กล้ามเนื้อมัดใหญ่-เล็ก ก้าวสำคัญเรียนรู้โลก
  จำนวนคนเข้าชม  41544

กล้ามเนื้อมัดใหญ่-เล็ก ก้าวสำคัญเรียนรู้โลก

          พัฒนาการของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะนอกจากจะเลี้ยงดูให้เติบโตตามวัยแล้ว พัฒนาการที่ต่อยอดเจ้าหนูให้เรียนรู้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญ คือ พัฒนาการของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็ก มัดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้และการสร้างประสบการณ์ในทุกๆด้านของลูกน้อย

          ตั้งแต่แรกเกิดจวบจนวัยอนุบาล เป็นช่วงเวลาที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านต่างๆมากที่สุด โดยเฉพาะพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ เช่น การนอน นั่ง คลาน ยืน และเดิน ซึ่งถูกควบคุมโดยกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ทำงานได้อย่างดี สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่ว ไปจนถึงเมื่อนิ้วป้อมๆเริ่มจับ ปา ขยำ หยิบของเล่น เราก็รู้ได้ทันทีว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กของเขากำลังพัฒนาให้เข้าที่ตามลำดับ

          เรามาสังเกตกล้ามเนื้อต่างๆของลูก รวมทั้งวิธีการส่งเสริมเพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างดีราบรื่นสมวัย

0 - 1 ปี มือใหม่วัยละอ่อน

          หลังจากเจ้าตัวน้อยคลอดออกมาสู่อ้อมอกของแม่ กล้ามเนื้อของลูกที่ทำงานคงหนีไม่พ้นปากน้อยๆ ที่ดูดกลืนน้ำนมแสนอร่อยเข้าไป ดังนั้นปากจึงถือเป็นประตูสู่การเรียนอันดับแรกของลูกตัวน้อยนั่นเอง

Step 1 ลิ้น ช่องปาก และริมฝีปาก

          ช่วงระยะ 0-3 เดือน ลิ้น ปาก และริมฝีปาก ล้วนเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่เป็นหลักในการดูดน้ำนมจากเต้าของแม่ ลูกจะรู้จักการดุน ดูด และขบเต้านมเบาๆ เพื่อให้น้ำนมของแม่ไหลออกมา เรียกว่าเป็นสัญชาตญาณอย่างแรก สำหรับการเอาตัวรอด ซึ่งการเริ่มต้นใช้กล้ามเนื้อปากนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจโลกของลูกน้อย เพราะเมื่อเขาเติบโตขึ้น สิ่งแรกที่เขาจะทำคือการเอาของเข้าปาก เพราะปากเป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะได้เรียนรู้ว่าของที่กำลังสำรวจอยู่นี้มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

Parent's Time

          ช่วงเดือนแรกหน้าที่หลักๆ ของคุณพ่อ คุณแม่ ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ให้ลูกดูดนมแม่และหยอกล้อพูดคุยกับลูกบ่อยๆก็พอ เพราะลูกจะทำหน้าที่เรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว หรือบางทีคุณแม่อาจจะกระตุ้นด้วยตุ๊กตาหรือลูกบอลสีสันสดใส เอามาหยอกเล่นที่มือเจ้าหนู บ้างก็ได้ อย่างน้อยช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกสนใจมองและพยายามคว้าหยิบได้

Step 2  คอ ท้อง หลัง และลำตัว

          พ้น 4 เดือน จากที่เคยนอนตีพุงอยู่อย่างเดียวก็เริ่มคว่ำ พลิก หงาย และเข้าเดือนที่ 6-7 ก็จะนั่งได้เองแล้ว ตอนนี้การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นเรื่องเริ่มรู้จักการควบคุมร่างกายตัวเอง จากที่เคยนอราบ ก็ได้กลับตัวลุกนั่ง ใช้กล้ามเนื้อคอ หลัง และหน้าท้อง เพิ่มการทรงตัวให้กับร่างกาย ทำให้ได้เห็นทัศนียภาพใหม่ๆ ในมุมที่แปลกตาตลอดเวลา การเคลื่อไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ เพราะถ้าร่างกายพร้อมลูกน้อยก็พร้อมที่จะทำความรู้จักโลกใบนี้แล้ว

Parent's Time

          ถึงจะเริ่มเก่งขึ้น แต่ช่วงนี้กล้ามเนื้อของลูกยังไม่แข็งแรงเท่าไหรนักค่ะ ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือบ้าง อย่างเช่นใช้นิ้วชี้ของคุณแม่ให้เขาเอามือเกาะ แล้วค่อยๆดึงเขาขึ้นมาจากที่นอนจนตัวลอยเล็กน้อย ก็จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อช่วง ลำตัว คอ และแขนของลูกให้แข็งแรงเร็วขึ้น หรือจะแขวนโมบายล์ไว้ด้านบนไว้ให้ลูกดึงเล่น แต่ต้องให้เล่นในยามที่คุณแม่อยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดอันตรายได้ค่ะ

Step 3  แขน ขา          

          เมื่อข้าเดือนที่ 8 แขนขาของลูกจะเริ่มแข็งแรงขึ้นมาก สามารถดันตัวเองให้คืบคลานได้และปีนป่ายได้แล้ว ยิ่งโดยเฉพาะช่วงใกล้ขวบจะชอบโหนเฟอร์นิเจอร์ ระเบียง และเสาต่างๆ รวมทั้งขาของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อยันตัวเองขึ้นมาจากพื้นจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่นี่เองที่ทำให้ลูกน้อยมองหาสิ่งแปลกใหม่ มีความฮึกเหิม เคลื่อนไหวร่างกาย เข้าไปเรียนรู้กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งบางครั้งอาจจะขว้างของเล่นที่ตัวเองสนใจเพื่อทดสอบดูว่าของเล่นนั้นจะเป็นอย่างไร หรือว่าตัวเขานั้นขว้างไปได้ไกลแค่ไหน

 Parent's Time 

            คุณพ่อ คุณแม่อาจจะจัดเตรียมที่โล่งบริเวณห้องนั่งเล่น ด้วยการเอาหมอนมาวางเป็นภูเขาให้ลูกฝึกปีน หรือแม้แต่การปล่อยให้ลูกเดินล้ม และลุกขึ้นยืนใหม่เอง ก็จะทำให้กล้ามเนื้อของเขาแข็งแรง พร้อมที่จะเรียนรู้มากกว่าเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยปล่อยให้ล้ม หรือเดินเลย  

     

1 - 3 ปี นักสำรวจจอมซ่า

         วัยนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการซนระเบิด หรือเรียได้ว่าเป็นช่วงของพายุหมุนลูกน้อยๆที่บ้าน เพราะกล้ามเนื้อของลูกแข็งแรงมากขึ้น เริ่มเดินทางสู่โลกกว้างด้วยตัวเองแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาของลูกน้อยให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าวัยเรียน

Step 1  ร่างกายประสานงานกัน

          คำว่าร่างกายประสานงานกันคือ การที่ลูกเริ่มจะบังคับฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้เข้าที่เข้าทาง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นของเล่นสลับมือกันได้ กระโดดสองขา ซึ่งทุกอย่างในร่างกายจะประสานงานกันได้ดีนั้น เกิดจากการเล่นเป็นสำคัญ จากเดิมที่ต้องมีคนพยุงเดินก็ก้าวย่างได้อย่างมั่นใจ หรือวิ่งแล้วล้ม ทุกอย่างเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับการควบคุมกล้ามเนื้อ เรียกว่างเล่นมากยิ่งช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีและแข็งแรง เมื่อร่างกายดีก็พร้อมเรียนรู้และแสวงหาประสบการณ์ได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว

Parent's Time 

         บางครั้งคุณพ่อ คุณแม่ไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วงมากเกินไปนัก เมื่อเราเข้าใจวัยนี้แล้วว่าจากการที่เคยนอนอยู่กับเบาะมาเป็นปี พอเข้าวัยขวบกว่าการเรียนรู้ของเด็กจะอยู่ที่มุมสูงขึ้นเหมือนผู้ใหญ่ และรวมทั้งศักยภาพทางร่างกายจะสามารถเข้าหาสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้ได้เอง ดังนั้นเพื่อเอื้อให้การพัฒนากล้ามเนื้อประสานงานกัน คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีการจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อพัฒนาการของลูก ซึ่งในที่นี้เราจะเน้นเรื่องของการเคลื่อนไหว ที่เจาะจงพัฒนาการกล้ามเนื้อเป็นสำคัญ อย่างเช่น เดินเล่นในสนามหญ้า เล่นโยนผ้าเช็ดหน้าแล้วกระโดดขึ้นจับ เพื่อฝึกการทรงตัวให้พร้อมที่สุด จะเห็นได้ว่าเด็กที่ไม่ได้เล่น ไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ มักจะหกล้มง่ายเพราะกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงนั่นเอง

Step 2  แขน มือ นิ้ว

          พัฒนาการของเด็กวัย 1-3 ปีนั้น จะเริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างแขนขา จนถนัดเสียก่อน จึงเริ่มหัดใช้กล้ามเนื้อมัดที่มีขนาดเล็กลงมาตามลำดับ อย่างเช่น จากการใช้แขนขว้างบอล กลายเป็นกำดินสอเขียนเล่น และเริ่มใช้นิ้วจับดินสอตามที่ตัวเองถนัดเมื่อตอนอายุใกล้ 3 ขวบ ซึ่งนิ้วที่ลูกถนัดเป็นอันดับแรกคือ นิ้วชี้และนิ้วโป้ง

Parent's Time 

          การเสริมพลังแขนให้กับลูกคือการห้อยโหนของเล่นต่างๆ อย่างเช่นตัวของพ่อแม่เอง โหนราวบันได เก้าอี้ ซึ่งต้องระวังเรื่องความปลอดภัยให้มาก ที่สำคัญอย่าลืมเรื่องของน้ำและทราย เพราะทั้งน้ำและทรายมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกพัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากทรายแต่ละเม็ดไม่เหมือนกัน ลูกจะต้องใช้นิ้วจับกำลูบก่อตัวทรายขึ้นมา สร้างทั้งความเพลิดเพลินและการเรียนรู้ของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดี

Step 3  ท้อง หลัง และความสมดุล

          การเคลื่อนไหวและการบังคับกล้ามเนื้อให้สอดคล้องกันทั้งร่างกาย ไม่ได้สำคัญที่แขนและขาเท่านั้น กล้ามเนื้อหลัง คอ และหน้าท้องก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันคือการสร้างความสมดุลและการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ให้กับร่างกาย ซึ่งสามารถพัฒนาได้ด้วยการเล่นตีลังกา ว่ายน้ำ ให้รางกายได้เคลื่อนไหวทุกส่วน เพราะในวัยนี้เป็นวัยเริ่มต้นของการผจญภัยสู่โลกกว้าง

Parent's Time 

          เน้นกิจกรรมที่ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกาย ให้ลูกอยู่ในสถานที่อิสระกว้างพอสมควร มีเบาะกลิ้งไปมาได้หรือแม้แต่การปีนป่ายก็จะช่วยให้ลูกฝึกความสมดุลให้กับร่างกายได้อย่างดี

3 -6 ปี สนุกสนานไปกับประสบการณ์ใหม่

         เป็นวัยที่กล้ามเนื้อต่างๆ แข็งแรงขึ้นมาก เรีกว่าพร้อมที่จะทำงานสอดประสานกันผ่านกิจกรรมทั้งในบ้านและที่โรงเรียนอย่างเต็มที่เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนทำงานได้อย่างสัมพันธ์และเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น

Step 1  เขย่งกระต่ายขาเดียว

          จากพัฒนาการเข้าสู่วัยเรียนแล้ว เด็กๆต้องสามารถเดินเขย่งได้เป็นระยะทางกว่า 3 เมตรกระโดดขาเดียว ขึ้นบันไดแบบสลับขา หรือก้มเก็บของขณะวิ่ง ซึ่งความยากจะเพิ่มขึ้นตามลำดับและตามวัยของเขา ดังนั้นจะเห็นว่าหากเด็กคนไหนควบคุมกล้ามเนื้อได้ดี กล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้รับการฝึกฝนให้มีความแข็งแรง ก็จะสามรถเคลื่อไหวในท่าทางยากๆได้ดีเช่นกัน ซึ่งวัยนี้จะเริ่มแยกการควบคุมด้านซ้ายและขวาได้แล้ว เช่น เตะบอลด้วยเท้าขวาอย่างเดียว ขว้างบอลมือขวา

Parent's Time 

          กระตุ้นให้ลูกเล่นกีฬาที่ใช้ทักษะให้มากขึ้น เช่น จากการเตะบอลแบบธรรมดา ลองทำประตูอันย่อมให้ลูกฝึกเตะบอล และรวมทั้งการเล่นกับเพื่อนด้วย เพราะนอกจากลูกจะได้พัฒนาด้านกล้ามเนื้อแล้ว ลูกยังจะได้พัฒนาด้านสังคมไปพร้อมกันด้วย

Step 2  จับคู่นิ้วชี้ กลาง นาง โป้ง

          วัยนี้จะเริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วได้ดีมากขึ้น จะสามารถจับคู่แตะนิ้งโป้งกับสมาชิกนิ้วอื่นๆ ในมือได้ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถทดสอบง่ายๆ โดยให้ลูกหมุนขวดโหลหรืออะไรก็ได้ที่เป็นเกลียวอันใหญ่ๆ เพื่อวัดระดับความแข็งแรงของนิ้วมือ ซึ่งลูกวัยนี้เริ่มแข็งแรงมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่เกี่ยวข้องกับชั้นเรียนอนุบาล เพราะลูกต้องเริ่มจับดินสอด้วยนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง จึงจะเป็นวิธีจับที่ถูกต้องและสวยงามถูกหลัก

Parent's Time 

          โปรดอย่าลืมเม็ดทราย แป้งโด และดินน้ำมันเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยให้ลูมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงขึ้นมาก รวมทั้งฝึกความชำนาญด้วยสีเทียนด้ามโต กับกระดาษสีแผ่นใหญ่ ช่วยฝึกทิศทางการควบคุมนิ้วมือของลูกได้เหมือนกัน

Step 3  กิจวัตรประจำวัน

          เมื่อลูกโตพร้อมจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว ตามหลักถือว่าเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง ที่ลูกจะมีทักษะการดำเนินชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วย จากเด็กวัย 3 ขวบ ที่ยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น แต่เชื่อเถอะว่าลูกลูกพยายามจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการถอดเสื้อผ้า ถอดถุงเท้า หรือแม้แต่ช่วยคุณพ่อ คุณแม่รดน้ำต้นไม้ ทำสวน ล้างรถ ทำงานบ้าน

Parent's Time 

          จากวัยของลูกที่สามารถทำอะไรเองได้เยอะขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือเขาได้โดยการช่วยถอดกระดุมให้ลูกก่อนแล้วค่อยให้เขาถอดออกเอง หรือแม้แต่การให้ลูกได้จับด้ามแปรงสีฟันและแปรงฟันเอง แล้วเราคอยช่วยแปรงให้อีกรอบเพื่อความสะอาด จนเมื่อลูกปลดกระดุมหรือแปรงฟันเองได้ในที่สุด แม้จะใช้เวลานานหน่อยแต่ก็คุ้มค่า เพราะลูกได้ฝึกทักษะต่างๆ ในการช่วยเหลือตัวเอง

         พัฒนาการกล้ามเนื้อของลูกน้อย นับว่าเป็นสิ่งสมควรพัฒนาเป็นอันดับแรกๆ เพราะเป็นประตูบานแรกที่จะนำลูกสู่ประสบการณ์อันหลากหลาย และที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สมองของเด็กๆ ทำงานได้ดี เรียนรู้อย่างสนุก และมีความสุขด้วยค่ะ

Modern mom