สิ่งที่หาย....ไปจากสังคม
  จำนวนคนเข้าชม  280

สิ่งที่หาย....ไปจากสังคม

เรียบเรียง.....อบูชากิร อัลมะดานีย์

 

 

          เมื่อเราพูดว่า "มุสลิมเป็นประชาชาติที่เลิศ" ที่พระผู้เป็นเจ้าได้อุบัติขึ้นบนโลกนี้ เพื่อเป็นต้นแบบ สร้างประโยชน์กับผู้อื่น และมอบสิ่งที่มีคุณค่าแก่มวลมนุษยชาตินั้น เราต้องไม่ลืมเงื่อนไขข้อหนึ่งของการเป็นประชาชาติที่ดีเลิศ นั่นคือ การทำหน้าที่ใน การกำชับให้ทำความดี และห้ามปรามการทำชั่ว

 

     การกำชับและการห้ามปรามนั้น กระทำได้หลายวิธี ทั้งด้วยคำพูด การกระทำ และการแสดงออกด้วยวิธีการ และสื่อต่าง ๆ ที่คำสอนของอิสลามอนุญาต

 

         เราต้องตระหนักว่า ความดีและความชั่ว มีหลากหลายมากมาย และมีหลายระดับ ลดหลั่นแตกต่างกันออกไป แต่ต้องระวังไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก จึงควรเริ่มจากเรื่องที่สำคัญมากไปสู่เรื่องที่สำคัญรอง ลดหลั่นลงไป อย่าจับเอาเรื่องเล็กมาเป็นหัวข้อในการใช้หรือห้ามก่อนเรื่องใหญ่ ๆ  อย่าเอาเรื่องปลีกย่อยมาก่อนเรื่องหลัก ๆ นอกจากนี้คนที่ทำหน้าที่จะต้องมีความเข้าใจในฐานะของสิ่งที่ตนเองจะใช้หรือจะห้าม และยังจะต้องรู้จักใช้วิธีการ หรือกุศโลบาย ที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมด้วย ถูกเรื่อง ถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา ถูกวิธี และไม่ใช้อารมณ์

 

          การมีข้อมูลพื้นฐาน การรู้ที่มาที่ไป หรือเบื้องหลังของบุคคลหรือสังคมที่เราจะใช้หรือจะห้าม ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เราจึงต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องคนและสังคม ที่เราจะทำหน้าที่ใช้และห้ามให้ดี ต้องระมัดระวังอย่าให้ผู้ถูกใช้หรือถูกห้ามรู้สึกว่าเขาถูกลบหลู่ดูหมิ่น หรือถูกดูถูกเหยียดหยาม หรือถูกทำให้อับอายขายหน้า จากผู้บอกกล่าวในฐานะของผู้ใช้หรือผู้ห้าม

 

          บางครั้งคนเราอาจมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างชาติหนึ่งกับอีกชาติหนึ่ง ระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง ระหว่างอาหรับ กับคนที่ไม่ใช่อาหรับ ระหว่างฝรั่งกับคนที่ไม่ใช่ฝรั่ง หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน แต่อยู่ต่างภาคต่างพื้นที่ที่ห่างไกลกัน ใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ก็ยังมีความแตกต่างกันได้เช่นกัน

 

          ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่คนที่คิดจะทำหน้าที่กำชับให้ทำความดี และห้ามปรามการทำชั่วจะต้องคำนึงถึงทั้งสิ้น เช่นนี้แหละที่นักวิชาการอิสลามบอกถึง คำว่า "หิกมะฮฺ" ในการดะอฺวะฮฺ การกำชับการทำดี และห้ามปรามการทำชั่วนั้น เป็นคำที่หาคำมาจำกัดความหรือนิยามที่ตายตัวได้ยากยิ่ง

 

          ถูกแล้วที่ท่านอิหม่ามอัช-ชาฟิอีย์(เราะหิมะฮุลลอฮฺ)ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "หิกมะฮฺ" ว่าคือ "อัส-สุนนะฮฺ" คือ แบบอย่างของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ สัลลัม การใช้ หิกมะฮ์ จะต้องคาดหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ หวังดีต่อผู้เป็นเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มคน และผลลัพธ์ที่ดี คือการได้รับการตอบรับ ต่อการใช้ หิกมะฮ์

 

     ท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิม ได้กล่าวว่า “การห้ามปรามความชั่วนั้นมีสี่ระดับ

ระดับแรก คือ ทำให้ความชั่วนั้นหมดไปและแทนที่ด้วยความดี

ระดับที่สอง คือ ทำให้ความชั่วนั้นลดลง แม้จะไม่ทำให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

ระดับที่สาม คือ ทำให้ความชั่วอื่นที่เท่ากันมาแทนที่

ระดับที่สี่ คือ ทำให้ความชั่วอื่น ที่ชั่วกว่ามาแทนที่

     ดังนั้นสองระดับแรกคือสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ ส่วนระดับที่สามเป็นสิ่งที่ต้องนำมาวิเคราะห์ และระดับที่สี่เป็นสิ่งที่ต้องห้าม” 

(อิอฺลาม อัล-มุวักกิอีน 3/4-5)

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า


وَلْتَكُن مِّنكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ


“และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี และใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ 

และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบและชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ”

(ซูเราะห์ อาลาอิมรอน 104)

 

     ในโองการนี้ ชี้ให้เห็นว่าสังคมหนึ่งๆ จะต้องมีกลุ่มคนที่คอยสั่งใช้ในเรื่องทำความดี และห้ามปรามกันในเรื่องความชั่ว สังคมนั้นจะปลอดภัยและประสบความสำเร็จ  


       ในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในสังคม อันได้แก่

     1. ความอีหม่านที่อ่อนแอ ในตัวบุคคล ทั้งในระดับ ครอบครัว หมู่บ้านและสังคม

     2. มีความคิดว่า ไม่ใช่หน้าที่ ที่จะต้องทำ

     3. ละเลย เมินเฉย เมื่อเห็นความผิดก็ไม่ตักเตือน เมื่อเห็นความดีก็ไม่ส่งเสริม

     4. ความกลัว กลัวที่จะพูด กลัวที่จะเตือน อันเนื่องจาก หากพูดไปอาจเสียผลประโยชน์  หากทำไปกลัวคนอื่นจะไม่พอใจ หากทำไปแล้วจะส่งผลต่อการงาน หน้าที่ 

     5. ความหยิ่งผยอง หยิ่งยโส เมื่อถูกตักเตือนก็ไม่พอใจ และคิดว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัวของฉัน ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทำผิดต่อหลักการศาสนา
  

 

โอ้พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงตระหนักเถิดถึงความสำคัญของเรื่องนี้เถิด   

     อัลลอฮฺได้บอกถึงผู้ที่ปลอดภัยจากประชาชาติต่างๆ ว่าพวกเขาคือผู้ที่สั่งใช้กันในการทำความดี และห้ามปรามกันในความชั่ว อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

 وَمَا كَانَ رَبُّكَ لِيُهۡلِكَ ٱلۡقُرَىٰ بِظُلۡمٖ وَأَهۡلُهَا مُصۡلِحُونَ ١١٧ ﴾ [هود: ١١٧])

 

“และพระเจ้าของเจ้าจะไม่ทรงทำลายหมู่บ้านโดยอยุติธรรม โดยที่ประชากรของหมู่บ้านนั้นเป็นผู้ฟื้นฟูทำความดี“ 

(ฮูด 117)

       โอ้พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านกลัวหรือไม่กับความโกรธและการสาปแช่งจากอัลลอฮ์

        อัลลอฮ์ ได้แจกแจงว่าการละทิ้งการสั่งใช้ในสิ่งที่ดีและการห้ามปรามในสิ่งชั่ว เป็นสาเหตุของความพิโรธและการสาปแช่งของ อัลลอฮ์ พระองค์ตรัสว่า

 

 لُعِنَ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ مِنۢ بَنِيٓ إِسۡرَٰٓءِيلَ عَلَىٰ لِسَانِ دَاوُۥدَ وَعِيسَى ٱبۡنِ مَرۡيَمَۚ ذَٰلِكَ بِمَا عَصَواْ وَّكَانُواْ يَعۡتَدُونَ ٧٨ كَانُواْ لَا يَتَنَاهَوۡنَ عَن مُّنكَرٖ فَعَلُوهُۚ لَبِئۡسَ مَا كَانُواْ يَفۡعَلُونَ ٧٩ ﴾ [المائ‍دة: ٧٨، ٧٩])

 

     “บรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาในหมู่วงศ์วานอิสรออีลนั้นได้ถูกสาปโดยถ้อยคำของดาวูด และอีซาบุตรของมัรยัม นั่นก็เนื่องจากการที่พวกเขาฝ่าฝืน และที่พวกเขาเคยละเมิดกัน 

     ปรากฏว่าพวกเขาต่างไม่ห้ามปรามกันในสิ่งชั่วร้ายที่พวกเขาได้กระทำมันขึ้น ช่างเลวร้ายจริงๆ ในสิ่งที่พวกเขากระทำ” 

(อัล-มาอิดะฮฺ 78-79)

 

    ท่านอิมาม อัน-นะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า 

          “จงรู้เถิดว่าประเด็นนี้ คือประเด็นเรื่องของการสั่งใช้ในการทำความดีและห้ามปรามความชั่ว ส่วนมากจะถูกละเลยมาช้านาน ณ เวลานี้ไม่เหลืออยู่ยกเว้นจำนวนน้อยมาก และมันเป็นประเด็นใหญ่ เพราะการงานต่างๆ จะไม่ดำรงและมั่นคงอยู่ได้นอกจากด้วยสิ่งนี้ และหากความชั่วแผ่ขยาย บะลาอ์หรือการลงโทษจากอัลลอฮฺจะประสบกับทั้งคนดีและไม่ดี หากไม่มีการห้ามปรามคนชั่วให้หยุดการทำความชั่ว แล้ว เกรงว่าอัลลอฮฺอาจจะลงโทษกันทั่วหน้า”

 

 

     สุดท้ายฝากถึงพี่น้องทุกท่าน ให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อันนี้ ด้วยกำลังความสามารถ ตามแบบอย่างที่ท่านนะบีมูฮัมหมัดได้บอกเอาไว้เถิด ตามหะดิษบทนี้

     รายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าแท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

« مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ، وَذَلِكَ أَضْعَفُ الإِيمَانِ » [مسلم برقم 49]

 

“ใครก็ตามในหมู่พวกท่านที่เห็นความชั่วร้ายเขาจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา 

หากเขาไม่สามารถก็ด้วยลิ้นของเขา และหากไม่สามารถก็ด้วยใจของเขา และนั้นคืออีมานที่อ่อนแอที่สุดแล้ว“ 

(เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/69 หมายเลข 49)

 

          ขอให้อัลลอฮฺทรงให้เรามีความหนักแน่นในหลักคำสอน และยืนหยัดในคุณธรรมความดี และคอยสกัดกั้นความชั่วร้าย ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมด้วยเถิด .....