ท่าทีของท่านเราะซูล(ศ็อลฯ) ต่อพวก “นะซอรอ” (คริสเตียน)
  จำนวนคนเข้าชม  11635


 

ท่าทีของท่านเราะซูล ต่อพวก “นะซอรอ” (คริสเตียน)

          ชาวคริสเตียนที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรอาหรับนั้นมีจำนวนน้อย ชาวคริสเตียนได้อยู่รวมกันที่เมืองนัจญ์รอน ซึ่งมีชาวอาหรับบางเผ่าที่อยู่ติดกับประเทศชามได้เข้ารับนับถือศาสนาคริสต์ เพราะอยู่ห่างไกลจากการแต่งตั้งนะบีในช่วงปีแรก และไม่ปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งกันระหว่างพวกเขากับมุสลิมแต่อย่างใด

          กษัตริย์แห่งเอธิโอเปีย เป็นชาวคริสเตียนที่มีน้ำใจงดงาม มีจิตใจเมตตาต่อมุสลิมที่อพยพไปอยู่ที่นั่นและมีความยุติธรรม หลังจากที่อิสลามมีความเข้มแข็งขึ้น ภายหลังที่ได้พิชิตเมือง “คอยบัร” และเมืองมักกะฮ์แล้ว ท่านเราะซูล ได้เริ่มทำการเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปทั่วคาบสมุทรอาหรับ และบริเวณโดยรอบ ท่านเราะซูล เริ่มส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ของเมืองต่างๆ เรียกร้องเชิญชวนให้ผู้นำเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และนี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับชาว คริสเตียน

ชาวคริสเตียน “นัจญ์รอน”

          ท่านเราะซูล ได้ส่งสาส์นไปถึง “อัซก็อฟ” ผู้นำแห่งนัจญ์รอนเพื่อเรียกร้องเชิญชวนให้เข้ารับศาสนาอิสลาม ผู้ปกครองนัจญ์รอนได้ปรึกษาหารือกับคณะที่ปรึกษา โดยให้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจากับท่านนะบีมุฮัมมัด และไปสืบเรื่องราวทั้งหมด เมื่อคณะผู้แทนได้เข้าไปพบท่านเราะซูล และได้เจรจาถึงปัญหาในประเด็นต่างๆ ท่านเราะซูล  ได้ตอบข้อซักถามในประเด็นปัญหาเหล่านั้น จนกระทั่งพวกเขาได้ถามถึงท่านนะบีอีซา อะลัยฮิสสลาม  ท่านนะบี กล่าวว่า :

ماعندي فيه شيئ يومي هذا

          “ฉันยังไม่มีคำตอบใด ๆ เกี่ยวกับเขา (อีซา)ในวันนี้...”

          เช้าวันรุ่งขึ้น ท่านนะบี ได้ไปพบพวกเขา และอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานคำตอบลงมาให้แก่ท่านในเรื่องเกี่ยวกับท่านนะบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ดังดำรัสของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

          “แท้จริง อุปมาอีซา ณ ที่อัลลอฮ์ อุปมัยดั่งอาดัม พระองค์ทรงบังเกิดเขาขึ้นมาจากดิน ต่อมาพระองค์ได้ทรงประกาศิตแก่เขาว่า จงเป็นขึ้นมาเถิด แล้วเขาก็เป็นขึ้นมา”   ( อาละอิมรอน 3 : 59 )
                                                         
          แต่พวกคริสต์ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับท่านนะบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ท่านเราะซูล จึงให้พวกเขาทำการขอดุอาอ์สาปแช่งกัน(มุบาฮะละฮ์) ตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในอายะฮ์ที่ 2  แต่คณะผู้แทนของ“นัจญ์รอน” กลัวการลงโทษจากการสาปแช่ง (มุบาฮะละฮ์) จะเกิดขึ้น จึงไม่ตอบรับคำขอของท่านเราะซูล และยอมจ่ายภาษีคุ้มครอง(ญิซยะฮ์)ให้ และให้กำหนดจำนวน“ญิซยะฮ์” ที่จะต้องจ่ายให้ด้วย ท่านเราะซูล จึงส่งสาส์นไปพร้อมกับคณะผู้แทนเพื่อส่งมอบให้กับผู้ครองเมือง “นัจญ์รอน” โดยกำหนดจำนวน “ญิซยะฮ์” ที่จะต้องจ่ายเป็น  “ฮุลละฮ์” (เสื้อคลุมยาว) 2,000 ชุดต่อปี เมื่อคณะผู้แทนเดินทางกลับยังเมือง“นัจญ์รอน” เพียงระยะเวลาหนึ่ง “อัซก็อฟ” ผู้ปกครองเมืองนัจญ์รอนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเดินทางมายังเมืองมะดีนะฮ์ และพำนักอยู่กับท่านเราะซูล  พวกเขาได้ยินอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาให้แก่ท่านเราะซูล เมื่อพวกเขาเดินทางกลับ ท่านเราะซูล  ส่งสาส์นยืนยันความปลอดภัยต่อสิ่งที่พวกเขาได้แก้ไขปรับปรุงและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ได้มีคริสเตียน“นัจญ์รอน” จำนวนหนึ่งเข้ารับศาสนาอิสลามก่อนที่ท่านเราะซูล จะเสียชีวิต (*1*)

ชาวคริสเตียนทางภาคเหนือ

          กลุ่มนี้เป็นตัวแทนที่อยู่ในประเทศโรมัน และเป็นตัวแทนชาวอาหรับที่มีความสัมพันธ์กับพวกโรมัน เริ่มมีการสู้รบกับมุสลิมขณะที่พวกคริสเตียนได้สังหารทูตที่ทำหน้าที่ถือสาส์นไปเผยแพร่ และบางกลุ่มเข้าไปท้าทายยั่วยุให้หน่วยทหารที่ส่งไปทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนามีความโกรธ(*2*) ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะซูล จึงส่งตัวแทน และ“ซะรอยา” (กองทหารซึ่งมีจำนวน 5 นายถึง 300 นาย) ไปยังชาวคริสต์เพื่อตอบโต้ในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามภายนอกคาบสมุทรอาหรับ เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่สาส์นให้บรรลุความเป็นจริง ในปีที่ 8 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช ท่านเราะซูล ได้ส่งกองกำลังทหารจำนวน 3,000 นายไปเผชิญหน้ากับพวกโรมันที่ “มุอ์ตะฮ์” ในครั้งนั้นทำให้ผู้ที่ท่านเราะซูล แต่งตั้งให้บัญชาการรบคนที่หนึ่ง คนที่สองและคนที่สาม ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากเมืองมะดีนะฮ์ ทำหน้าที่ต่อเนื่องตามลำดับ และแม่ทัพทั้งสามได้ตายเป็นชะฮีดทั้งหมด และในปีที่ 9 ท่านเราะซูล มีคำสั่งให้ซอฮาบะฮ์เดินทางไปทางทิศเหนือพร้อมกับท่าน ในนามของหน่วยทหาร“อัลอุซเราะฮ์” หรือหน่วยทหารสงครามตะบู๊ก หน่วยทหาร“อัลอุซเราะฮ์” ได้เรียกความน่าเกรงขาม  และเกียรติภูมิของมุสลิมกลับคืนมา โดยที่พวกโรมันและเผ่าอาหรับบางกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ มิได้ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าต่อต้านมุสลิมเหมือนอย่างที่ได้เคยลุกขึ้นมาต่อต้านที่สมรภูมิ “มุอ์ตะฮ์” ต่อมาท่านเราะซูล  ได้ส่งกองกำลังทหารออกปราบปรามชนเผ่าอาหรับบางกลุ่มที่อยู่ที่นั่น และทำสัญญาประนีประนอมกับกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเหล่านั้น (*3*)

          ก่อนที่ท่านเราะซูล จะเสียชีวิตเล็กน้อย ท่านได้เตรียมกองทหารเพื่อไปทำสงครามกับพวกโรมัน โดยแต่งตั้งให้ท่าน “อุซามะฮ์” เป็นผู้บัญชาการรบ แต่ท่านเราะซูล ได้เสียชีวิตก่อนที่กองทหารจะเคลื่อนทัพออกจากมะดีนะฮ์ และเมื่อท่านอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ขึ้นเป็นคอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ท่านจึงได้ดำเนินตามแนวทางที่ท่านเราะซูล ได้กำหนดไว้

 

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด


  1. จากรายละเอียดต่าง ๆ ของคณะผู้แทนนัจญ์รอน ดูในหนังสือของ “ดะลาอิล อันนุบูวะฮฺ” เล่ม 5 หน้า 385 – 391 อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ของท่านอิบนุ กะซี๊รฺ เล่ม 4 หน้า 100 – 108 และฮะดีษที่เกี่ยวกับ “อัลมุบาฮะละฮฺ” ที่มีปรากฎอยู่ในซ่อฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์     บทที่ว่าด้วยเรื่อง “อัลมะฆอซีย์” เรื่อง คณะผู้แทนนัจญ์รอน
  2. เช่นการสังหารทูตของท่าน  ร่อซูล คือท่าน อัลฮาริส อิบนุ อุมัยรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ได้ถูกส่งไปยังผู้ปกครองเมืองบุศรอฺ ในหนังสือ“อุซุดุลฆอบะฮ์” ของอิบนิ อะซี๊ร์ เล่ม 1 หน้า 341 และพวกเขาได้สังหารกลุ่มบุคคลที่ท่านร่อซูล แต่งตั้งไปโดยการนำของท่านกะอ์บฺ อิบนิ อุบัยย์ (ดูในอัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ของอิบนิ กะซี๊รฺ เล่ม 3 หน้า 454  จากท่านอัลวากิดีย์
  3. เช่นได้ทำสัญญาประนีประนอมกับกษัตริย์ “อัยละฮฺ” ดูซ่อฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ บทที่ว่าด้วยเรื่องภาษีหัว ( อัลญิซยะฮฺ) ภาค เมื่ออิมามอำลา  เลขฮะดีษที่  3
  4.