การพิชิตนครมักกะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  24890

การพิชิตนครมักกะฮ์

สาเหตุของการพิชิต

          หลังจากที่ได้ทำข้อตกลงประนีประนอม ณ “ฮุดัยบียะฮ์” 18  เดือน  จึงเกิดสงครามระหว่างเผ่าคุซาอะฮ์ซึ่งเป็นมิตรของมุสลิม กับเผ่าบนีบักร์ ซึ่งร่วมกับชาวกุเรช โดยพวกกุเรชเข้ามาแทรกแซงและให้การสนับสนุนในการทำสงคราม แต่ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาประนีประนอมที่ฮุดัยบียะฮ์ได้บ่งบอกไว้ว่า  “การละเมิดใดๆก็ตามที่มีต่อมิตรของมุสลิม ให้ถือว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาที่ได้ทำกันไว้”  เพราะฉะนั้นจึงถือว่ากุเรชได้ทำผิดสนธิสัญญาประนีประนอม ด้วยเหตุนี้ท่านเราะซูล ให้ความช่วยเหลือเผ่าคุซาอะฮ์ ทันทีที่พวกเขาร้องขอความช่วยเหลือมา

บรรดามุสลิมได้เคลื่อนทัพสู่นครมักกะฮ์ และทำการพิชิตนครมักกะฮ์

          พวกกุเรชรู้สึกเสียใจต่อการเข้าไปรุกรานมิตรของท่านเราะซูล จึงส่งอบูซุฟยานไปหาเพื่อยืนยันในข้อตกลงสงบศึก  แต่ได้รับความล้มเหลวในการเจรจา อบูซุฟยานจึงเดินทางกลับมักกะฮ์อย่างผู้ผิดหวัง ท่านเราะซูล ได้มีคำสั่งให้บรรดาซอฮาบะฮ์เตรียมพร้อมเพื่อออกเดินทาง โดยที่มิได้แจ้งให้ทราบถึงทิศทางที่จะไป จนเมื่อกำหนดเวลามาถึง ท่านเราะซูล ได้แจ้งให้บรรดาซอฮาบะฮ์ทราบถึงความประสงค์ที่จะไปทำสงครามที่นครมักกะฮ์ ท่านต้องการจู่โจมพวกกุเรชอย่างกระทันหันไม่ให้ระวังตัว เพื่อจะได้ยอมจำนนโดยไม่มีการต่อสู้กัน

          บรรดามุสลิมได้ออกเดินทางไปกับท่านเราะซูล ในวันที่ 10 เดือนรอมฎอน ปีที่ 8 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช  มีจำนวนทั้งสิ้น 10,000 นาย    เมื่อบรรดามุสลิมเดินทางเข้ามาใกล้นครมักกะฮ์  มีผู้นำกุเรช อบูซุฟยานได้มองเห็นกองกำลังของมุสลิมในขณะที่กำลังลาดตระเวนอยู่  จึงรีบเดินทางกลับเข้ามักกะฮ์ เพื่อเรียกร้องให้ชาวมักกะฮ์ยอมจำนน และห้ามมิให้ทำการต่อต้านใดๆ   ท่านเราะซูล ได้กระจายกองกำลังเข้านครมักกะฮ์  และห้ามมิให้สังหารผู้ใด เว้นแต่มีคนต่อสู้ขัดขวางและสังหารมุสลิมก่อน มุสลิมจึงได้รับความสำเร็จในการเข้าสู่นครมักกะฮ์  ทันทีที่ท่านเราะซูล เข้าไปในนครมักกะฮ์ ท่านได้ประกาศให้ความปลอดภัยแก่ทุกคนที่อยู่ในบ้านเรือนของตน และใครก็ตามที่เข้าไปในบ้านของอบูซุฟยาน เขาผู้นั้นจะได้รับความปลอดภัย ผู้ใดวางอาวุธเขาก็เป็นผู้ที่ปลอดภัยเช่นกัน

          ท่านเราะซูล เข้าในนครมักกะฮ์อย่างสำรวมนอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านมิได้เข้าไปเหมือนดังกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือต้องการจะทำการแก้แค้นศัตรู ทั้งๆที่มุสลิมได้ประสบกับความเจ็บปวด การถูกทำร้าย ถูกรังแก จากชาวมักกะฮ์มากมายทั้งก่อนและหลังการอพยพ ท่านเราะซูล ได้ประกาศต่อหน้ากลุ่มชนชาวกุเรชที่อยู่ในสภาพกระวนกระวายใจว่า :
 
          “ท่านทั้งหลายคิดว่าฉันจะทำอย่างไรกับพวกท่าน ?” 

พวกเขากล่าวว่า :

          “ท่านจะต้องทำในสิ่งที่ดีแน่ ๆ เพราะท่านเป็นคนมีเมตตา และเป็นลูกของคนมีเมตตา”

ท่านเราะซูล  กล่าวว่า :

          ((لا تثريب عليكم اليوم يغفر الله لكم ))
 
          “วันนี้ ไม่มีการตำหนิติเตียนต่อพวกท่านแต่ประการใด เพราะอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกท่าน” (*1*) 

          ท่านเราะซูล ได้ให้อภัยแก่ชาวมักกะฮ์ เว้นแต่คนที่ทำผิดข้อสัญญาและข้อตกลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขายังล่วงละเมิดด้วยการเยาะเย้ยถากถางท่าน และศาสนาของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ท่านจึงสั่งให้ฆ่าพวกเหล่านั้น และได้ทำลายรูปบูชารูปปั้นทั้งหมด และชำระล้างมัสญิดฮะรอมให้สะอาด บริสุทธิ์จากรูปบูชาเหล่านั้น ท่านเราะซูล ได้ส่งซอฮาบะฮ์ไปทำลายรูปบูชาของเผ่าอื่นๆด้วย การพิชิตนครมักกะฮ์ และการให้อภัยชาวมักกะฮ์ทั้งหมด ทำให้พวกเขาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม การต่อต้านจึงได้ยุติลง

ผลสำเร็จของการพิชิตมักกะฮ์

          การพิชิตมักกะฮ์เป็นการเผชิญหน้าครั้งสุดท้ายกับพวกปฏิเสธชาวกุเรช และด้วยการยอมจำนน ทำให้อุปสรรคที่กีดขวางแนวทางของอิสลามต้องหมดสิ้นไป มีชนเผ่าต่างๆ คิดว่าจะต้องมีการต่อสู้ระหว่างมุฮัมมัดกับพวกกุเรชเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อการต่อต้านของพวกกุเรชยุติลงแล้ว และพวกเขาได้เข้ารับอิสลาม ชนเผ่าอื่นๆจึงทยอยกันเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม (*2*)
 
ในกรณีนี้ อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานซูเราะฮ์ อันนัศร์ ลงมา ;


 
          เมื่อความช่วยเหลือของอัลลอฮ์ และการพิชิตได้มาถึงแล้ว

           และเจ้า(มุฮัมมัด)ได้เห็นประชาชนเข้ารับศาสนาของอัลลอฮ์กันเป็นหมู่ๆ

           ดังนั้นจงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระเจ้าของเจ้า และจงขออภัยโทษต่อพระองค์เถิด แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ  

          (อันนัศร์ 110 : 1-3)

          สิ่งที่แสดงว่ามีผู้คนเข้ารับศาสนาอิสลามกันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ได้พิชิตมักกะฮ์แล้ว ในสงครามฮุนัยน์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการพิชิตมักกะฮ์ ได้มีนักรบเข้าร่วมในสงครามถึง 12,000 นาย (*3*)

เผ่าซะกีฟสรรหาผู้นำในการทำชิริก “การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา”

          ชนเผ่าซะกีฟ ซึ่งเป็นเผ่าใหญ่ของเผ่าฮะวาซิน พยามทำหน้าที่เป็นหัวหน้าขบวนการทำชิริก ปกป้องคุ้มครองการทำชิริก และสู้รบกับบรรดามุสลิมแทนเผ่ากุเรช ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ได้พิชิตมักกะฮ์แล้วกองกำลังมุสลิมจึงมุ่งหน้าไปปราบปราม และได้สู้รบกันที่สมรภูมิ “ฮุนัยน์” 

          การปะทะกันครั้งแรกพวกฮะวาซิน มีทหารถึง 20,000 นาย พวกเขาจึงได้เปรียบในการต่อสู้ แต่การต่อสู้ในครั้งที่สองมุสลิมกลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้เผ่าซะกีฟและเผ่าอื่น ๆ เช่น จากเผ่าฮะวาซินต้องพ่ายแพ้ไปด้วย มุสลิมจึงได้ทรัพย์เชลยมากมายจากสมรภูมิครั้งนั้น 

          การพ่ายแพ้ของพวกเผ่าซะกีฟในสมรภูมิ  “ฮุนัยน์” ถือว่ายังไม่ยุติ  ท่านเราะซูล ได้มุ่งหน้าไปยัง “ฏออิฟ”  และใช้เวลาปิดล้อมพวกเขาไว้ระยะหนึ่ง ต่อมา ท่าน ได้เดินทางกลับมะดีนะฮ์ เมื่อเผ่าซะกีฟ เห็นว่าผู้คนที่อยู่บริเวณรอบๆได้เข้ารับอิสลามทั้งหมดแล้ว พวกเขาจึงเข้ารับอิสลามเหมือนกับคนอื่น ๆ พวกเขาได้เดินทางมายังเมืองมะดีนะฮ์ ในปีที่ 9 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช เพื่อประกาศการเข้ารับอิสลาม  (*4*)

 

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด


  1. อบู อุบัย: บทที่ว่าด้วยเรื่องของ “อัลอัมวาล” (ทรัพย์สิน) เล่ม 1 หน้า 202       ซีเราะฮฺอิบนิ ฮิชาม เล่ม 4 หน้า 32 ในซีเราะฮฺ มีข้อความว่า “พวกท่าน         ทั้งหลายจงไปได้แล้ว พวกท่านเป็นผู้มีอิสระเสรี”     และดูในตัครีจตุรุก “การระบุถึงสายรายงานฮะดีษและการตรวจสอบสายรายงาน” ที่มาของเรื่องนี้ ของมะฮฺดีย์ ร่อซะกั้ลลอฮฺ  อัซซีเราะฮฺ  อันนะบะวียะฮฺ หน้า 569 และได้กล่าวไว้หลังจากได้ระบุไว้ในรายงานต่าง ๆ แล้วว่า   ฮะดีษนี้มีน้ำหนักเชื่อถือได้ด้วยสายสืบนี้
  2. ดูจากซ่อฮีฮุลบุคอรีย์ : บทที่ว่าด้วยเรื่องสงคราม/ภาคพิชิตมักกะฮฺ ฮะดีษที่ 4302 ในหนังสือ อัลฟัตฮฺ อัรร็อบบานีย์    เล่ม  8  หน้า 22
  3. ซีเราะฮฺ อิบนิ   ฮิชาม : ตารีค ค่อลีฟะฮฺ  อิบนิ คอยยาฏ   หน้า 88  ฏ่อบาก็อต อิบนิ ซะอ์ดิ  เล่ม 2 หน้า 154 -155 และดู อัลอุมะรีย์ อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ อัซซอฮีฮะฮฺ   เล่ม 2 หน้า 496.
  4. สงคราม “ฮุนัยนฺ” และการปิดล้อมฏออิฟไว้    ดู อัลบุคอรีย์ อัลมะฆอซีย์ บทดำรัสของอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า : 
    (( وَيَوْمَ حُنَيْن إِذْ أَعْجَبَتْكُمْ كَثْرَتكُم )) “และในวันแห่งสงคราม “ฮุนัยนฺ” ด้วยขณะที่การมีจำนวนมากของพวกเจ้าทำให้พวกเจ้าชะล่าใจ” หน้า 54 และบทสงคราม อัฏฏออิฟ หน้า 56 ซีเราะฮฺ อิบนุ ฮิชาม เล่ม 4หน้า 65,127 .