สังคมมุสลิมในนครมะดีนะฮ์ภายหลังจากการอพยพ
  จำนวนคนเข้าชม  12170

 

สังคมมุสลิมในนครมะดีนะฮ์ภายหลังจากการอพยพ

          การฮิจญ์เราะฮ์เป็นการยกฐานะให้กับบรรดามุสลิม อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้เกียรติแก่อิสลามและทรงทำให้เป็นรัฐอิสลาม สังคมมุสลิมกลายเป็นสังคมที่มีความโดดเด่น และสมบูรณ์ด้วยกับขั้นตอนต่างๆ และองค์ประกอบมากมาย พื้นฐานสำคัญซึ่งท่านเราะซูลุลลอฮฺ ได้จัดตั้งรากฐานเพื่อเป็นการสถาปนารัฐอิสลาม เพื่อเป็นการจัดระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับสังคมมุสลิมมีดังนี้ ;

การสร้างมัสญิด

          ท่านเราะซูล ได้กระทำอย่างแรกคือการก่อสร้างมัสญิด เพราะมัสญิดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดามุสลิม ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ดังนั้นท่านนะบี จึงทำการสร้างมัสญิดตรงที่อูฐของท่านได้คุกเข่าลง ท่านได้ซื้อที่ดินจากเจ้าของ การก่อสร้างมัสญิดจึงเริ่มขึ้นด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ การทุ่มเทในหนทางของชัยชนะและผลบุญอันยิ่งใหญ่ ท่านเราะซูล ได้ร่วมมือก่อสร้างมัสญิด พร้อมกับบรรดาซอฮาบะฮ์  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความมุ่งมั่นและกำลังใจอันเข้มแข็ง อาคารมัสญิดได้สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ผนังทำจากดิน และเสาทำจากต้นอินทผลัม หลังคาทำจากก้านอินทผลัม(*1*) อาคารมัสญิดได้มีบทบาทที่สำคัญ ดังเช่นที่ อิมาดุดดีน ค่อลีล ได้บอกไว้ว่า:
 
          “เป็นต้นแบบตามที่อิสลามได้วางเอาไว้ อย่างครอบคลุมและสมบูรณ์แบบ  กลายเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจในการปฏิบัติพิธีกรรม การทำอิบาดะห์ ตลอดจนระบอบการปกครองด้านการทหาร เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของชาติทั้งด้านภายในประเทศและต่างประเทศ และเป็นสถาบันแห่งวิชาการพร้อมกับการวางบัญญัติศาสนา ซึ่งบรรดาซอฮาบะฮ์จะมาชุมนุมกันที่นั่น อีกทั้งยังเป็นที่สำหรับการคลี่คลายปัญหาต่าง ๆและเป็นที่ใช้อบรมสั่งสอนด้วยถ้อยคำต่าง ๆ เป็นศูนย์รวมของสังคมที่บรรดามุสลิมจะได้เรียนรู้กฎระเบียบ ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน และได้สัมผัสการเป็นเอกภาพ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย(*2*) มีการก่อสร้างบ้านเรือนอย่างเรียบง่ายรอบ ๆ บริเวณมัสญิดสำหรับเป็นที่พักอาศัยของท่านเราะซูลลุลลอฮ์ พร้อมกับบรรดาภรรยาของท่าน ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุนนะ"

การจับมือเป็นพี่น้องกัน

          บรรดากลุ่มที่อพยพ(อัลมุฮาญิรูน) ได้ทิ้งทั้งบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย ตลอดจนทรัพย์สินรวมถึงครอบครัวไว้ที่นครมักกะห์ ซึ่งพวกเขาได้มาพร้อมกับหัวใจและไม่มีสิ่งใดเลยที่ติดตัวมานอกจากศาสนา ดังนั้นจึงเกิดปัญหาหลายด้านด้วยกัน บ้างขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีใครที่จะช่วยเหลือแม้แต่ที่หลับนอนพักแรม และปัญหาของคนพลัดถิ่นที่ต้องรอนแรมไปยังที่อื่น ยังคงเป็นปัญหาที่สังคมมนุษยชาติต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งมิใช่เป็นการง่ายที่จะแก้ไขได้ด้วยระยะเวลาเพียงสั้น ๆ หากแต่ว่าบุคคลซึ่งเป็นผู้นำแห่งมนุษยชาติ(ท่านนะบี) ได้วางแนวทางแก้ไขไว้อย่างชัดเจนยิ่ง และด้วยความพยายามที่จะแก้ปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดี โดยการให้จับมือเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างกลุ่มของผู้อพยพ (มุฮาญิรีน) กับ กลุ่มผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศ็อร)  ซึ่งเป็นเจ้าของท้องถิ่น โดยแต่ละฝ่ายจับมือเป็นพี่น้องกันเป็นคู่ๆ จึงทำให้เกิดความอบอุ่นใจแก่บรรดาคนต่างถิ่น และเป็นการลดความทุกข์ยากรวมถึงทำให้เกิดความสนิทสนมซึ่งกันและกัน อีกทั้งความเป็นพี่เป็นน้องกันระหว่างกลุ่มมุฮาญิรีนกับกลุ่มอันศ็อร มีความลึกซึ้งเกินกว่าพี่น้องทางสายเลือดเสียอีก และไม่เคยเห็นรูปแบบของความสัมพันธ์อย่างนี้ในสมัยใดมาก่อนเลย จนมีสิทธิ์รับมรดกทางทรัพย์สินซึ่งมากกว่าทายาทด้วยซ้ำ และการจับมือเป็นพี่เป็นน้องกันมิได้สร้างความหนักอกหนักใจให้แก่ชาวอันศ็อร ซึ่งบรรดาชาวอันศ็อรจะต้องบรรเทาทุกข์ด้วยการแบ่งปันทรัพย์สิน ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด ฯลฯ ในทางกลับกันชาวอันศ็อรต้องการที่จะให้มากกว่าที่ถูกเรียกร้องเสียอีก จากการจับมือเป็นพี่เป็นน้องกันนี้ พวกเขาได้เสนอต่อท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ว่าจะแบ่งปันสวนอินทผลัมให้แก่พี่น้องชาวมุฮาญิรีนอีกด้วย แต่ท่านไม่รับข้อเสนอดังกล่าว ชาวอันศ็อรจึงเสนอให้ชาวมุฮาญิรีนสามารถเข้าไปใช้แรงงานในสวน แล้วพวกเขาจะแบ่งปันผลอินทผลัมให้ กลุ่มมุฮาญิรีนจึงรับข้อเสนอนั้น (*3*)

อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชมเชยชาวอันศ็อรและแจ้งถึงส่วนที่พวกเขามีความเอื้อเฟื้อเมตตาในคำตรัสของพระองค์ ว่า :

          “และบรรดาผู้ที่ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในนครมะดีนะฮ์(ชาวอันศ็อร) และพวกเขาได้ศรัทธาก่อนหน้า การอพยพของพวกเขา (ชาวมุฮาญิรีน) พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขา     และจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาอยู่ในหัวอกของพวกเขาในสิ่งที่ได้ถูกประทานให้ และยังให้สิทธิ์แก่ผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องการตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ” (อัลฮัชร์ 59 : 9)

          บรรดามุฮาญิรีนเกรงว่าชาวอันศ็อร จะรับเอาผลบุญที่จะได้แก่พวกเขาไปหมดสิ้น ชาวมุฮาญิรีนจึงพูดกับท่านเราะซูล ว่า :

          “โอ้ ผู้เป็นเราะซูลของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกเราไม่เคยพบใครเหมือนกับกลุ่มคนที่พวกเราอพยพมา พวกเขาได้ทุ่มเทให้อย่างมากมาย และไม่เคยเห็นใครที่ได้แสดงความเป็นพี่เป็นน้อง แม้ในส่วนเล็กน้อย พวกเขาได้ให้พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย พวกเราได้มีความเป็นอยู่อย่างเพียงพอ ซึ่งแน่นอน พวกเราเกรงว่าพวกเขาจะเอาผลบุญไปหมดสิ้น”

ท่านนะบี จึงได้กล่าวว่า :

          (( كَلاَّ مَا أثْنَيْتُمْ عَلَيْهِمْ بِهِ ، وَدَعَوْتُمْ اللهَ – عز وجل – لَهُمْ ))

          ความว่า : “ใช่แล้ว ตามที่พวกท่านกล่าวชมพวกเขานั้น และพวกท่านได้ขอวิงวอนต่ออัลลอฮฮ์ –อัซซะวะญัล- ให้กับพวกเขา”  (*4*)

          ซะอ์ด บิน อัรร่อบีอะฮ์ ที่เป็นชาวอันศ็อรกับพี่น้องของเขา คือ อับดุรเราะฮ์มาน บิน เอ๊าฟ จากชาวมุฮาญิรีน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ชาวอันศ็อรที่มีความจริงใจเมตตาสงสารต่อชาวมุฮาญิรีน และชาวมุฮาญิรีนที่รู้สึกสำนึกในบุญคุณอันงดงามยิ่ง ท่านเราะซูล ให้เขาจับมือเป็นพี่น้องกันระหว่างทั้งสองคน แล้ว ซะอ์ด ได้เสนอทรัพย์สินที่มีอยู่ให้แก่อับดุรเราะฮ์มานครึ่งหนึ่ง ตลอดจนจะทำการหย่าภรรยาของเขาหนึ่งในสองคนที่มีอยู่แล้วให้ได้แต่งงานด้วย อับดุรเราะฮ์มานจึงพูดว่า :

          “ขออัลลอฮฺทรงประทานศิริมงคลให้แก่ท่านในครอบครัวและทรัพย์สินของท่านด้วยเถิด”   (เขาไม่รับข้อเสนอนั้น)

แล้วพูดว่า :

          “ขอท่านจงบอกแหล่งท้องตลาดให้แก่ฉันด้วย”

          อับดุรเราะฮ์มานได้วนเวียนค้าขายอยู่ในตลาด จนเขาได้กลายเป็นคนมั่งคั่งในหมู่ชาวมุฮาญิรีน (*5*)

          แท้จริง การจับมือเป็นพี่น้องกันได้นำไปสู่ความผูกพันทางใจแก่บรรดาผู้ศรัทธาและทำให้อบอุ่นใจยิ่งในบรรดาชาวมุฮาญิรีน เป็นการสร้างสังคมที่มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น เปี่ยมด้วยความรัก ความเป็นพี่น้อง เมื่อการดำรงชีวิตของชาวมุฮาญิรีนมีความสมบูรณ์ดีและมั่นคงเป็นที่พอเพียงแล้ว อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยกเลิกการรับมรดกตกทอดกันในรูปของการจับมือเป็นพี่น้องกัน โดยเปลี่ยนเป็นการรับมรดกโดยทางสายเลือดดังดำรัสของพระองค์ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า :

         "และบรรดาผู้ที่ได้ศรัทธาที่หลัง และได้อพยพ และต่อสู้ร่วมกับพวกเจ้านั้น ชนเหล่านี้แหละเป็นส่วนหนึ่งของพวกเจ้า และบรรดาญาตินั้น บางส่วนของพวกเขาเป็นผู้สมควรต่ออีกบางส่วน ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง" (อัลอันฟาล 8 : 75)


การมีข้อตกลงกับชาวยิว

          ในขณะที่เราะซูลุลลอฮ์ ได้เข้าสู่นครมะดีนะฮ์ ได้มีชาวยิวอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการสร้างสังคมที่นครมะดีนะฮ์ พร้อมวางกฎเกณฑ์การก่อตั้งอาณาจักรรัฐอิสลามอย่างชัดเจน จึงต้องกำหนดความสัมพันธ์กับชาวยิว ซึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาวเมืองมะดีนะฮ์ นี่คือสิ่งที่ท่านนะบี ถือปฏิบัติและได้มีสนธิสัญญาข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับยิวกลุ่มต่างๆ โดยที่พื้นฐานอันสำคัญของข้อตกลงมีว่า :

  • มีการนับถือศาสนาโดยเสรี “มุสลิมมีศาสนาของมุสลิม ยิวมีศาสนาของยิว”
  • ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบในการป้องกันนครมะดีนะฮ์ในขณะที่มีภัยรุกรานจากภายนอก
  • ความปลอดภัยภายในของนครมะดีนะฮ์ อยู่บนความรับผิดชอบของทุกคน “หมายความว่า ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัย”
  • ทุกฝ่ายต้องให้เกียรติต่อกัน และจะไม่เป็นมิตรกับชาวกุเรชและไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะต้องตั้งมั่นอยู่บนความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีการซ่อนเร้น  หรือเล่ห์เหลี่ยมใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ท่านเราะซูล เป็นผู้นำสูงสุดของกลุ่มชน และชาวยิวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชน ชาวยิวต้องอยู่ภายใต้การปกครอง ในเรื่องที่มีการพิพาทกันให้ท่านเราะซูล เป็นผู้ชี้ขาด อำนาจการออกคำสั่งเป็นสิทธิ์ของท่านนะบี ทั้งในด้านการทำสงคราม และอื่นๆ  (*6*)

           การก่อตั้งมัสญิด การจับมือเป็นพี่น้องกัน ตลอดจนการเขียนสนธิสัญญากับชาวยิวนั้น ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ได้วางรากฐาน กฏเกณฑ์การจัดตั้งรัฐอิสลามให้อยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง มัสญิดเป็นที่ฝึกฝนบรรดามุสลิม และเป็นการจัดระเบียบมารยาท รวมถึงการเป็นพี่เป็นน้องกันทำให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของส่วนรวม ด้วยความรัก ความซื่อตรงและความเมตตาสงสาร ส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับสนธิสัญญา เป็นการควบคุมอุปนิสัยใจคอของบรรดาผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม (*7*)

          หลังจากนั้น การดำรงชีวิตในรูปแบบอิสลามจึงเริ่มดำเนินไปอย่างสมบูรณ์แบบ มีการตราบัญญัติทางศาสนา คำสอนของอิสลามตามบัญญัติของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อเป็นการจัดระบบให้กับสังคมมุสลิมและรัฐอิสลาม จัดระบบวิถีชีวิตส่วนตัวและสังคม รวมทั้งความผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า จัดระบบรัฐซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และสิทธิต่างๆ มีองค์กรทำหน้าที่คอยควบคุมดูแล ใช้หลักบัญญัติเพื่อเผยแผ่คำสอน และให้ความรู้แก่หมู่ชนในเรื่องศาสนา พร้อมทั้งปกครองตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมและจัดการโทษแก่ผู้ทำผิด จัดเตรียมทหารเพื่อให้เกิดความมั่นคงในบ้านเมือง ปกป้องพื้นที่ของอิสลาม และเตรียมพร้อมที่จะพิชิตหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อขยายการเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ให้เข้าถึงทุกหมู่ชน

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด


  1. ดู ซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ : กิตาบ-อัศศอลาฮ์- เรื่อง : บุนยานุ้ลมัสญิด ซึ่งอยู่ในหนังสือ ฟัตฮุ้ลบารีย์เล่มที่ 1 หน้า 540
  2. ดูหนังสือ : “ดิรอซะฮ์ ฟิสซีเราะฮฺ” หน้า 149
  3. ดู หนังสือ : ฟัตฮุ้ลบารีย์ ของอิบนิ ฮะญัร เล่มที่ 5 / 8 หน้า 322 อยู่ในคำอธิบายฮะดีษที่มีในซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ หมายเลข 2325---271
  4. สุนันติรมิซี 4/653 มัสนัด อะฮฺมัด 3/200 สุนัน บัยหะกี 6/183
  5. เรื่องนี้ไปดูที่ซอฮีฮฺห์ อัลบุคอรีย์ : กิตาบุ้ลบุยู๊อฺ บาบ : บท เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดแล้วจึงแยกย้ายไปบนหน้าแผ่นดิน หะดีษที่ 2048 - 2049
  6. รายละเอียดของหนังสือสัญญาและความรู้เพิ่มเติมนั้นดูที่ –อัลอัมรีย์- อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ อัซเซาะฮีฮะฮฺ – มะฮฺดีริสกุลลอฮฺ.อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ฟีฎอวอิ้ล มะซอดิริลอัศลียะฮฺ..306-318—282-292
  7. ดู ข้อเขียนของซอและฮฺ อัชชามีย์ : มินมุอีนิซซีเราะฮฺ : 165