อิสลามกับระบบการเมืองการปกครอง
  จำนวนคนเข้าชม  72151

อิสลามกับระบบการเมืองการปกครอง 


          อิสลามเป็นศาสนาที่วางกฏระเบียบทุกประการของมนุษย์ และให้มนุษย์ปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนของอัลลอฮ์ ดังนั้นจึงมีการกำหนดกฏกติกาว่าด้วยการเมืองการปกครอง เพื่อใช้ศักยภาพในการพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามความประสงค์ของ  อัลลอฮ์ ผู้ทรงอำนาจอันแท้จริงในสากลจักรวาล

หลักคำสอนของอิสลามว่าด้วยการเมืองการปกครองสรุปได้ดังนี้


1. แนวคิดทางการเมืองการปกครอง

      แนวคิดทางการเมืองการปกครองในอิสลามประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการดังนี้

1.1 แนวคิดว่าด้วยความเชื่อในเอกภาพของอัลลอฮ์(เตาฮีด) หมายถึงมุสลิมต้องเชื่อว่าอัลลอฮ์ เพียงองค์เดียวที่มีสิทธิในการวางกฏระเบียบต่างๆให้ปฏิบัติ ไม่มีผู้ใดมีอภิสิทธิ์ในการตัดสินร่วมกับพระองค์  ปฏิเสธการบูชาเคารพมนุษย์ด้วยกัน เพราะไม่มีสิ่งใดที่สมควรแก่การเคารพบูชานอกจากอัลลอฮ์ เท่านั้น

1.2 แนวคิดว่าด้วยสาสน์แห่งนะบีมุฮัมมัด (ริสาละฮ์)  เชื่อว่านะบีมุฮัมมัดคือต้นแบบสำหรับการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ของมุสลิมและประสบผลสำเร็จ มุสลิมต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิธีการดำเนินชีวิตของนะบีมุฮัมมัด อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

1.3 แนวคิดว่าด้วยการเป็นผู้แทนของอัลลอฮ์ (คิลาฟะฮ์) หมายถึงการใช้อำนาจในการเมืองการปกครอง มุสลิมต้องปฏิบัติในฐานะเป็นผู้แทนเท่านั้น มิได้มีกรรมสิทธิ์ที่สมบูรณ์ จึงไม่มีสิทธิ์ปฏิบัติตามอำเภอใจ


          บนพื้นฐานแนวคิดดังกล่าว มุสลิมจึงสามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง


 2. ผู้นำรัฐในอิสลาม

      อัลมาวัรดีย์ ได้ให้ทัศนะว่า ผู้นำ หมายถึง ตำแหน่งที่สืบทอดจากท่านศาสนทูต เพื่อพิทักษ์ศาสนาและบริหารปกครองโลก

      อิบนิคอลดูน ได้ให้ทัศนะว่า ผู้นำ หมายถึง ความรับผิดชอบในการประยุกต์ทฤษฎีในหลักศาสนาเพื่อบริหารกิจการศาสนาและประโยชน์สาธาณะ ดังนั้นกิจการทางโลกก็เพื่อประโยชน์ในอาคีเราะฮ์ คือการเป็นผู้แทนของพระผู้เป็นเจ้าในการปกป้องศาสนา และปกครองโลกด้วยอิสลาม

      นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้ความหมายของผู้นำว่า เป็นผู้ปกครองกิจการทั้งมวลทั้งเรื่องทางโลกและศาสนา ผู้นำคือตัวแทนของท่านศาสนทูตในการธำรงค์ศาสนาให้เป็นศูนย์กลางของประชาชาติ และทำให้ปวงประชาราษฎร์ปฏิบัติตามผู้นำหรือเคาะลีฟะฮ์

      อัลบัยดอวี นักอรรถาธิบายอัลกุรอานท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ผู้นำหรือเคาะลีฟะฮ์ หมายถึง ผู้สืบทอดหน้าที่แทนท่านนะบี เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอิสลาม ประชาชาติมุสลิมทุกคนต้องยอมรับคำสั่งและอำนาจของเคาะลีฟะฮ์

      อะบุล อะลา เมาดูดี ได้กล่าวว่า ผู้นำรัฐหรือเคาะลีฟะฮ์ หมายถึง ตัวแทนแห่งคุณธรรม ซึ่งมีสิทธิ์ใช้อำนาจหน้าที่บนแผ่นดินนี้ภายใต้ขอบเขตที่ได้บัญญัติไว้ ผู้นำจึงไม่ใช่มรดกทางการเมืองของตระกูล หรือชนชั้นใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นหน้าที่ของประชาคมที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ศรัทธาในหลักแนวคิดด้านเตาฮีดและริสาละฮ์ที่ได้กล่าวข้างต้น

      ดังนั้น จึงสามารถสรุปความหมายของคำว่า “ผู้นำ หรือ เคาะลีฟะฮ์”ตามเชิงอรรถในด้านวิชาการทางอิสลามได้ 3 ประการคือ

 ก. เป็นผู้สืบทอดหน้าที่แทนนะบีมุฮัมมัด ในเรื่องทางโลก รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่และคุ้มครองศาสนาอิสลาม ผู้นำในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นนะบี หรือผู้ก่อตั้งชะรีอะฮ์(กฎหมายอิสลาม)ขึ้นมาใหม่

 ข. เป็นผู้สืบทอดหน้าที่ของนบีมูฮัมมัด เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆโดยการปฏิบัติและดำเนินการให้อยู่ในภายใต้ขอบเขตกฎเกณฑ์ตามที่อิสลามได้ระบุไว้

 ค. เป็นประมุขของรัฐ เพื่อเป็นแบบฉบับที่ดีแก่ประชาชนทั่วไป อิบนูคอลดูน บิดาแห่งปรัชญาอิสลาม ได้ให้คำนิยามของ เคาะลีฟะฮ์หรือผู้นำไว้ว่า เคาะลีฟะฮ์ นั้นเป็นผู้ที่จะต้องนำประชาชนให้ดำเนินตามชารีอะฮ์ที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน เพื่อขอประทานความสำเร็จในชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า


 3.  คุณสมบัติของผู้นำสูงสุดหรือเคาะลีฟะฮ์ในอิสลาม

          บรรดานักกฎหมายอิสลามให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้นำ เพราะผู้มีคุณสมบัติทุกคนมิใช่ว่าจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนและควบคุมอำนาจของประชาชนได้ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นผู้นำได้ต้องมีความเหมาะสมกับตำแหน่ง และสามารถดำเนินการในหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

           บรรดานักปราชญ์มีทัศนะที่แตกต่างกันในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำ โดยระบุคุณสมบัติอย่างละเอียดบางส่วนพอสังเขป และอีกบางส่วนได้ระบุถึงในลักษณะกลางๆดังนี้

           อิบนุห์ซัม ซึ่งเป็นนักกฎหมายอิสลาม มีความเห็นว่า ผู้นำนั้นต้องมีคุณสมบัติ ครบ 8 ประการ คือ

1) ต้องมาจากเผ่ากุร็อยช์

2) บรรลุนิติภาวะแล้ว

3) เป็นชาย

4) เป็นมุสลิม

5) มีความรู้บทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่

6) มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์

7) ไม่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติอย่างเปิดเผย

8) มีความเหมาะสมกับหน้าที่การงาน

ท่านได้สรุปว่า “ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนถือเป็นโมฆะ เป็นผู้นำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”

ทัศนะของอัลมาวัรดีย์

ท่านได้กำหนดคุณสมบัติของผู้นำไว้ 6 ประการ คือ

1) มีความยุติธรรมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

2) มีความรู้ที่สามารถทำการวิจัยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

3) มีประสาทสัมผัสที่สามารถดำเนินการต่างๆที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสเหล่านั้น

4) มีความคิดเห็นที่สามารถปกครองประชาชนและจัดการประโยชน์ต่างๆได้

5) มีความกล้าหาญที่สามารถรักษาดินแดนและต่อสู้กับศัตรู

6) จะต้องมีเชื้อสายเป็นกุร็อยช์ เพราะมีตัวบท พร้อมทั้งเป็นมติเอกฉันท์ของประชาชาติอีกด้วย

ทัศนะของอัลญุวัยนีย์

ท่านได้กำหนดคุณสมบัติของผู้นำไว้ดังนี้

1) ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถทำการอิจญติฮาดโดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นในปัญหาที่เกิดขึ้น

2) ต้องเป็นผู้ที่รู้จักการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์

3) มีความกล้าหาญในการตระเตรียมกองทัพและการปกป้องชายแดน

4) มีความคิดเฉลียวฉลาดในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

5) มีจิตใจที่เข้มแข็งในการลงโทษผู้กระทำผิด

          คุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ตามทัศนะของมัซฮับซาฟีอีย์ คือ ต้องมีเชี้อสายเป็นชาวกุร็อยช์ ทั้งนี้เพราะท่านนะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวไว้ความว่า “บรรดาผู้นำนั้นมาจาเผ่ากุร็อยช์” ( รายงานโดย อะห์หมัด)

ทัศนะของอิบนุคอลดูน

          ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้นำนอกเหนือจากการเป็นมุสลิมและเป็นผู้ชายเพิ่มเติมอีก 4ประการ คือ

1) ความรู้

2) ความยุติธรรม

3) ความสามารถ

4) มีความสมบูรณ์ของประสาทสัมผัสและอวัยวะต่างๆ    ที่มีผลต่อการใช้อำนาจหน้าที่ในด้านการวินิจฉัยและการสั่งการพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลที่จะต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวด้วย

          นอกจากนั้นท่านได้หยิบยกทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องการมีเชื้อสายกุร็อยช์ พร้อมทั้งชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้สิ่งนี้มีความจำเป็นในยุคแรก คือ ความเข้มแข็งมีอยู่กับเผ่านี้ แต่หลังจากที่เผ่านี้ได้กระจัดกระจายไป ทำให้มีความอ่อนแอเนื่องจากมีผลประโยชน์ทางโลกมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นคุณสมบัติดังกล่าวจึงไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง


4.หลักพื้นฐานที่สำคัญในการเมืองการปกครองในอิสลาม

 หลักพื้นฐานที่สำคัญในการเมืองการปกครองในอิสลามสรุปได้ดังนี้

 1 หลักการความยุติธรรม 

           ความยุติธรรมถือเป็นหัวใจหลักของการปกครองในอิสลาม ทั้งนี้เพราะหนึ่งในพระนามของอัลลอฮ์คือ พระผู้ทรงยุติธรรม ดังนั้นพระองค์ทรงกำชับให้มนุษย์ดำรงตนในความยุติธรรม ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม ดังที่อัลลอฮ์ตรัสไว้ในอัลกุรอานความว่า

 “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงสั่งใช้ให้รักษาความยุติธรรมและกระทำความดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิด และทรงสั่งห้ามจากการกระทำสิ่งชั่วช้าลามกและบาปทั้งปวง” (อัลกุรอาน16:90)

           อิสลามสอนว่าการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้นทำให้สามารถเสริมสร้างความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า

 “และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด จนเป็นเหตุให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”(อัลกุรอาน 5:8)

 2 หลักการปรึกษาหารือ

          อิสลามได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการประชุมปรึกษาหารือ เพราะเป็นการตักเตือนซึ่งกันและกัน การแสดงแนวคิด ความคิดเห็นที่แต่ละคนมีอยู่ให้คนอื่นได้รับทราบ การประชุมเพื่อปรึกษาหารือจึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นหลักการที่สำคัญในการคลี่คลายประเด็นปัญหา ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานความว่า 

 “อีกทั้งการทำงานของพวกเขา มีการประชุมในระหว่างพวกเขาและพวกเขาเสียสละทรัพย์สินบางส่วนที่เราได้ประทานแก่พวกเขา ”( อัลกุรอาน 42 : 38 ) 

 และอัลลอฮ์ ได้กล่าวอีกความว่า
  
 “และจงปรึกษาพวกเขาในการงาน (ต่างๆ ที่คิดกระทำ) ครั้นเมื่อเจ้าตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว เจ้าก็จงมอบหมาย(การงานนั้น)แด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้(มีจิต)มอบหมาย(ในพระองค์)” (อัลกุรอาน 3 : 159 )

          อิสลามได้กำชับให้มุสลิมมีการปรึกษาหารือในทุกกิจการ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาบ้านเมือง หลักการมีส่วนร่วมนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบริหารที่อิสลามได้เริ่มใช้ 1000 กว่าปีมาแล้ว ทั้งที่ในสมัยนั้นประชาชนไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและไม่ได้รับโอกาสให้คำปรึกษาแก่ผู้นำเลย

 3 หลักการการแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสม

 อัลลอฮ์ ได้กล่าวความว่า 

“ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าบิดพลิ้วต่ออัลลอฮ์และศาสนทูต และอย่าบิดพลิ้วต่อความไว้วางใจ (ที่ผู้อื่นมอบแก่) พวกเจ้า ทั้งๆ ที่พวกเจ้าก็รู้ดี ”( อัลกุรอาน 8 : 27 )

            จากอายะฮ์ที่ได้กล่าวมานั้นทำให้เข้าใจว่าการแต่งตั้งหรือคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนั้นสำคัญมาก จึงมีการกำหนดหลักการไว้อย่างชัดเจน คือ ใช้หลักความเหมาะสมเป็นหลัก ในที่นี้หมายถึงความเหมาะสมที่ครอบคลุมทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งหมายความว่าผู้นั้นต้องมีความรู้ความเข้าใจในทั้งสองเรื่องเป็นอย่างดี ไม่ได้หมายความว่าจะมีความชำนาญในด้านการบริหารแต่เพียงอย่างเดียวที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ที่มีศาสนา มีจิตใจเที่ยงธรรม มีความศรัทธา มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์และยำเกรงต่อพระองค์อย่างมั่นคง อิสลามถือว่าการแต่งตั้งผู้ที่ไม่เหมาะสม หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำ เป็นการทรยศต่ออัลลอฮ์ เราะซูลและศรัทธาชน ดังปรากฏในหะดีษความว่า

 “ผู้ใดที่ดำรงตำแหน่งในกิจการของมุสลิม โดยที่เขาแต่งตั้งคนๆหนึ่ง ทั้งที่เขารู้ว่ายังมีผู้อื่นที่เหมาะสมกว่าคนๆนั้น แน่นอนเขาได้ทรยศต่ออัลลอฮ์ เราะซูลและบรรดาผู้ศรัทธา”   (หะดีษรายงานโดยหากิม)

 4 หลักการความเสมอภาค 

          ความเสมอภาคนับได้ว่าเป็นหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานความว่า

“โอ้มวลมนุษย์ แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งหญิงหนึ่ง และบันดาลพวกเจ้าให้แตกออกเป็นเผ่าพันธุ์และเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์คือ ผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ”( อัลกุรอาน 49 : 13 )

นะบีมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า
 
 “ โอ้มวลมนุษย์ทั้งหลายจงรู้ไว้เถิดว่าแท้จริงพระเจ้าของพวกท่านนั้นมีเพียงองค์เดียว บรรพบุรุษของพวกท่านก็มาจากคนเดียวกัน จงรู้เถิดว่าคนอาหรับก็ไม่ได้เลิศเลอเหนือคนที่ไม่ไช่อาหรับ และคนที่ไม่ใช่อาหรับก็ไม่ได้เหนือกว่าคนอาหรับ  คนผิวแดงก็ไม่ได้เลิศเลอเหนือกว่าคนผิวดำ  และคนผิวดำก็ไม่ได้เหนือกว่าคนผิวแดง และผู้ที่ประเสริฐยิ่งก็คือผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮ์เท่านั้น”( บันทึกโดยอะห์มัด) 

          จากอายะฮ์อัลกุรอานและหะดีษที่ได้บ่งบอกถึงความสำคัญของความเสมอภาคในด้านความเป็นอยู่ร่วมกันภายใต้กฎระเบียบของศาสนาอิสลามและจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเผ่าพันธุ์  เชื้อชาติ  สีผิว  ฐานะความเป็นอยู่  หรือเกียรติยศ  เป็นต้น

          อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ไม่ว่าจะแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนาหรือสีผิว เพราะผู้ที่มีเกียรติในทัศนะของอิสลามอยู่ที่ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์  ต่างหาก

         อิสลามจึงให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครอง และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ อิสลามสอนให้มนุษย์ทราบว่าตราบใดที่สังคมมนุษย์อยู่ในครรลองของอิสลามแล้ว สังคมจะประสบแต่ความสุขและความปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ