“ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้”
  จำนวนคนเข้าชม  12427

“ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้”


รูปแบบและวิธีการสอนมี 3 รูปแบบ

 1. รูปแบบที่เป็นสามัญสำนึกและสัญชาตญาณ คือความรู้ที่ให้กับสรรพสิ่งทั้งหลายโดยไม่ต้องศึกษาหรือค้นหา เช่นการดื่ม การกิน การนอน การตื่น การขับถ่ายและอื่นๆ

 2. รูปแบบที่ต้องเสาะแสวงหา คือความรู้ที่ได้มาด้วยการใช้ความพยายาม วิริยะอุตสาหะ

 การเสาะแสวงหาจากแหล่งที่มา 2 ประการ คือ

           แหล่งที่หนึ่ง  จากคำบัญชา(วะห์ยุ)ทั้งที่เป็นอัลกุรอานหรือซุนนะฮ์(แบบอย่างของท่านนะบีมุฮัมมัด) คือความรู้ที่เป็นสัจธรรมและถูกต้องปราศจากความเคลือบแคลงใดๆ อัลลอฮ์  ได้ตรัสความว่า

“ดังที่เราได้ส่งเราะซูลผู้หนึ่ง จากพวกของเจ้าเองมาในหมู่พวกเจ้า ซึ่งเขาจะอ่านบรรดาโองการของเราให้พวกเจ้าฟัง และจะทำให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ และจะสอนคัมภีร์ และความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติให้แก่พวกเจ้า และจะสอนพวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าไม่เคยรู้มาก่อน” (อัลกุรอาน 1: 151)

           แหล่งที่สอง  จากความคิดหรือสติปัญญา ซึ่งบางครั้งความรู้ที่คิดค้นมาอาจเป็นความจริง หากว่าความรู้นั้นไม่ขัดแย้งกับวิวรณ์ที่ถูกต้อง หรืออาจเป็นเท็จหากความรู้นั้นขัดแย้งกับความเป็นจริงของคำวิวรณ์ อัลลอฮ์ ตรัสความว่า


“พวกเขารู้แต่เพียงผิวเผินในเรื่องการดำเนินชีวิตในโลกนี้ และพวกเขาไม่คำนึงถึงการมีชีวิตในวันอาคีเราะฮ์” (อัลกุรอาน 30 : 7)

 3. รูปแบบการดลใจ  ซึ่งเป็นรูปแบบและวิธีการสอนที่ทรงประทานแก่บ่าวที่พระองค์ทรงประสงค์ ซึ่งไม่ต้องเสาะแสวงหาและศึกษาแต่อย่างใด บางครั้งได้มาโดยผ่านกระบวนการขัดเกลาจิตใจอย่างมุ่งมั่นทุ่มเท หรือบางครั้งได้มาด้วยวิธีการดลใจเป็นการเฉพาะ ดังที่อัลลอฮ์ ทรงอธิบายเกี่ยวกับท่านเคาะฏิร์ ความว่า

“แล้วทั้งสอง(นะบีมูซาและสหายของท่าน)ได้พบว่าบ่าวคนหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา ที่เราได้ประทานความเมตตาจากเราให้แก่เขา และเราได้สอนความรู้(ที่เรียกว่าการดลใจ)จากเราให้แก่เขา” (อัลกุรอาน 18 : 65)

          “จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้” การประทานลงมาของ 5 โองการแรกในซูเราะฮ์อัลอะลักเป็นปรากฏการณ์และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การอ่านสอนโดยพระผู้สร้างโลก ที่กำหนดคุณลักษณะของพระองค์เองด้วยคุณลักษณะ  “ผู้ทรงกรุณายิ่ง” ในการบังเกิดมนุษย์และสร้างโลก และทรงใช้ปากกาเป็นสื่อในการสอนมนุษย์

           พระองค์ไม่เพียงแค่ทรงบังเกิดมนุษย์เท่านั้น ด้วยคุณลักษณะที่ทรงเกียรติและทรงเมตตายิ่ง พระองค์ทรงสอนทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับวิถีชีวิต ดังที่พระองค์ตรัสความว่า“สิ่งที่พวกเขาไม่รู้” ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพระองค์ เพราะคำว่า “สิ่ง” ในที่นี้ คือความรู้หรือปัญญาต่างๆ ที่พระองค์ไม่สอนให้มนุษย์รู้  ในขณะที่สิ่งที่พระองค์ทรงสอนให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถึงแม้ ในความรู้สึกของมนุษย์คิดว่า เขาได้รับความรู้มากมายมหาศาลก็ตาม

“และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อัลกุรอาน 17 : 85)

 “และพวกเขาไม่สามารถล่วงรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความรอบรู้ของพระองค์ได้ นอกจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์(ให้พวกเขารู้)เท่านั้น” (อัลกุรอาน 2: 255)

 “จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) หากว่าทะเลเป็นน้ำหมึกสำหรับบันทึกพจนารถของพระผู้เป็นเจ้าของฉัน แน่นอนที่สุดทะเลจะเหือดแห้งก่อนที่คำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้าของฉันหมดสิ้นไป และแม้ว่าเราจะนำมันเยี่ยงนั้นมาเป็นน้ำหมึกอีกก็ตาม” (อัลกุรอาน 18 : 109)

          อิบนุกะษีร ได้กล่าวว่า “โองการแรกของอัลกุรอานที่ประทานลงมาคือ 5 โองการ(ในซูเราะฮ์อัลอะลัก) และโองการดังกล่าวคือความเมตตาและความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ ทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ เป็นการตักเตือนให้ตระหนักว่ามนุษย์ถูกบังเกิดมาจากก้อนเลือด และพระองค์ทรงให้เกียรติโดยทรงสอนในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ และให้วิชาความรู้แก่พวกเขาซึ่งถือเป็นจุดเด่นของอาดัม บิดาแห่งมนุษยชาติที่มีเหนือกว่าบรรดามลาอิกะฮ์ อัลลอฮ์ ตรัสความว่า

“ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นทรงกรุณายิ่งผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้”(96 : 1-5)

 วิวรณ์ความรู้ที่มาจากการชี้นำ เป็นความเมตตาและการตักเตือน

           ไม่มีความรู้ใดที่จะเป็นจริงไปกว่าความรู้จากคำบัญชา เพราะเป็นคำสอนของผู้ทรงบังเกิด ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ ไม่ว่าการสอนเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์ และการกระทำของพระองค์ หรือสิ่งที่เกี่ยวกับสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างทั้งหลาย ทั้งหมดคือกรรมสิทธิ์และการครอบครองของพระองค์ มนุษย์มีหน้าที่ในการเสาะแสวงหาวิธีการทำความเข้าใจ และนั่นคือเป้าหมายที่พระองค์ส่งศาสนทูตเพื่อชี้แจงและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำสั่งใช้ของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือวิธีการปฏิบัติ

อัลลอฮ์ ได้ตรัสถึงคุณลักษณะและหน้าที่ของอัลกุรอานไว้ความว่า

“ความเท็จจากข้างหน้าและข้างหลังจะไม่เข้าไปสู่อัลกุรอานได้(เพราะ)เป็นการประทานจากพระผู้ทรงปรีชาญาณผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ” (อัลกุรอาน 41 : 42)

 “และเราเรามิได้ให้คัมภีร์นี้ลงแก่เจ้า(โอ้มุฮัมมัด) เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อให้เจ้าชี้แจงให้แจ่มแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน และเพื่อเป็นการชี้แนวทางและเป็นความเมตตาแก่หมู่ชนผู้ศรัทธา”      (อัลกุรอาน 16 : 64) 

 การอ่านและเรียนรู้วันปรโลก(อะคิเราะฮ์)

 พระบัญชาให้อ่านครั้งที่สามที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน คืออัลลอฮ์  ตรัสความว่า

 “เจ้าจงอ่านบันทึกของพวกเจ้า พอเพียงแก่พวกเจ้าแล้ววันนี้ที่จะเป็นผู้ชำระบัญชีของตัวเจ้าเอง” (อัลกุรอาน 17:14)

           คำสั่ง “จงอ่าน”จะปรากฏในอัลกุรอานเพียงสามครั้งเท่านั้น สองครั้งใน 5 โองการแรกใน ซูเราะฮ์อัลอะลัก ส่วนครั้งที่สามจะปรากฏในซูเราะฮ์อัลอิสรออ์ สองครั้งที่กล่าวถึงในซูเราะฮ์อัลอะลักเป็นประโยคคำสั่งที่ไม่เจาะจงว่าต้องอ่านอะไร ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่กว้างและครอบคลุมถึงสรรพสิ่งต่างๆที่เป็นสัญญาณ(อายาต)ของอัลลอฮ์   ในขณะที่ “จงอ่าน” ที่กล่าวในซูเราะฮ์ อัลอิสรออ์ จะมีกรรมบ่งบอกถึงสิ่งที่จะต้องอ่าน คือ “สมุดบันทึกของเจ้า” คือสมุดบันทึกการปฏิบัติของมนุษย์ที่ถูกนำเสนอในวันแห่งการตัดสิน(วันอาคิเราะฮ์) เพื่อเปิดเผยถึงการงานและการปฏิบัติต่างๆที่ได้กระทำมาบนโลกนี้ เป็นการตัดสินขั้นสุดท้ายที่มนุษย์พึงได้รับ เพื่อกำหนดว่าเขาควรได้รับสวนสวรรค์หรือขุมนรก

           เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่พระบัญชา “จงอ่าน” ของอัลลอฮ์  ทั้งสองครั้งที่พระองค์ทรงใช้ให้มนุษย์ทำความเข้าใจในวิถีชีวิตและเข้าถึงศาสนาอิสลามนั้น มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ อาจเป็นเพราะถูกอิทธิพลการปฏิเสธถึงการมีอยู่ของพระเจ้าเข้าครอบงำ หรือเพราะความเกียจคร้าน ซึ่งมนุษย์กลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ปฏิเสธการอ่านแต่ยังปฏิเสธการรับฟังด้วย ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้เป็นคุณลักษณะของผู้อธรรมและงมงาย อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

 “แท้จริง(มนุษย์)เป็นผู้อธรรมและงมงาย” (อัลกุรอาน33 : 72) 

          อิสลามอาจยินยอมให้มุสลิมเป็นกลุ่มปุถุชน(อะวาม)ซึ่งอาจไม่มีความรู้ในอิสลาม แต่อิสลามไม่อนุญาตให้มุสลิมเป็นคนที่งมงายโดยเด็ดขาด

           ส่วนคำสั่งที่ว่า “จงอ่านสมุดบันทึกของเจ้า” ที่อัลลอฮ์  ทรงบัญชาในวันอาคิเระฮ์นั้น มนุษย์ทุกคนไม่มีทางเลือก เว้นแต่ต้องน้อมรับและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นบ่าวผู้ภักดีหรือผู้ปฏิเสธ ซึ่งการอ่านครั้งนี้จะทำให้มนุษย์รู้อย่างชัดแจ้งถึงสาเหตุของการได้รับผลตอบแทน โดยเฉพาะผลตอบแทนจากไฟนรก จงรับฟังคำสารภาพของบรรดาชาวนรกซึ่งอัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“และพวกเขา(ชาวนรก)กล่าวอีกว่า หากพวกเราฟังและใช้สติปัญญาใคร่ครวญ พวกเราก็จะมิได้มาอยู่เป็นชาวนรกอย่างนี้ดอก”  (อัลกุรอาน 67 : 10)


สรุป

           ความรู้ในทัศนะอัลกุรอาน เปรียบเสมือนแสงประทีปที่ส่องนำทางสู่ความจำเริญในโลกนี้และความสงบสุขในวันปรโลก(อาคิเราะฮ์) เป็นรัศมีที่มาจากอัลลอฮ์  ผ่านคำบัญชามาสู่บรรดานะบี โดยเฉพาะ นะบีและเราะซูลท่านสุดท้ายมุฮัมมัด  และผ่านความคิดสติปัญญา นอกจากนี้ยังมีความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีการพิเศษ ที่อัลลอฮ์  ทรงมอบให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ซึ่งเรียกว่า “การดลใจ” ทั้งหมดนี้คือแก่นแท้ของความรู้ในทัศนะอิสลามที่มาจากท่านนะบีมุฮัมมัด

           อิสลามเป็นศาสนาของอัลลอฮ์ ซึ่งทรงประทานความรู้ที่เที่ยงแท้แก่บ่าวของพระองค์ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริงมันคือความรู้จากอัลลอฮ์ คือแก่นแท้ของศาสนาอิสลามที่มีอัลกุรอานเป็นรากฐานและซุนนะฮ์เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ดังนั้นความรู้คืออิสลามและอิสลามคือความรู้ และความรู้หรือประสบการณ์ที่ไม่ขัดกับอิสลามนั้นคือคำบัญชาจากอัลลอฮ์ นั่นเอง

           ทั้งหมดนี้คือภาพลักษณ์ความรู้ตามทัศนะอัลกุรอาน ที่ประมวลจากหลักคำสอนของโองการแรกความว่า “จงอ่าน” ซึ่งเป็นกุญแจเปิดประตูสู่ความรู้ ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในโลกนี้หรือความผาสุกในวันปรโลก(อะคิเราะฮ์)ก็ตาม มนุษย์จะต้องดำเนินชีวิตภายใต้กรอบคำสั่ง “จงอ่าน”ในโลกนี้ และ “จงอ่าน” ในวันปรโลก(อาคิเราะฮ์) ทั้งนี้เพราะชีวิตในโลกนี้และในวันปรโลก(อะคิเราะฮ์)ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมแห่งความรู้เท่านั้น

           หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทั้งหลายจะยึดมั่นอิสลามเป็นวิถีชีวิตด้วยความรู้และความเข้าใจบนพื้นฐานคำบัญชาของอัลลอฮ์ อย่างถูกต้องถาวรและยั่งยืน

หนังสือวิถีชีวิตอิสลาม

الكاتب : مرسلان محمد

โดย อ.มัสลัน มาหะมะ

อิกเราะฮ์ (จงอ่าน) >>>>Click