อัล ญะมาอะฮ์ – วัล อิมามะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  6723

อัล ญะมาอะฮ์ – วัล อิมามะฮ์


          คำว่า “ญะมาอะฮ์” ในที่นี้หมายถึง บรรดาศอฮาบะฮ์ของท่านนะบีมุฮัมมัด บรรดาตาบิอีน ผู้เป็นแบบฉบับอันดีในประชาชาตินี้ ตราบไปจนวันสิ้นโลก(กิยามะฮ์) และปวงชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รอดพ้นจากความพินาศ และความผิดตามที่ท่านนะบีได้ชี้บอกไว้ ทุกๆคนที่ถือปฏิบัติตามแนวทางของท่านเหล่านี้ถือว่าได้อยู่ในญามะอะฮ์แล้ว แม้จะมีความเข้าใจผิดอยู่บ้างในข้อปลีกย่อย


         อิสลามห้ามการแตกแยกในการถือศาสนา ทั้งห้ามการก่อความวุ่นวาย(ฟิตนะ) ขึ้นในหมู่มุสลิม ในกรณีเกิดการขัดแย้งกันต้องย้อนกลับไปดูอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ และแนวทางของบรรดาสลัฟ อัสซอลิฮ์

          ผู้ใดที่ออกจากญามะอะฮ์(กลุ่ม) จำเป็นต้องได้รับการตักเตือนการเชื้อเชิญให้กลับเข้าญามะอะฮ์ ต้องใช้เหตุผลรูปแบบการโต้ตอบที่ดี เสนอเหตุผลให้เขาจำนนและเห็นถึงความจำเป็นในการอยู่ร่วมกัน มิฉะนั้นจะต้องได้รับโทษตามความเหมาะสมกับความผิดของเขา และจำเป็นที่จะต้องช่วยกันประคับประคองมวลพี่น้องมุสลิมให้อยู่ในแนวทางของอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ ตามมติ (อิจญมาอ์)เห็นพ้องของสลัฟ และไม่เป็นที่อนุมัติให้สร้างความร้าวฉานในหมู่มุสลิมด้วยปัญหาปลีกย่อย หรือความเข้าใจศาสนาในส่วนที่ละเอียดลึกซึ้ง


          ความเป็นมุสลิมขึ้นอยู่กับความเชื่อที่สอดคล้องกับญามะอะฮ์ที่ปฏิบัติตามอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ และการตั้งมั่นโดยไม่เปลี่ยนแปลง การพูดและการแสดงออกต้องเป็นไปตามนั้นด้วย ส่วนผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่ผิดแปลกออกไปจากหลักการ ไม่อนุมัติให้เขาแพร่กระจายความเห็นนั้นออกไป


          กลุ่มชนใดที่ออกนอกแนวซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์ ต้องประสบกับความพินาศและไฟนรก และให้ถือเป็นผู้หลงผิด ยกเว้นแต่ผู้ที่ซ่อนความกุฟร์(ปฏิเสธ)ไว้ในใจทำให้ชี้ขาดไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่ออกจากอิสลามถือว่าเป็นผู้ปฏิเสธทั้งสิ้น และฮุกุม(ข้อตัดสิน)ของพวกเขาคือ ตกมุรตัด(ออกนอกศาสนา)


          วันศุกร์ และการละหมาดญะมาอ์(วันศุกร์) ถือเป็นเอกลักษณ์(ชิอาร์)อันยิ่งใหญ่ของอิสลามที่สามารถมองเห็นได้ การละหมาดตามหลังมุสลิมที่เราไม่รู้ว่าเขาทำบาปอะไรหรือไม่ ถือว่าละหมาดนั้นใช้ได้ ส่วนการจะทิ้งละหมาดเพราะสงสัยว่าอิหม่ามทำบาปนั้นเป็นความเขลาและบิดอะฮ์ แต่ไม่อนุมัติให้ละหมาดตามหลังอิหม่ามที่ทำบิดอะฮ์อย่างชัดแจ้งหรือมีความประพฤติที่เลวทราม ในขณะที่สามารถหาอิหม่ามอื่นที่ดีกว่ามานำละหมาดได้ แต่ถ้าเผอิญไปละหมาดตามถือว่าใช้ได้แต่เป็นบาป ยกเว้นในกรณีหลีกเลี่ยงบาปใหญ่ หรือความแตกแยกร้าวฉาน และถ้าไม่สามารถหาผู้ที่ดีกว่ามาเป็นอิหม่ามแทนได้ หรือมีที่เลวร้ายเท่าๆกัน ก็อนุญาตให้ละหมาดญะมาอะฮ์ ส่วนผู้ที่ถูกฮุก่ม(ตัดสิน)ว่าเป็นผู้ตกศาสนา(กาฟิร) ศาสนาไม่อนุญาตให้ละหมาดตามเขา


          ตำแหน่งอิหม่ามผู้นำสูงสุด จะมีได้ต้องด้วยความเห็นพ้องของมวลหมู่มุสลิม หรือด้วยการให้สัตยาบัญและการยินยอม(บัยอะฮ์)ของมวลมุสลิม ผู้ที่สามารถได้ชัยชนะจนรวบรวมมวลหมู่มุสลิมไว้ได้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน ถือเป็นวายิบในการเชื่อฟังปฏิบัติตาม(อิฏออะฮ์) ในทุกสิ่งที่เป็นมะอ์รูฟ (ศาสนาอนุญาตและอนุโลม) ต้องยอมรับคำตักเตือนและการชี้แนะของเขา และเป็นที่ต้องห้ามในการที่จะฝ่าฝืนออกจากการเชื่อฟังยกเว้นในกรณีที่ปรากฏชัดว่า เขาได้กระทำการสิ่งใดที่บ่งชี้ถึงการปฏิเสธโดยต้องมีตัวบทสนับสนุนความผิดนั้นด้วย เป็นวายิบ(ข้อบังคับ)เหนือมุสลิมทุกคนให้ละหมาด ไปทำฮัจญ์ และออกสู่ญิฮาด ภายใต้การนำของมุสลิมมีน


          ศาสนาห้ามมิให้มุสลิมรบราฆ่าฟันกันเองด้วยเหตุผลของโลกดุนยา หรือเพื่อเป้าประสงค์ทางดุนยา หรือรบราเข้าข้างพวกพ้องตามแบบญาฮิลิยะฮ์ การทำเช่นนั้นเป็นบาปใหญ่ ศาสนาอนุญาตให้ต่อสู้กับผู้ที่ทำบิดอะฮ์(เพิ่มเติม) หรือเป็นกบฏต่อผู้นำ(อมีร) ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าไม่สามารถจะจัดการกับพวกเขาได้เบากว่านี้แล้ว และต้องกระทำไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


          บรรดาศอฮาบะฮ์ ทั้งมวลล้วนเป็นผู้เที่ยงธรรมและท่านเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในประชาชาติของท่านนะบีมุฮัมมัด การประกาศยืนยันว่าศอฮาบะฮ์เหล่านั้นเป็นผู้มีอีมานอันเป็นเลิศและมีความประเสริฐ มุสลิมจะต้องรักบรรดาศอฮาบะฮ์ ถือเป็นการมีศรัทธาที่สมบูรณ์ในศาสนาอิสลาม ส่วนการชิงชังต่อพวกเขาถือเป็นการปฏิเสธ และมุนาฟิก(กลับกลอก) พร้อมทั้งต้องเว้นการพูดวิพากษ์วิจารณ์ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างศอฮาบะฮ์จากปัญหาต่างๆ


          ผู้ที่มีเกียรติและความประเสริฐสูงสุดในหมู่ศอฮาบะฮ์ทั้งหมดคือ ท่านอบูบักร  ท่านอุมัร ท่านอุสมาน ท่านอาลี ทั้งหมดทั้ง 4 ท่านล้วนเป็นคอลีฟะฮ์ (ผู้สืบต่อจากท่านเราะซูล) ผู้เที่ยงตรงทั้งสิ้นและเหมาะสมต่อตำแหน่งของคอลีฟะฮ์เนื่องเพราะความประเสริฐของแต่ละท่านนั่นเอง


          การรักครอบครัวและวงศาคณาญาติ(อะห์ลุลบัยต์) ถือเป็นการมีอีมานในศาสนาเช่นกัน มุสลิมต้องยกย่องบรรดาภรรยาทุกท่านของท่านะบี  เป็นมารดาของศรัทธาชน และต้องรับรู้ถึงความประเสริฐและความดีของท่านเหล่านั้นด้วย นอกจากนั้นเรายังต้องรักบรรดาอิหม่ามในชนสลัฟ และอุลามะอ์(นักปราชญ์)ทุกท่านในแนวทางซุนนะฮ์ รวมถึงเหล่าชนผู้ปฏิบัติตามท่านเหล่านั้น ด้วยคุณความดีสืบไป ทั้งหลีกห่างจากผู้ที่ทำบิดอะฮ์และผู้ที่ทำตามอารมณ์ตนเอง

         การญิฮาด ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุว่าตะอาลา นั้นเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในศาสนา และการญิฮาดจะต้องมียั่งยืนไปจนถึงวันสิ้นโลก(กิยามะฮ์)


          การกำชับกันให้ทำคุณความดีและห้ามปรามกันมิให้กระทำความชั่ว นั้นเป็นเอกลักษณ์ของศาสนาอิสลาม เป็นปัจจัยที่จะช่วยป้องกันญามะอะฮ์(มวลชน)ให้อยู่ได้ตลอดไป แต่จะทำได้เท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถ และความเหมาะสมเป็นสำคัญ


จากหนังสือชุด แนวทางแห่งอะห์ลุล ซุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์
หลักการศรัทธา
รร.ศาสนูปถัมภ์ ประเวศ กทม.