ถ้อยคำแห่งปวงปราชญ์ 91
วันละหนึ่งความคิด....แปลเรียบเรียง
-ท่านฟุฎ็อยล์ อิบนิล อิย้าฎ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ-
มนุษย์ที่โกหกที่สุด.. คือคนที่กลับไปทำความผิดซ้ำ
มนุษย์ที่โง่เขลาที่สุด.. คือคนที่บอกเล่าคุณความดีของตัวเอง
มนุษย์ที่รู้จักอัลลอฮฺมากที่สุด..คือคนที่เกรงกลัวพระองค์มากที่สุด
และผู้เป็นบ่าว จะยังเป็นบ่าวที่ไม่สมบูรณ์ จนกว่าเขาจะเลือกเอาศาสนาให้อยู่เหนือความปรารถนา
และผู้เป็นบ่าว จะไม่พบกับความวิบัติ จนกว่าเขาจะเลือกเอาความปรารถนา ให้อยู่เหนือศาสนา
- อิมาม อิบนิ้ล ก็อยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
ยิ่งคนๆ หนึ่งห่างไกลจาก (แนวทางของ) ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมมากเท่าใด
สติปัญญาของเขาก็ยิ่งลดน้อยและเสียหายมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น คนที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ที่สุด คือ ผู้ที่เจริญรอยตามบรรดาร่อซู้ล
และคนที่สติปัญญาเสื่อมโทรมที่สุด คือผู้ที่ผินหลังให้กับสิ่งที่ท่านเหล่านั้นนำมา
ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาผู้อยู่ในแนวทางแห่งอัซซุนนะฮฺและอัลหะดีส จึงนับเป็นประชาชาติที่มีปัญญาที่สุด
พวกเขาเหล่านั้น (มีสถานะ) ในกลุ่มชน ประหนึ่ง (สถานะของ) บรรดาศ่อฮาบะฮฺในหมู่ผู้คนทั้งหลาย
- อิมาม อิบนิ้ล ก็อยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
อาจเป็นประเด็นที่มีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ระหว่าง การอ่านอัลกุรอานเป็นจังหวะช้าๆ แต่อ่านได้น้อย กับการอ่านเร็วแต่อ่านได้มาก ว่าสิ่งใดประเสริฐกว่ากัน?
ที่ถูกต้องในประเด็นนี้มีผู้กล่าวว่า แท้จริงแล้ว ผลบุญของการอ่านอัลกุรอานอย่างช้าๆ พร้อมกับการใคร่ครวญไปด้วยนั้นดีกว่า และมีระดับที่สูงกว่า
ส่วนผลบุญของการอ่านให้ได้มากๆ นั้น คือ ได้ปริมาณที่มากกว่า
ประเภทแรก จึงเหมือนกับคนที่บริจาคอัญมณีอันล้ำค่า หรือปล่อยทาสที่มีราคามากคนหนึ่งให้เป็นไท
ส่วนประเภทที่สอง เหมือนกับการบริจาคเหรียญเงิน (ดิรฮัม) จำนวนมาก หรือปล่อยทาสจำนวนหนึ่งที่มีราคาต่ำนั่นเเอง
(มิฟตาฮ ดาริสสะอาดะฮฺ 1/187)
-ท่านอาลี บิน อบีฏอลิบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ-
หาใช่คุณธรรมไม่ ในการที่ท่านมีทรัพย์สินและลูกหลานมากมาย
หากแต่คุณธรรมคือ การที่ท่านมีความรู้มากมาย และมีความสุขุมข่มตนมากพอ
ไม่อวดตัวประชันตนกับเพื่อนมนุษย์ ในการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ
เมื่อท่านได้ทำความดี ท่านก็สรรเสริญขอบคุณอัลลอฮฺ ตะอาลา
และเมื่อท่านได้ทำความผิด ท่านก็ขออภัยโทษต่อพระองค์
(บันทึกโดยอบูนาอีมและอัลบัยหะกีย์)
- ชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยะมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
อิสติฆฟ้าร ( การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ) เป็นการทำให้บ่าวหลุดออกจากการกระทำที่มิชอบ สู่การกระทำที่ชอบที่ควร
จากการงานที่บกพร่องสู่การงานที่สมบูรณ์ และยกฐานะของบ่าว จากสถานะที่ต่ำต้อย สู่สถานะที่สูงส่งและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
(มัจมูอุ้ล ฟะตาวา 16/196)
- อิมาม อิบนิล ก็อยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
การขออภัยโทษนั้น เป็นความกรุณาโปรดปรานจากผู้ทรงให้อภัยยิ่ง
ใครที่ (ขออภัยโทษ) อยู่สม่ำเสมอ เขาจะพบกับร่องรอยของการขออภัยโทษ ในตัวของเขา ทรัพย์สิน ลูกหลาน และในทุกเรื่องราวของเขา
- ท่าน มุฮัมมัด อิบนิ อิสหาก ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -
ผู้คนในนครมะดีนะฮฺ เคยใช้ชีวิตอยู่โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่า จากสิ่งใดกันที่พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ และใครกันที่หยิบยื่นมอบให้
กระทั่งท่านอะลีย์ อิบนิ้ล ฮุซัยนฺ เสียชีวิตลง พวกเขาก็ขาดแคลนสิ่งที่เคยได้รับทันที
เมื่อนั้น พวกเขาจึงทราบว่า ท่านอะลีย์คือคนที่นำสิ่งเหล่านั้นมาให้กับพวกเขาในยามวิกาล
และเมื่อท่านเสียชีวิต พวกเขาได้เห็นร่องรอยที่หลังและบ่าของท่าน จากการแบกขนกระสอบไปตามบ้านเรือนของแม่หม้าย และคนขัดสนกลางดึกสงัด
มีผู้กล่าวว่า ท่านอุปการะเลี้ยงดู 100 ครอบครัว ในเมืองมะดีนะฮฺ โดยที่พวกเขาไม่รู้ จนกระทั่ง ท่านจบชีวิตลง (ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยในตัวท่านด้วยเถิด)
(อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ 9/105)
ท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า:
"ท่านทั้งหลายจงรับประกันตัวของพวกท่าน กับฉัน 6 ประการ ฉันจะรับประกันสรวงสวรรค์ให้กับพวกท่าน
จงมีสัจจะ เมื่อเอ่ยวาจา
จงรักษาสัญญา เมื่อให้คำมั่นสัญญา
จงรักษาหน้าที่ เมื่อได้รับความไว้วางใจ
จงรักษา อวัยวะพึงสงวนของพวกท่าน
จงลดสายตาของพวกท่าน
และจงระงับมือของพวกท่าน (ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น)
(บันทึกโดย อิมามอะฮฺมัด)
-เชค อับดุรร็อซซ้าก อัลบัดร์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ-
คนเราสามารถที่จะถือศีลอดตลอดทั้งปีได้ถึง 2 ครั้งด้วยกัน
หนึ่งครั้งตามหะดีษที่ว่า
"การถือศีลอด 3 วัน ในแต่ละเดือน ประหนึ่งการถือศีลอดตลอดทั้งปี"
และอีกครั้งตามหะดีสที่ว่า :
"ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และตามด้วยการถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาว้าล (เขาจะได้รับผลบุญ) ประหนึ่งการถือศีลอดต่อทั้งปี"
ดังนั้น เขาจึงได้รับผลบุญของการถือศีลอดตลอดปี ถึงสองครั้งสองคราด้วยกัน
$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$