สงครามที่หลอกลวง
  จำนวนคนเข้าชม  85

สงครามที่หลอกลวง: การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ระหว่างศาสนาและผลประโยชน์

 

เรียบเรียงโดย  อิสมาอีล  กอเซ็ม  

 

     มวลการสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

          สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ใช่เพียงการปะทะกันระหว่างรัฐชาติหรือกลุ่มเชื้อชาติเท่านั้น หากแต่เป็นการปะทะกันระหว่าง แนวคิด ความเชื่อ และผลประโยชน์ ซึ่งซับซ้อนและแยบยลยิ่งกว่าที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณะ 

 

          ชาวมุสลิมจำนวนมากถูกเบี่ยงเบนให้หลงเชื่อว่า การต่อสู้ระหว่างรัฐยิวไซออนิสต์กับกลุ่มอัรรอฟิเฎาะห์ในบางพื้นที่ของโลกอิสลาม เป็น "สงครามเพื่อศาสนา" หรือเป็นการปกป้องแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ทว่าเมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งตามแนวทางของอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จะพบว่า ทั้งสองกลุ่มนั้นต่างดำเนินพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการของอิสลามแท้จริง ทั้งในแง่ของความเชื่อ การเมือง และการใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

 

          ฝ่ายยิวไซออนิสต์ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อการขยายอํานาจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลในปี ค.ศ. 1948 โดยอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ว่าเป็น "แผ่นดินแห่งพันธสัญญา" (ดินแดนที่สัญญาไว้) ที่พระเจ้าสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของพวกเขา

 

          ในขณะเดียวกัน กลุ่มอัรรอฟิเฎาะห์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่เบี่ยงเบนจากแนวทางของอะฮฺลุซซุนนะฮฺ ได้มีบทบาทในการแทรกแซงทางศาสนาและการเมืองในหลายประเทศมุสลิม ด้วยการอ้างว่าตนคือผู้ปกป้องอิสลามและอิหม่าม ทั้งยังอ้างสิทธิ์ทางศาสนาในการเป็นผู้นำของประชาชาติมุสลิม 

 

          ทว่าในทางปฏิบัติ กลุ่มดังกล่าวได้ ร่วมมือทางอ้อมหรือโดยตรง กับอำนาจนอกศาสนาในการบ่อนทำลายเอกภาพของประชาชาติอิสลาม  ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ เช่น การมีบทบาทสนับสนุนการล่มสลายของอาณาจักรอับบาซียะฮฺในมือของมองโกล ผ่านบุคคลที่นับถือลัทธิรอฟิเฎาะห์

 

          จึงอาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้ระหว่างยิวไซออนิสต์กับกลุ่มรอฟิเฎาะห์ในปัจจุบัน มิใช่การต่อสู้ระหว่าง "อิสลามกับศัตรูของอิสลาม" อย่างแท้จริง หากแต่เป็น การปะทะของกลุ่มผลประโยชน์ที่ต่างบิดเบือนศาสนา เพื่ออุดมการณ์เฉพาะตน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือมุสลิมทั่วไปที่ยึดมั่นในหลักการอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ

 

          สงครามที่ดำเนินอยู่จึงมิใช่เพียงการสู้รบด้วยอาวุธ หากแต่เป็น “สงครามแห่งแนวคิดและการหลอกลวง” ที่จำเป็นต้องเปิดเผยความจริงให้ประชาคมมุสลิมตระหนักอย่างชัดเจน เพื่อปกป้องตนจากกับดักของการเมือง ศาสนา และประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด และหวนคืนสู่แนวทางบริสุทธิ์ของอิสลามที่แท้จริง

 

          แม้กลุ่มรอฟิเฎาะห์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองของพวกเขาอย่างเช่นรัฐอิหร่าน จะพยายามนำเสนอภาพลักษณ์ว่าเป็น “แนวหน้าในการต่อต้านไซออนิสต์” และ “ผู้ปกป้องชาวปาเลสไตน์” ผ่านถ้อยแถลงต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในระดับโลกมุสลิม แต่เมื่อพิจารณาจาก พฤติกรรมและข้อเท็จจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กลับพบว่า แนวทางการเคลื่อนไหวเหล่านี้มักไม่เคยนำไปสู่การเผชิญหน้าหรือความขัดแย้งที่แท้จริงกับรัฐอิสราเอลในระดับ “แตกหัก” ตามที่วาทกรรมได้กล่าวอ้าง

 

          ในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลจำนวนมาก จำกัดอยู่ในระดับการเมืองทางอ้อม หรือสงครามตัวแทน ผ่านกลุ่มต่าง ๆ เช่น ฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน หรือกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มในปาเลสไตน์ เช่น ฮามาส (ซึ่งแม้จะไม่ใช่รอฟิเฎาะห์โดยตรง แต่ได้รับการสนับสนุนบางส่วนในบางช่วงเวลา) ทว่าการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างรัฐอิหร่านกับรัฐอิสราเอลนั้นกลับมีลักษณะ “หลีกเลี่ยง” ความขัดแย้งโดยตรงมาโดยตลอด

 

           นักวิชาการหลายท่านจากสายอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เช่น เชค อับดุลอะซีซ อิบนุ บาซ, เชคซอเลห์ อัรเราะญีฮีย์ และอิบนุตัยมียะฮฺ ได้เคยเตือนเกี่ยวกับ ความอันตรายของแนวคิดและอุดมการณ์ของกลุ่มรอฟิเฎาะห์ โดยเห็นว่ากลุ่มนี้มักจะใช้ศาสนาและประเด็นทางอารมณ์มาเป็นเครื่องมือในการเบี่ยงเบนมวลชนมุสลิมให้หลงเชื่อในความเป็น “แนวร่วมอิสลาม” ทั้งที่ในความเป็นจริง กลุ่มนี้มีความขัดแย้งเชิงหลักการกับแนวทางอะฮฺลุซซุนนะฮฺในหลายประเด็น เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับเศาะหาบะฮฺ, อิหม่ามะฮฺ และการดุอาอ์ต่อผู้ตาย

 

          ดังนั้น การโห่ร้อง การเดินขบวน หรือแม้กระทั่งการประกาศ "วันกุดส์" โดยอิหร่าน ซึ่งจัดขึ้นในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมาฎอนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านอิสราเอล จึงควรถูกพิจารณาอย่างรอบคอบว่า เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง มากกว่าจะเป็นการต่อสู้ที่มีรากฐานจากหลักศรัทธาที่ถูกต้อง และไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสถานการณ์ของชาวปาเลสไตน์

 

          จึงไม่อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มรอฟิเฎาะห์มีความหวังดีอย่างแท้จริงต่ออิสลามและประชาชาติมุสลิม แม้ว่าจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ผ่านการต่อต้านศัตรูของอิสลาม แต่เนื้อแท้ของแนวคิดและพฤติกรรมในอดีตและปัจจุบันชี้ชัดว่า สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเพียงกลยุทธ์ในการแสวงหาอิทธิพลและบิดเบือนการรับรู้ของประชาติอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ข้อมูลสามารถถูกบิดเบือนได้อย่างง่ายดายผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย