ลด ละ เลิก พฤติกรรมรุนแรงให้ลูกวัยซน
  จำนวนคนเข้าชม  34940

ลด ละ เลิก พฤติกรรมรุนแรงให้ลูกวัยซน

          เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เด็กจะตกเป็นจำเลยว่าเขาเป็นเด็กนิสัยไม่ดี แต่ความเป็นจริงแล้วเด็กทุกคนอยากเป็นเด็กดีทั้งนั้น เราต้องพิจารณาดูว่าการเลี้ยงดูของเราเป็นอุปสรรคต่อการเป็นเด็กดีของลูกหรือไม่ ถ้าเป็นเพราะการเลี้ยงดูก็ต้องปรับวิธีการเลี้ยงดู แต่หากเป็นเพราะนิสัยไม่ดีของลูก การแก้ปัญหาจะเป็นการกำหราบ ดุว่า หรือคาดโทษ และลูกมักจะถูกจัดการด้วยความรุนแรง คือการตีให้เจ็บ แต่ความก้าวร้าวรุนแรงนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้เด็กได้รับความกดดัน ซึ่งอาจจะแสดงออกมาสองทาง ทางหนึ่งนั้นแสดงออกมาตรงๆคือการต่อต้าน ทำให้พฤติกรรมความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทางหนึ่งความกดดันจะเปลี่ยนรูปไปเป็นพฤติกรรมไม่ดีอื่น เช่น เรียนไม่ดี ขาดความอดทน หงุดหงิด แยกตัว เป็นต้น

          ดังนั้นหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลี้ยงดูลูกของเรา จะพบว่าลูกจะกลายเป็นเด็กที่น่ารักขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจะค่อยๆจางไป อยากชวนพ่อแม่พิจารณาสิ่งที่เราปฏิบัติต่อกันในครอบครัวและการเลี้ยงดู ว่ามีสิ่งใดที่เป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงให้เกิดกับลูกบ้าง

1. การแสดงออกของพ่อแม่เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง

          ในทุกบ้านย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ การที่พ่อแม่ทะเลาะกัน แล้วมักจะตะโกนใส่กัน เมื่อทะเลาะกันรุนแรงขึ้น ก็ขว้างปาสิ่งของเกลื่อนกระจาย และอาจถึงขั้นผลักกัน จับตัวเขย่าอย่างแรง พฤติกรรมเหล่านี้แหละค่ะที่เป็นความรุนแรง ทุกครั้งที่ลูกเห็น ลูกก็จะซึมซับความรุนแรง ก้าวร้าวเข้าไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพ่อแม่จำนวนหนึ่งก็ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองนั้นเป็นผู้ปลูกฝังความรุนแรงไปในตัวลูก

2. การตีลูกด้วยความโกรธ คือ แบบอย่างของการใช้ความรุนแรง

          ในบ้านที่พ่อแม่ ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากลูกขัดคำสั่งไม่เชื่อฟัง หรือทำข้าวของเสียหาย พ่อแม่มักจะตวาด(แสดงความก้าวร้าวด้วยวาจา) ควบคู่ไปกับการตี ส่วนใหญ่ของผู้ตีลูกก็มักจะมีข้ออ้างให้ตัวเองว่า ตีเพราะอยากให้ลูกเข็ดไม่ทำอีก บ้างก็ว่าตีเพื่อสั่งสอนไม่ได้ใช้อารมณ์ แต่เอาเข้าจริงพบว่าใน 10 ครั้ง เป็นการตีแบบมีอารมณ์ 9 ครั้งครึ่ง เพราะการตีหรือตวาดลูกมักจะหยุดหรือชะงักพฤติกรรมนั้นได้อย่างทันใจ ทำให้พ่อแม่ติดใจ เอามาเป็นอาวุธไว้จัดการกับลูก และนับวันพ่อแม่ก็จะมือไว้ขึ้นทุกที

"การตี" ทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อใครทำให้เราไม่พอใจ เราก็ทำให้คนนั้นเจ็บตัวได้

"การตวาด" บอกว่าเมื่อเราโกรธใคร ให้ตะโกนใส่ ไม่พยายามที่จะพูดกันดีๆ

         เมื่อลูกทำให้ไม่พอใจ สิ่งที่ควรทำคือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์ อดทน อดกลั้น และแก้ปัญหาด้วยความสงบ ใช้การพูดคุยด้วยเหตุผล และใช้การประนีประนอม

3. ตามใจไปเสียทุกเรื่องและปล่อยให้ลูกตวาดหรือตีพ่อแม่ เมื่อไม่ได้ดั่งใจ

         ดูเหมือนว่าพวกเราจะได้ยินเสียงบ่นกันว่าเด็กสมัยนี้เอาแต่ใจกันเสียจริงๆ ก็คงมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยนี้มีลูกกันน้อย พ่อแม่จึงเอาอกเอาใจกันเต็มที่  การตามใจลูกจึงเป็นเตให้ลูกมีความก้าวร้าวรุนแรง ไม่รับฟังเหตุผล และติดพฤติกรรมอาละวาด โวยวาย ทำร้ายคนอื่น พ่อแม่ที่ตามใจลูกมักยอมให้ลูกทุบตีอาละวาด ปากก็บ่นว่าแต่ก็ไม่เอาจริงที่จะหยุดพฤติกรรมของลูก พ่อแม่ไม่ควรละเลยที่จะปรับพฤติกรรมเหล่านี้เสียตั่งแต่ยังล็ก เมื่อลูกจะตีเราให้จับมือลูกให้มั่น มองตาลูกและพูดอย่างหนักแน่นว่าลูกไม่มีสิทธิ์ตีใครทั้งนั้น ถ้าลูกมีท่าทีสงบฟังและทำตามก็ปล่อยมือลูก หากปล่อยมือแล้วยังจะตีอีกก็จับมืออีก ทำอย่างนี้บ่อยๆ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกทำร้ายใครอีกต่อไป และอย่าลืมเมื่อลูกหยุดตีแล้วให้ชมลูกว่า "ดีแล้วนะลูก ต่อไปนี้ลูกไม่ตีใครแล้วนะ" จากนั้นค่อยให้เหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้พ่อแม่จึงตามใจลูกไม่ได้ 

4. การเลี้ยงลูกให้เกิดความเครียด กดดัน

          สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้ลุกแสดงออกถึงความก้าวร้าวนั้น  เหตุมักจะเกิดจากอารมณ์โกรธที่อยู่ภายในรุนแรง และไม่สามรถจัดการกับอารมณ์ได้ และไม่สามารถควบคุมการแสดงออกที่เหมาะสมได้ จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาให้เราเห็น

          เด็กที่เผชิญกับการเลี้ยงดูที่สร้างความเครียด ความกดดันอยูเสมอ จะสะสมอารมณ์ขุ่นมัวไว้ในใจ ทำให้ขี้โมโหหงุดหงิดง่าย เมื่อสิ่งที่ไม่พอใจมากระทบแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เด็กทำร้ายเพื่ออย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ

         สาเหตุที่สร้างความเครียดและความกดดันให้กับเด็กนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและเข้มงวดจนเกิน ทั้งในเรื่องการเรียนและการกีฬา ลูกจะแพ้ใครไม่ได้ ความคาดหวังของพ่อแม่กลับกลายเป็นสร้างความกดดันให้กับลูก พ่อแม่เหล่านี้มักเผลอเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือพี่น้องที่เรียนเก่งอยู่เป็นประจำ ไม่ก็ดุว่าหรือพูดประชดประชันเมื่อเห็นลูกทำคะแนนไม่ได้ดั่งใจ แทนที่จะให้กำลังใจหรือหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับลูก สิ่งที่พ่อแม่กดดันลูกนั้นนอกจกจะทำให้ลูกรู้สึกเครียดและหงุดหงิดแล้ว ยังสร้างนิสัย"แพ้ไม่เป็น" ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความก้าวร้าวในใจลูก ทำให้โตขึ้นเป็นคนที่หาความสุขไม่ได้

         อีกสาเหตุหนึ่งของความเครียดและกดดันของลูกเกิดจากความรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ ที่พ่อแม่ให้ความเอาใจใส่ไม่เท่ากัน รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม หรือเกิดจากความเหงา ที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ เวลาที่จะพูดคุยกันมี้อยเต็มที ฉะนั้นการมีเวลาที่จะพูดคุยกัน การแสดงความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมา การมีเวลาได้ใกล้ชิดกันจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อลูกมาก การแสดงออกถึงความรักความเอาใจใส่เป็นทางออกที่ดีสำหรับหลายๆปัญหา

5. การสนับสนุนลูกด้วยของเล่นและเกมต่อสู้

         สำหรับลูกผู้ชายนั้น พ่อแม่อดไม่ได้ที่จะอของเล่นประเภทดาบ ปืน อาวุธที่แปลงร่างได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงเกมที่มุ่งการต่อสู้ การซื้อให้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหา แต่ถ้าลูกใช้เวลากับของเล่นประเภทนี้ตลอดเวลา น่าจะหยุดคิดหน่อยว่าลูกจะฝึกซ้อมการเล่นกับความรุนแรงมากไปหรือไม่ เพราะจะมีผลทำให้เมื่อไม่พอใจลูกจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมาโดยอัตโนมัติ จะดีไหมถ้าจัดหาของเล่นให้ลูกได้เล่นอย่างหลากหลาย แรกๆลูกอาจไม่คุ้นเคยและไม่สนุก แต่หากพ่อแม่ชวนมาเล่นด้วยกัน จนลูกค้นพบความสนุกกับการเล่นของเล่นชนิดอื่น

6. ปล่อยให้ดูหนังหรือดูละคร ที่แสดงออกถึงการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนัง และละครจำนวนมากมีความรุนแรงทั้งคำพูดและการลงไม้ลงมือ พ่อแม่ควรที่จะให้ลูกได้อยูกับหนังและละครประเภทนี้ให้น้อยที่สุด กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาโอกาสพูดคุย ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมที่รุนแรงที่ลูกได้รับรูอยู่เสมอ

          หากเราปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก ให้ห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง รับฟังลูกและหมั่นพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง สิ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มภัยให้ลูกเป็นเด็กที่ปลอดจากพฤติกรรมรุนแรงได้อย่างแน่นอน

Mother & Baby