หลักศาสนบัญญัติ
  จำนวนคนเข้าชม  15501

หลักศาสนบัญญัติ


โดย อ.มัสลัน มาหะมะ


  เจตนารมณ์ของอิบาดะฮ์

          อิบาดะฮ์ เป็นคำภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า “อับดุน” (บ่าว) และหมายถึงการยอมจำนน อัลลอฮ์ ทรงเป็นนายและมนุษย์เป็นบ่าวของพระองค์ อะไรที่บ่าวทำโดยหวังจะทำให้นายพึงพอใจคือ อิบาดะฮ์ แนวคิดของอิสลามเรื่องนี้มีมาก ถ้าไม่กล่าวคำหยาบ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดใส่ร้ายป้ายสี พูดในสิ่งที่ดี และทำเพราะความเกรงกลัว การกระทำเช่นนี้เป็น “อิบาดะฮ์” ถึงจะเป็นคำพูดที่เป็นเรื่องทางโลกก็ตาม ถ้าช่วยเหลือคนยากจนขัดสน ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความทุกข์ยาก และทำไปโดยเพียงเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากพระเจ้า นี่คือ “อิบาดะฮ์” แม้จะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การหาเลี้ยงชีพตนเองและผู้อยู่ใต้การดูแล สิ่งนี้ก็เป็น “อิบาดะฮ์” ถ้าทำด้วยความซื่อตรงและปฏิบัติตามกฏของอัลลอฮ์

          กล่าวโดยสั้น กิจกรรมทุกอย่างล้วนเป็น “อิบาดะฮ์” ถ้าหากเป็นไปตามหลักการ และวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ทำความดีและหลีกเลี่ยงความชั่วในทุกวิถีทางแห่งการดำเนินชีวิต หมายความว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่แห่งอิสลามแล้ว ความหมายที่แท้จริงของ “อิบาดะฮ์” การยอมปฏิบัติตามความพึงพอใจเพื่ออัลลอฮ์ คือการหล่อหลอมชีวิตให้เข้าไปในแบบแผนของอิสลาม เพื่อที่จะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมาย การ “อิบาดะฮ์”นี้ เป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางของการฝึกฝน “อิบาดะฮ์” จึงเป็นเสาหลักที่รองรับโครงสร้างของอิสลามไว้

  เอกลักษณ์ของการเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์

           ส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ของการเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์มีดังต่อไปนี้

 1) เป็นข้อบัญญัติที่มาจากอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์

           การเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์  ทั้งหมดนั้นล้วนมีที่มาจากอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ มนุษย์ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดรูปแบบของการเคารพภักดี เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด หากมีการทำขึ้นถือเป็นอุตริกรรมที่มีความผิดอย่างใหญ่หลวง  เช่น การนำเอาลูกวัว อูฐ หรือเจว็ดต่าง ๆ มาเคารพสักการะแทนหรือควบคู่ไปกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ และหากมนุษย์เป็นผู้คิดค้นและกำหนดรูปแบบของการเคารพสักการะ ต่างคนก็ต่างคิดไปบนพื้นฐานของความโง่เขลาของ ความมืดมนและงมงาย ดังนั้น การมีรูปแบบที่ชัดเจนมาจากศาสนทูต จึงเป็นความโปรดปรานอันสูงส่งยิ่ง ที่จะทำให้อิสลามมีความสมบูรณ์ เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งของการส่งศาสนฑูตมุฮัมมัด และประทานอัลกุรอานมาเป็นคัมภีร์แห่งทางนำแก่มนุษยชาติทั้งมวล     
 
          2) มีรูปแบบเฉพาะและหลากหลาย

           อัลลอฮ์  ทรงกำหนดให้การเคารพสักการะต่อพระองค์ มีแบบพิธีการเฉพาะ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทานบังคับ(ซะกาต) และการประกอบพิธีหัจญ์ เป็นต้น ส่วนที่ไม่มีแบบพิธีเฉพาะ เช่น การรำลึกถึงอัลลอฮ์  การกตัญญูต่อบิดามารดา การเยี่ยมเยียนผู้ป่วย การปฏิบัติตามสัญญา การประกอบอาชีพ การแสวงหาวิชาความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใส่ร้ายป้ายสี และการดำรงตนอยู่ในคุณธรรมความดี แม้แต่การให้อาหารสัตว์ ล้วนอยู่ในขอบข่ายของการสักการะทั้งสิ้น

           การเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์  จึงมีความหมายครอบคลุมถึงบทบัญญัติทางศาสนาในคัมภีร์อัลกุรอานและแนวทางการปฏิบัติของนะบีมุฮัมมัด  โดยการกระทำทุกอย่างตามเจตนารมณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า

 3) มีลักษณะต่อเนื่อง สะดวก และง่ายต่อการปฏิบัติ

           การเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์  นั้น เป็นสิ่งที่มุสลิมต้องปฏิบัติตั้งแต่ยังเยาว์วัย คือเมื่อรู้เดียงสาต้องได้รับการฝึกหัดให้ละหมาดเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และผูกพันใกล้ชิดกับพระเจ้า ต่อเมื่อบรรลุศาสนภาวะ คือเมื่อมีประจำเดือนสำหรับผู้หญิง และการฝันเปียกในผู้ชาย จึงมีผลบังคับให้ต้องปฏิบัติอิบาดะฮ์อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตลอดจนกว่าจะตายจากโลกนี้ไป การเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์ จึงเป็นสาระสำคัญที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต ในกรณีที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเดินทาง ก็มีข้อลดหย่อนผ่อนปรนเพื่อความสะดวกและง่ายดาย เช่น อนุญาตให้ทำการละหมาดแบบย่อและรวมละหมาดสองเวลาในเวลาเดียวกัน ในกรณีที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย แต่ถ้าไม่สามารถยืนได้ในกรณีเจ็บป่วย ก็ให้ละหมาดแบบนั่ง ถ้าไม่สามารถนั่ง ก็ให้นอน ถ้านอนแล้วยังไม่สามารถทำละหมาดได้ ก็ให้ใช้การกระพริบตา เป็นต้น

 4) มีลักษณะเสมอภาคปราศจากชนชั้น

           การเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์  มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องทำการเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์ มีสิทธิได้รับบุญกุศลตอบแทนเท่าเทียมกัน ฐานะ ตำแหน่ง หรือเกียรติยศจะไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ การปฏิบัติอิบาดะฮ์ด้วยหัวใจที่ยำเกรงต่อพระองค์เท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณา มุสลิมมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีนักบวช หรืออภิสิทธิ์ชน ทุกคนสามารถที่จะเข้าใกล้ชิดต่อพระองค์โดยไม่มีสื่อกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัย มนุษย์ หรือวัตถุบูชา ยิ่งไปกว่านั้นการนำเอาสิ่งอื่นใดมาเป็นสื่อกลางในการเคารพสักการะถือเป็นความผิดร้ายแรงมีโทษมหันต์

 ประโยชน์ของการเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์

          อัลลอฮ์ ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสร้าง และทรงสูงส่ง มิต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งใด หากมนุษย์ทั้งมวลไม่เคารพสักการะต่อพระองค์ พระองค์ยังคงสูงส่งและทรงเดชานุภาพ มิบกพร่องแม้แต่น้อย แต่การเคารพสักการระต่ออัลลอฮ์ จะก่อเกิดประโยชน์แก่มนุษย์เอง ทั้งโดยส่วนตัวและสังคม การเคารพสักการะเป็นการปฏิบัติที่วางอยู่บนรากฐานของความศรัทธา ทำให้เกิดความรู้สึกที่มั่นคง และมีความหวังในความโปรดปรานจากพระองค์ ส่งผลต่อการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์และลบล้างบาปในแต่ละวัน ขณะเดียวกันการชำระร่างกายให้สะอาด และการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ในการเคารพย่อมเป็นผลดีต่อร่างกายด้วย

           ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม บุคคลแต่ละครอบครัวคือสมาชิกของสังคม เมื่อสมาชิกเป็นคนดีมีคุณธรรม สังคมส่วนรวมจะเป็นสังคมที่ดี มีความรักใคร่ เอื้ออาทร และปรารถนาดีต่อกัน ดังที่เกิดขึ้นในสังคมอิสลาม การละหมาด เป็นการเคารพสักการะที่ทำให้มุสลิมมีความผูกพันใกล้ชิดกับอัลลอฮ์  เมื่อทุกคนในสังคมปฏิบัติละหมาด สังคมจะห่างไกลจากสิ่งเลวร้าย และการใส่ผ้าคลุมของสตรี(ฮิญาบ) เป็นการส่งเสริมให้สตรีแต่งกายเรียบร้อยปกปิดมิดชิด เพื่อปกป้องเธอ สตรีโดยปกติจะมีความละอาย เมื่อสตรีรักนวลสงวนตัวจะมีเกียรติและศักดิ์ศรี และเป็นการลดอาชญากรรมลงด้วย

          ด้วยเหตุนี้ การเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์  จึงเป็นความจำเป็นของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ต้องการอาหาร น้ำ และปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะมุสลิมผู้ประกาศคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่เคารพสักการะต่อสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงของมนุษย์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าอันนิรันดร์

  การปฏิญาณตน: ไม่เคารพสักการะต่อสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์

          เมื่อมีความเชื่อมั่นศรัทธาต่ออัลลอฮ์  การปฏิญาณตนยืนยันไม่เคารพสักการะสิ่งใดนอกจากพระองค์ เป็นขั้นตอนถัดไปโดยผู้ศรัทธาจะต้องเปล่งวาจาประกาศยืนยันความศรัทธาให้ประจักษ์ และจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นมุสลิมนับแต่เมื่อได้มีการกล่าวคำปฏิญาณนั้น

ในการปฏิญาณตนกระทำด้วยการเปล่งวาจาว่า

أَشْهَدُ أَن لا إِلهَ إِلاّ الله ُوَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللهِ

“อัชฮะดุ อัลลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ วะอัชฮะดุ อันนะมุฮัมมะดัร เราะซูลุลลอฮ์” 

 ความว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าใดที่เที่ยงแท้อันควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น และข้าพเจ้าขอปฏิญานว่าแน่แท้นะบีมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์” 

          ประโยคที่ประกอบด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ ถือเป็นหลักศาสนบัญญัติข้อแรกที่มุสลิมกล่าวกันอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน และทุกครั้งที่ทำการละหมาด หรือเมื่อมีการแสดงสุนทรพจน์ หรือการบรรยายธรรมในโอกาสต่างๆ เพื่อยืนยันและรักษาเจตจำนงค์อันแน่วแน่ที่จะไม่เคารพสักการะหรือกราบไหว้บูชาสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์ เท่านั้น

          คำสัตย์ปฏิญาณนี้ ไม่เฉพาะแต่มุสลิมโดยกำเนิดเท่านั้นที่จะต้องกล่าวต่ออัลลอฮ์ แต่ยังรวมไปถึงมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์ที่จะต้องปฏิญาณตน และสักการะต่อพระองค์ เพราะทุกคนล้วนต้องพึ่งพาอาศัยพระองค์ และสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง และประทานให้ เช่น พื้นดิน ภูเขา ทะเล ท้องฟ้า อากาศ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว มุสลิมจึงนอบน้อมยอมตน และยอมจำนนประกาศคำปฏิญาณ และได้รับการเรียกขานว่า “มุสลิม” ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ใด

  สารัตถะของคำปฏิญาณ: หลุดพ้นจากทุกสิ่งสู่การจำนนต่อพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

           คำปฏิญาณตนมีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้งอย่างยิ่ง ประกอบด้วยการปฏิเสธและยอมรับ  กล่าวคือปฏิเสธทุกสิ่งที่ถูกยึดถือเป็นพระเจ้านอกจากอัลลอฮ์  และยอมรับถึงเอกสิทธิ์ในความเป็นพระเจ้าของอัลลอฮ์  แต่ผู้เดียวโดยปราศจากภาคีใด ๆ และมุฮัมมัด เป็นศาสนทูตของพระองค์

          ความเป็นพระเจ้าในภาษาอาหรับที่เรียกว่า “อิลาฮ์” หรือในภาษาไทยที่แปลว่า “พระเจ้า” นั้นบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ สูงส่ง รอบรู้ และเกรียงไกร ทุกครั้งที่มุสลิมกล่าวคำนี้จึงเป็นการกล่าวด้วยความยำเกรงปนไปด้วยความหวัง และความรู้สึกที่มั่นคง เพราะเป็นการนอบน้อมยอมจำนนต่อผู้ทรงยิ่งใหญ่ และทรงเป็นจ้าวแห่งสากลจักรวาล มุสลิมทุกคนจึงไม่อาจทำการเคารพสักการะต่อบุคคลหรือสิ่งใดในจักรวาลนอกจากอัลลอฮ์ เท่านั้น ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เทวรูป เทวดา ผี นางไม้ พระอาทิตย์ พระจันทร์ และอื่นๆ ยังรวมถึงบรรดาศาสนทูต เทวทูตหรือมะลาอิกะฮ์ของอัลลอฮ์ ไม่ควรที่มุสลิมจะเคารพสักการะ เพราะจะทำให้พ้นสภาพความเป็นมุสลิมในทันที

  การละหมาด: เสาหลักของศาสนาอิสลาม 

          การละหมาด เป็นหลักศาสนบัญญัติข้อที่ 2 ซึ่งหมายถึงการสำรวมกาย วาจา และใจ ในช่วงเวลาที่กำหนดวันละห้าครั้ง เวลาละหมาดเป็นโอกาสสำคัญที่มุสลิมได้เข้าเฝ้าพระองค์ เพื่อยืนยันความศรัทธาและคำสัตย์ปฏิญาณ โดยการปฏิบัติตนตามรูปแบบและวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากนะบีมุฮัมมัด คือเริ่มต้นด้วยการยืนผินหน้าไปยังทิศกิบลัต(กะบะฮ์ที่เมืองมักกะฮ์) ยกสองมือขึ้นระดับไหล่แสดงถึงการยอมจำนนพร้อมกับกล่าวตักบีร “อัลลอฮุอักบัร” (อัลลอฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่) ในกระบวนการละหมาดมีการอ่านอัลกุรอาน การกล่าวสดุดี ยกย่องและสรรเสริญ ตลอดจนการขอพรต่อพระองค์ ในอิริยาบทต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติ เช่น ยืนตรง โค้งคำนับ ก้มกราบ(สุญูด) และปิดท้ายด้วยการกล่าวสลาม “อัสสะลามุอะลัยกุมวะเราะฮ์มะตุลลอฮ์” (ขอความสันติและความเมตตาแห่งอัลลอฮ์ประสบแด่พวกท่าน)

           มุสลิมต้องปฏิบัติละหมาดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง 5 เวลา โดยเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนในยามรุ่งอรุณก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเรียกว่า “ละหมาดซุบฮิ” เพื่อการเริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันด้วยสักการะต่ออัลลอฮ์   จากนั้นเมื่อถึงเวลาบ่าย มุสลิมเข้าสู่การละหมาดที่ เรียกว่า “ละหมาดซุฮ์ริ” เสร็จการละหมาดสามารถไปประกอบอาชีพตามปกติ และกลับสู่การละหมาดอีกครั้งในอีกสามสี่ชั่วโมงต่อมาเรียกว่า “ละหมาดอัศริ” หลังจากนั้นเมื่อดวงอาทิตย์ตกดินถึงเวลาละหมาดอีกครั้งเรียกว่า “ละหมาดมัฆริบ” อีกชั่วโมงกว่าๆ จะเข้าเวลาละหมาดเรียกว่า “ ละหมาดอีชาอ์  ” เพื่อเตือนมุสลิมมิให้ลืมภาระหน้าที่ต่อพระองค์ในตอนกลางวันและยามค่ำคืนตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งเข้านอน อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้มุสลิมต้องปรากฏตัวต่อหน้าพระองค์ 5 ครั้งเพื่อยืนยันความศรัทธาและก้มกราบต่อพระองค์

          การละหมาดแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งไม่กระทบต่อภารกิจการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพ แต่จะส่งผลดีต่อสุขภาวะทั้งกายและใจ ทำให้มีสติ ไม่หลงใหลในวัตถุนิยม ทั้งเป็นการเตือนใจ ให้รู้จักประมาณตนในการดำรงอยู่บนทางสายกลางอย่างมีความพอดีและพอเพียง ในอิสลามจึงถือว่าละหมาดคือเสาหลักของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละหมาดร่วมกันในมัสยิด ยังสามารถสร้างประโยชน์ด้านสังคมและอื่นๆ อีกมากมาย

 การถือศีลอด: โล่ห์ป้องกันความชั่วช้าอนาจาร

         หลักศาสนบัญญัติในอิสลามข้อที่ 3 คือการถือศีลอด ซึ่งหมายถึง การงดเว้นจากการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนข้องดเว้นต่างๆ ทั้งทางกาย วาจา จิตใจ ตั้งแต่แสงอรุณจับขอบฟ้าจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า มุสลิมทุกคนทั้งชายและหญิง ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย ผิวดำหรือขาว มียศศักดิ์สูงส่งหรือเป็นคนธรรมดาสามัญต่างมีหน้าที่ที่จะต้องถือศีลอดเสมอกันในเดือนรอมฎอน โดยไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากเพื่อการเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์  การไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อพระองค์ การหลีกเลี่ยงใช้วาจาหยาบคายและสิ่งเลวร้ายทั้งหลายเพื่อพระองค์ แม้จะถูกด่าทอ ดูหมิ่น หรือถูกเหยียดหยาม ขณะถือศีลอดมุสลิมต้องไม่โต้ตอบนอกจากด้วยคำพูดถ้อยคำสั้น ๆ แก่ผู้ที่มาละเมิดว่า “ข้าพเจ้าถือศีลอด” เพราะเป็นการเตือนให้ผู้ถือศีลอดเองได้ระลึกตนว่าอยู่ในความดีงามสูงส่งไม่อาจกระทำสิ่งเหลวไหลได้ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกสำรวมใจและยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงรอบรู้ ทรงเห็น และทรงได้ยิน ทุก ๆ การกระทำและคำพูด ประหนึ่งพระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิดอย่างยิ่ง การถือศีลอดจึงเป็นโล่ห์ป้องกันความชั่วช้าและความเลวทรามทั้งปวง นะบีมุฮัมมัด ได้ส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวมุสลิมที่ไม่มีความสามารถในการแต่งงาน ให้ถือศีลอดเพราะการถือศีลอดสามารถยับยั้งการกระทำความชั่วได้

          อันที่จริง ศีลอดในอิสลามมิได้มุ่งเพื่อการทรมานร่างกาย หากเป็นกระบวนการฝึกอบรมด้านกาย วาจา และจิตใจ ให้รู้จักอดทน อดกลั้น สำรวม และยำเกรงต่อพระเจ้า ทั้งเป็นประโยชน์แก่ระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร ศีลอดจึงเป็นการเคารพสักการะของมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย

 การจ่ายทานบังคับ(ซะกาต): ขัดเกลาจิตใจและเพิ่มพูนทรัพย์สิน

          ทานบังคับ(ซะกาต) ถือเป็นหลักศาสนบัญญัติข้อที่ 4   ซะกาตหมายถึงทรัพย์สินจำนวนหนึ่งซึ่งอิสลามกำหนดให้เป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องแจกจ่ายในอัตราส่วนที่กำหนด โดยแจกจ่ายให้แก่บุคคลผู้มีสิทธิรับซึ่งมีอยู่ 8 ประเภทด้วยกัน คือ (1) คนยากจน (2) คนอนาถา (3) คนที่มีจิตใจยังไม่คุ้นเคยกับอิสลาม (4) ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บและจ่ายซะกาต (5) ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว (6) ทาสและเชลย (เพื่อเป็นค่าไถ่) (7) ผู้อยู่ในหนทางของอัลลอฮ์ และ (8) ผู้เดินทางพลัดถิ่น

          เห็นได้ว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากสังคม ซะกาตเป็นเสมือนปัจจัยประสานร่องรอยความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนมีความรักใคร่กลมเกลียว และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

           การบริจาคซะกาตเป็นวินัยบัญญัติสำคัญ(รุกน์)หนึ่งในห้าประการที่อิสลามกำหนดให้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมต้องปฏิบัติเมื่อครบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด(คล้ายภาษีอากร)ทั้งนี้เพื่อยืนยันการศรัทธาที่มีต่อพระองค์ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากพระเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหน้าอันนิรันดร์ ดังนั้น ซะกาตจึงไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมเท่านั้น หากซะกาตยังเป็นช่องทางที่จะทำให้ผู้จ่ายได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์  และทรัพย์สินจะงอกงามเพิ่มพูน มุสลิมเชื่อมั่นว่าทรัพย์สินในครอบครองทั้งหลายของตนนั้นที่แท้แล้วมาจากความโปรดปรานของอัลลอฮ์  ทั้งสิ้น พระองค์ทรงเป็นเจ้าของที่แท้จริง มนุษย์เป็นเพียงผู้ครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ มุสลิมจะต้องเสียสละด้วยความเต็มใจ และมีความสุขที่ได้ใช้จ่ายทรัพย์สินที่ได้รับการประทานจากอัลลอฮ์  ไปตามวิถีทางของพระองค์ 

  การบริจาคทานอาสา (เศาะดะเกาะฮ์)
 
          นอกจากทานซะกาตที่เป็นทานบังคับแล้ว อิสลามยังส่งเสริมให้มุสลิมทำการบริจาคทาน คือ การสละทรัพย์สินบางส่วนโดยสมัครใจแก่บุคคลที่มีความขัดสน เดือดร้อน เช่น คนยากจน คนอนาถา เด็กกำพร้า และผู้ที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเคารพสักการะ อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมบริจาคทานโดยมีอุดมคติว่า “การเป็นมือบนย่อมดีกว่ามือล่าง” หรือการเป็นผู้ให้ย่อมดีกว่าการเป็นผู้รับ อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมสละทรัพย์สินหรือสิ่งของบางส่วนแก่เพื่อนมนุษย์ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือไม่ โดยเริ่มจากบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงก่อน เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน มิตรสหาย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทนจากมนุษย์ อิสลามสอนว่าการมอบสิ่งของเพียงเล็กน้อยแก่ผู้ที่จำเป็นเดือดร้อนโดยไม่ต้องการของแลกเปลี่ยนย่อมดีเลิศ และประเสริฐกว่าการบริจาคที่หวังสิ่งแลกเปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือคำสรรเสริญใดๆ 

          นะบีมุฮัมมัด  ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกรายละเอียดของการดำเนินชีวิต แม้แต่ในเรื่องการบริจาคทานนี้ก็เช่นเดียวกัน นะบีมุฮัมมัด ได้บริจาคอย่างมากมายชนิดที่ไม่กลัวความจน ท่านไม่เคยปฏิเสธการขอความสงเคราะห์ช่วยเหลือ ท่านส่งเสริมให้ทำการบริจาคทรัพย์ที่ดี ที่ตัวเองรักให้แก่ผู้อื่น และขยายความหมายของการทำทานมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น แต่ให้มีความหมายรวมไปถึงคำกล่าวสดุดีต่อพระเจ้า คำพูดที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ แม้แต่รอยยิ้มก็ถือเป็นบริจาคทานเช่นเดียวกัน

  การประกอบพิธีหัจญ์: สูงสุดของการสักการะต่ออัลลอฮ์

          การประกอบพิธีหัจญ์ถือเป็นหลักศาสนบัญญัติข้อที่ 5  หัจญ์คือ การประกอบศาสนกิจอีกรูปแบบหนึ่งของการเคารพสักการะ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย

          “หัจญ์”เป็นศาสนบัญญัติสำคัญหนึ่งในห้าประการที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมต้องปฏิบัติครั้งหนึ่งในชีวิตหากมีความสามารถ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ที่เป็นชายต้องครองชุดอิฮะรอมด้วยการนุ่งห่มผ้าขาวสองชิ้นที่ไม่มีการเย็บต่อกัน โดยชิ้นล่างนุ่งและชิ้นบนห่มโดยเปิดไหล่ข้างขวา ส่วนสตรีแต่งกายโดยปกปิดทั่วเรือนร่างยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ

          การประกอบพิธีหัจญ์ แม้จะมีศาสนสถานมาประกอบ อาทิ ทุ่งอะรอฟะฮ์ วิหารกะอ์บะฮ์ และอื่น ๆ แต่จุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อการเคารพศาสนสถานเหล่านั้น หากแต่มุ่งสู่การสักการะต่ออัลลอฮ์  แต่ผู้เดียว เหตุที่ต้องมีการเดินเวียนรอบวิหารกะอ์บะฮ์ มีการจูบหินดำ มีการเดินระหว่างภูเขาเศาะฟาและมัรวะฮ์นั้น เพื่อทำตามแบบอย่างที่นะบีมุฮัมมัด และเป็นการปฏิบัติที่อยู่เหนือเหตุผลทางปัญญา เช่นเดียวกับการที่ปฏิบัติละหมาดห้าเวลาในแต่ละวัน มุสลิมต่างนอบน้อมยอมปฏิบัติตามแบบอย่างด้วยความศรัทธามั่นต่อ พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและทรงลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนอย่างหนักหน่วงและรุนแรงยิ่ง

          ในขณะที่การละหมาดและการถือศีลอดเป็นการเคารพสักการะซึ่งต้องปฏิบัติด้วยกาย ซะกาตเป็นการเคารพสักการะในแง่ของทรัพย์สิน แต่หัจญ์เป็นการเคารพสักการะที่ประกอบกันระหว่างร่างกายกับทรัพย์สิน เพราะในการเดินทางไปต้องใช้ทรัพย์สิน และต้องปฏิบัติศาสนกิจที่มีทั้งการเดิน วิ่ง และพักแรม เป็นเวลาอย่างน้อยสามวัน หัจญ์จึงถือเป็นสูงสุดของการเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์