จริยศาสตร์อิสลามกับจริยศาสตร์แขนงอื่น
  จำนวนคนเข้าชม  11484

จริยศาสตร์อิสลามกับจริยศาสตร์แขนงอื่น 

โดย อิจรลาลีย์ 

ความแตกต่างระหว่างจริยศาสตร์อิสลามกับจริยศาสตร์แขนงอื่น       


จริยศาสตร์อิสลามมีความแตกต่างที่ชัดเจนจากจริยศาสตร์แขนงอื่นๆดังนี้  

          1. จริยศาสตร์อิสลามมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และชี้แนะสู่หนทางที่พึงยึดถือและดำเนินตาม เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่แท้จริง แต่จริยศาสตร์ทางปรัชญามุ่งเน้นแต่กฎเกณฑ์ภาคทฤษฎีเท่านั้น

          2. ที่มาของจริยศาสตร์อิสลามมาจาก พระบัญชาแห่งพระเจ้า  จึงเป็นบัญญัติที่มั่นคงถาวร เป็นแบบอย่างที่สูงส่ง สอดคล้องกับมนุษย์ทั้งหมดโดยไม่จำกัดว่าเพศใด วัยใด เวลา หรือ สถานที่ใด  แต่จริยศาสตร์แขนงอื่นนั้น   มีแหล่งที่มาจากสติปัญญามนุษย์ หรือเป็นการเห็นพ้องของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงย่อมที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่มั่นคงได้เสมอ  กฎเกณฑ์จริยธรรมของสังคมหนึ่ง อาจไม่ใช่สำหรับอีกสังคมหนึ่ง  ความเห็นพ้องของสังคมหนึ่งก็อาจไม่ตรงกับความเห็นพ้องของอีกสังคมหนึ่ง เป็นต้น                                                         

          3. การสร้างจิตสำนึกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นของมนุษย์ สำหรับทัศนะอิสลามแล้ว คือ การรำลึกอยู่เสมอว่ามนุษย์เราทุกคนมีผู้คอยติดตาม สอดส่อง  ดูแลอยู่เสมอ มนุษย์ไม่อาจรอดพ้น การเห็น การได้ยินของพระเจ้า เพราะพระองค์ ทรงรู้ ทรงได้ยิน และทรงมองเห็น ทุกการกระทำของเขาอยู่ตลอดเวลา     แต่เกณฑ์ดังกล่าวสำหรับจริยศาตร์อื่นแล้ว อาศัยจิตใต้สำนึก หรือความรู้สึกกว่าเป็นหน้าที่ เป็นกฎเกณฑ์ที่พึงธำรงรักษา                            

          4. จริยศาตร์อิสลามไม่แยกระหว่างศาสนากับการดำเนินชีวิต ไม่แยกระหว่างผู้สร้างกับผู้ถูกสร้าง กฎเกณฑ์จริยธรรมจึงกำหนดผลตอบแทนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตามแต่การกระทำของบุคคลนั้นَๆ ทุกสิ่งอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้งล้วนได้รับการตอบแทนอย่างเที่ยงธรรม พระคัมภีร์ระบุว่า  

" ดังนั้น  ผู้ใดกระทำความดี มีน้ำหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะได้เห็นมัน ส่วนผู้ใดกระทำความชั่ว หนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะได้เห็นมัน "    ( อัซซัลซะละฮฺ 99 /7-8 )  

          กล่าวคือ ทุกความดีความชั่วที่มนุษย์ประกอบไว้ เขาจะพบมันถูกบบันทึกอย่างละเอียดในบันทึกของเขา เพื่อได้รับการตอบแทนอย่างครบถ้วน ทั้งนี้เป็นการสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า อัลลอฮจะไม่ทรงหลงลืมการงานใดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม  ดังที่พระองค์ ตรัสว่า

"แท้จริง อัลลอฮ จะไม่ทรงอยุติธรรม แม้มีน้ำหนักเท่าละอองธุลี "  ( อันนิซาอฺ 4 / 40 )
 

          5. จริยศาตร์อิสลามไม่เป็นสมบัติที่บุคคลใดจะอ้างเป็นเจ้าของผูกขาดได้


จุดมุ่งหมายของจริยศาสตร์อิสลาม

           เราทุกคนล้วนมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต หากแต่เป้าหมายชีวิตของผู้ศรัทธาไม่ได้จำกัดแต่เพียงโลกนี้เท่านั้น  ผู้ศรัทธาปรารถนาการมีชีวิตที่ผาสุกทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ความสุขในโลกนี้ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ไม่ได้อยู่ที่การมีอำนาจ มีเกียติยศชื่อเสียง  มีหน้ามีตาในสังคม มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ความสุขที่แท้จริง คือการได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า การได้เป็นทีรักที่โปรดปรานของพระองค์

  
          สำหรับโลกหน้าอันเป็นโลกที่จีรังถาวรนั้น ความสุขที่แท้จริงคือการได้พำนักในสรวงสวรรค์ของพระองค์  เป็นความสุขอันสถาพรและนิรันดร์กาล          

พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสว่า " สำหรับบรรดาผู้ทำดีในโลกนี้ คือความดี ( ได้รับการตอบแทนที่ดี ) และแน่นอนในปรโลกนั้น ย่อมดีกว่า และที่พำนักของบรรดาผู้ยำเกรงนั้น ช่างดีเลิศ "  ( อันนะฮลฺ 16 / 30 )  

"แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากไฟนรก และถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอน เขาได้ชนะแล้ว" ( อาละอิมรอน 3 / 185 )

 
          ความสุข  คือ การรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย สงบ อบอุ่นใจ รับรู้ถึงความโปรดปราน ความพึงพอใจ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ย่อมแตกต่างกันตามปัจเจกบุคคล  อันเป็นผลจากการกระทำได้ประกอบไว้

  
          จริยศาตร์อิสลามมุ่งเน้นที่ความสุขของโลกหน้า อันเป็นภาคผล เป็นรางวัลที่พระผู้เป็นเจ้าได้สัญญาไว้กับบ่าวของพระองค์ ในขณะเดียวกันอิสลามไม่ได้ละทิ้ง หรือเพิกเฉยต่อการใช้ชีวิตบนโลกนี้ อิสลามใช้ให้มนุษย์สร้างความสมดุลในการดำรงชีวิตทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า                                                                                         

พระคัมภีร์ระบุว่า   "และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ ได้ประทานแก่เจ้าในปรโลก และอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้ และจงทำความดี เสมือนกับที่อัลลอฮได้ทรงทำดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน แท้จริง อัลลอฮไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย" ( อัลก่อศ็อศ 20 / 77 )     

" และจงกิน และจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ ไม่ทรงชอบบรรดาผู้ฟุ่มเฟือย" ( อัลอะรอฟ 7 / 31 )
 
          ดำรัสของพระองค์ข้างต้นเป็นการบ่งถึง สิทธิของมนุษย์ในการตอบสนองความปรารถนาของตนด้วยกับข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ศาสนา พร้อมๆกับการตอบสนองจิตวิญญาณให้อิ่มเอม ด้วยกับการรำลึก การเชื่อฟังและจงรักภีกดีต่อพระองค์  

อัลลอฮ   ตรัสว่า " และพวกเจ้า อย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ที่ลืมอัลลอฮ มิฉะนั้น อัลลอฮจะทรงทำให้พวกเขาลืมตัวของพวกเขาเอง" ( อัลฮัชรฺ  59 / 19 )

            การศรัทธาต่อโลกหน้า ศรัทธาต่อการสอบสวนคิดบัญชี ศรัทธาต่อการตอบแทนของพระองค์นั้น ไม่ได้หมายถึงต้องทำตนสุดโต่งในเรื่องศาสนา โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นในโลกนี้ แต่ชีวิตที่อิสลามปรารถนาคือ การผสมผสานกันอย่างสมดุลและลงตัวในการดำเนินชีวิตเพื่อโลกนี้และโลกหน้า


 
“ จงทำการงานเพื่อโลกนี้ของท่าน  เสมือนกับว่าท่านจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป

และจงทำการงานเพื่อโลกหน้าของท่านเสมือนกับว่าท่านจะตายในวันพรุ่ง”

     

อิสลามส่งเสริมจริยธรรมอย่างไร ?

          1.  อิสลามถือว่าการประพฤติปฏิบัติตนของผู้เป็นบ่าวเป็นสิ่งที่อยู่ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า       ท่านศาสดามุฮัมหมัด   กล่าวว่า 

“  แท้จริงอัลลอฮ จะไม่ทรงมองที่รูปร่างและทรัพย์สมบัติของพวกท่าน หากแต่พระองค์ทรงมองที่จิตใจและการงานของพวกท่าน ” 


ท่านอิหม่ามอิบนิก็อยยิมได้อธิบายว่า 

“ พึงทราบเถิดว่า ความสวยงามนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สวยงามภายในและสวยงามภายนอก  ความสวยงามภายในเป็นที่รักและถูกชื่นชมในตัวเอง ความสวยงามเหล่านั้นได้แก่ ความรู้ ปัญญา ความดี ความมีเกียรติ ความกล้าหาญ และความสวยงามภายในนี่เองที่อัลลอฮทรงทอดพระเนตร และเป็นที่ที่พระองค์ทรงรัก ตามที่ฮะดีสนี้ได้บอกไว้ ความสวยงามภายในจะประดับประดารูปร่างภายนอกให้สวยงาม แม้นว่าเขาจะไม่ได้มีรูปร่างที่งดงาม ความสวยงามจากภายในจะห่อหุ้มตัวเขาด้วยความงดงาม ความน่าเกรงขามและความอ่อนโยน เท่าที่จิตวิญญาณของเขาได้แสวงหามัน ใครที่พบเห็นเขาจะให้เกียรติ ใครที่สนิทสนมกับเขาจะหลงรัก  ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์จริงในสายตาของเรา ท่านจะเห็นได้ว่า คนดีที่มีจริยธรรมมีมารยาทอันดีงาม ถือเป็นผู้ที่งดงามที่สุด แม้ว่าเขาจะดำเมี่ยมหรือไม่มีความสวยงามใดๆเลยก็ตาม  “    
 
          2. จริยธรรมคือหน้าที่สำคัญของบรรดาศาสดาทั้งหลาย      อิสลามถือว่าการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ การอบรมบ่มนิสัยให้มีคุณธรรมจริยธรรมนั้น ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

  
"แท้จริง อัลลอฮได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ศรัทธา โดยที่พระองค์ได้ทรงส่งร่อซูลผู้หนึ่งจากพวกเขาเอง มายังพวกเขา เพื่อจะได้อ่านบรรดาโองการของพระองค์ให้พวกเขาฟัง และชำระขัดเกลาพวกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์ และจะสอนคัมภีร์ และ ความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในบัญญัติศาสนาแก่พวกเขา และแท้จริง เมื่อก่อนนั้น พวกเขาเคยอยู่ในความหลงผิดอันชัดแจ้ง " ( อาละอิมรอน 3 / 164 )
 
          ท่านอิบนุ กะซี๊ร ได้อธิบายว่า อัลลอฮ ตะอาลา ทรงเตือนบ่าวผู้ศรัทธาของพระองค์ให้รำลึกถึงว่า การที่พระองค์ทรงส่ง ศาสดามุฮัมหมัด  ศาสนทูตของพระองค์ มายังเหล่าผู้ศรัทธานั้น นับเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระองค์ทรงแต่งตั้งท่านเพื่อทำหน้าที่อ่านดำรัสอันชัดแจ้งของพระองค์ และทำให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายสะอาดบริสุทธิ์จากความสกปรกโสมม ของนิสัยที่ชั่วช้าและพฤติกรรมที่เลวทรามในยุคสมัยแห่งความงมงาย
 
          ท่านอิบนิ ซะอฺดียฺ ได้กล่าวว่า  คำว่า “ ทำให้บริสุทธิ์ ” หมายความว่า ทำให้พฤติกรรมและจิตใจของพวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ ด้วยกับการอบรมสั่งสอนบนพื้นฐานจริยธรรมที่งดงาม และขจัดความต่ำทรามทั้งหลายให้หมดไป  อันได้แก่ การทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์จากการตั้งภาคี ไปสู่การให้เอกภาพแด่อัลลอฮเพียงองค์เดียว จากความโอ้อวด ไปสู่ความบริสุทธิ์ใจ จากการโกหกสู่สัจจะวาจา จากการคดโกง สู่การเป็นที่ไว้วางใจ จากความโอหังสู่ความนอบน้อม จากมารยาทที่เลวทราม สู่มารยาทที่ดีงาม และจากการเกลียดชัง โกรธแค้น ตัดญาติขาดมิตร สู่ความรักใคร่ปรองดอง สมัครสมานสามัคคี  เป็นต้น
 
พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสชมเชยศาสนทูตของพระองค์ว่า   

" แท้จริงเจ้า ( มุฮัมมัด )นั้น อยู่บนจริยธรรมอันยิ่งใหญ่   "  ( อัลก่อลัม68 / 4 )  

           ท่านอิบนิ อับบาส   ได้อธิบายว่า จริยธรรมอันสูงส่งในที่นี้ หมายถึง ศาสนาอันยิ่งใหญ่ คือหมายถึงศาสนาอิสลาม ท่านฮะซัน อัลบัศรีย์ อธิบายว่า หมายถึง จริยธรรมแห่งอัลกุรอาน และดังมีรายงานจากท่าน ซะอฺ อิบนิ ฮิชาม กล่าวว่า ฉันได้เคยถามท่านหญิง อาอิชะฮฺ    ( ขออัลลอฮทรงพอพระทัยในตัวนาง ) ว่า

" โปรดบอกฉันถึงมารยาทของท่านศาสดา ด้วยครับ ท่านหญิงตอบว่า     “ มารยาทของท่านคืออัลกุรอาน ”


          ท่านอิบนิร่อญับ ได้อธิบายว่า หมายถึงท่านศาสดา มีความประพฤติตามจริยธรรมของอัลกุรอาน ท่านกระทำในสิ่งที่เป็นคำสั่งใช้ และออกห่างจากคำสั่งห้าม ทุกพฤติกรรมที่ดำเนินตามพระคัมภีร์จึงได้กลายเป็นอุปนิสัย เป็นความประพฤติ และเป็นธรรมชาติประจำตัวท่าน  และสิ่งนี้เองที่นับเป็นจริยธรรมอันสูงส่งที่สุด มีเกียรติที่สุดและงดงามที่สุด       

ท่านศาสดามุฮัมหมัด   กล่าวว่า

“ แท้จริงแล้ว ฉันถูกส่งมาเพื่อทำให้จริยธรรมที่ดีงามนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ “ ( บันทึกโดยอิหม่าม บุคอรี )
 
          ดังนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญในการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งท่านเป็นศาสดา ก็เพื่อทำให้จริยธรรมเพียบพร้อมสมบูรณ์  เพื่อดำเนินตามกฎเกณฑ์อันสูงส่ง และ ทำให้ความประเสริฐสูงส่งนี้แพร่กระจายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ยิ่งไปกว่านั้น จุดมุ่งหมายของสาสน์ของพระองค์ยังเป็นเป้าหมายของจริยธรรม เพราะแน่นอนเหลือเกินว่า คำว่า"ศาสนา" หมายถึง การมีจริยธรรมอันดีงาม
เพราะศาสนาที่ปราศจากจริยธรรมในตนเอง ย่อมเหมือนกับกฎหมายที่ปราศจากผู้พิพากษา

                                                  
          นักวิชาการมีความเห็นว่า ดำรัสของพระเจ้าที่ประมวลไว้ซึ่งความดี ความประเสริฐ และ คุณธรรมอันสูงส่ง  ในดำรัสเดียวกัน ได้แก่ ดำรัสของพระองค์ที่ว่า  
                                                                                                                                        
" แท้จริง อัลลอฮทรงกำชับพวกเจ้าให้คงไว้ซึ่ง ความยุติธรรม และการกระทำดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิด และพระองค์ทรงกำชับให้พวกเจ้าละเว้น การลามก และการชั่วช้า และการละมิด พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในเรื่องนี้ เพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึกถึง" ( อันนะหฺลฺ 16 / 90 )
 
          สำนวนของอัลกุรอาน ด้านการเรียกร้องเชิญชวนสู่จริยธรรมนั้น เป็นสำนวนที่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติโดยตรง มิใช่สำนวนของนักปราชญ์ในด้านการค้นหาทฤษฎี และตั้งหลักแบบตรรกวิทยา หรือการโต้แย้ง  หากแต่เป็นสำนวนที่ว่าด้วยมูลฐานของคุณธรรมและความประเสริฐ โดยแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดแล้วจึงเชิญชวน ปลุกมุสลิมให้ตื่นตัวในการทำความดีอย่าสม่ำเสมอ 
 หน้าที่ของบรรดาศาสนทูตของพระองค์ จึงหมายถึงการสั่งสอน  ชี้นำสู่จริยธรรมอันสูงส่ง เพื่อขัดเกลาและเยียวยารักษาจิตใจของมนุษยชาติ

          3. อิสลามกำชับส่งเสริม ให้มีจริยธรรม ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากจริยวัตรของท่านศาสดามุฮัมหมัด   ท่านเป็นที่สุดแห่งตัวอย่างอันดีงาม จริยวัตรของท่านดำเนินตามแนวทางแห่งอัลกุรอาน อย่างสมบูรณ์ปราศจากข้อบกพร่องใดๆ อิสลามได้กำชับในเรื่องจริยธรรมมากมายหลายครั้งด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้ พระคัมภีร์ ระบุว่า

            
" และความดี และความชั่วนั้น หาได้เท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่(ความชั่ว)ด้วยสิ่งที่ดีกว่า แล้วเมื่อนั้น ผู้ที่ระหว่างเจ้าและระหว่างเขา เคยเป็นอริกัน ก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน  "( ฟุศศิลัต 41 / 34 )  

" แท้จริงความดีทั้งหลาย ย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย " ( ฮูด 11 / 114 ) 

และวจนะท่านศาสดา  ได้ระบุว่า         

“ ผู้ที่ดียิ่งในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่มีจริยธรรมที่สุดในหมู่พวกท่าน ”

“ ผู้ศรัทธาที่ประเสริฐสุดในการเป็นมุสลิม คือผู้ที่บรรดามุสลิมปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา และผู้ศรัทธาที่ประเสริฐสุดในการเป็นมุอมิน คือผู้มีมารยาทดีที่สุด ” ( บันทึกโดย อิมาม อัฏฏ็อบรอนีย์ )  

                               
“ บรรดาผู้ศรัทธาที่มีศรัทธาสมบูรณ์ที่สุดนั้น คือผู้มีจริยธรรมที่ดีที่สุด ” ( บันทึกโดยอิมาม บุคอรี )
                                        
“ ในวันกิยามะฮฺ ( วันแห่งการตัดสิน )ไม่มีสิ่งใดที่จะมีน้ำหนักในตาชั่งของมุอฺมิน ยิ่งไปกว่า การมีจริยธรรมอันดีงาม”  ( บันทึกโดย อิมามอะฮฺหมัด และอบูดาวูด )                                   

ท่านศาสดา   ถูกถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เข้าสวรรค์ได้มากที่สุด ท่านตอบว่า    

 “การยำเกรงต่ออัลลอฮ และการมีจริยธรรมดี” ( บันทึกโดยอิมาม บุคอรีย์ ) 


“ ความดี คือ การมีความประพฤติที่ดีงาม  ส่วนมลทิน (บาป ) คือ สิ่งที่สร้างความเคลือบแคลงในใจท่าน และไม่อยากให้ผู้อื่นเห็น”

            และจากคำวิงวอน ( ดุอาอฺ ) ของท่าน ก็เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีถึงความสำคัญของจริยธรรมดังที่ท่านเคยวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า         

“ ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ ให้พ้นจาก มารยาทที่ไม่ดีงามทั้งหลาย” ( บันทึกโดย ติรมีซีย์)  

” ขอพระองค์ทรงโปรดนำทางข้าพระองค์สู่จริยธรรมที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีใครสามารถชี้นำข้าพระองค์สู่จริยธรรมที่ประเสริฐที่สุดได้ นอกจากพระองค์ และโปรดทรงทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดี ไกลห่างจากข้าพระองค์ ไม่มีใครสามารถทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีห่างไกลจากข้าพระองค์ได้ นอกจากพระองค์” ( บันทึกโดยอิมาม มุสลิม )                                                 
 
          เพียงเท่านี้ก็เป็นที่บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า  สำหรับอิสลามแล้วจริยธรรมถือเป็นทั้งหมดของศาสนา เป็นการศรัทธาอันจริงแท้ และเป็นบทบัญญัติอันสูงส่งของอิสลาม
 


การเสริมสร้างจริยธรรมอิสลาม

อิสลามถือว่าการปรับปรุงแก้ไขหรือการให้ได้มาซึ่งจริยธรรมอาจกระทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

     1. ด้วยการพยายามลดผลที่เกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง และหักห้ามตนเองจากการทำตามอารมณ์  ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะที่สามารถปรับใช้กับพฤติกรรมที่เป็นนิสัยแต่กำเนิด เช่น ความโกรธ ดังปารกฏในวจนะศาสดาที่ว่า    

“ มีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านศาสดาว่า ได้โปรดกรุณาสั่งเสียฉันเถิด ท่านศาสดากล่าวว่า “ ท่านจงอย่าโกรธ ” ชายผู้นั้นได้กล่าวคำขอร้องของเขาหลายครั้ง ท่านศาสดาตอบเขาว่า  “ ท่านจงอย่าโกรธ ” (บันทึกโดย อิมามบุคอรี)
  
         นักวิชาการได้อธิบายวจนะท่านศาสดาดังกล่าวว่า การห้ามโกรธนั้น หมายถึงห้ามกระทำตามผลของความโกรธ คืออย่าให้ความโกรธมีผลต่อการกระทำ ไม่ได้หมายถึงห้ามมิให้โกรธ เพราะการโกรธเป็นธรรมชาติของปุถุชน เป็นลักษณะนิสัยที่ไม่อาจถอดถอนจากความเป็นมนุษย์ได้ ดังนั้น การพัฒนาลักษณะที่เป็นความโกรธ ไม่ได้หมายถึงการถอดถอนความโกรธให้หมดสิ้น แต่หมายถึงการควบคุมไม่ให้ความโกรธส่งผลต่อการกระทำ 

 ดังมีระบุในพระคัมภีร์ว่า

"และบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ "   ( อาละอิมรอน 3 / 34 )   

          จากดำรัสข้างต้น อัลลอฮ     ทรงสรรเสริญ ยกย่องผู้ที่สามารถระงับ ควบคุมการโกรธ ไม่ได้หมายถึงผู้ที่ถอดถอนความโกรธออกจากตนเองได้แต่อย่างใด      

"   และเมื่อพวกเขาโกรธ พวกเขาก็ให้อภัย   " ( อัชชูรอ / 37 )

ท่านศาสดามุฮัมหมัด   ได้กล่าวว่า    

  “ ผู้ที่เข้มแข็งหาใช่ผู้ที่ทำให้ผู้อื่นล้มลงได้ แต่ผู้ที่เข้มแข็งที่แท้จริง คือผู้สามารถควบคุมตนเองในขณะโกรธได้ ” (   บันทึกโดยอิมามบุคอรีและอิมามมุสลิม )   

            การที่อิสลามสอนมุสลิมให้มีลักษณะเช่นนี้  ก็เพราะอิสลามต้องการให้มนุษย์รู้ว่า ชัยชนะที่แท้จริงนั้น คือการควบคุมตนเอง และการพ่ายแพ้ที่แท้จริง คือการคล้อยตามอารมณ์และละเมิดบทบัญญัติศาสนา


          2. ด้วยการปรับเปลี่ยนความขุ่นมัวที่มีในลักษณะนิสัยที่ไม่ดีงามให้เป็นพฤติกรรมที่ดีงามตามคำเรียกร้องของอิสลามโดยแท้จริง อาทิเช่น ความกล้าหาญที่ถูกใช้ไปในการรังแกผู้อ่อนแอหรือทำร้ายผู้บริสุทธิ์  การมีใจบุญที่แฝงด้วยความโอ้อวด เป็นต้น ทั้งสองเป็นจริยธรรมที่ดีงามแต่ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของอิสลาม อิสลามใช้ให้กล้าหาญเพื่อช่วยเหลือผู้อ่อนแอ ขจัดความไม่ชอบธรรมทั้งหลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออัลลอฮ   แต่เพียงผู้เดียว เช่นเดียวกับความใจบุญ ก็จำเป็นต้องแสดงออกเพื่อพระองค์เพียงองค์เดียว โดยไม่มีสิ่งอื่นใดแอบแฝง        พระคัมภีร์ระบุว่า   

 "  โอ้บรรดาผู้ศรัทธา พวกเจ้าจงอย่าทำให้ทานของพวกเจ้าไร้ผล ด้วยการลำเลิกและสร้างความเดือดร้อน " (อัลบะเกาะเราะฮ 2 / 264 )

          3.  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีด้วยจริยธรรมที่ดีงาม เช่น เปลี่ยนจากการโกหก เป็นการมีสัจจะวาจา จากการทรยศหักหลังเป็นการซื่อสัตย์ จากอธรรมเป็นยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเช่นนี้ ย่อมทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีหมดสิ้นไป จริยธรรมที่งดงามจะเข้ามาแทนที่ ดังเช่นการเปลี่ยนแปลงของผู้กลับเนื้อกลับตัวอย่างแท้จริง

Part 3  >>>>Click

Part 5 >>>>Click