ศิยามกับการอดทน
  จำนวนคนเข้าชม  855

ศิยามกับการอดทน

 

อบู ชะฮ์มี่ (อนัส ลีบำรุง)....เรียบเรียง

 

          ขอเตือนตัวของผมเองและพี่น้องจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพราะการยำเกรงนั้นจะเป็นเสบียงที่ยิ่งทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ

          แท้จริงเดือนเราะมะฎอนเป็นสถานีแห่งการเก็บเกี่ยวความดีงาม เป็นเดือนที่เอื้อต่อผู้คนให้เป็นคนที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ผ่านเป้าหมายของการถือศีลอด เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ยกระดับสถานของบ่าวอย่างพวกเราด้วยกับการทำอาม้าลอิบาดะฮฺ 

 

          การถือศีลอด เป็นการฝึกตนเองให้เป็นผู้ศรัทธาที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ผลของการเป็นคนที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺนั้น การตอบแทนนั้นมหาศาลมากมายเหลือเกิน เพราะกว่าจะมีความยำเกรงเกิดขึ้นได้ ต้องแลกมาด้วยกับการหักห้ามตัวเองหลายอย่างด้วยกัน เพราะในช่วงเวลาที่เราถือศีลอด เราต้องงดเว้นอดทดอดกลั้น เราต้องทำความดี เราต้องยืนละหมาดยามค่ำคืน ถือศีลอด บริจาคทาน 

 

          สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่บ่งบอกว่ามาจากความอดทนทั้งสิ้น ในทุกการงานต้องมีความเสียสละ และการเสียสละก็เสียสละทั้งร่างกายและจิตใจของเรา และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การถือศีลอด นั้นบรรลุเป้าหมายอย่างดีเลยก็คือ ความอดทน 

 

 

          ความอดทน คือ การที่เราระงับยับยั้งคำพูดและการกระทำที่จะทำให้อัลลอฮฺไม่ทรงพอพระทัย หรือการหักห้ามตัวเองจากการกระทำสิ่งที่เป็นบาป หรือมะอฺศิยะฮฺ ความชั่วต่างๆ 

 

          การถือศีลอดต้องอาศัยความอดทนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ต้องอดทนต่อสิ่งที่ไร้สาระ อดทนต่อความหิว ความกระหาย อดทนที่จะไม่คิดทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

          ดังนั้นความอดทนจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นมีความยำเกรง และความอดทนนั้นการตอบแทนมันมหาศาลเหลือเกินไม่มีขอบเขตเฉพาะเจาะจงที่ถูกบอกไว้ว่าอดทนว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้

 

(إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ)

 

แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้น จะได้รับรางวัลตอบแทนของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ 

(อัซ-ซุมัร อายะฮฺ 10)

 

          ในเมื่อมีความอดทนเราและท่านทั้งหลายควรรู้ไว้ว่า ผลตอบแทนมหาศาลและพระองค์ทรงอยู่กับผู้ที่อดทน การอยู่ของพระองค์ที่ว่านี้ คือ การช่วยเหลือให้เราได้รับชัยชนะ สนับสนุน ให้ความสำเร็จกับเรา 

     พระองค์ทรงตรัสว่า 

 

وَاصْبِرُوا إِنَّ اللَّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ

 

และจงอดทดเถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่กับผู้ที่อดทนทั้งหลาย 

(อัล-อันฟาล อายะฮฺ 46)

 

         เมื่อการถือศีลอดต้องใช้ความอดทนอดกลั้น เราคือหนึ่งในผู้อดทนต่อการทำความดีต่อพระองค์ จำไว้ให้ขึ้นใจพระองค์ทรงรักผู้ที่อดทน

    ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَاللَّهُ يُحِبُّ الصَّابِرِينَ  - “และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้ที่อดทนทั้งหลาย

( อาล อิมรอน อายะฮฺ 146)

 

          ท่านนบีมุหัมมัด ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่ดีกว่า ประเสริฐกว่า กว้างขวางกว่า ความอดทนที่อัลลอฮฺได้ประทานให้กับบุคคลๆ หนึ่ง เพราะการที่มีความอดทน เขาจะต้องสามารถทนต่อพิษภัยต่างๆได้อย่างดี ในชีวิตของมนุษย์เราจะพบเจอความอยากลำบากการทดสอบ แน่นอนว่าชีวิตมนุษย์นั้นควบคู่ไปกับการอดทนถ้าชีวิตใดไม่สวมใส่ความอดทนเอาไว้มันก็จะทำให้มีความทุกข์ยาก ความเหน็ดเหนื่อย ความกังวล

ดังหะดีษจากท่านสะอี๊ดอัลคุดรีย์เล่าว่าท่านนบีศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าว่า

 

ما أُعْطِيَ أحدٌ عطاءً هو خيرٌ وأوسَعُ مِنَ الصَّبر 

 

ไม่มีความโปรดปรานใดที่อัลลอฮฺทรงประทานมันให้กับผู้ใดที่จะดีและครอบคลุมลักษณะที่ดียิ่งนี้ไปกว่า ความอดทน

(รายงานโดย บุคคอรีย์ 1469)

 

และท่านนบียังได้กล่าวว่า 

والصبْرٌ ضِياءٌ   การอดทนั้น คือรัศมี 

 

(รายงานโดย มุสลิม 223)

 

          แสงหรือรัศมีตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดความร้อนและการเผาไหม้ เหมือนแสงดวงอาทิตย์ ไม่เหมือนดวงจันทร์ เป็นแสงอันบริสุทธิ์ สว่างไสวปราศจากความร้อนใดๆ และเมื่อความอดทนเป็นเรื่องยากสำหรับจิตใจของมนุษย์ กล่าวคือเขาต้องมุ่งมั่นกับตัวเองข่มใจตัวเอง ถ้ามนุษย์ขาดความอดทน ในการดำเนินชีวิตชีวิตของเขานั้นก็จะไม่มีความสงบนิ่งสงบสุขได้เลย  

 

 

     ชาวสะลัฟ ได้บอกถึงความอดทนไว้ว่า เราไม่รู้เลยว่า จะมีมารยาทไหนที่อัลลอฮฺทรงยกย่องสรรเสริญไว้ในกุรอ่าน เฉกเช่นความอดทน

 

     นักวิชาการได้แบ่งความอดทนออกเป็นสามอย่างด้วยกัน คือ อดทนต่อการเชื่อฟัง อดทนต่อการไม่ปฏิบัติสิ่งที่ต้องห้าม อดทนต่อการเผชิญบดทดสอบที่เจ็บปวด

 

ประการแรก อดทนต่อการเชื่อฟังอัลลอฮฺ 

 

          คือ การที่ผู้ศรัทธาอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติคุณงามความดีที่นำพาไปสู่การเชื่อฟังอัลลอฮฺ เช่น การถือศีลอดที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เราจะต้องหักห้ามจากสิ่งทั้งหลายที่ทำให้การถือศีลอดของเราไม่ประสบผลสำเร็จที่ดี หรือทำให้ศีลอดเราบกพร่อง หรือตัวอย่างเช่น การละหมาดฟะญัรพร้อมกับญะมาอะฮฺ เพราะว่าการละหมาดฟะญัรนั้นเป็นอิบาดะฮฺที่หนักหน่วงสำหรับมนุษย์ เพราะมันอยู่ในช่วงที่ผู้คนกำลังหลับไหลอย่างมีความสุข จะต้องอดทนที่จะต้องลุกจากที่นอนแล้วไปมัสยิดเพื่อละหมาดพร้อมกับญะมาอะฮฺ

    ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า 

 

وَإِنَّهَا  لَكَبِيرَةٌ  إِلَّا  عَلَى  ٱلۡخَٰشِعِينَ

 

และแท้จริงการละหมาดนั้นเป็นสิ่งใหญ่โต นอกจากบรรดาผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น

( บะกอเราะฮฺ 45)

และการอดทนต่อการเชื่อฟังอัลลอฮฺนี้ก็ยังเข้าไปในรูปแบบของอาม้าลอื่นๆด้วยเช่นกัน

 

 

ประการที่สอง อดทนต่อการไม่ปฏิบัติสิ่งต้องห้ามหรือฝ่าฝืน 

 

          เพราะแท้จริงแล้วการฝ่าฝืน สอดคล้องกับนัฟซูอารมณ์ใฝ่ต่ำของมนุษย์อยู่แล้ว คนที่เป็นผู้ศรัทธาจะต้องอดทนอดกลั้นจากการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺในทุกรูปแบบ เช่น การมองไปยังผู้หญิงที่ไม่ใช่มะรอม การนินทา การใส่ร้ายป้ายสี การอธรรมต่อผู้อื่น การคดโกง ต่างๆนานา ดังนั้นจึงจะต้องอดทนอดกลั้นต่อสู้กับอารมณ์ของตัวเองในการใช้สายตา ใช้ลิ้น ใช้ร่างกายให้ออกห่างจากการฝ่าฝืนในรูปแบบนี้ 

 

     อิหม่าม อิบนุล ก็อยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่าแท้จริงการเชื่อฟังคำสั่งของอัลลอฮฺมันมีอุปสรรค แต่จะผ่านพ้นไปและภาคผลของการตอบแทนนั้นจะยังคงอยู่ และความหอมหวานของการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ก็จะผ่านพ้นไป แต่การลงโทษจะยังคงอยู่

 

 

ประการที่สาม อดทนต่อการเผชิญบดทดสอบที่เจ็บปวด 

 

          แท้จริงอัลลอฮฺทรงส่งบดทดสอบมาให้กับมนุษย์เพื่อทดสอบพวกเขาจากความกลัว ความหิว การสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิต พืชผล ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า 

 

وَلَنَبۡلُوَنَّكُم  بِشَيۡءٖ  مِّنَ  ٱلۡخَوۡفِ  وَٱلۡجُوعِ  وَنَقۡصٖ  مِّنَ  ٱلۡأَمۡوَٰلِ  وَٱلۡأَنفُسِ  وَٱلثَّمَرَٰتِۗ  وَبَشِّرِ  ٱلصَّٰبِرِينَ

 

และแน่นอน เราจะทดลองพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวและด้วยความสูญเสีย(อย่างใดอย่างหนึ่ง) 

จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด

( บะกอเราะฮฺ 155)

 

          แน่นอนว่าการอดทน ทั้งสามประการ ถูกรวมไว้อยู่กับ ผู้ที่ถือศีลอด เพราะในการถือศีลอดจะต้องมีการมุ่งมั่นไปสู่การการเชื่อฟังอัลลอฮฺ ละหมาดพร้อมญะมาอะ  ลุกขึ้นตื่นละหมาดไม่เอาแต่นอนจนถึงเวลาละศีลอด และจะต้องอดทนต่อการฝ่าฝืนพูดจาไม่ดีใส่พี่น้อง ด่าทอ นินทา สิ่งเหล่านั้นจะทำรอยขีดข่วนให้กับการถือศีลอดของเรา และประการที่สามเราก็จะต้องอดทนเพราะพระองค์ได้ทรงบอกเอาไว้ในอายะฮฺก่อนหน้านี้ พระองค์จะทรงทดสอบมนุษย์ด้วยกับความหิวกระหาย ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าหมดแรง ดังนั้นผลบุญของการถือศีลอดที่มีองค์ประกอบของความอดทนรวมอยู่ด้วย จะทำให้ผลตอบแทนของมันมหาศาลมากยิ่งขึ้น โดยไม่สามารถที่จะคำนวณนับได้

 

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สิ่งหนึ่งที่ผู้ศรัทธาสมควรจะได้รับประโยชน์จากการถือศีลอดและได้รับผลบุญอย่างมหาศาล ณ ที่อัลลอฮฺ ก็คือ การที่เขาจะต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า เรานั้นจำเป็นที่จะต้องถือศีลอดจากการกิน ดื่ม และทุกสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเสียหาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นการระงับตนเองในช่วงเราะมะฎอน ส่วนการถือศีลอดที่เราจะต้องระงับตัวเองจากสิ่งต้องห้ามทั้งหลายแหล่และอดทนอยู่อย่างเสมอนั้น คือการถือศีลอดจากสิ่งต้องห้ามตลอดการมีชีวิตอยู่ของพวกเราจนกว่าเราจะเสียชีวิต

 

 

          การถือศีลอดสอนเราให้รู้จักความอดทนเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ตลอดเวลาที่เรากำลังถือศีลอด และเป็นการเชื่อฟังอย่างหนึ่งต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขา ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามจะได้รับรางวัล ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 

 

﴿ ذَلِكَ بِأَنَّهُمْ لَا يُصِيبُهُمْ ظَمَأٌ وَلَا نَصَبٌ وَلَا مَخْمَصَةٌ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَلَا يَطَئُونَ مَوْطِئًا يَغِيظُ الْكُفَّارَ

 وَلَا يَنَالُونَ مِنْ عَدُوٍّ نَيْلًا إِلَّا كُتِبَ لَهُمْ بِهِ عَمَلٌ صَالِحٌ إِنَّ اللَّهَ لَا يُضِيعُ أَجْرَ الْمُحْسِنِينَ ﴾

 

เนื่องจากความกระหายน้ำก็ดี ความทุกข์ยากก็ดีและความหิวโหยก็ดี เพื่อหนทางของอัลลอฮฺนั้นจะไม่สบกับพวกเขา 

และไม่ว่าพวกเขาจะเหยียบย่างไป ที่ใดที่ทำให้พวกปฏิเสธศรัทธากริ้วโกรธก็ตาม 

และพวกเขาจะไม่ได้รับอันตรายจากศัตรูนอกจากการางานที่ดีถูกจารึกไว้แล้วสำหรับพวกเขาเพราะสิ่งนั้น 

แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงให้รางวัลของผู้กระทำความดีต้องสูญเสียไปเป็นอันขาด 

(อัตเตาบะฮฺ 120)

 

     พระองค์ได้ทรงแจ้งข่าวดีแก่ผู้อดทนด้วยกับสามข่าวดีที่ใครๆก็อยากได้รับ พระองค์ตรัสว่า

 

أُوْلَٰٓئِكَ  عَلَيۡهِمۡ  صَلَوَٰتٞ  مِّن  رَّبِّهِمۡ  وَرَحۡمَةٞۖ  وَأُوْلَٰٓئِكَ  هُمُ  ٱلۡمُهۡتَدُونَ 

 

ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา 

และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง

( บะกอเราะฮฺ 157)

 

 

          สุดท้ายนี้ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ ทรงตอบรับ การถือศีลอด การละหมาดในยามค่ำคืน การบริจาค การอดทนของเราและท่านทั้งหลายให้สิ่งที่เราลงแรงไปทุกอย่างนั้นไปหนักอยู่ในตราชั่งข้างขวาของเรา เพื่อที่เราจะได้เป็นหนึ่งจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ