60 คำถาม เกี่ยวกับรอบเดือนและน้ำคาวปลา(51-60)
  จำนวนคนเข้าชม  9033

60 คำถาม   เกี่ยวกับรอบเดือน(หัยฎ์) และน้ำคาวปลา(นิฟาส)

 

โดย: เชคมุหัมมัด  อิบนุ ศอลิห์ อัลอุษัยมีน 

 

(51) คำถาม  สตรีคนหนึ่งได้ถามว่า “ ดิฉันไปทำพิธีฮัจญ์ในปีที่ผ่านมา ดิฉันได้ทำทุกๆพิธีกรรมของฮัจญ์แล้วทั้งหมด ยกเว้นการตอวาฟอิฟาเฎาะห์ และตอวาฟวีดาอ์ (طواف وداع) หรือตอวาฟอำลา  เนื่องจากดิฉันมีข้อยกเว้นทางศาสนา จากนั้นได้เดินทางกลับบ้านที่เมืองมะดีนะฮ์ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะไปอีก เพื่อจะได้ตอวาฟอิฟาเฎาะห์ และตอวาฟวีดาอ์ เนื่องจากความไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนา ดิฉันจึงได้ทำการตะฮัลลูล(ออกจากพิธี) จากนั้นดิฉันจึงทำทุกสิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำขณะที่อยู่ในอิฮ์รอม  ต่อมาได้ถามผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้รับคำตอบว่า การกระทำของดิฉันไม่ถูกต้อง ต้องประกอบพิธีฮัจญ์ใหม่ในปีหน้าและต้องเชือดวัวหรืออูฐหนึ่งตัว  ดิฉันจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ? หรือจะมีทางเลือกอื่น ? กรุณาให้ความกระจ่างแก่ดิฉันด้วย "

          คำตอบ นี่คือส่วนหนึ่งของการทดสอบโดยการฟัตวา ทั้งๆที่ไม่มีความรู้ ที่จริงแล้วในกรณีนี้ เธอต้องกลับไปมักกะฮ์ และต้องตอวาฟอิฟาเฎาะห์เท่านั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องตอวาฟวิดาอ์อีก เนื่องจากมีรอบเดือน เพราะสตรีที่มีรอบเดือนนั้น ไม่จำเป็นต้องตอวาฟวิดาอ์  ท่านนะบี ได้แจ้งว่า ซอฟียะห์ ได้ตอวาฟอิฟาเฎาะห์ แล้วท่านนะบี  ได้กล่าวว่า:

( فلتنفر إذا )      " ฉะนั้น เธอจงออกไป "

          แสดงว่าตอวาฟวิดาอ์ไม่จำเป็นสำหรับสตรีที่มีรอบเดือนนอกจากตอวาฟอิฟาเฎาะห์อย่างเดียว ส่วนที่เธอได้ออกจากอิฮ์รอม เนื่องจากความไม่รู้ถือว่าไม่มีผลใดๆสำหรับเธอ เพราะผู้ที่ได้ตะฮัลลูลออกจากพิธีอิฮ์รอม โดยความไม่รู้นั้น ถือว่าไม่มีผลใดๆ

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า

"และไม่เป็นบาปแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าได้เคยผิดพลาดมาก่อน แต่ทว่า (ที่จะถูกถือเป็นบาปก็ต่อเมื่อการกระทำนั้น ๆ มาจาก) สิ่งที่หัวใจของพวกเจ้าเจตนา และอัลลอฮ์  ทรงให้อภัยยิ่ง ทรงเมตตายิ่ง"

 

(52)  คำถาม  เมื่อสตรีมีนิฟาสในวันตัรวียะห์(تروية)หรือวันที่ 8 ซุลฮิจญะห์ และสามารถประกอบพิธีฮัจญ์ได้ครบถ้วนนอกจากการตอวาฟและซะแอ เธอได้ตั้งข้อสังเกตว่าเธอจะสะอาดจากนิฟาสภายในเวลา 10 วันหลังจากนั้นถามว่า เธอจะต้องรอให้สะอาดจากนิฟาสและอาบน้ำชำระร่างกายก่อนหรือไม่จึงจะเริ่มตอวาฟที่ยังค้างอยู่ ?

          คำตอบ  ไม่อนุญาตให้อาบน้ำยกฮะดัษและตอวาฟนอกจากจะแน่ใจแล้วว่าสะอาดจากนิฟาส แล้วจึงตอวาฟและซะแอได้ หากเธอจะทำการซะแอก่อนตอวาฟก็ได้  มีคนถามนะบี  เกี่ยวกับคนที่ทำการซะแอก่อนตอวาฟ

 ท่านนะบี  ตอบว่า “ สามารถกระทำได้ ”

 

(53) คำถาม สตรีคนหนึ่งได้ประกอบพิธีฮัจญ์ในขณะที่กำลังมีรอบเดือน เมื่อไปถึงมักกะฮ์แล้วเธอไปทำธุระที่เมืองเจดดะห์  เมื่อพักอยู่ที่เมืองเจดดะห์เธอสะอาดจากการมีรอบเดือน จึงทำการอาบน้ำ หวีผม หลังจากนั้นได้กลับเข้ามาประกอบพิธีฮัจญ์จนครบถ้วน การประพิธีฮัจญ์เช่นนี้ จะใช้ได้หรือไม่  ?

          คำตอบ     พิธีฮัจญ์ของเธอนั้น  ถือว่าใช้ได้และสมบูรณ์แล้ว

 

(54) คำถาม สตรีคนหนึ่งถามว่า ดิฉันไปประกอบพิธีอุมเราะฮ์ โดยผ่านเขตมีกอต  ในขณะนั้นดิฉันกำลังมีรอบเดือนจึงไม่ได้ทำการอิฮ์รอมจากมีกอต  ดิฉันได้เข้าพักอยู่ที่มักกะฮ์จนกระทั่งสิ้นสุดการมีรอบเดือน จึงเริ่มทำการอิฮ์รอม ณ ที่นั้น  อยากทราบว่าอุมเราะฮ์ของดิฉันใช้ได้หรือไม่ ? หรือจะต้องปฏิบัติอย่างไร ?   
 
          คำตอบ  การกระทำเช่นนี้ใช้ไม่ได้ เพราะสตรีที่จะทำอุมเราะฮ์นั้น ไม่อนุญาตให้ผ่านเขตมีกอต นอกจากจะต้องทำการอิฮ์รอม แม้ว่ากำลังมีรอบเดือนก็ตาม เมื่อทำการอิฮ์รอมถือว่าการอิฮ์รอมนั้นใช้ได้  ดังที่ท่านอัสมาอ์ภริยาของท่านอะบูบักร รอฎียัลลอฮ์ฮูอันฮุ ได้กล่าวว่า ฉันได้คลอดลูก พอดีท่านนะบี   ไปแวะ ณ ซิลฮุลัยฟัฮ์ เนื่องจากท่านประสงค์จะทำฮัจญ์วิดาอ์ ฉันได้โอกาสถามท่านนะบี  ว่า ต้องปฏิบัติอย่างไร ?

ท่านนะบี   ตอบว่า :

اغتسلي واستثفري بثوب وأحرمي ) رواه البخاري)

"จงอาบน้ำ จงปกปิดด้วยผ้าให้มิดชิด และจงทำการอิฮ์รอม"

          ในกรณีนี้เลือดรอบเดือนก็เหมือนกับเลือดนิฟาส  ดังนั้นสามารถแจ้งแก่สตรีที่ต้องการทำอุมเราะห์หรือฮัจญ์ ที่ผ่านเขตมีกอตว่า จงอาบน้ำ จงปกปิดด้วยผ้าให้มิดชิด และจงทำการอิฮ์รอม  สตรีที่มีรอบเดือนหรือนิฟาสเมื่อทำการอิฮ์รอมและได้ไปถึงมักกะฮ์แล้ว ไม่อนุญาตให้ไปตอวาฟกะอ์บะฮ์ จนกว่าจะสิ้นสุดการมีรอบเดือน  ท่านนะบี  ได้กล่าวกับท่านหญิงอาอีซะฮ์ ซึ่งตอนนั้นกำลังอยู่ในพิธีอุมเราะห์และกำลังมีรอบเดือนว่า

افعلي ما يفعل الحاج غير أن لا تطوفي في البيت حتى تطهري  )  رواه البخاري ومسلم )

"จงทำในสิ่งที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทำ แต่อย่าเพิ่งทำการตอวาฟบัยตุลลอฮ์ จนกว่าเธอจะหมดสิ้นสุดการมีรอบเดือน" 

           จากความหมายของฮะดิษได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อสตรีเข้าสู่การอิฮะรอมเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะห์ในขณะที่กำลังมีรอบเดือน หรือมีรอบเดือนก่อนที่จะเข้าสู่พิธีตอวาฟ  ไม่อนุญาตให้เธอทำการตอวาฟหรือซะแอ จนกว่าจะสิ้นสุดการมีรอบเดือน และได้อาบน้ำแล้ว แต่ถ้าเธอได้ทำการตอวาฟขณะที่ยังไม่มีรอบเดือน กระทั่งก่อนที่จะเสร็จสิ้นจากการตอวาฟจึงมีรอบเดือนมา เธอต้องทำการตอวาฟให้เสร็จแล้วทำการซะแอ แล้วตัดหรือขลิบผม เป็นอันว่าเสร็จสิ้นการทำอุมเราะฮ์

 

(55) คำถาม ชายคนหนึ่งได้ถามว่า ข้าพเจ้าพร้อมกับครอบครัวได้มาจากเมืองยันบุอ์ เพื่อทำอุมเราะฮ์แต่ครั้นเมื่อมาถึงที่เมืองเจดดะฮ์ภรรยาได้มีรอบเดือน ส่วนข้าพเจ้าได้ทำพิธีอุมเราะฮ์จนเสร็จสมบูรณ์ ถามว่าภรรยาของข้าพเจ้าต้องปฏิบัติอย่างไร ?

           คำตอบ   สำหรับภรรยาต้องรอจนหมดเลือดรอบเดือนก่อน จากนั้นจึงประกอบพิธีอุมเราะฮ์ทดแทน  เนื่องจากท่านนะบี   ได้กล่าวแนะนำในกรณีของท่านซอฟียะห์ว่า

أحابِسَتُنَا هي ؟ قالوا: إنها قد أفاضت . قال : فلتنفر إذن ) رواه البخاري ومسلم  )

"นางเป็นผู้กักตัวเราหรือ?"  พวกเขาตอบว่า "ความจริงนางได้ตอวาฟอิฟาเฎาะห์แล้ว" 

ท่านนะบีได้กล่าวว่า " ถ้าอย่างนั้นนางจงออกไป "

          ฮะดีษนี้เป็นหลักฐานแสดงว่า สตรีที่มีรอบเดือนก่อนที่จะตอวาฟอิฟาเฎาะห์นั้น ต้องรอจนเลือดรอบเดือนหมดก่อน จึงจะตอวาฟอิฟาเฎาะห์ได้ และตอวาฟอุมเราะห์ก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นหลักการของอุมเราะฮ์ กล่าวคือ สตรีที่ทำอุมเราะฮ์นั้น เมื่อมีรอบเดือนก่อนตอวาฟ  ต้องรอจนกว่าเลือดจะหมด จึงจะตอวาฟได้  


                
(56) คำถาม  สถานที่ซะแอ เป็นส่วนหนึ่งของมัสญิดอัลหะรอม(مسجدالحرم)หรือไม่ ? สตรีที่มีรอบเดือนจะเข้าไปในบริเวณนั้นได้หรือไม่? และผู้คนที่เข้าไปในมัสญิดโดยผ่านสถานที่ซะแอ จะต้องละหมาดซุนัตตะฮิยยะตุลมัสยิด (تحية المسجد)  หรือไม่ ?     

          คำตอบ  ตามทัศนะที่หนักแน่น สถานที่ซะแอนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัสญิด จึงได้ทำฝาผนังแยกระหว่างกัน ถ้าหากเอาสถานที่ซะแอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมัสญิด ทำให้สตรีที่มีรอบเดือนหลังจากตอวาฟแล้ว ไม่สามารถที่จะทำการซะแอได้ ส่วนการละหมาดซุนัตตะฮัยยะตุลมัสยิดนั้น มีความเห็นว่า เมื่อผู้ประกอบพิธีซะแอหลังจากตอวาฟ แล้วหวนกลับมายังมัสญิดอีก  ควรละหมาดใหม่อีกครั้ง หากไม่ละหมาดก็ไม่เป็นไร  แต่ในทางที่ดีแล้ว ควรจะหาโอกาสละหมาดสองรอกอัต เนื่องจากการละหมาดในมัสญิดนี้เป็นสิ่งที่ดีควรปฏิบัติ    


  
(57) คำถาม สตรีคนหนึ่งถามว่า ดิฉันได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์แล้วเกิดมีรอบเดือน แต่อายที่จะบอกให้คนอื่นๆหรือเพื่อนรู้ จึงเข้าไปในมัสญิดทำการละหมาด ตอวาฟและซะแอ ในกรณีนี้จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  ไม่อนุญาตให้สตรีที่มีรอบเดือนหรือนิฟาสทำการละหมาด  แม้ว่าจะเป็นที่มักกะห์ ที่ประเทศของตน หรือที่ไหนก็ตาม เพราะท่านนะบี   ได้กล่าวไว้ว่า

أليس إذا حاضت لم تصل ولم تصم ) متفق عليه )

"เมื่อสตรีมีรอบเดือนแล้ว นางไม่ต้องละหมาดและไม่ต้องถือศีลอดมิใช่หรือ ?"

          นักวิชาการมุสลิมมีความเห็นตรงกันว่า ไม่อนุญาตให้สตรีที่มีรอบเดือนถือศีลอดและละหมาดได้  เมื่อเธอได้กระทำสิ่งนั้น ต้องเตาบะฮ์และขออภัยโทษจากอัลลอฮ์   ในสิ่งที่ได้กระทำไป การตอวาฟของสตรีที่มีรอบเดือน ถือว่าใช้ไม่ได้  ส่วนการซะแอนั้นไม่เป็นไรถือว่าสมบูรณ์  เพราะตามทัศนะของนักวิชาการที่ชัดเจนที่สุดแล้วได้ให้ทัศนะไว้ว่า การประกอบพิธีฮัจญ์สามารถทำการซะแอก่อนทำการตอวาฟได้ ตามทัศนะนี้เธอจะต้องทำการตอวาฟอีก  เนื่องจากตอวาฟอิฟาเฎาะห์ เป็นหลักการสำคัญหนึ่งของพิธีฮัจญ์  ฉะนั้นการตะฮัลลุล(تحلل)เพื่อออกจากพิธีอิฮ์รอมครั้งที่สองนั้น จำเป็นต้องทำ  กล่าวคือสตรียังไม่สามารถที่จะหลับนอนกับสามีและเข้าพิธีสมรสได้ จนกว่าจะทำการตอวาฟให้แล้วเสร็จเสียก่อน

 

(58) คำถาม  เมื่อสตรีมีรอบเดือนในวันอะเราะฟะห์(عرفة) จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

         คำตอบ  เธอจะต้องประกอบพิธีฮัจญ์ทุกประการเสมือนกับผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ทั่วไป นอกจากการตอวาฟอย่างเดียว เธอจะต้องรอให้สิ้นสุดรอบเดือนก่อน จึงจะทำการตอวาฟได้

 

(59) คำถาม เมื่อสตรีมีรอบเดือนหลังจากขว้างก้อนหินที่ญุมเราะตุลอะเกาะบะฮฺ(جمرة العقبة)แล้ว  แต่ยังไม่ได้ตอวาฟ อิฟาเฎาะห์  ทั้งๆที่จะต้องกลับพร้อมกับสามีที่มากับคณะ และทราบดีว่าหลังจากเดินทางกลับแล้วจะไม่มีโอกาสกลับมาอีก เธอจะต้องปฏิบัติอย่างไร ?    

          คำตอบ  ถ้าเธอเห็นว่าคงไม่มีโอกาสที่จะกลับมาอีก ก็ต้องทำการตอวาฟ เนื่องจากความจำเป็นโดยใช้ผ้าอนามัยปิดให้แน่น แล้วให้เธอประกอบพิธีให้ครบทุกประการ

 

               
(60) คำถาม  เมื่อสตรีสะอาดจากการมีเลือดนิฟาสก่อนถึงกำหนด 40 วัน การประกอบพิธีฮัจญ์จะใช้ได้หรือไม่ ? และถ้ายังมีเลือดิฟาส ทั้งๆที่ได้ตั้งเจตนาเข้าสู่การประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว  เธอจะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  เมื่อสตรีสิ้นสุดการมีเลือดนิฟาสก่อนถึงกำหนด 40 วัน เธอต้องอาบน้ำ ถือศีลอด ละหมาด และต้องปฏิบัติทุกอย่างเสมือนกับสตรีทั่วไป แม้กระทั่งการตอวาฟก็สามารถกระทำได้ เพราะนิฟาสนั้น ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่น้อยที่สุดว่าเป็นกี่วัน  กรณีที่เลือดยังไม่หมดถือว่าพิธีฮัจญ์นั้นใช้ได้  แต่ไม่อนุญาตให้ทำการตอวาฟจนกว่าเลือดจะหมดไป เนื่องจากท่านนะบี  ได้ห้ามสตรีที่มีรอบเดือนและมีเลือดนิฟาส ทำการตอวาฟ

 

 


คำถาม ข้อที่          1-10          11-20          21-30          31-40           41-50          51-60 

 

แปลและเรียบเรียง

อ.มีลีกอดียา จาปะกียา

อ.ซาอูเดาะห์  แฉ๊ะ

อ.ซูบัยดะห์  อูมา