บันทึกแห่ง ’สัจธรรม’ 21
แปลเรียบเรียง...เพจบันทึกฮัก
อิบนุล เญาซียฺ -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-
"หากท่านต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบสุข จงอยู่ให้ห่างจากคนขี้อิจฉา
เพราะเมื่อเขาเห็นความโปรดปรานของท่าน บางทีเขาอาจทำร้ายท่านด้วยสายตาของเขา
หากท่านจำเป็นต้องคบหากับเขา...อย่าเปิดเผยความลับแก่เขา
อย่าขอคำแนะนำจากเขา...อย่าหลงกลหากเขาทำตัวเป็นมิตรกับท่าน
อย่าหลงเชื่อสิ่งที่เขาแสดงออกว่าเป็นคนเคร่งครัดหรือแม้แต่การอิบาดะฮฺของเขา
เพราะความอิจฉาริษยาสามารถครอบงำจิตใจของคนที่เคร่งครัดในศาสนาได้"
صيد الخاطر/٤٦٣
ท่าน ฮะซัน อัลบัศรีย์ -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-
ความเสื่อมของหัวใจเกิดจากหกสิ่งนี้
1. ทำบาปโดยหวังว่าจะกลับใจในภายหลัง
2. ศึกษาหาความรู้แต่ไม่นำไปปฏิบัติ
3. หากปฏิบัติแล้วก็ไม่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
4. กินปัจจัยยังชีพที่อัลลอฮฺประทานให้แต่ไม่ขอบคุณ
5. ไม่พอใจกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนด
6. ฝังศพญาติพี่น้องของตนเองแต่ไม่ระลึกถึงความตาย
إيقاظ أولي الهمم العالية 1/96
มีคนถามอิมามอัชชาฟิอี -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ- ว่า : "ความคิดในแง่ร้ายต่ออัลลอฮฺเป็นอย่างไร?"
ท่านตอบว่า : "ความวิตกกังวลเกินเหตุ ความกลัวตลอดเวลาว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น
และการคอยเฝ้าระวังว่าความโปรดปรานจะหมดไป ทั้งหมดนี้คือความคิดในแง่ร้ายต่อพระผู้ทรงเมตตาและกรุณาเสมอ"
«حلية الأولياء لأبي نعيم - ٩ / ١٢٣»
อิบนุ อัล-เญาซีย์ -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-
"สมควรอย่างยิ่งที่ความพยายาม (ในการทำอิบาดะฮฺ) ในช่วงท้ายของเดือน (รอมฎอน) ควรมีมากกว่าต้นเดือน ด้วยเหตุผลสองประการ:
▹▹ ประการแรก : เพราะความประเสริฐของสิบคืนสุดท้าย และการแสวงหา ‘คืนลัยละตุลก็อดรฺ’ ซึ่งเราได้ทราบมาแล้วว่า: "จงแสวงหามันในห้าคืนสุดท้าย หรือสามคืนสุดท้าย หรือคืนสุดท้ายของเดือน"
▹▹ ประการที่สอง : เพราะเป็นการอำลาจากเดือนที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า เราจะมีโอกาสพบเดือนนี้อีกหรือไม่"
[ التبصرة (٤٩٣/٢)]
อิบนิ อุษัยมีน -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-
"ฉันขอเล่าเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับ "الورع" (วะเราะอฺ) ความสำรวมและความเคร่งครัด ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เคยมีผู้เล่าให้ฉันฟัง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับชายคนหนึ่งเขาได้ตัดต้น "อัษลฺ" (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง) เมื่อเขากลับมาเพื่อจะเก็บไม้ของตน
ปรากฏว่าเพื่อนบ้านของเขาก็ได้ตัดต้น "อัษลฺ" เช่นกัน และนำมากองรวมไว้ใกล้ๆกองไม้ของเขา
ชายผู้นั้นจึงนำไม้ของเขาไปวางบนหลังอูฐ มัดเรียบร้อย และจูงอูฐเพื่อให้มันลุกขึ้น แต่มันกลับไม่ยอมลุก เพราะบนหลังมันมีไม้ที่ไม่ใช่ของเขา !
ชายคนนั้นเป็นผู้ที่รู้จักในด้านความสำรวมยำเกรงและความดีงาม เขาจึงพยายามไล่อูฐและแม้กระทั่งเฆี่ยนมัน แต่มันก็ยังไม่ยอมลุก เขาจึงรู้สึกประหลาดใจ
เมื่อทบทวนเหตุการณ์ ก็พบว่าเขาหยิบไม้ของคนอื่นมาปะปนกับของตนเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาจึงนำไม้ที่ไม่ใช่ของตนออก เหลือเพียงไม้ของเขา เมื่อลองจูงอูฐอีกครั้ง เพียงแค่เรียกเบาๆ อูฐก็ลุกขึ้นแต่โดยดี แล้วเดินต่อไปทันที
ซุบฮานัลลอฮฺ ! นี่คือการคุ้มครองของอัลลอฮฺที่มีต่อมนุษย์ พระองค์ทำให้เกิดอุปสรรคต่อสิ่งต้องห้ามที่เป็นโทษต่อตัวเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว
บางครั้งพระองค์อาจไม่ประทานในสิ่งที่เรารักและปรารถนา แต่สุดท้ายแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นความดีงามสำหรับตัวเรา"
فتح ذي الجلال والإكرام بشرح بلوغ المرام (١٠٣٥٨)
อิบนิล ก็อยยิม -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ-
"ต้นเหตุของบาปทั้งมวลมีสามประการ:
1. ความหยิ่งผยอง (الكبر) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ อิบลีส ต้องเผชิญกับชะตากรรมของมัน
2. ความโลภ (الحرص) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ท่านนบีอาดัม ถูกขับออกจากสวรรค์
3. ความอิจฉาริษยา (الحسد) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ หนึ่งในลูกๆของท่านนบีอาดัม ลงมือทำร้ายพี่น้องของตน
ดังนั้น ผู้ใดได้รับการปกป้องจากภัยของสามสิ่งนี้ เขาย่อมได้รับการปกป้องจากความชั่วร้ายทั้งมวล
เพราะการปฏิเสธศรัทธามาจากความหยิ่งยโส บาปทั้งหลายเกิดจากความโลภ และการอธรรม การกดขี่ข่มเหงมาจากความอิจฉาริษยา"
الفوائد/٥٨
❝ จงทำเพื่อให้ได้รับผลบุญ ไม่ใช่เพื่อให้คนกล่าวถึงและสรรเสริญ ❞
ผู้มีสติปัญญาและมีไหวพริบจะไม่เฝ้ารอผลของความดีที่เขากระทำจากผู้คน และไม่คาดหวังผลตอบรับจากพวกเขา เพื่อให้รู้สึกมีความสุขหรือปิติยินดี
ความสุขที่แท้จริงมาจากการแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ ส่วนผลของความดีที่กระทำบางครั้งอาจปรากฏ หรืออาจเลือนหายไป หรืออาจตามมาด้วยการถูกทำร้ายก็เป็นได้
ไม่มีใครสามารถทำความดีได้เท่ากับท่านนบี ﷺ แต่สิ่งที่ท่านได้รับจากกลุ่มชนของท่านกลับเป็นการต่อต้านและความเกลียดชัง
เพราะฉะนั้น "จงทำเพื่อให้ได้รับผลบุญ ไม่ใช่เพื่อให้คนกล่าวถึงและสรรเสริญ"
อัลลอฮฺตรัสว่า:
(وَمَنْ أَرَادَ الْآخِرَةَ وَسَعَىٰ لَهَا سَعْيَهَا وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَأُولَٰئِكَ كَانَ سَعْيُهُم مَّشْكُورًا (19
"และผู้ใดปรารถนาอาคิเราะฮฺ และขวนขวายแสวงหาเพื่อมันอย่างจริงจัง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา
ชนเหล่านั้น การขวนขวายของพวกเขาจะได้รับการขอบคุณ"
[ซูเราะฮฺ อัลอิสรออฺ : 19]
ชัยคฺ อับดุรเราะฮฺมาน อัซ-ซะอฺดีย์ -ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ- ได้อธิบายอายะฮฺนี้ไว้ว่า:
{ وَمَنْ أَرَادَ الْآخِرَةَ }
♥ คือผู้ที่พอใจและเลือกอาคิเราะฮฺเหนือโลกนี้
{ وَسَعَى لَهَا سَعْيَهَا }
♥ ซึ่งความพยายามนั้นเป็นสิ่งที่คัมภีร์ต่างๆ จาก (เตารอต-อินญีล-ซะบูร-อัลกุรอ่าน) และหลักฐานจากท่านนบีได้เชิญชวนไว้ แล้วเขาก็ปฏิบัติตามเท่าที่เขาสามารถ
{ وَهُوَ مُؤْمِنٌ }
♥ โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ต่อบรรดามลาอิกะฮฺ บรรดาคัมภีร์ และบรรดาร่อซู้ล
{ فَأُولَٰئِكَ كَانَ سَعْيُهُمْ مَشْكُورًا }
♥ ความพยายามของเขาจะได้รับการตอบรับ ถูกเพิ่มพูน และถูกเก็บไว้ให้เป็นรางวัลสำหรับพวกเขา ณ ที่พระเจ้าของพวกเขา
تفسير الامام السعدي رحمه الله
•┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈••┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈••┈┈┈••✦✿✦••┈┈┈•