บทเรียนจากคุฏบะฮฺในหัจญ์อำลา 2
  จำนวนคนเข้าชม  3646

พี่น้องผู้มีเกียรติที่เคารพรักทุกท่าน

           สำหรับคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของท่านนะบี  หรือที่นักวิชาการอิสลามเรียกว่า อัลวะศอยา อันนะบะวียะฮฺ (الوصايا النبوية) ในคุฏบะฮฺของท่าน ถือเป็นคำสั่งเสียที่สำคัญยิ่งสำหรับประชาชาติอิสลามทุกยุคทุกสมัย ที่พวกเราทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ นำมาคิด ไตร่ตรอง และนำมาปฏิบัติในการดำรงชีวิต ซึ่งมีเนื้อหามากมายทั้งที่เกี่ยวกับอะกีดะฮฺ(หลักความเชื่อ) สังคม เศรษฐกิจ และสิทธิต่างๆทางกฎหมาย อันเป็นบทเรียนที่พอจะสรุปได้ดังนี้


 ประการที่ 1.

          ท่านนะบี เริ่มต้นด้วยประโยคที่บ่งบอกถึงเป็นการสั่งเสียครั้งสุดท้ายของท่าน ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

أيّهَا النّاس، اسْمَعُوا منّي أُبّينْ لَكُمْ، فَإنّيَ لاَ أَدْرِي، لعَليّ لاَ أَلْقَاكُمْ بَعْدَ عَامي هَذَا، في مَوْقِفي هذا.

ความว่า "โอ้มนุษย์ทั้งหลาย จงสดับรับฟังคำสั่งเสียจากฉันเถิด ฉันจะแจ้งให้พวกท่านทั้งหลายได้รับทราบ เพราะฉันเองก็ไม่รู้ว่า บางทีฉันอาจจะไม่มีโอกาสพบกับพวกท่านหลังจากปีนี้ ในสถานที่แห่งนี้อีก"


ประการที่ 2.

          ท่านนะบี  ก็ได้ประกาศในวันนั้นถึงสิทธิของมุสลิมที่เกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองและเป็นที่ต้องห้าม ผู้ใดก็ตามก็ไม่สามารถที่จะละเมิดได้ ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

أَيُهَا النَّاس، إنّ دِمَاءَكُمْ وَأمْوَالَكُمْ وأعراضكم حَرَامٌ عَليكُمْ إلى أنْ تَلْقَوْا رَبَّكُمْ، كَحُرمَةِ يَوْمِكُمْ هَذَا في شَهْرِ كُمْ هَذَا في بَلَدِكُم هَذَا، أَلاَ هَلْ بَلَّغتُ، اللّهُمّ اشْهَدْ. فَمَنْ كَانَتْ عِنْدَهُ أَمَانةٌ فليؤُدِّها إلى مَنْ ائْتمَنَهُ عَلَيها.

ความว่า "  โอ้มนุษย์ทั้งหลายแท้จริงชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติของพวกท่านเป็นที่ต้องห้ามตราบจนถึงวันที่พวกท่านจะพบกับอัลลอฮฺ (ในวันอาคีเราะฮฺ) เฉกเช่นเดียวกัน วันนี้ เดือนนี้ และเมืองนี้ก็เป็นที่ต้องห้าม โอ้อัลลอฮฺได้โปรดเป็นพยานด้วย ฉันได้แจ้งให้พวกเขารู้แล้ว และผู้ใดก็ตามที่ได้รับอะมานะฮฺเพื่อมอบคืนทรัพย์สิน ก็จงส่งมอบคืนให้แก่เจ้าของ(ผู้ที่มอบอะมานะฮฺ)ด้วย"

           จากคุฏบะฮฺของท่านนะบี  ประโยคนี้เราสามารถเข้าใจได้ว่า เลือดหรือชีวิตของมุสลิมทุกคนนั้นมีค่ามหาศาลยิ่งนัก บุคคลอื่นหรือใครก็ตามจะมาทำลายไม่ได้เป็นอันขาด ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในสังคม อิสลามได้กำหนดมาตรการและบทบัญญัติต่างๆเพื่อคุ้มครองชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿و لا تقتلوا أنفسكم إن الله كان بكم رحيما﴾ (النساء:29)

ความว่า "และพวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ"

อัลลอฮฺตรัสอีกว่า

﴿و لا تقتلوا النفس التي حرم الله إلا بالحق﴾ (الأنعام:151)

ความว่า "และพวกเจ้าทั้งหลายอย่าฆ่าชีวิตผู้อื่นที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น"

          และผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ อิสลามก็กำหนดให้มีการลงโทษทางอาญาโดยผ่านกระบวนการศาล ดังที่อัลลอฮฺไดตรัสว่า

﴿وَلَكُمْ فِي الْقِصَاصِ حَيَاةٌ يَا أُوْلِي الأَلْبَابِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ﴾) البقرة:179 (.

ความว่า  "และการประหารชีวิตฆาตกรนั้น คือการรักษาและคุ้มครองชีวิตพวกเจ้า โอ้ผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง"

          นี่คือกฎหมายจากพระผู้เป็นเจ้าอันมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคมโลกจึงจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับใช้ หากไม่แล้วก็จะมีการใช้ศาลเตี้ย ล้างแค้นกัน แก้แค้นกันไม่จบไม่สิ้น เกิดความโกลาหลและวุ่นวายขึ้นในบ้านในเมือง ดังนั้น ก่อนที่จะใช้อารมณ์ชั่ววูบ จงคิดไตร่ตรองให้ดีถึงผลที่จะตามมา และจงให้ความเมตตาซึ่งกันและกัน ตามที่ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

«مَنْ لَا يَرْحَمُ لَا يُرْحَمُ»

ความว่า "ผู้ใดก็ตามที่ไม่มีความเมตตา เขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา" (บันทึกโดยบุคอรีย์ 5538)

          สำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินนั้น อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติห้ามการลักขโมย และมีบทลงโทษทางอาญาด้วยการตัดมือ ซึ่งก็จะต้องดำเนินตามขั้นตอนของศาล และเงื่อนไขต่างๆของกฎหมาย นอกจากบทลงโทษแล้ว อิสลามยังมอบสิทธิให้แก่เจ้าของทรัพย์สินในการปกป้องทรัพย์สินของตนเองที่ได้ตรากตรำลำบากจากการทำงานกว่าจะได้มา ถึงแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ดังหะดีษบทหนึ่งในเศาะฮีหฺมุสลิม หมายเลข 201 รายงานโดยท่านอะบูฮุร็อยเราะฮฺ

جَاءَ رَجُلٌ إِلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللَّهِ أَرَأَيْتَ إِنْ جَاءَ رَجُلٌ يُرِيدُ أَخْذَ مَالِي، قَالَ: فَلا تُعْطِهِ مَالَكَ، قَالَ: أَرَأَيْتَ إِنْ قَاتَلَنِي، قَالَ : قَاتِلْهُ، قَالَ: أَرَأَيْتَ إِنْ قَتَلَنِي، قَالَ: فَأَنْتَ شَهِيدٌ، قَالَ: أَرَأَيْتَ إِنْ قَتَلْتُهُ، قَالَ: هُوَ فِي النَّارِ.

ความว่า " ชายคนหนึ่งได้ไปหาท่านนะบี แล้วถามว่า โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ "หากมีใครคนหนึ่งจะมาปล้นทรัพย์สินของฉัน"

ท่านนะบีตอบว่า ท่านจงอย่ายินยอม  ชายคนนั้นถามอีกว่า ถ้าหากเขาต่อสู้ฉัน

ท่านนะบีตอบว่า ท่านก็จงสู้กับเขา  ชายคนนั้นถามอีกว่า ถ้าหากเขาฆ่าฉันตาย

ท่านนะบีตอบว่า ท่านก็ตายชะฮีด  ชายคนนั้นถามอีกว่า ถ้าหากฉันฆ่าเขาตายล่ะ

ท่านนะบีตอบว่า เขาก็จะตกนรก"

          สำหรับการคุ้มครองเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น อิสลามก็ได้กำหนดมาตรการและบทลงโทษต่อผู้ที่ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ด้วยการโบยแปดสิบครั้ง เพราะถือว่าการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นมีเจตนาที่จะทำลายเกียรติและศักดิ์ศรี อันมีผลทำให้ผู้ที่ถูกใส่ร้ายใช้ชีวิตในสังคมอย่างไม่ปกติสุข ท่านนะบี  ได้กำชับเรื่องนี้ว่า

«الْمُسْلِمُ مَنْ سَلِمَ الْمُسْلِمُونَ مِنْ لِسَانِهِ وَيَدِهِ» (أخرجه البخاري:9)

ความว่า "มุสลิมคือผู้ที่ทำให้บรรดามุสลิมได้รับความปลอดภัยจากลิ้น(คำพูด)และมือ(การกระทำ)ของเขา"

 ประการที่ 3. 

           ท่านนะบี  ยังได้ประกาศในวันนั้นถึงการเอารัดเอาเปรียบและการมีดอกเบี้ยมากเกี่ยวข้องในการซื้อขายนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม คือประโยคที่ว่า

وإنّ كلَّ ربا  موضوعٌ ولكن لكم رؤوسُ أموالكم لا تَظلِمون ولا تُظلَمون

ความว่า  "และแท้จริงดอกเบี้ยทุกชนิด ทุกประเภทได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ที่คงไว้ก็คือ ต้นทุนที่พวกท่านสามารถแบ่งปันกำไรให้กันได้ ดังนั้นพวกท่านจงอย่าทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบในหมู่พวกท่าน"

          จากประโยคนี้ จะเห็นได้ว่าท่านนะบี  ได้ห้ามระบบดอกเบี้ยทุกประเภท และกิจการทางธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ตกต่ำก็เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการอิสลามอันนี้ การกำหนดให้มีดอกเบี้ยเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต้องล้มละลาย ติดหนี้ติดสิน หมดเนื้อหมดตัว เจ้าหนี้ตามล่าลูกหนี้ บางคนถูกฆ่าบางคนก็ฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีปัญญาชำระหนี้ได้

          หากพิจารณาวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายคนคงได้ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ประเด็นฮ็อต ที่เป็นที่จับตามองสืบเนื่องมาตั้งแต่ในปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา  มีนักวิเคราะห์หลายคนได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังถดถอยในช่วงนี้ หลายคนมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ซึ่งคล้ายกับในปี 2544 แต่ครั้งนี้มีความซับซ้อนและเป็นปัญหาที่สะสมมานานกว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าวิกฤต แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Sub prime) ซึ่งเริ่มสะสมมาตั้งแต่ปี 2547

          ต้นเหตุของวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาลดต่ำลงมาก ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดินมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนหันไปซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้นจากการคาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก โดยหวังว่าอาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในขณะนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาคาดว่าอสังหาริมทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นจนหลักประกันคุ้มมูลหนี้ จึงมีการปล่อยเงินกู้ที่มีเงื่อนไขให้ผู้กู้ชำระแต่เพียงดอกเบี้ยในช่วง 3-4 ปีแรก แล้วค่อยชำระเงินต้นคืนในภายหลัง แทนการที่ต้องชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นไปพร้อมๆ   

          อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่เติบโตตามที่มีการคาดการณ์ไว้และมีราคาตกลง ผู้กู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อหวังเก็งกำไรจึงต้องประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ตามที่กำหนด ซึ่งกลายเป็นหนี้เสียในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนด้วยการขาดทุนอย่างมหาศาลของธนาคารยักษ์ใหญ่ของอเมริกา หรือ ซิตี้กรุ๊ป

         นี่คือผลลัพธ์ ของระบบดอกเบี้ยที่เป็นตัวทำลายเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอัลลอฮฺ ได้ทรงห้ามไว้ว่า

﴿وَأَحَلَّ اللَّهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا﴾ (البقرة: 275)

ความว่า "และอัลลอฮฺได้ทรงอนุมัติการซื้อขายและทรงห้ามการกินดอกเบี้ย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 275)
 

           ประการที่ 4.

         ท่านนะบี  ได้กำชับให้มุสลิมห่างไกลจากการตกเป็นทาสของชัยฏอนมารร้าย ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

أيها الناس إن الشيطان قد يئس أن يُعْبد في أرضكم هذه، ولكنه قد رضي أن يٌطاع فيما سوى ذلك مما مما تَحقِرون من أعمالكم، فاحذروه على دينكم.

ความว่า "ท่านทั้งหลาย แท้จริงชัยฏอนมารร้ายนั้นหมดหวังแล้วกับการที่จะได้รับการบูชาในโลกนี้ แต่มันก็ไม่หมดหวังที่จะได้รับการเชื่อฟังที่นอกเหนือจากนั้น หรือมันยังมีความหวังที่จะเป็นผู้มีอำนาจครอบงำพวกท่าน ทำให้พวกท่านดูถูกดูแคลนและไม่ให้ความสำคัญในการงานหรืออามัลที่ดีทั้งหลายหรือรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งไร้ค่า ดังนั้นท่านทั้งหลายจงดูแลรักษาและคุ้มครองศาสนาของพวกท่านให้ดี"

           จากประโยคนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าชัยฏอนมารร้ายคือศัตรูตัวฉกาจของเรา และมันรู้ตัวเองดีว่ามันไม่สามารถทำให้มุสลิมบูชามันได้ แต่มันก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถยั่วยุ ล่อลวง และครอบงำให้มุสลิมไขว้เขวได้ ทำให้มุสิลมบางคนเดินตามการชักนำของมัน และในที่สุดก็ตกเป็นทาสเป็นสมุนของมัน ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวังตัวจากการล่อลวงของชัยฏอนที่เป็นญินและมนุษย์ อัลลอฮฺได้ทรงห้ามมิให้เราตกเป็นเครื่องมือของพวกมัน พระองค์ตรัสว่า

﴿..... وَلا تَتَّبِعُوا خُطُوَاتِ الشَّيْطَانِ إِنَّهُ لَكُمْ عَدُوٌّ مُبِينٌ ، إِنَّمَا يَأْمُرُكُمْ بِالسُّوءِ وَالْفَحْشَاءِ وَأَنْ تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ مَا لا تَعْلَمُونَ ﴾  (البقرة: من الآيتين 168- 169.(

ความว่า " พวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าเดินตามแนวทางของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูของพวกเจ้าที่ชัดแจ้ง ที่จริงมันเพียงแต่จะใช้พวกเจ้าให้กระทำสิ่งชั่วและสิ่งลามกเท่านั้น และจะใช้พวกเจ้ากล่าวความเท็จให้แก่อัลลอฮฺ ในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้"

 

 

Part 1                    Part 2                    Part 3                    Part 4

 

 


คุฏบะฮฺวันศุกร์ที่  30 ซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1429

ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี  / โดย  อ.อัสมัน แตอาลี

Islam House