แนวทางในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ
  จำนวนคนเข้าชม  16704

 

แนวทางของนักปราชญ์(มุฮัดดิซีน) ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ

 

โดย  ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข

บทนำ

               ฮะดีษในนิยามของนักปราชญ์ทางฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) คือสิ่งที่พาดพิงถึงท่านนบี  ในทุกๆด้าน เช่น คำพูด การกระทำ การยอมรับ ในคุณลักษณะทั้งในด้านสรีระ และจริย ตลอดจนชีวประวัติของท่าน ทั้งก่อนและหลังการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี *( ดูมุสตอฟา อัสซิบาอีย์ : “อัซซุนนะห์วะมากานะตุฮา” หน้า 47 ) ฮะดีษมีองค์ประกอบสำคัญอยู่สองส่วน คือตัวบท (มะตัน متن ) และสายรายงาน  (สะนัด  سند)

             ฮะดีษในยุคของท่านนบี  เป็นเพียงตัวบทที่เหล่าสาวก (ซอฮาบะห์) ได้รายงานและจดบันทึกไว้ ครั้นต่อมาไม่นานนักก็ได้มีการกำหนดสายรายงานสำหรับการรายงานทุกๆฮะดีษ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแอบอ้างและกล่าวเท็จต่อท่านนบี  สายรายงาน (สะนัด) จึงเป็นส่วนสำคัญต่อการพิจารณาตัวบทฮะดีษว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร

             ท่านอิบนุซีรีน *(ซอฮีฮฺ มุสลิม 1/15 บางรายงานระบุว่า เป็นรายงานของท่านอับดุลลฮฺ บินนุ มุบาร็อก ฮ.ศ.181) (สิ้นชีวิตเมื่อ ฮ.ศ.ที่ 110)  กล่าวว่า :
              สายรายงาน (อิสนาด) นับเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา (อิสลาม) หากไม่มีสายรายงานแล้ว บุคคลก็สามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด

             ตัวบทและสายรายงานฮะดีษได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จากเหล่านักปราชญ์ทางด้านฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ทั้งในแง่ของการบันทึก การรวบรวม การกลั่นกรอง การวิพากษ์วิจารณ์ และการอรรถาธิบายในแง่มุมต่างๆ


             ในส่วนของสายรายงานนั้น นักปราชญ์ (มุฮัดดิซีน) ได้วางมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้อย่างละเอียดและพิสดารยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่ามุสลิมเป็นประชาชาติเดียวที่สามารถรักษาตัวบทที่ถ่ายทอดจากท่านนบี  ด้วยระบบสายสืบและวิธีการกลั่นกรองที่ไม่เคยมีประชาชาติใดเคยกระทำมาก่อน

ศาสตร์ต่างๆของฮะดีษเช่น วิชาที่ว่าด้วยทฤษฎีและการหลักในการพิจารณาฮะดีษ (อัลมุสฏอละฮ์) วิชาที่ว่าด้วยการประเมินคุณสมบัติของผู้รายงาน (อัลญัรฮฺวัตตะอฺดีล) วิชาที่ว่าด้วยไวรัสของฮะดีษ (อัลอิลัล) ศาสตร์เหล่านี้ล้วนเป็นศาสตร์อันละเอียดอ่อน ที่เหล่านักปราชญ์ทางด้านฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ในอดีตคิดขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองฮะดีษ และส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสายรายงานอันประกอบด้วยบุคคล ผู้รายงาน กระบวนการรายงาน และสำนวนที่ใช่ในการรายงาน จนทำให้ดูประหนึ่งว่านักปราชญ์ทางด้านฮะดีษ(มุฮัดดิซีนนั้น)นั้น สนใจในการพิจารณาสายรายงานแต่เพียงด้านเดียว ไม่สนใจพิจารณาในส่วนของตัวบท (มะตัน) ซึ่งก็หมายความว่า ฮะดีษที่ใช้ได้นั้น คือ ฮะดีษที่มีสายรายงานถูกต้องเพียงอย่างเดียว ส่วนตัวบทจะเป็นอย่างไรไม่พิจารณา  ความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง *(เป็นความเข้าใจของนักปราชญ์ตะวันตก Orientalist และของ ด.ร. อะห์หมัด อะมีน ในหนังสือ “ฟัจญรุลอิสลาม” หน้า 217,218 (ดูอัซซุนนะห์ ก็อบลัดตัดวีน หน้า 254)  เนื่องจากนักปราชญ์ทางด้านฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) มีแนวทางที่ชัดเจนในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ และได้ให้ความสำคัญต่อตัวบทไม่แตกต่างจากสายรายงานแต่อย่างใด

          บทความนี้จึงขอมีส่วนในการให้ความกระจ่างต่อประเด็นดังกล่าว เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป  (والله المستعان )

 

ขั้นตอนของนักปราชญ์ทางด้านฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ

            มีข้อเท็จจริงสองประการที่นักปราชญ์มุฮัดดิซีนเห็นตรงกัน คือ :

     1.         ฮะดีษที่ซอฮีฮฺนั้น จะต้องซอฮีฮฺ ทั้งสายสืบ (สะนัด) และตัวบท (มะตัน) 

            สายสืบซอเฮี๊ยะ หมายถึง สายสืบที่ติดต่อกันไม่ขาดตอนและผู้รายงานทั้งหมดต้องมีคุณธรรมและความจำเป็นเลิศ 
            ส่วนตัวบทที่ซอฮีฮฺ หมายถึง ไม่ขัดแย้งกับสายอื่นที่น่าเชื่อถือมมากกว่า หรือมีจำนวนมากกว่า หรือที่รู้กันในหมู่นักวิชาการว่า “ชูซู๊ซ” และไม่มีข้อบกพร่องที่ซ่อนเร้นอยู่ (ไวรัส) หรือที่รู้จักกันในหมู่นักวิชาการว่า “อิลละห์”

     2.          สายสืบที่ซอฮีฮฺ ไม่จำเป็นว่าตัวบทจะต้องซอฮีฮฺเสมอไป เนื่องจากตัวบทอาจมีลักษณะชูซู๊ซ หรือมีอิลละห์ และเช่นเดียวกัน ตัวบทที่ซอฮีฮฺก็ไม่จำเป็นว่าสายสืบจะซอฮีฮฺเสมอไป เพราะบางครั้งพบว่า ฮะดีษหลายบทมีสายรายงานที่ไม่ซอฮีฮฺ เนื่องจากขาดเงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใดของความเป็นซอฮีฮฺ แต่ตัวบทกลับเป็นตัวบทที่ซอฮีฮฺ เนื่องจากมีสายรายงานอื่นๆที่ซอฮีฮฺรายงานตัวบทนั้นๆ
            อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าฮะดีษส่วนใหญ่ได้รับการประเมินโดยพิจารณาสายสืบเป็นสำคัญ เนื่องจากความน่าเชื่อถือของผู้รายงาน (สายสืบ) แสดงถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล (ตัวบท) ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลที่รายงาน(ตัวบท) เนื่องจากมีกรณีแวดล้อมบ่งบอกถึงความไม่น่าเชื่อถือ

 ท่านอิมามชาฟีอีย์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.ที่ 204) ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวด้วยสำนวนวิชาการว่า :
             “ความน่าเชื่อถือ และไม่น่าเชื่อถือของฮะดีษส่วนใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ และไม่น่าเชื่อถือของผู้รายงาน และมีฮะดีษอยู่จำนวนน้อยที่ความน่าเชื่อถือ และไม่น่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับตัวบท เช่นเป็นตัวบทที่ไม่น่าจะเป็นฮะดีษจากท่านนบี  หรือเป็นตัวบทที่ขัดแย้งกับหลักฐานต่างๆที่ชัดเจน” *(ท่านอัลบัยฮะกีย์ ได้รายงานคำพูดนี้ในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า “มะอฺริฟะตุซซุนัน วัลอาซ๊าร” หน้า 50)

 

        จากข้อความข้างต้นนั้นพอสรุปได้ว่า นักปราชญ์ทางด้านฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) มีแนวทางในการพิจารณาฮะดีษอยู่สองแนวทางคือ

     1.     พิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้รายงานเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับฮะดีษโดยส่วนใหญ่ และเป็นเกณฑ์ธรรมชาติที่บุคคลทั่วไปนำไปใช้ในการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร

     2.     พิจารณาตัวบท เมื่อมีกรณีแวดล้อมเบี่ยงเบนความน่าเชื่อถือ

             นักปราชญ์วิชาอัลมุสฏอละห์ ได้กำหนดกรอบไว้อย่างชัดเจนในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ กรอบดังกล่าวได้แก่สิ่งที่ถูกระบุไว้ในเงื่อนไขของการพิจารณาฮะดีษซอฮีฮฺสองประการคือ หนึ่ง : ลักษณะที่เรียกว่า “ชูซู๊ซ” และสอง :คือลักษณะที่เรียกว่า “อิลละห์” สองลักษณะดังกล่าวนี้นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวบทไม่น่าเชื่อถือ (ฏ่ออีฟ) ทั้งๆที่สายรายงานมีความน่าเชื่อถือ

  และต่อไปนี้คือรายละเอียดของขั้นตอนการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

 
ขั้นตอนที่หนึ่ง : การพิจารณา “ชูซู๊ซ” และรูปแบบต่างๆของชูซู๊ซ

ความหมายของ “ชูซู๊ซ” ในตัวบท

               ชูซู๊ซ คือการที่รายงานของผู้เชื่อถือได้คนหนึ่งไปขัดแย้งกับรายงานของผู้ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า หรือขัดแย้งกับรายงานของผู้ที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนมากกว่า ด้วยการเพิ่ม หรือสับเปลี่ยน หรือทำให้สับสน หรือเปลี่ยนรูปคำ หรือแทรกถ้อยคำ การขัดแย้งดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุของความผิดพลาด หรือความเข้าใจผิดของผู้รายงานก็ได้


นักปราชญ์ (มุฮัดดิซีน) มีวิธีค้นพบชูซู๊ซ สองวิธีคือ

     ก. รวบรวมสายรายงานและสำนวนของฮะดีษเพื่อเปรียบเทียบว่าสำนวนของแต่ละสายมีความสอดคล้องกันหรือขัดแย้งกันอย่างไร

     ข. ค้นหาทัศนะของผู้เชี่ยวชาญจากหนังสือ “อิลัลฮะดีษ” หรือหนังสืออธิบายฮะดีษ หรือหนังสืออื่นๆ

 

 

ติดตามตอนต่อไป   Click>>>> Click