ซะกาต เสาหลักที่ 3 ของอัลอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  170

ซะกาต เสาหลักที่ 3 ของอัลอิสลาม

 

ค่อเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ในสมัยที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ช่วงที่ท่านนบีได้วะฟาตหรือได้เสียชีวิตลง ...ท่านอบูบักร อัศศิดดี๊ก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้มาทำหน้าที่เป็นเคาะลีฟะฮฺ อัรรอชิดีนท่านแรกแห่งอัลอิสลาม ซึ่งปัญหาแรกที่ท่านอบูบักรต้องเผชิญก็คือ การที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่เคยจ่ายซะกาตในสมัยท่านนบีนั้น กลับไม่ยอมจ่ายซะกาตอีกต่อไป พวกเขาอ้างว่า เมื่อท่านนบีเสียชีวิตไปแล้ว การจ่ายซะกาตก็ต้องสิ้นสุดลงไปด้วย แต่ท่านอบูบักรไม่ยอมในเรื่องนี้ ท่านอบูบักรได้แสดงจุดยืนอันเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวมากต่อปัญหานี้ โดยประกาศที่จะทำการต่อสู้กับคนที่ไม่ยอมจ่ายซะกาต

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้ประกาศว่า

 

«وَاللهِ، لَأُقَاتِلَنَّ مَنْ فَرَّقَ بَيْنَ الصَّلَاةِ وَالزَّكَاةِ، فَإِنَّ الزَّكَاةَ حَقُّ الْمَالِ»

 

“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริง ฉันจะทำการต่อสู้กับกลุ่มคนที่แบ่งแยกระหว่างการละหมาดกับการจ่ายซะกาต

เพราะแท้จริง การจ่ายซะกาตเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของทรัพย์สิน (ที่พึงต้องจ่ายออกไป)”

 

وَاللَّهِ لَوْ مَنَعُونِي عِقَالًا كَانُوا يُؤَدُّونَهُ إِلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، لَقَاتَلْتُهُمْ عَلَى مَنْعِهِ»

 

         ท่านอบูบักรได้ประกาศต่อไปอีกว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ หากพวกเขาปฏิเสธการจ่ายซะกาตกับฉัน ทั้ง ๆที่พวกเขาเคยจ่ายซะกาตตามคำสั่งของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมาก่อนหน้านี้.. ถึงเเม้ว่าซะกาตนั้นมันจะเป็นเพียงของที่เล็กน้อยเท่ากับเชือกผูกสัตว์ก็ตามที ..แน่นอน ฉันก็จะขอประกาศต่อสู้กับพวกเขาด้วยเหตุที่พวกเขาปฏิเสธจะจ่ายซะกาตนั้น”

 

         ด้วยเหตุนี้ ท่านอบูบักรจึงได้จัดกองทัพไปปราบปรามกลุ่มคนที่ไม่ยอมจ่ายซะกาตเหล่านั้น และในที่สุด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ได้ประทานความสำเร็จโดยให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลับมายอมจ่ายซะกาตเช่นเดิม

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การที่ท่านอบูบักร อัศศิดดี๊กไม่ยอมอ่อนข้อให้กับคนที่ไม่ยอมจ่ายซะกาตนั้น มันก็คือการที่ท่านได้ดำรงรักษาอัลอิสลามให้ดำรงอยู่ต่อไป เพราะไม่อย่างนั้น หากท่านอบูบักรปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ เรื่องของการจ่ายซะกาตก็จะไม่ถูกถ่ายทอดมาถึงยุคของเราอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะนั่นจะหมายความว่า เราไม่สามารถจะปฏิบัติหลักของอัลอิสลามได้อย่างครบถ้วน เพราะเรื่องของการจ่ายซะกาตนั้นมันเป็นหนึ่งในเสาหลักของอัลอิสลาม เป็นหนึ่งในหลักปฎิบัติของอัลอิสลาม

 

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบัยยินะฮฺ อายะฮฺที่ 5 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاءَ وَيُقِيمُوا الصَّلَاةَ وَيُؤْتُوا الزَّكَاةَ ۚ وَذَٰلِكَ دِينُ الْقَيِّمَةِ

 

     “และพวกเขาไม่ได้ถูกสั่งให้กระทำสิ่งใดเลย นอกจากให้เคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺเท่านั้น โดย(ให้เขา)เป็นผู้ที่มีอิคลาศ (มีเนียตอันบริสุทธิ์)ในการเคารพอิบาดะฮฺต่อพระองค์(เพียงองค์เดียว โดยไม่ยอมให้มีการชิริกแอบแฝงอยู่ในการเคารพอิบาดะฮฺนั้นเลย)

     เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง (อีกทั้งยัง)ดำรงรักษาการละหมาด และดำรงการจ่ายซะกาต .....ดังกล่าวนี้แหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”

 

 

          ศาสนาอันเที่ยงธรรมก็คือ ...อัลอิสลาม อายะฮฺนี้ระบุว่า บุคคลที่จะอยู่ในศาสนาอันเที่ยงธรรม อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงนี้ได้ ก็คือ บุคคลที่เคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น นั่นก็คือ เป็นผู้ที่มอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาด และดำรงรักษาการจ่ายซะกาต .. ต้องละหมาดและต้องจ่ายซะกาตด้วย

 

          ด้วยเหตุนี้ ท่านอบูบักรจึงได้ประกาศจะทำการต่อสู้กับผู้ที่แบ่งแยกการละหมาดกับการจ่ายซะกาตออกจากกัน ก็คือ จะละหมาดแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาตไม่ได้ แต่ต้องละหมาดด้วยและต้องจ่ายซะกาตด้วย เพราะการละหมาดจะเป็นการชำระล้างตัวของเขา ชำระจิตใจของเขาให้มีความสะอาดบริสุทธิ์จากความผิดความบาป ...

          ในขณะที่การจ่ายซะกาต จะเป็นการชำระทรัพย์สมบัติที่เขาครอบครองอยู่ให้สะอาด นั่นก็คือทำให้ทรัพย์สมบัติหลังจากการจ่ายซะกาตเป็นทรัพย์สมบัติที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดปรานที่จะให้เขาได้ครอบครองมัน แม้ว่ามันจะเหลืออยู่อย่างมากมายก็ตาม

 

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การจ่ายซะกาตไม่ใช่การบริจาค เป็นคนละเรื่องกัน ..การจ่ายซะกาต คือการจ่ายทรัพย์สมบัติจำนวนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติที่เราครอบครองอยู่ ที่มันมีจำนวนที่อยู่ในเกณฑ์ที่บทบัญญัติศาสนากำหนดไว้ ให้แก่ผู้ที่มีสิทธิจำนวน 8 กลุ่มหรือ 8 ประเภทด้วยกัน ตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงระบุไว้ในอัลกุรอาน ซึ่งทรัพย์สินหรือทรัพย์สมบัติที่จะนำมาออกซะกาตนี้มีทั้งที่เป็นเงินตรา เป็นพืชผลผลิตต่าง ๆ เป็นปศุศัตว์ เป็นเงิน เป็นทองคำ และอื่น ๆ .......ถ้าหากสิ่งที่เราครอบครองอยู่ มีจำนวนถึงเกณฑ์ที่บทบัญญัติศาสนาระบุไว้ ก็จำเป็นที่เราจะต้องจ่ายซะกาต จะละทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ที่บทบัญญัติศาสนาระบุไว้ก็ไม่ต้องจ่าย

 

          ความจริงแล้ว การจ่ายซะกาตนี้ ไม่ใช่เป็นการจ่ายที่มากมายอะไร แต่เป็นการจ่ายเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนทรัพย์สมบัติที่เราครอบครองอยู่ และปีหนึ่งก็จ่ายเพียงครั้งเดียว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาอะไรสำหรับเรา หรือสร้างความลำบากอะไรให้แก่เรา แต่ซะกาตจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์มากมายทั้งต่อตัวของผู้จ่ายซะกาตเอง และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับซะกาตอีกด้วย

 

     ผู้จ่ายซะกาตได้รับอะไรบ้าง ? ตัวอย่างเช่น

 

ประการที่หนึ่ง 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 277 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

إِنَّ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَأَقَامُوا الصَّلَاةَ وَآتَوُا الزَّكَاةَ لَهُمْ أَجْرُهُمْ عِندَ رَبِّهِمْ وَلَا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلَا هُمْ يَحْزَنُونَ

 

     “แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบอะมัลศ่อลิหฺ ปฏิบัติการงานที่ดีงามทั้งหลาย อีกทั้งยังดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและการจ่ายซะกาตนั้น

     พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ ที่พระเจ้าของพวกเขา

     และไม่มีความกลัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่พวกเขา(ในวันกิยามะฮฺ)อีกทั้งพวกเขาก็จะไม่มีความเสียใจใด ๆอีกด้วย”

 

 

ประการที่สอง 

     อัลหะดีษ(صحيح على شرط مسلم) ในบันทึกของอิมามอัฏเฏาะบะรอนีย์ รายงานจากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

عَنْهُ شَرُّهُ»«مَنْ أَدَّى زَكَاةَ مَالِهِ فَقَدْ ذَهَبَ

 

"ผู้ใดที่จ่ายซะกาตจากทรัพย์สมบัติของเขา แน่นอน ความไม่ดีหรือบาปในตัวของเขาก็ได้ถูกชำระออกไปด้วย"

 

     บาปต่าง ๆ ความผิดต่าง ๆ ถูกชำระออกไป นั่นก็หมายความว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษในความผิดต่าง ๆให้แก่บ่าวของพระองค์ที่เป็นผู้จ่ายซะกาต

 

        นั่นก็คือ ตัวอย่างของผลตอบแทนที่ผู้จ่ายซะกาตจะได้รับ ดังนั้น คนที่จ่ายซะกาตนั้น นอกจากเขาจะเป็นผู้ที่ดำรงรักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว ได้รับความประเสริฐ ได้รับผลบุญต่าง ๆ มากมายแล้ว เขายังเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือผู้รับซะกาตที่ด้อยโอกาสต่าง ๆให้มีความสุขความสบายขึ้น เพราะซะกาตเป็นการกระจายทรัพย์สมบัติจากผู้มีฐานะดี ไปยังผู้ที่มีฐานะด้อยกว่า หรือผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า ทำให้ผู้รับได้รับโอกาสที่ดีขึ้น มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาในการดำเนินชีวิตในอนาคต ไม่มีความวิตกกังวลอะไรมากมาย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างผาสุกขึ้น ...

 

         นอกจากนี้เขาก็ยังมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมมุสลิม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมมุสลิมให้เข้มแข็งอีกด้วย เพราะซะกาตเป็นสิ่งที่มาลดช่องว่างในสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน คนจ่ายซะกาตก็มีใจเอื้อเฟือต่อคนรับ คนรับก็รู้สึกดีใจ รู้สึกขอบคุณ ทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกันในสังคม ทำให้สังคมมีความร่มเย็น

 

     ผู้ที่ไม่จ่ายซะกาตเล่า จะได้รับอะไรบ้าง ? ตัวอย่างเช่น

 

     ประการแรก

     ใครที่ไม่ยอมจ่ายซะกาตโดยตั้งใจปฏิเสธมันและทราบถึงหุก่มของมัน เขาผู้นั้นตกมุรตัด ออกจากอัลอิสลาม ต้องโทษประหารชีวิต นอกจากจะเตาบะฮฺตัว

 

     ประการที่สอง

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 34-35 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

ۗ وَالَّذِينَ يَكْنِزُونَ الذَّهَبَ وَالْفِضَّةَ وَلَا يُنفِقُونَهَا فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَبَشِّرْهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٍ

 

“บรรดาผู้ที่สะสมทองและเงิน และไม่จ่ายมันไปในทางของอัลลอฮฺ จงแจ้งข่าวแก่พวกเขาเถิด ด้วยการลงโทษอันเจ็บปวด”

 

يَوْمَ يُحْمَىٰ عَلَيْهَا فِي نَارِ جَهَنَّمَ فَتُكْوَىٰ بِهَا جِبَاهُهُمْ وَجُنُوبُهُمْ وَظُهُورُهُمْ ۖ هَٰذَا مَا كَنَزْتُمْ لِأَنفُسِكُمْ فَذُوقُوا مَا كُنتُمْ تَكْنِزُونَ

 

     “วันที่มันจะถูกไฟนรกแห่งญะฮันนัมเผา แล้วหน้าผากของพวกเขา และสีข้างของพวกเขา และหลังของพวกเขาจะถูกนาบด้วยมัน

     ดังกล่าวนี้แหละ คือสิ่งที่พวกเจ้าได้สะสมไว้ เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง ดังนั้นจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด”

 

         คนที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แล้วไม่ยอมจ่ายซะกาต ก็เท่ากับเขาเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์สมบัติ ซึ่งก็จะทำให้เขากลายเป็นผู้ที่ไม่รักษาบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาก็จะต้องได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงในวันกิยามะฮฺ

 

     ประการที่สาม

     อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«مَنْ آتَاهُ الله مَالاً فَلَـمْ يُؤَدِّ زَكَاتَـهُ مُثِّلَ لَـهُ يَومَ القِيَامَةِ شُجَاعاً أَقْرَعَ لَـهُ زَبِيبَتَان، يُطَوِّقُهُ يَومَ القِيَامَةِ، ثُمَّ يَأْخُذُ بِلِـهْزِمَتَيْـهِ -يَـعْنِي بِشِدْقَيْـهِ-، ثُمَّ يَـقُولُ: أَنَا مَالُكَ، أَنَا كَنْزُكَ»

 

     "ใครที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สินแก่เขา แล้วเขาไม่ทำการจ่ายซะกาตของมัน

     มันจะถูกจำแลงแก่เขาในวันกิยามะฮฺให้เป็นงูหัวล้าน มีสองเขี้ยว มันจะรัดเขาในวันกิยามะฮฺแ ล้วรัดที่ขากรรไกรของเขาทั้งสองข้าง

     แล้วมันจะกล่าวว่า ข้าคือทรัพย์ของเจ้า ข้าคือสิ่งที่เจ้าสะสมไว้"

 

          นั่นก็คือ เรื่องราวเพียงบางส่วนเท่านั้นในเรื่องของซะกาต ซึ่งเป็นรุก่น เป็นหลักปฏิบัติของอัลอิสลามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงวางบทบัญญัติไว้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่มุสลิมจะต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งการจ่ายซะกาตอย่างเคร่งครัดไม่น้อยไปกว่าการละหมาด เป็นหลักปฏิบัติที่จะละทิ้งไม่ได้เลยหากเข้าเกณฑ์บังคับ

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้เป็นผู้ที่มอบการเคารพอิบาดะฮฺโดยอิคลาศต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น และโปรดให้เราเป็นผู้ที่ดำรงรักษาการละหมาดและการจ่ายซะกาตอย่างเคร่งครัดตลอดไป

 

 

(คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ)