ความประเสริฐของการอุปการะเด็กกำพร้า
  จำนวนคนเข้าชม  27913

ส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของการอุปการะเด็กกำพร้า

รายงานจาก ซะฮฺลฺ อิบนิซะอฺดฺ กล่าวว่า ท่านรอซูล  กล่าวว่า :

“ฉันและผู้อุปการะเด็กกำพร้า จะได้อยู่ในสวรรค์เช่นนี้”
และท่านรอซูลได้ชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางขึ้นแล้วแยกออกจากกัน

บันทึกโดยบุคอรีย์
(ดูในบุคอรีย์ เล่ม 10 หน้า 365)

คำอธิบาย
        
           เด็กกำพร้าคือเด็กที่บิดาเสียชีวิต และยังไม่บรรลุนิติภาวะ เขายังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่ได้รับสั่งเสียว่า จะคอยดูแลให้ อาจจะด้วยทรัพย์ของเขาที่ผู้เป็นบิดาทิ้งไว้ให้ หรือเขายากจนไม่มีทรัพย์สิน เขาก็ยังต้องการผู้อุปการะเช่นกัน

         อุปสรรคต่างๆในชีวิต จะทำให้เขานึกถึงพ่อที่ตายไป และเกิดความวิตกกังวลต่อการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงส่งเสริมให้มุสลิมเข้ามาโอบอุ้มเด็กกำพร้าแทนบิดาของเขา อิสลามยกระดับของผู้ที่เลี้ยงดูเด็กกำพร้าให้เขาได้เป็นชาวสวรรค์ และอยู่ในระดับสูงสุด คือได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านนบี ในสวรรค์

        ถ้าหากเราปล่อยปะละเลย ไม่ให้ความสนใจต่อการอุปการะเด็กกำพร้า จะทำให้เด็กเหล่านั้นมีชีวิตอยู่อย่างไร้เป้าหมาย ถ้าหากเราเข้าไปดูแลก็จะทำให้พวกเขามีอนาคตสดใสเหมือนเด็กคนอื่นๆได้

        ท่านรอซูล ก็เป็นเด็กกำพร้า ท่านได้รับความเอ็นดูเมตตาจากอัลเลาะห์ ให้มีผู้อุปการะเลี้ยงดูท่านอย่างดี จนกระทั่งในที่สุด โลกทั้งโลกก็ได้รับเอาแนวทางในการดำเนินชีวิตจากท่าน เมื่ออัลเลาะห์ ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ประกาศศาสนาอิสลาม

สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้


1. สังคมส่วนรวมต้องให้การอุปการะต่อผู้ที่อ่อนแอ
2. เมื่อผู้หนึ่งขาดแคลนสิ่งใด สังคมส่วนรวมจะต้องช่วยกันชดเชยสิ่งนั้นให้
3. ผู้ใดรับทราบฮะดีษบทนี้แล้วควรจะปฏิบัติตามทันที เพื่อเข้าจะได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ในวันอาคิเราะห์ คือได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านนบีในสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดจะสูงส่งกว่านี้อีกแล้ว


ในอีกรายงานหนึ่งของมุสลิมกล่าวว่า

รายงานจาก อบีฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :

               ผู้อุปการะเด็กกำพร้า ไม่ว่าจะเป็นญาติใกล้ชิด (เช่น แม่ ปู่ หรือพี่น้อง) หรือเป็นคนอื่นๆที่ไม่ใช่ญาติสนิทก็ตาม ฉันกับเขาจะอยู่ใกล้ชิดกันในสวรรค์ เช่นเดียวกับสองนิ้วนี้

แล้วผู้รายงานหะดีษ คือ มาลิก อิบนิอะนัส ก็ชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางขึ้น

บันทึกโดยมุสลิม
(ดูในมุสลิม หะดีษเลขที่ 2983)

คำอธิบาย

               ผู้ให้การอุปการะเด็กกำพร้านั้น จะได้รับผลตอบแทนเหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็นญาติใกล้ชิด หรือ เป็นคนอื่น เพราะมุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างความเป็นญาติในฐานะมุสลิมด้วยกัน หรือเป็นญาติในฐานะสืบตระกูล ทุกฝ่ายจะต้องเสียสละ หันมาสนใจสังคมมุสลิม และพยายามให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้มาก

สิ่งที่ได้รับจากหะดีษนี้

1. มุสลิมจำเป็นต้องรับผิดชอบความทุกข์ยาก จากพี่น้องมุสลิมด้วยกัน
2. ชี้ให้เห็นถึงความประเสริฐของผู้ที่ดูแลเด็กกำพร้า



ที่มา: ริยาดุสซอลีฮีน


โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ