เตรียมเต้านมก่อนคลอด
  จำนวนคนเข้าชม  34448

เตรียมเต้านมก่อนคลอด

          เตรียมพร้อม.....ไม่ยุ่งยาก

          วิธีการดูแลเต้านมแม่ก่อนคลอด ไม่มีการดูแลที่พิเศษ เพียงรักษาความสะอาดโดยการอาบน้ำตามปกติ คุณแม่ไม่ควรทาครีมหรือโลชั่นบริเวณหัวนม เพราะจะไปอุดตันท่อน้ำมันหล่อลื่นบนเต้านม และจะทำให้เกิดแผลได้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ 

         คุณแม่สามารถตรวจง่ายๆด้วยตัวเอง โดยการใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับหัวนม ถ้าสามารถจับได้แสดงว่าปกติ แต่ถ้าเป็นหัวนมบอดเวลาจับหัวนมจะบุ๋มเข้าไปมากกว่าปกติ ซึ่งถ้าตรวจพบก่อนจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะแก้ไข โดยการนวดดึงหัวนม สามารถไปขอคำปรึกษาได้ที่คลีนิก หรือโรงพยาบาลที่ไปฝากครรภ์ค่ะ

          สำหรับการแก้ไขนั้นไม่ยาก เพราะจะมีวิธีการนวดให้หัวนมคลายออกมา ที่เรียกว่า  Hoffman's Maneuver  โดยการวางปลายนิ้วโป้งลงที่ขอบลานนม ในทิศทางตรงกันข้ามกดลงแล้วยืดผิวหนังออกทางด้านข้างทั้งสองข้างพร้อมกัน แล้วปล่อยให้หัวนมคลายตัว ทำซ้ำสัก 4-5 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้า-เย็น

          การตรวจเต้านมในกรณีที่หัวนมอาจสั้น บอด หรืออื่นๆ พบได้ไม่มาก ควรที่จะตรวจสอบโดยการถอดเสื้อชั้นในออกก่อน การสวมเสื้อไว้อาจทำให้ดูเหมือนหัวนมแบนราบ แต่เมื่อกระตุ้นโดยการสัมผัสก็จะยื่นออกมาเป็นปกติ อย่าลืมว่าการกระตุ้นหัวนมมากเกินไป จะมีผลไปกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก อาจพาไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้

          การเตรียมทางกายภาพอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาหัวนม การสร้างความคุ้นเคยในการสัมผัสบริเวณหัวนม ในการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า อาจมีผลในเชิงลบต่อกำลังใจ เพราะทำให้แม่คิดว่ามีโอกาสที่จะล้มเหลวจากรูปร่าง จึงไม่ค่อยมีการกระตุ้นหรือเตรียมการก่อน และถ้ามีการเริ่มต้นการดูดที่ถูกต้อง ตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ ก็จะช่วยให้การดูดของลูกเป็นไปได้ง่ายขึ้น การประคองเต้านมให้เหลือพื้นที่บริเวณลานนมมากๆ จะช่วยให้บริเวณลานนมมีโอกาสยืดได้ดีขึ้น การประคองเต้านม และการอุ้มลูกจึงเป็นเทคนิคสำคัญ การฝึกอุ้มตุ๊กตา หรืออุ้มเด็กเล็กๆ จะช่วยเพิ่มประสบการณ์และความมั่นใจได้ดีขึ้นค่ะ

          เทคนิคดูแลเต้านมอย่างถูกวิธี

          1. อาบน้ำทำความสะอาดตามปกติ ซับให้แห้งเสมอ ไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ

          2. ไม่จำเป็นต้องใช้ครีมทาหัวนม เพราะจะไปอุดตันต่อมน้ำมันที่ลานนม การใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิวพรรณ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวสามารถทำได้ แต่อาจไม่มีความจำเป็นเลย ถ้าผิวเป็นผิวมัน

          3. หลีกเลี่ยงการขัดถูที่หัวนม รวมถึงการดึงเพื่อกำจัดไขมันบนหัวนม เพราะอาจนำไปสู่การเป็นแผล และการอักเสบติดเชื้อได้

          4. ถ้ามีเต้านมใหญ่มาก ควรสวมยกทรงที่มีขนาดพอดีเพื่อประคองเต้านม แต่ถ้าเต้านมมีขนาดเล็กอาจไม่จำเป็นต้องสวมยกทรง เพราะบางคนรู้สึกสะดวกที่ไม่ต้องสวมยกทรง ยกทรงที่ดีไม่ควรหลวมหรือคับแน่นจนเกินไป และไม่ควรมีโครงลวดเหล็ก

          5. ถ้ามีน้ำนมซึมออกมาบ้างก็ซับให้แห้ง การใช้แผ่นน้ำนมที่ซับได้ หรือใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กที่ทำความสะอาดง่าย และระบายลมได้ดีกว่า เป็นการประหยัดและรักษาสิ่งแวดล้อม

          การเตรียมใจและคนรอบข้างให้เข้าใจนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นทั้งกำลังใจ และช่วยผ่อนคลายให้ได้พักตามสบาย ในที่นี้รวมถึงเพื่อนๆ ที่จะสนับสนุนโดยไม่ซื้อจุกนม ขวดนม มาเป็นของเยี่ยม รับขวัญหลาน แต่เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์อื่นๆ และอาหารที่บำรุงสุขภาพและน้ำนมแม่ให้ลูกได้กินจะดีกว่า

          การเริ่มต้นการดูดตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ ก็จะช่วยให้การดูดของลูกเป็นไปได้ง่ายขึ้น ให้แม่และลูกได้อยู่ด้วยกันให้มากที่สุด เพราะเป็นการช่วยให้แม่มีน้ำนมมากขึ้นอย่างเพียงพอ กับความต้องการ การแยกแม่แยกลูกทำให้ไม่มีการกระตุ้นน้ำนมตั้งแต่แรก และขาดความสม่ำเสมอต่อเนื่อง การสร้างน้ำนมก็จะได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องมีการเสริมนมผง

          หลักการที่ว่ายิ่งลูกกินมาก น้ำนมยิ่งมีมากต้องท่องไว้เสมอจะได้ไม่หวั่นไหว ชัยชนะอยู่แค่เอื้อมเท่านั้นเองค่ะ.

มีนะ  สพสมัย

กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แห่งประเทศไทย