บทเรียนจากคุฏบะฮฺในหัจญ์อำลา 3
  จำนวนคนเข้าชม  3296

ประการที่ 5.

          ท่านนะบี ยังได้ประกาศในวันนั้นในเรื่องของสิทธิของสามีภรรยา และสิทธิของสตรีทั่วไป และ ในประโยคที่ว่า

أَيُّها النَّاس، إن لِنسَائِكُمْ عَلَيْكُمْ حقاً، ولَكُمْ عَلَيْهِنّ حقّ، لَكُمْ عَليِهنّ ألا يُوْطِئْنَ فُرُشَكُمْ غيرَكم، وَلا يُدْخِلْنَ أحَداً تكرَهُونَهُ بيوتَكُمْ، ولا يأتينَ بِفَاحِشَة، فإنْ أطَعْنَكُمْ فَعَلَيْكُمْ رِزقُهنَّ وكسوتُهُنَّ بالمَعْرُوفِ فاتّقُوا اللهَ في النسَاء، واسْتوْصُوا بهنَّ خَيْراً، أَلاَ هَلْ بلّغت: اللّهم اشهدْ.

ความว่า  "โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเป็นหน้าที่ของพวกท่านที่จะต้องให้สิทธิแก่บรรดาภรรยาของพวกท่าน

และเป็นหน้าที่ของพวกนางที่จะต้องมอบสิทธิแก่พวกท่าน และเป็นสิทธิของพวกท่านอีกเช่นกันที่สามารถห้ามไม่ให้พวกนางมีพฤติกรรมชู้สาวกับชายอื่น

และหน้าที่ของพวกนางที่จะต้องไม่ยินยอมให้ชายอื่นเข้ามาในบ้านของพวกท่าน

และหากพวกนางเชื่อฟังพวกท่าน พวกท่านก็ต้องมอบสิทธิในเรื่องค่าปัจจัยยังชีพและเครื่องนุ่งห่มต่างๆด้วยความเป็นธรรม

ท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺในเรื่องการดูแลบรรดาสตรีทั้งหลาย และจงให้คำตักเตือนที่ดีๆ แก่พวกนางด้วย ฉันได้กล่าวจนแจ้งแล้วหรือไม่"

          จากประโยคข้างต้นท่านนบี ได้กำชับพวกเราในเรื่องหน้าที่หรือบทบาทของสถาบันครอบครัวที่ประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นคือสามี และสมาชิกในครอบครัวนั่นคือภรรยาและลูกๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีสิทธิที่พึงจะได้รับและหน้าที่ที่จะต้องสนองตอบ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จะต้องมอบสิทธิให้แก่ภรรยาในฐานะสามีและให้แก่ลูกๆ ในฐานะผู้เป็นพ่อ ต่างคนต่างต้องเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน

          สังคมปัจจุบันที่เสื่อมทรามและเหลวแหลกก็เพราะเกิดจากสถาบันครอบครัวที่อ่อนแอและขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา  ภรรยาขาดความรักความเข้าใจจากสามีหนีไปมีชู้ ลูกๆขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่หนีไปติดยาเสพติด ไปมั่วสุมทางเพศ บางคนถึงขนาดตั้งครรภ์โดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็ก จำเป็นจะต้องทำแท้ง หรือไม่ก็ทิ้งเด็กตามถังขยะข้างๆถนน บ่อยครั้งที่เราพบเหตุการณ์เหล่านี้

         ดังนั้นไม่มีทางแก้ที่ดีที่สุดนอกจากจะต้องกลับมาพิจารณาและทบทวนบทบาทของสถาบันครอบครัวที่ตนเองรับผิดชอบว่า  สมาชิกทุกคนปฏิบัติตนอยู่ในหลักการของอิสลามหรือไม่

           สำหรับสตรีทั่วไปอาจกล่าวได้ว่าในอดีตหมายถึงในสมัยญาฮีลียะฮฺ ผู้หญิงถูกทอดทิ้งจากสังคม เป็นคนที่ไร้ค่า ไม่มีสิทธิใดๆเลย ที่จะได้รับดังที่ผู้ชายได้รับ อัลลอฮฺได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า

﴿وَإِذَا بُشِّرَ أَحَدُهُمْ بِالأُنثَى ظَلَّ وَجْهُهُ مُسْوَدًّا وَهُوَ كَظِيمٌ (58) يَتَوَارَى مِنْ الْقَوْمِ مِنْ سُوءِ مَا بُشِّرَ بِهِ أَيُمْسِكُهُ عَلَى هُونٍ أَمْ يَدُسُّهُ فِي التُّرَابِ أَلا سَاءَ مَا يَحْكُمُونَ 59﴾ (النحل).

ความว่า "และเมื่อคนใดคนหนึ่งในหมู่ได้รับข่าวว่าได้ลูกผู้หญิง ใบหน้าของเขาก็กลายเป็นหมองคล้ำและเศร้าสลด เขาจะซ่อนตัวเองจากกลุ่มชน เนื่องจากความอับอายที่ได้ถูกแจ้งแก่เขา เขาจะเก็บมันเอาไว้ด้วยความอัปยศหรือฝังมันไว้ในดิน พึงรู้เถิดว่าสิ่งที่พวกเขาตัดสินไปนั้นมันชั่วช้าจริงๆ"

           แต่หลังจากที่อิสลามได้มาถึง ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ผู้หญิงได้รับการดูแลและคุ้มครองในเรื่องสิทธิต่างๆทัดเทียมกับผู้ชาย ตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการตอบแทนที่จะได้รับทั้งโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿وَمَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِنْ ذَكَرٍ أَوْ أُنْثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَأُوْلَئِكَ يَدْخُلُونَ الْجَنَّةَ يُرْزَقُونَ فِيهَا بِغَيْرِ حِسَابٍ﴾). غافر: من الآية 40(

ความว่า " และผู้ใดกระทำความดีจากเพศชายและเพศหญิงก็ตาม และเขาเป็นผู้ศรัทธาด้วย ชนเหล่านั้นแหละจะได้เข้าสวนสวรรค์ จะได้รับปัจจัยยังชีพในนั้น โดยไม่อาจที่จะคำนวณได้"

 
ประการที่ 6.

          ท่านนะบี ได้กำชับให้ยึดมั่นในความเป็นพี่น้องกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รักใคร่ปรองดองกัน ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

أَيهَا النّاسُ، إنّما المُؤمِنُونَ إخْوةٌ ، فَلاَ يَحِلُّ لامْرِىءٍ مَالُ أَخيهِ إلاّ عَنْ طيبِ نفْسٍ منهُ، أَلاَ هَلْ بلّغْتُ، اللّهُم اشْهَدْ.

ความว่า "ท่านทั้งหลาย แท้จริงบรรดาศรัทธาชนนั้นเป็นพี่น้องกัน

ดังนั้นไม่อนุญาตให้มีการละเมิดทรัพย์สินของพี่น้องของเขา เว้นแต่จะได้รับความยินยอม

โอ้อัลลอฮฺได้โปรดเป็นพยานด้วย ฉันได้แจ้งให้พวกเขารู้แล้ว"

           จากประโยคนี้ถือว่าเป็นคำสั่งเสียที่ท่านนะบี มีความห่วงใยต่อประชาชาติของท่าน เกรงว่าจะเกิดการแตกแยกและทะเลาะเบาะแว้งกันหรืออาจถึงขั้นเป็นศัตรูต่อกัน ดังนั้นท่านนะบี จึงย้ำเตือนอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆหะดีษก่อนหน้านี้ ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

«لَا يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى يُحِبَّ لِأَخِيهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ»

ความว่า "ความศรัทธา(อีมาน)ของคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขาเหมือนกับที่เขารักตัวของเขาเอง" (บันทึกโดยบุคอรีย์ 12)

และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

«لَا تَبَاغَضُوا وَلَا تَحَاسَدُوا وَلَا تَدَابَرُوا وَكُونُوا عِبَادَ اللَّهِ إِخْوَانًا»

ความว่า "พวกท่านทั้งหลายจงอย่าโกรธเคืองกัน อย่าเกลียดชังกัน อย่าอิจฉาริษยากัน และอย่าทะเลาะกัน แต่ขอให้พวกท่านจงเป็นพี่น้องกัน" (บันทึกโดยบุคอรีย์ 1411)


 ประการที่ 7.

         ท่านนะบี ได้สั่งเสียให้มุสลิมยึดหลักการศาสนาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่าน  เพราะท่านได้ยืนยันว่า ประชาชาติของท่านจะไม่หลงทางอย่างแน่นอน ถ้าตราบใดยังยึดมั่นกับอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่าน ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

فَإنّي قَدْ تَركْتُ فِيكُمْ مَا إنْ أخَذتمْ بِهِ لَمْ تَضِلُّوا بَعْدَهُ، كِتَابَ اللهِ وسنة نبيه، أَلاَ هَلْ بلّغتُ، اللّهمّ اشْهَدْ.

ความว่า " ท่านทั้งหลายหลังจากที่ฉันไม่อยู่แล้ว จงอย่าได้กลับไปเป็นผู้ปฏิเสธ(กาเฟรฺ)อีก อันจะทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันระหว่างพวกท่านกันเอง

และแท้จริงแล้วฉันได้ทิ้งไว้สำหรับพวกท่านอยู่สิ่งสองสิ่ง พวกท่านจะไม่หลงทางถ้าตราบใดพวกท่านยังยึดมั่นกับทั้งสองสิ่งนี้

นั้นก็คือกีตาบบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺนะบีของพระองค์ ขออัลลอฮฺได้โปรดเป็นพยานด้วย ฉันได้แจ้งแล้ว"

          จากคำสั่งเสียนี้ จะเห็นได้ว่าท่านนะบี  ไม่ได้ทิ้งไว้ให้แก่พวกเราซึ่งทรัพย์สมบัติหรือเงินทอง แต่ท่านนะบี  ได้ทิ้งไว้ให้แก่พวกเราซึ่งสิ่งที่มีค่าและความหมายยิ่งนัก  นั่นคืออัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่าน


 ประการที่ 8.

          ท่านนะบี ได้กำชับและสนับสนุนในเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา และสีผิวก็ตาม ไม่มีใครเหนือว่า หรือประเสริฐกว่า เว้นแต่ด้วยการตักวาเท่านั้น (ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ)

أيها النّاسُ إن رَبَّكُمْ وَاحِدٌ، وإنّ أَبَاكُمْ واحِدٌ ، كُلكُّمْ لآدمَ، وآدمُ من تُراب، أَكرمُكُمْ عندَ اللهِ أتْقَاكُمْ وليس لعربيّ فَضْلٌ على عجميّ إلاّ بالتّقْوىَ.

ความว่า  "ท่านทั้งหลาย แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านนั้นคือองค์เดียวกัน และบิดาของพวกท่านก็คนเดียวกัน พวกท่านทุกคนมาจากอาดัม และอาดัมก็มาจากดิน

ผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ณ อัลลอฮฺ คือ ผู้ที่ตักวาที่สุด และใช่ว่าคนอาหรับจะดีเหนือกว่าคนที่ไม่ใช่อาหรับ เว้นแต่ด้วยการตักวา(ยำเกรง)เท่านั้น "


 ประการที่ 9.

         ท่านนะบี  ได้สั่งเสียในเรื่องสิทธิของทายาทที่จะต้องได้รับจากการแบ่งมรดกและการคุ้มครองสายตระกูล

أيها الناس إنَّ الله قد قسّمَ لكلِّ وارثٍ نصيبَه من الميراث، ولا تجوز لوارثٍ وصيتُه ولا تجوز وصيةٌ في أكثرَ من الثلث، والولدُ للفراش وللعاهر الحجر. مَن ادَّعَى إلى غيرِ أبيه أو تولَّى غيرَ موالِيه فعليه لعنةُ الله والملائكة والناس أجمعين، فليبلغ الشاهد الغائب.

ความว่า "โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้กำหนดส่วนแบ่งของทายาทแต่ละคนจากกองมรดกอย่างชัดเจนแล้ว

จึงไม่อนุญาตให้ทายาทได้รับวะศียัตหรือพินัยกรรมอีก และวะศียัตหรือพินัยกรรมก็จะต้องไม่เกินหนึ่งในสามจากกองมรดกทั้งหมด

และลูกที่เกิดนอกสมรสนั้นเป็นสิทธิของผู้เป็นแม่ ไม่อาจสืบทอดจากผู้เป็นพ่อได้

และผู้ใดที่อ้างตนเป็นลูกของผู้ที่ไม่ใช่พ่อของตนหรือยอมรับผู้ที่ไม่ใช่ลูกของตนว่าเป็นลูกนั้น บุคคลดังกล่าวนี้จะถูกสาปแช่งจากอัลลอฮฺ บรรดามะลาอิกะฮฺ และมนุษย์ทั้งหลาย"

 

 

 

Part 1                    Part 2                    Part 3                    Part 4

 


คุฏบะฮฺวันศุกร์ที่  30 ซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1429

ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี  / โดย  อ.อัสมัน แตอาลี

Islam House