ความประเสริฐของมัสยิดอัลกุบาอ์
  จำนวนคนเข้าชม  351

ความประเสริฐของมัสยิดอัลกุบาอ์

 

อับดุลวาเฮด สุคนธา ... เรียบเรียง

 

     มัสยิดกุบาอ์ถือว่าเป็นมัสยิดหลังแรกที่ท่านนบีสร้างหลังท่านได้ประกาศอิสลาม

     สถานที่ตั้งของมัสยิด มีระยะห่างประมาณ 3.4 กิโลเมตรจากมัสยิดนบี ประชาชนในละแวกนี้จะถูกรู้จักในนามว่า อัมร์ บิน เอาฟ์

 

          ท่านอิบนุก็อยยิม กล่าวว่า ในขณะที่ท่านนบีเดินทางเข้าสู่เมืองมาดีนะฮฺ บรรดามุสลิมทั้งหลายต่างก็แสดงความปิติยินดีด้วยการกล่าวตักบีร อัลลอฮุอักบัร ด้วยการมาถึงของท่านนบีและพวกเขาก็ต่างพากันออกไปต้อนรับท่านนบี และท่านนบีเดินมาพักตรงกุบาอ์ซึ่งตรงนั้นเป็นที่ตั้งของชนเผ่า อัมร์ บิน เอาฟ์ ท่านนบีได้แวะพักที่ชานเมือง ณ ตำบลกุบาอ์ เป็นเวลา14วัน และท่านได้สร้างมัสยิดหลังแรกที่นี้หลังจากการเป็นนบี ด้วยบรรดาศอฮาบะห์ (สหายของท่าน) ปัจจุบันคือมัสยิดกุบาอ์ เป็นมัสยิดหลังแรกของมาดีนะห์ 

 

          หลังจากที่ท่านพักที่ ตำบลกุบาอ์และสร้างมัสยิดหลังนี้แล้วท่านนบีมุฮัมมัดก็เดินทางต่อ มุ่งสู่เมืองมาดีนะห์ โดยท่านได้มาถึงบริเวณมัสยิดนะบะวีย์ในปัจจุบัน ท่านนบีได้สร้างบ้าน และมัสยิดของท่าน(มัสยิดนาบาวีย์) ขึ้นในตัวเมืองมาดีนะห์

 

          ท่านเชคมุหัมหมัด อัลอามีน อัชชังกีตีย์ กล่าวว่า มัสยิดอัลหะรอมนครมักกะฮฺถือว่า เป็นบ้านหลังแรกของมนุษยชาติ และส่วนมัสยิดกุบาอ์นั้นเป็นมัสยิดหลังแรกที่บรรดามุสลิมร่วมกันสร้าง

 

มัสยิดกูบาในอัลกุรอาน

 

     มีรายงานอย่างมากมายว่า มัสยิด กุบาอ์ คือ เป้าหมายของอายะห์นี้

 

لَمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَی التَّقْوی مِنْ أَوَّلِ یَوْم أَحَقُّ أَنْ تَقُومَ فِیهِ رِجالٌ یُحِبُّونَ أَنْ یَتَطَهَّرُوا وَ اللهُ یُحِبُّ الْمُطَّهِّرِینَ

 

     “แน่นอน มัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่เจ้าจะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น เพราะในมัสยิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ”

( อัตเตาบะฮฺ 108)

 

ประเด็นของอายะห์นี้ คือ มัสยิดแห่งนี้ โดยในอายะห์ได้ตรัสไว้ว่า

 “แน่น่อนมัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้นสมควรอย่างยิ่ง ที่เจ้าจะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น” 

และสาเหตุการลงมาของอายะห์นี้ก็คือ มัสยิดกุบาอ์

 

     มีรายงานจากท่านอะบี สะอีด อัลคุดรีย์ กล่าวว่า

 

دَخَلْتُ عَلَى رَسُولِ اللهِ - صلى الله عليه وسلم - فِي بَيْتِ بَعْضِ نِسَائِهِ، فَقُلْتُ: يَا رَسُولَ اللهِ، أَي الْمَسْجِدَيْنِ الذِي أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى؟ قَالَ: فَأَخَذَ كَفًّا مِنْ حَصْبَاءَ فَضَرَبَ بِهِ الأَرْضَ، ثُمَّ قَالَ: «هُوَ مَسْجِدُكُمْ هَذَا» (لِمَسْجِدِ الْمَدِينَةِ)؛

 

     “ ฉันได้เข้าไปหา ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในบ้านภรรยาของท่านบางคนแล้วฉันถามท่านนบีว่า

     โอ้ท่านร่อซูลลุลอฮฺ ระหว่างมัสยิดสองหลังนี้ หลังใดถูกสร้างบนความยำเกรง ? 

     แล้วท่านนบีกำก้อนกรวดหนึ่งกำมือได้ตีลงบนพื้นดิน แล้วท่านนบีพูดว่า นี้คือมัสยิดของพวกท่าน(มัสยิดมาดีนะฮฺ) 

(บันทึกโดย มุสลิม)

 

 

สิ่งที่ได้รับจากตัวบทนี้

 

     หนึ่ง หะดีษบทนี้บ่งชี้ว่า มัสยิดที่ถูกสร้างบนความยำเกรงนั้นหมายถึง มัสยิดนบี

 

     สอง มัสยิดที่ถูกสร้างบนความยำเกรงนั้นหมายถึง มัสยิดกุบาอ์ตามบันทึกในหนังสือ สุนันอะบีดาวูดจากรายงานหะดีษอบูฮุรอยเราะฮฺ

 

     สาม หมายถึงมัสยิดทั้งสอง ทั้งมัสยิดนบีและมัสยิดกุบาอ์ เพราะทั้งสองถูกสร้างบนความยำเกรง 

 

     ส่วนโองการอัลลอฮฺที่กล่าวว่า

( لَمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى )

“แน่นอน มัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรง”

(อัตเตาบะฮฺ 108)

     หมายถึง มัสยิดกุบาอ์ ตามการให้น้ำหนักของ อิบนุหะญัร อิบนุ กะซีร นี้คือทัศนะชัดเจนกว่า วัลลอฮุฮะลัม

 

     ท่านอิบนุหะญัร กล่าวว่า ความถูกต้องแล้วนั้นหมายถึงมัสยิดทั้งสองเลยที่ถูกสร้างบนความยำเกรง ในส่วนของโองการกรุอ่านที่อัลลอฮฺ ตรัสอีกว่า

 

( فِيهِ رِجَالٌ يُحِبُّونَ أَنْ يَتَطَهَّرُوا وَاللَّهُ يُحِبُّ الْمُطَّهِّرِينَ )

 

“เพราะในมัสยิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ”

( อัตเตาบะฮฺ 108)

     ตรงนี้นั้นหมายถึงชาวกุบาอ์

 

และในบันทึกในหนังสือของอิม่ามอาบูดาวูดตามสายรายงายที่ถูกต้องจากท่านอะบีอุรอยเราะฮฺ จากท่านนบี กล่าวว่า โองการนี้ประทานลงมาให้กับชาวกุบาอ์

 

 

หะดีษต่างๆเกี่ยวกับการละหมาดที่มัสยิดกุบาอ์

 

     มัสยิดกุบาอ์เป็นหนึ่งในสองมัสยิดที่มีความประเสริฐในเมืองมาดีนะฮฺ

     มีรายงานจากท่านนบี เกี่ยวกับการกระทำและคำพูดของท่านที่บ่งชี้ถึงความประเสริฐของการละหมาดในมัสยิดกุบาอ์ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

مَنْ تَطَهَّرَ فِي بَيْتِهِ ثمَّ أَتَى مَسْجِدَ قُبَاءَ فَصَلَّى فِيهِ صَلاَةً كَانَ لَهُ كَأَجْرِ عُمْرَةٍ

 

     “ผู้ใดทำความสะอาดร่างกายมาจากที่บ้านของตน แล้วไปมัสยิดกุบาอ์ และได้ละหมาดในมัสยิด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการทำอุมเราะห์หนึ่งครั้ง” 

(บันทึกโดยอะห์มัดและน่าซาอี)

 

     ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า   الصَّلَاةُ فِي مَسْجِدِ قُبَاءٍ كَعُمْرَةٍ

 

“การละหมาดที่มัสยิดกุบาอ์นั้นเขาจะได้รับผลบุญเท่ากับทำอุมเราะห์หนึ่งครั้ง” 

(บันทึก ติรมีซีย์ ศอเฮี้ยะ เชคอัลบานีย์)

 

     รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า:

 

أنَّ رَسُولَ الله صلى الله عليه وسلم كَانَ يَزُورُ قُبَاءً، رَاكِباً وَمَاشِياً.

 

     “แท้จริงท่านร่อซูลลุลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไปเยี่ยมมัสยิดกุอาอ์ด้วยการขี่พาหนะและเดินเท้าไป”

( บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

     รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า:

 

كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَأْتِي مَسْجِدَ قُبَاءٍ كُلَّ سَبْتٍ مَاشِيًا وَرَاكِبً

 

     “ ปรากฏว่าท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไปยังมัสยิดกุบาอ์ทุกๆวันเสาร์ด้วยกับการเดินเท้าและเดินการขี่พาหนะไป" 

(บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

     และในรายงานของมุสลิม

 

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَأْتِي مَسْجِدَ قُبَاءٍ رَاكِبًا وَمَاشِيًا فَيُصَلِّي فِيهِ رَكْعَتَيْنِ

 

     “ปรากฎว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไปยังมัสยิดกุบาอ์ด้วยการขี่พาหนะและเดินเท้าไป จะทำการละหมาดที่นั้นสองร็อกอะฮฺ”

 

     รายงานจากท่านสะลฺ บิน หุนัยฟฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า:

 

( مَنْ خَرَجَ حَتَّى يَأْتِيَ هَذَا الْمَسْجِدَ مَسْجِدَ قُبَاءَ فَصَلَّى فِيهِ كَانَ لَهُ عَدْلَ عُمْرَةٍ )

 

      “ใครก็ตามที่ออกจนไปจนถึงมัสยิดนั้น คือ มัสยิดกุบาอ์ แล้วทำการละหมาดที่นั้น(ละหมาดสองร็อกอะฮฺ)เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับทำอุมเราะห์หนึ่งครั้ง “

(บันทึก อัลนะซาอีย์ ศอเฮี้ยะ เชคอัลบานีย์)

 

 

วิธีการละหมาด

 

     เมื่อเราไปถึงที่มัสยิดกุบาอ์ เข้าไปยังมัสยิด ตั้งใจละหมาดฎุฮาหรือละหมาดสุนนะฮฺเคารพมัสยิด หรือสุนนะฮฺหลังอาบน้ำละหมาด สามารถเลือกปฏิบัติได้

     ตัวบทนี้ครอบคลุมถึงการละหมาดทุกประเภท(ฎุฮา วิตร สุนนะฮฺของละหมาดฟัรฎูทั้งห้าเวลา ละหมาดญะนาซะฮฺ(คนตาย)) จะได้รับภาคผลเหมือนกัน