บทเรียนจากคุฏบะฮฺในหัจญ์อำลา
  จำนวนคนเข้าชม  12923

บทเรียนจากคุฏบะฮฺในหัจญ์อำลา

(หัจญ์ อัล-วะดาอฺ ของท่านนะบี )

  
  إن الحمد لله نحمده ونستعينه ونستغفره ونتوب إليه، ونعوذ بالله من شرور أنفسنا وسيئات أعمالنا، من يهده الله فلامضل له، ومن يضلل فلاهادي له، وأشهد أن لا إله الا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، اللهم صل على نبينا محمد وعلى آله وصحبه ومن دعا بدعوته إلى يوم الدين، أما بعد، فقال الله تعالى: «ياأيها الذين آمنوا اتقواالله حق تقاته ولا تموتن الا وأنتم مسلمون».


พี่น้องผู้ร่วมละหมาดญุมอัตที่มีเกียรติทั้งหลาย

           ขณะนี้เรากำลังย่างก้าวเข้าสู่เดือนซุลฮิจญะฮฺแล้ว อัลฮัมดุลิลละฮฺ เราต้องขอชูโกรต่อเอกองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ที่พระองค์ทรงประทานโอกาสให้เราจะได้ทำอามัลอิบาดะฮฺ ในสิบวันแรกอันประเสริฐของเดือนซุลหิจญะฮฺนี้ เพราะท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

مَا مِنْ أَيَّامٍ الْعَمَلُ الصَّالِحُ فِيهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ مِنْ هَذِهِ الْأَيَّامِ الْعَشْرِ فَقَالُوا يَا رَسُولَ اللَّهِ وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَلَا الْجِهَادُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ إِلَّا رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍ(أخرجه البخاري: 916، الترمذي: رقمه 688)

ความว่า : "ไม่มีการปฎิบัติอามาลศอลิฮในวันใดที่อัลลอฮฺ ทรงโปรดมากไปกว่า การปฎิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ มีเศาะฮาบะฮฺถามขึ้นว่า แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบว่า ถูกต้อง แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ เว้นแต่ว่าผู้นั้นได้ออกไปญิฮาดด้วยตัวของเขา และทรัพย์สินของเขาเอง แล้วเสียชีวิตในสมรภูมิ"

          ดังนั้นเราจึงควรถือโอกาสนี้ในการทำอามัลอิบาดะฮฺให้มากๆ อาทิเช่น การถือศีลอด การอ่านอัลกุรอาน การบริจาคทาน และการซิกิรฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราควรถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ คือวันที่เก้า ซุลหิจญะฮฺ เนื่องจากว่าผู้ที่ถือศีลอดในวันดังกล่าวนี้จะได้รับการลบล้างบาปในปีที่ผ่านมาและปีถัดไป ตามหะดีษที่รายงานโดยอะบีเกาะตาดะฮฺ อัลอันศอรีย์ ระบุว่า

سُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَرَفَةَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ وَالْبَاقِيَةَ (أخرجه مسلم: 1977)

ความว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัมถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ท่านกล่าวว่า "จะทำให้ลบล้างบาปในปีที่ผ่านมาและปีถัดไป"


พี่น้องที่เคารพรักทุกท่าน

           ในช่วงต้นของเดือนซุลหิจญะฮฺ นี้อีกเช่นกัน ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ได้ทรงประทาน อิบาดะฮฺหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในรุกนอิสลามที่มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถต้องปฏิบัติเพื่อสนองพระบัญชาของพระองค์ นั้นก็คือหัจญ์    อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

( وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلا ) [سورة آل عمران: 97]

ความว่า   "และเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺที่มีต่อมนุษย์ นั่นคือการมุ่งสู่ไปยังบ้านของพระองค์(เพื่อประกอบพิธีหัจญ์)ที่ได้บัญญัติขึ้นสำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปยังบ้านหลังนั้นได้"

และท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

أَيُّهَا النَّاسُ قَدْ فَرَضَ اللَّهُ عَلَيْكُمْ الْحَجَّ فَحُجُّوا (أخرحه مسلم :رقم 2380)

ความว่า" โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้พิธีหัจญ์เป็นฟัรฎูสำหรับพวกท่านแล้ว ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติเถิด"


พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาทั้งหลาย

           เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายวันที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมจากบ้านเราและจากทั่วทุกมุมโลก ต่างก็ทยอยเดินทางสู่บ้านของอัลลอฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมักกะฮฺ เพื่อประกอบพิธีหัจญ์ และการประกอบพิธีหัจญ์นั้นก็จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นวันตัรวิยะฮฺ ณ ทุ่งมีนา  วันที่ 9 ก็เดินทางไปวูกุฟ ณ ทุ่งอารอฟะฮฺ และวันที่ 10 ก็จะกลับมาที่ทุ่งมีนาอีกครั้งเพื่อขว้างเสาหิน  หลังจากที่ได้พักค้างคืนที่มุซดะลิฟะห์หนึ่งคืน และการประกอบพิธีอัจญ์ก็จะเสร็จสิ้นในวันที่ 13 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันตัชรีกที่ทุ่งมีนา ทั้งหมดนี้ก็คือระยะเวลาในการประกอบพิธีหัจญ์ที่บรรดาหุจญาจหรือผู้ประกอบพิธีหัจญ์ทุกคนต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และทรัพย์สินของตนในการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคนปรารถนานั้นก็คือ หัจญ์มับรูร หรือหัจญ์ที่ถูกตอบรับจากอัลลอฮฺ เนื่องจากหัจญ์มับรูรนั้นไม่มีสิ่งตอบแทนใดนอกจากสวนสวรรค์ ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

وَالْحَجُّ الْمَبْرُورُ لَيْسَ لَهُ جَزَاءٌ إِلَّا الْجَنَّةُ (البخاري:1650)

 ความว่า  "และหัจญ์มับรูรนั้นไม่มีสิ่งตอบแทนอย่างอื่นนอกจาก สวนสวรรค์เท่านั้น"


พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

            เมื่อเราพูดถึงอิบาดะฮฺหัจญฺ์แล้ว เราควรที่จะระลึกถึงหัจญ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิสลามที่มีท่านนะบี เป็นอามิรุลหัจญ์ หรือผู้นำในการประกอบพิธีหัจญ์ซึ่งเป็นหัจญ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่านนะบี   ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่สิบของฮิจเราะฮฺศักราช ในการประกอบพิธีหัจญ์ครั้งนี้ได้มีเศาะฮาบะฮฺเข้าร่วมประกอบพิธีหัจญ์กับท่านนะบี  ประมาณสี่หมื่นคน บางทัศนะระบุว่าหนึ่งแสนกว่าคน และในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมนี้ หลายต่อหลายคนเคยต่อต้านและเคยปฎิเสธท่าน นะบี  แต่ ณ วันนี้ วินาทีนี้ทุกคนต่างยอมรับ และศรัทธาต่อท่านนะบี  อย่างจริงใจและภาคภูมิใจ บรรดาอุลามาอ์ได้เรียกหัจญ์ครั้งนี้ว่า   حجة الوداع หรือ หัจญ์อำลา เนื่องจากว่า ในการประกอบพิธีหัจญ์ครั้งนี้ ท่านนะบี ได้สั่งเสียอะไรหลายๆอย่าง ในคุฎบะฮฺอันทรงคุณค่าของท่าน ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชาติอิสลาม ซึ่งรวมทั้งที่เข้าร่วมกับท่านในขณะนั้นตลอดจนประชาชาติของท่านในปัจจุบันนี้ด้วย และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจหัจญันั้นไม่นาน ท่านนะบี ก็กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุตะอะลา และพระองค์ก็ได้ทรงการันตีและทรงยอมรับในความสมบูรณ์แบบของอัลอิสลาม ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า

(الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الْإِسْلَامَ دِينًا) (المائدة:3)

ความว่า " วันนี้เราได้ให้ความสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และเราได้ให้ครบถ้วนแล้วแก่พวกเจ้าซึ่งความกรุณา และเมตตาของเรา แก่พวกเจ้า และเราได้ยอมรับแล้วว่าอิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้า "


พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

           สำหรับสถานที่คุฏบะฮฺสุดท้ายของท่านนะบี  นี้ นักวิชาการบางคนมีทัศนะว่าท่านนะบี  ได้คุฏบะฮฺในวันอะเราะฟะฮฺ ณ  ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ในขณะที่บางคนมีทัศนะว่าเกิดขึ้นในวันนะหฺรุ ณ ทุ่ง มินา และมีบางทัศนะระบุว่าท่านนะบี  ได้คุฏบะฮฺสามครั้งด้วยกัน

ครั้งที่หนึ่ง วันอะเราะฟะฮฺ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ

ครั้งที่สอง วันนะหฺรุ ณ ทุ่ง มินา

ครั้งที่สาม วันที่สองของวันตัชรีกณ ทุ่ง มินา

(ดู เศาะฮีหฺบุคอรีย์ หมายเลข 1655, มุสลิม 6/245 หมายเลข 2137)
 

 

Part 1                    Part 2                    Part 3                    Part 4

 

 

คุฏบะฮฺวันศุกร์ที่  30 ซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1429

ณ มัสยิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี  / โดย  อ.อัสมัน แตอาลี

Islam House