะประมาณนั่นแหละ เป็นก้อนเนื้อขนาดพอคำที่มีลักษณะเหมือนกับสิ่งที่ถูกเคี้ยว นี่ก็คือฮิกมะฮฺอีกประการหนึ่งที่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความถูกต้องแท้จริงของอัลอิสลาม...ระยะนี้เป็นระยะที่เรียกว่า ระยะทารกในครรภ์ fetal stage ระยะนี้ใช้เวลาสี่สิบวันเช่นเดียวกัน

 

          ดังนั้น ช่วงระยะเวลาของพัฒนาการข้างต้น จากจุดที่เกิดการปฏิสนธิจนเริ่มเป็นทารกในครรภ์นั้นจะใช้เวลาทั้งสิ้น 120 วัน หรือก็คือสี่เดือนนั่นเอง ...ซึ่งกระบวนการดังที่กล่าวมาแล้ว ก็คือกระบวนการที่เพิ่งจะถูกค้นพบในยุคปัจจุบันว่า มันเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาการเช่นนั้นจริง ...แล้วหลังจากนั้น

 

ท่านนบีได้กล่าวต่อไปอีกว่า

 

ثُمَّ يُرْسَلُ إلَيْهِ الْمَلَكُ

หลังจากนั้น มะลักก็จะถูกส่งมายังเขา

 

          อัลหะดีษใช้คำว่า อัลมะลัก الْمَلَكُ ...มะลักเป็นคำเอกพจน์ ส่วนมะลาอิกะฮฺคือพหูพจน์ของคำว่า มะลัก แต่เรามักจะนิยมเรียกทั่ว ๆไปว่า มะลาอิกะฮฺ ....นั่นก็คือ เมื่อครบ 120 วัน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงส่งมะลาอิกะฮฺท่านหนึ่งมายังก้อนเนื้อก้อนนั้น ..ส่งมาเพื่อ.....

 

فَيَنْفُخُ فِيهِ الرُّوحَ،

ส่งมาเพื่อให้มะลาอิกะฮฺท่านนั้นเป่า รูหฺ เข้าไปใน(ก้อนเนื้อ)นั้น

 

          คำว่า รูหฺ رُوحٌ ก็คือ วิญญาณ ..วิญญาณก็คือ สิ่งที่ทำให้ก้อนเนื้อนั้นได้กลายเป็นตัวอ่อนที่มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งทั้งเรื่องของวิญญาณว่ามีลักษณะอย่างไร หรือรูปแบบของการเป่าวิญญาณว่าจะเป็นอย่างไรนั้น เราไม่สามารถทราบได้เลย ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถรู้ในเรื่องราวของวิญญาณได้เลย มีแต่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้นที่ทรงทราบ ทรงรอบรู้อย่างดียิ่ง เพราะมันเป็นงานของพระองค์ ดังนั้น เรื่องของวิญญาณจึงเป็นไปตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น

 

     ท่านนบีได้กล่าวต่อไปอีกว่า

 

وَيُؤْمَرُ بِأَرْبَعِ كَلِمَاتٍ:

เมื่อเป่ารูหฺเข้าไปในก้อนเนื้อนั้นแล้ว (มะลาอิกะฮฺท่านนั้นยัง)ได้ يُؤْمَرُ ถูกบัญชาให้บันทึกสี่ประการ(สำหรับตัวอ่อนนั้น)”

 

     นั่นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งแก่มะละอิกะฮฺท่านนั้นได้บันทึกในเรื่องต่อไปนี้

 

: بِكَتْبِ رِزْقِهِ، وَأَجَلِهِ، وَعَمَلِهِ، وَشَقِيٍّ أَمْ سَعِيدٍ؛

นั่นก็คือ ริซกีของเขา อายุขัยของเขา การงานของเขา และทุกข์หรือสุขของเขา

 

         บันทึกเกี่ยวกับริซกีของเขา رِزْقِهِ ” ก็หมายถึง บันทึกเกี่ยวกับปัจจัยยังชีพต่าง ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่เขาที่จะทำให้เขาสามารถดำรงตนอยู่ได้ กับ ริซกีที่จะทำให้ศาสนาของเขาดำรงอยู่ได้ ดังนั้น ริซกีของคนเราจะมีอยู่สองประเภท ก็คือ ริซกีที่จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกดุนยา กับ ริซกีที่จะทำให้ศาสนาอิสลามในตัวของของเขาดำรงอยู่ได้

          สำหรับริซกีที่ทำให้เขาดำรงอยู่ได้ ก็เช่น อาหารการกิน เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ หน้าที่การงาน และอื่น ๆอีกรอบ ๆตัวเรา

          ส่วนสำหรับริซกีที่จะทำให้ศาสนาของเขาดำรงอยู่ได้ ก็คือ มีความรู้ในเรื่องราวของศาสนา และมีอีมาน มีความศรัทธาที่ถูกต้อง

          นั่นคือ ถ้าเรามีอีมานมาก มีความรู้ในเรื่องราวของศาสนามาก ก็หมายความว่า เรามีริซกีมากนั่นเอง  ซึ่งริซกีทั้งหมดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานให้แก่เรานั้น พระองค์ประทานมาเพื่อให้เรานำไปใช้ในหนทางของพระองค์ ใช้สำหรับฏออะฮฺ เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ ไม่ใช่ให้นำมาใช้ในการฝ่าฝืนต่อพระองค์ ..สำหรับความรู้ในเรื่องราวศาสนา ก็ให้เรานำมาสำหรับเพิ่มพูนอีมานให้กับตัวเอง ไม่ใช่นำมาใช้ในการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง เป็นต้น

 

 

สิ่งที่ถูกบันทึกเรื่องที่สองก็คือ บันทึกเกี่ยวกับอายุขัยของเขา وَأَجَلِهِ ”

 

          อายุขัย ก็คือ ระยะเวลาที่เขาจะได้มีชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอายุขัยที่แตกต่างกัน บางคนเสียตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางคนเสียชีวิตเมื่อแรกคลอด บางคนเสียชีวิตเมื่ออยู่ในวัยฉกรรจ์ บางคนมีอายุถึงหนึ่งร้อยปี .. ซึ่งอายุขัยนี้เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ ไม่เกี่ยวกับความแข็งแรงของร่างกาย ไม่เกี่ยวกับปัจจัยอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดไว้ ซึ่งเมื่อเวลาที่อายุขัยของแต่ละคนมาถึง ชีวิตนั้นก็จะสิ้นสุดลงโดยทันที ไม่สามารถถ่วงให้ช้าลงได้ และไม่สามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้แม้แต่วินาทีเดียว

 

 

สิ่งที่ถูกบันทึกเรื่องที่สามก็คือ บันทึกเกี่ยวกับการงานของเขา وَعَمَلِهِ ” ก็คือ 

 

          สิ่งที่เขาขวนขวายทำ ไม่ว่าจะเป็นการงานของคำพูด การงานของการกระทำ และการงานเรื่องของหัวใจ ซึ่งจะมีบันทึกการงานแก่มนุษย์ทุกคน โดยการงานจะแบ่งเป็นสามประเภทก็คือ การงานเรื่องของมะอาศีย์ เรื่องของการทำบาป...การงานเรื่องของมุบาหาต เรื่องของสิ่งที่ศาสนาอนุญาต ...และการงานเรื่องของการฏออะฮฺ เรื่องของการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

 

สิ่งที่ถูกบันทึกเรื่องที่สี่ก็คือ บันทึกเกี่ยวกับ “...ทุกข์หรือสุขของเขา وَشَقِيٍّ أَمْ سَعِيدٍ ”

 

          คำว่า شَقِيٍّ ก็คือ ความทุกข์ سَعِيدٍ ก็คือความสุข นี่ก็คือบั้นปลายชีวิตของพวกเขาในวันกิยามะฮฺ ว่าจะได้รับความทุกข์หรือความสุข ..อุละมาอ์ให้เราพิจารณาอัลกุรอานในซูเราะฮฺฮูด อายะฮฺที่ 105 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

... فَمِنۡهُمۡ شَقِيّٞ وَسَعِيدٞ 105

 

“(...ในวันกิยามะฮฺนั้น...) ในบรรดาพวกเขาจะมีบางคนที่มีความทุกข์และบางคนที่มีความสุข

 

فَأَمَّا ٱلَّذِينَ شَقُواْ فَفِي ٱلنَّارِ ... 106

 

ดังนั้น สำหรับบรรดาผู้ที่มีทุกข์ก็จะอยู่ในนรก(ตลอดกาล)...”

 

     ในอายะฮฺที่ 108 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَأَمَّا ٱلَّذِينَ سُعِدُواْ فَفِي ٱلۡجَنَّةِ خَٰلِدِينَ فِيهَا ... 108

 

และสำหรับบรรดาผู้ที่มีความสุขก็จะได้อยู่ในสวรรค์อย่างตลอดกาล

 

          ดังนั้น ทุกข์และสุขในอัลหะดีษนี้ จึงหมายถึงว่า ในบั้นปลายชีวิตของพวกเขาจะถูกบันทึกว่า เขาจะได้เป็นชาวนรก หรือชาวสวรรค์

     ท่านนบีได้จบอัลหะดีษบทนี้ว่า

 

فَوَاَللَّهِ الَّذِي لَا إلَهَ غَيْرُهُ إنَّ أَحَدَكُمْ لَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ الْجَنَّةِ حَتَّى مَا يَكُونُ بَيْنَهُ وَبَيْنَهَا إلَّا ذِرَاعٌ فَيَسْبِقُ عَلَيْهِ الْكِتَابُ فَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ النَّارِ فَيَدْخُلُهَا.

 

         ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรแก่การเคารพอิบาดะฮฺนอกจากพระองค์เท่านั้น

     แท้จริง คนหนึ่งคนใดในบรรดาพวกท่านจะปฏิบัติกิจการงานของชาวสวรรค์ จนกระทั่งไม่มีอะไรอยู่ระหว่างเขากับสวรรค์นอกจากห่างกันแค่หนึ่งศอกเท่านั้น

     แต่เขาได้ถูกกำหนด (ว่าเป็นชาวนรก) ดังนั้น เขาจึงได้ปฏิบัติกิจการงานของชาวนรก จนในที่สุด เขาก็ตกนรก

 

          นั่นก็หมายความว่า เราอย่าได้วางใจตัวเองว่า เราทำอิบาดะฮฺต่าง ๆอยู่สม่ำเสมอแล้วจะต้องได้เป็นชาวสวรรค์ มันไม่แน่เสมอไป เพราะเป็นไปได้ที่อิบาดะฮฺ การงานของชาวสวรรค์ที่เราทำนั้น มันมีสิ่งแอบแฝง อาจเป็นการงานที่เราไม่ได้ทำโดยอิคลาศ แต่มีความโอ้อวดแอบแฝง หรือทำโดยมีนิฟาก ทำอย่างหน้าไหว้หลังหลอก เพราะแม้แต่บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเอง ยังไม่มีใครกล้าการันตีตัวเองว่ามีอิบาดะฮฺที่ดีงาม ทุกคนต่างหวั่นกลัวว่า ตัวเองจะมีลักษณะของมุนาฟิกแอบแฝงอยู่ทั้งสิ้น เพราะผลสุดท้ายของการทำอิบาดะฮฺที่ไม่อิคลาศ หรือมีนิฟากแอบแฝงนั้น ก็คือ ทำให้อิบาดะฮฺ หรือการงานเหล่านั้นกลายเป็นโมฆะ หรือทำการงานที่ไม่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่เป็นบาป ปฏิบัติการงานของชาวนรก จึงได้รับ ซูอุ้ลคอติมะฮฺ سوءالخاتمة คือการจบชีวิตอย่างเลวร้าย

 

وَإِنَّ أَحَدَكُمْ لَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ النَّارِ حَتَّى مَا يَكُونُ بَيْنَهُ وَبَيْنَهَا إلَّا ذِرَاعٌ فَيَسْبِقُ عَلَيْهِ الْكِتَابُ فَيَعْمَلُ بِعَمَلِ أَهْلِ الْجَنَّةِ فَيَدْخُلُهَا"

 

     “..และแท้จริง คนหนึ่งคนใดในบรรดาพวกท่าน จะปฏิบัติกิจการงานของชาวนรก จนกระทั่งไม่มีอะไรอยู่ระหว่างเขากับนรกนอกจากห่างกันแค่หนึ่งศอกเท่านั้น

     แต่เขาได้ถูกกำหนดไว้แล้ว(ว่าเขาเป็นชาวสวรรค์) ดังนั้น เขาก็จะปฏิบัติกิจการงานของชาวสวรรค์ และในที่สุด เขาก็ได้เข้าสวรรค์

 

          นั่นก็หมายความว่า คนบางคนที่เราเห็นเขาทำบาป เขาทำสิ่งที่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จนเราคิดว่า เขาต้องเป็นชาวนรกแน่ ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วในจิตใจของเขา อาจจะรู้ตัวว่าเขาทำผิด เขาอาจจะสำนึกผิด และพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาอาจจะมีความจริงใจต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่เขาอาจจะอ่อนแอ มีอีมานที่อ่อนแอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องระหว่างอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลากับตัวเขา เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตัวเขา เราไม่อาจไปรู้ได้ และเมื่อบั้นปลายสุดท้ายมาถึง เขาก็อาจได้รับการอภัยโทษ และได้ปฏิบัติการงานของชาวสวรรค์ ทำให้ได้รับ ฮุลนุ้ลคอติมะฮฺ حسن الخاتمة คือการจบชีวิตอย่างดีงาม

 

           แท้จริงแล้ว เราไม่มีทางทราบเลยว่า อะไรบ้างที่จะถูกบันทึกแก่เรา ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของเราก็คือ พยายามขวนขวายทำในสิ่งที่เราถูกใช้ให้ปฏิบัติก็คือ ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ โดยพยายามทำให้มันสุดความสามารถของเรา และในขณะเดียวกัน เราต้องออกห่าง ละเลิกในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง และเราต้องคอยหมั่นสำรวจตัวเอง ทั้งความรู้สึกนึกคิด จิตใจของเรา การลงมือปฏิบัติอิบาดะฮฺต่าง ๆของเรา คำพูดของเรา พยายามให้มันถูกต้อง ให้มันดีงาม ให้มันมีอิคลาศ ให้มันตรงตามซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อให้บั้นปลายสุดท้ายในชีวิตของเรานำเราไปสู่การเป็นผู้ที่มีความสุขตลอดกาล

 

 

 

( นะศีหะหฺ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )