จงดูแลครอบครัวให้ดี
  จำนวนคนเข้าชม  134

จงดูแลครอบครัวให้ดี

 

แปลเรียบเรียง...เพจบันทึกฮัก

 

 

     เมื่อมารดาของ บะดีอุซซะมาน ถูกถามถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกๆของนาง จนพวกเขามีสติปัญญาอันยอดเยี่ยม นางตอบว่า:

"ตลอดชีวีตของฉันไม่เคยละทิ้งละหมาดตะฮัจญุดเลย เว้นแต่ในวันที่มีข้อยกเว้นทางศาสนา 

และฉันไม่เคยให้นมลูกของฉัน เว้นแต่ในสภาพที่ตัวสะอาดและมีน้ำละหมาด"

     ส่วนบิดาของ บะดีอุซซะมาน ท่านเป็นผู้ที่มีความสำรวมและเป็นแบบอย่างในความเคร่งครัด ท่านไม่เคยลิ้มรสสิ่งต้องห้าม และไม่เคยเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยสิ่งที่ไม่ฮาลาล

     ถึงขั้นว่า เมื่อท่านกลับจากทุ่งเลี้ยงสัตว์ ท่านจะมัดปากของสัตว์เลี้ยงของท่าน เพื่อไม่ให้พวกมันไปกินพืชผลจากไร่นาของผู้อื่น"

‌‏⤶ كُلّيَّات رَسَائِلِ النُّورِ | السِّيرَة الذَّاتِيَّة(صـ٥١

 

 

 

ชัยคฺ อับดุรร๊อซซ๊าก อัลบัดรฺ -ฮะฟิซ่อฮุลลอฮฺ-

 

     "เมื่อท่านต้องการขอดุอาเพื่อให้อัลลอฮฺอภัยโทษให้แก่พ่อแม่ของท่าน อย่ากล่าวเพียงว่า:

➵ اَللّٰهُمَّ اغْفِرْ لِوالِدِي (อัลลอฮุมมัฆฟิร ลิวาลิดีย์)

"โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่บิดามารดาของข้าพระองค์ด้วยเถิด"

     แต่จงกล่าวว่า:

 ➵ اللَّهُمَّ اغْفِرْ لِوَالِدِينَا (อัลลอฮุมมัฆฟิร ลิวาลิดีย์นา)

"โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่บรรดาบิดามารดาของเราด้วยเถิด"

     เพราะว่า:

     คำว่า "والدينا" (วาลิดีนา) ซึ่งมีสระ "กัสเราะฮฺ" ( ِ ) ใต้ตัว د  จะรวมถึง พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษของเรา ทั้งหมดไปจนถึงยุคสมัยที่อัลลอฮฺทรงประสงค์

 ˚✧ จงเป็นผู้มีความเมตตาแม้กระทั่งในดุอาของท่าน

 ˚✧ เพราะอัลลอฮฺจะทรงทำให้ดุอาของท่านมีประโยชน์แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอย่างยาวนาน

 ˚✧ และบางทีอัลลอฮฺจะประทานผู้ที่มาขอดุอาให้แก่ท่านเช่นกันเมื่อท่านอยู่ในกุโบรหลังจากผ่านไปหลายร้อยหรือหลายพันปี

➵ اللَّهُمَّ اغْفِرْ لِوَالِدِينَا يَا أَرْحَمَ الرَّاحِمِينَ

"โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่บรรดาบิดามารดาของเรา โอ้ผู้ทรงเมตตาที่สุดในบรรดาผู้เมตตาทั้งหลาย"

 

 

 

ท่าน ฏ็อลฮะห์  อิบนุ มุศ็อรริฟ -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-

 

     "บิดาของฉันเคยสั่งให้ภรรยา ลูกสาว และบรรดาคนรับใช้ของท่าน ลุกขึ้นละหมาดในเวลากลางคืน 

     และท่านกล่าวว่า:

     “จงละหมาดเถิด แม้เพียงสองร่อกาอัตในยามค่ำคืน เพราะแท้จริงการละหมาดในยามค่ำคืนช่วยลบล้างบาป  และเป็นการงานที่ทรงเกียรติที่สุดของบรรดาผู้มีคุณธรรม"

 ⤶ التهجّد وقيام الليل لابن أبي الدنيا 

 

 

 

อิบนิ อุษัยมีน -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-

 

ใครคือ "สามีที่ไม่ยุติธรรม"?

     ชัยคฺ อิบนิ อุษัยมีน -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ- อธิบายในตัฟซีรซูเราะฮฺ อัลมุฏ็อฟฟิฟีน ว่า:

     สามีที่ต้องการให้ภรรยาทำหน้าที่ของเธออย่างสมบูรณ์ แต่ตัวเขาเองกลับไม่ให้สิทธิแก่เธออย่างเต็มที่

     หลายคนคาดหวังให้ภรรยารับผิดชอบทุกอย่างแต่กลับไม่ให้ความเป็นธรรมกับเธอในเรื่องค่าใช้จ่ายและการใช้ชีวิตคู่

     ที่น่าแปลกใจพี่น้องทั้งหลาย! เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยในหมู่คนที่ภายนอกดูเคร่งครัดในศาสนา

     ซึ่งบางครั้งผู้หญิงบางคน เลือกสามีเพราะชื่อเสียงในด้านที่ดีและความเคร่งครัดของเขาในศาสนา

     แต่กลับกลายเป็นว่าเขามีพฤติกรรมที่แย่กับภรรยายิ่งกว่าคนที่ไม่เคร่งครัดเสียอีก!

     ฉันไม่เข้าใจเกี่ยวกับคนเหล่านี้เลย ทั้งที่ภายนอกดูเหมือนคนเคร่งครัด

     หรือพวกเขาคิดว่า "การเคร่งครัด" นั้นจำกัดแค่การทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเท่านั้น โดยละเลยสิทธิของเพื่อนมนุษย์?

     แท้จริง การอธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ (ละเมิดสิทธิผู้อื่น) นั้น ร้ายแรงยิ่งกว่าการที่เขาทำผิดต่อตนเองด้วยการละเมิดสิทธิของอัลลอฮฺ

     เพราะการที่มนุษย์ละเมิดต่ออัลลอฮฺ (หากไม่เกี่ยวข้องกับการทำชิริก) ยังอยู่ภายใต้ความประสงค์ของพระองค์ 

     หากพระองค์ทรงประสงค์ก็จะอภัยให้ หรือหากทรงประสงค์ก็จะลงโทษ แต่สิทธิของเพื่อนมนุษย์นั้น ไม่อยู่ภายใต้ความประสงค์ จะต้องมีการชดใช้คืนอย่างแน่นอน

ท่านร่อซู้ล ﷺ กล่าวว่า: "พวกท่านรู้หรือไม่ว่าใครคือผู้ล้มละลาย?

พวกเขาตอบว่า: ผู้ล้มละลายสำหรับเราแล้วคือผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินและไม่มีเสบียง

ท่านร่อซู้ล ﷺ กล่าวว่า: "แท้จริงผู้ล้มละลายจากประชาชาติของฉัน

     คือผู้ที่เมื่อถึงวันกิยามะฮฺ เขาจะมาพร้อมกับผลบุญของการละหมาด การถือศีลอด และการจ่ายซะกาต

     แต่เขาเคยด่าว่าคนนั้น เคยใส่ร้ายคนนี้ กินทรัพย์สินของคนนั้น ทุบตีคนนี้

     และเมื่อนั้นเขาจะถูกเอาความดีของเขาไปให้กับคนนั้น และความดีของเขาให้กับคนนี้

     เมื่อความดีของเขาหมดลงก่อนที่เขาจะชดใช้ได้เสร็จสิ้น

     ก็จะถูกนำความผิดของคนที่เขาเคยอธรรมมาให้กับตัวเขา

     แล้วเมื่อเขาไม่มีความดีใดๆ และมีแต่ความผิดเขาก็จะถูกโยนลงในนรก"

رواه مسلم

     ดังนั้น คำแนะนำของฉันต่อพี่น้องที่ละเลยสิทธิของภรรยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคร่งครัดหรือไม่ก็ตามคือ

     จงยำเกรงอัลลอฮฺ เพราะท่านนบี  ﷺ ได้กำชับอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในที่ชุมนุมที่ใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอิสลามในช่วงชีวิตของท่าน คือวันอะรอฟะฮฺ ระหว่างฮัจญ์อำลา ว่า:

"จงยำเกรงอัลลอฮฺ และรักษาสิทธิหน้าที่ๆเกี่ยวข้องกับภรรยาเถิด

แท้จริงพวกท่านได้พวกเธอมาด้วยอะมานะฮฺของอัลลอฮฺ (ด้วยหน้าที่ซึ่งอัลลอฮฺใช้ให้เราดูแล)

และพวกท่านได้รับอนุญาตในตัวเธอด้วยพระดำรัสของพระองค์ (โดยการกล่าวคำตอบรับการแต่งงาน)"

     อิบนิ อุษัยมีน กล่าวต่อว่า: สามีที่ต้องการสิทธิของตนอย่างเต็มที่ แต่ไม่ให้ภรรยาของเขาอย่างเต็มที่นั้น คือ "มุฏ็อฟฟิฟ"

อัลลอฮฺตรัสว่า:

"ความวิบัติจงประสบแก่บรรดาผู้เอาเปรียบ คือผู้ที่เมื่อรับตวงจากผู้อื่น พวกเขารับเต็มที่

แต่เมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้ผู้อื่น พวกเขาทำขาด"

(อัลมุฏ็อฟฟิฟีน: 1-3)

تفسير جزء عم

 

 

 

ชัยคฺ บิน บาซ -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-

 

     สิ่งที่จำเป็นสำหรับสามี คือไม่ควรรีบร้อนในการหย่าร้าง ควรปฏิบัติต่อภรรยาอย่างดี และหลีกเลี่ยงการกดขี่หรือริดรอนสิทธิของเธอ

     สิ่งที่จำเป็นสำหรับภรรยา คือควรอ่อนน้อม ไม่ควรทำให้สามีโกรธหรือทำร้ายจิตใจของเขา ควรใช้คำพูดที่ดีและปฏิบัติต่อสามีด้วยความสุภาพและเมตตา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การหย่าร้าง ทั้งสองฝ่ายควรอดทนหวังรางวัล(จากอัลลอฮฺ) ในทุกสภาพการณ์ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า:

"แท้จริงบรรดาผู้ที่อดทนเท่านั้นที่จะได้รับรางวัลของพวกเขาโดยไม่มีการคำนวณนับ"

سورة الزمر١٠

     ดังนั้น สามีและภรรยาจำเป็นต้องอดทนต่อข้อบกพร่องของกันและกัน ภรรยาควรอดทนหากสามีมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องบางอย่างเช่นกัน

مجموع الفتاة/٤٧١٣

ท่านนบี ﷺ กล่าวว่า: 

"ผู้ศรัทธาชายไม่ควรเกลียดชังผู้ศรัทธาหญิง หากเขาไม่ชอบสิ่งหนึ่งในตัวเธอ ก็อาจมีสิ่งอื่นที่เขาพึงพอใจ"

رواه مسلم

 

 

 

•┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈••┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈••┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈•